เรียนพยาบาลช่วยชาติ จบปริญญาตรีเรียน2ปีครึ่ง

เรียนพยาบาลช่วยชาติ  จบปริญญาตรีเรียน2ปีครึ่ง

การขาดแคลนแพทย์และพยาบาลของภาครัฐ เป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ปัญหากันมาโดยตลอด เพื่อให้การผลิตและกระจายบุคลากรอย่างเหมาะสม

KEY

POINTS

  • ทุกสถาบันรวมกันผลิตพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 8,000 คน/ต่อปี ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 15,000 คน/ต่อปี ม.รามคำแหง เปิดคณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อรองรับการขาดแคลน
  • การเปิดโอกาสให้ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีทุกสาขาสามารถเรียนต่อพยาบาลได้ภายใน 2 ปี 6 เดือน จึงเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาความขาดแคลนพยาบาลได้ 
  • ความขาดแคลนพยาบาล ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศให้ความสนใจพยาบาลของไทยมาก เพราะมีบุคลิกภาพและอัธยาศัยดี ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน

การขาดแคลนแพทย์และพยาบาลของภาครัฐ เป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ปัญหากันมาโดยตลอด เพื่อให้การผลิตและกระจายบุคลากรอย่างเหมาะสม เพราะหากบุคลากรไม่เพียงพอและทำงานหนักจนเกินไป จะกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและการให้บริการประชาชนได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตโดยเฉพาะพยาบาลซึ่งเป็นผู้ช่วยที่ดีของแพทย์

ทั้งนี้ผลสำรวจกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปี 2561-2570 ควรรับพยาบาลวิชาชีพ เข้าทำงานอย่างน้อย 39,922 คน หรือเฉลี่ยประมาณ 3,992 คนต่อปี ขณะที่พยาบาลวิชาชีพทยอยเข้าสู่วัยเกษียณอายุร้อยละ 15-20 ต่อปี คาดว่าในระยะเวลาอีกประมาณ 5-10 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการใช้พยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศรวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 50,000 คนเลยทีเดียว 

แม้ว่า “พยาบาล”จะเป็นวิชาชีพที่ได้รับความนิยมและมียอดผู้ที่ต้องการเข้าสู่วิชาชีพนี้สูง ทว่ามีสถาบันการศึกษาที่สภาการพยาบาลให้การรับรองหลักสูตรเพียง 102 สถาบัน(ข้อมูล ณ 22 เม.ย.2567 ) โดยมี 93 สถาบันที่มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ส่วนอีก 9 สถาบันที่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษา ทำให้ “พยาบาล”ที่เข้าสู่ระบบไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในและต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เรียนฟรี "ผู้ช่วยพยาบาล" จังหวัดละ 60 คน ระยะเวลา 2 ปี

เปิดแผนสธ.กำลังคน10ปี แพทย์ 3.1 หมื่น ชงครม. 6 ส.ค.

ม.รามคำแหง ผลิตพยาบาลศาสตร์ รองรับการขาดแคลน

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตและแก้ไขปัญหาการขาดแคลน และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข การผลิตพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยมีศูนย์การเรียนรู้ฝึกทักษะทางการพยาบาล และ SIMULATION SMART CRNTER เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนและฝึกทดลองปฏิบัติทักษะทางการพยาบาลจริงในห้องเรียน ที่อาคารสองแคว 2 วิทยาเขตบางนา และฝึกปฏิบัติในสถานพยาบาลในพื้นที่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนครนายก ซึ่งภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 รับนักศึกษารุ่นแรก 100 คน 

“ดร.ณัทกวี ศิริรัตน์” คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.รามคำแหง ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า  พยาบาลเป็นวิชาชีพที่ได้รับความสนใจมาก รุ่นแรกที่เปิดรับมีนักศึกษาสมัครถึง 700 คน ภายในหนึ่งสัปดาห์ที่รับสมัคร แต่รับได้เพียง 100 คนตามเกณฑ์ที่สภาการพยาบาลกำหนดให้มีอาจารย์ต่อนักศึกษา 1 ต่อ 8 คน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ คาดว่ารุ่น 2 ที่จะเปิดรับเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ จะมีนักศึกษาสนใจมาสมัครถึง 1,000 คน เพราะมีเวลาหนึ่งเดือน 

เรียนพยาบาลช่วยชาติ  จบปริญญาตรีเรียน2ปีครึ่ง

ไม่จบสายวิทย์-สอบเทียบมาเรียนได้ 

โดยนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสมัครมากที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคใต้และภาคกลาง การคัดเลือกใช้วิธีสอบสัมภาษณ์ เน้นที่บุคลิกภาพ และทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพพยาบาล 40 % เพราะต้องดูแลผู้ป่วย ความรู้ด้านสุขภาพ 30 % ทักษะการตัดสินใจและการแก้ไขเฉพาะหน้า 10 % และพิจารณาเกรดเฉลี่ยสะสม 20 % และมีการทดสอบทางด้านสุขภาพจิตด้วย 

“ผู้ที่มาเรียนจะมีทั้งผู้ช่วยพยาบาล จากศิริราช และนักเรียนม.ปลาย มาจากทั่วประเทศ บางคนสอบเทียบมาก็มี ซึ่งมีทั้งเกรดเฉลี่ย 3.5 ไปจนถึง 3.9 บางคนมีทักษะภาษาอังกฤษดี และบุคลิกดีมาก ประมาณ 41 %กู้กองทุนกยศ.ที่ให้กู้ประมาณ 90,000บาท ผู้ปกครองจ่ายเพิ่มอีก 50,000 บาทต่อปี เรียนจบทำงาน 1 ปีก็คืนทุนแล้ว ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าได้ช่วยเหลือประเทศชาติและยังมีรายได้ดีอีกด้วย”

คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.รามคำแหง ยังกล่าวอีกว่าความขาดแคลนพยาบาล ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศให้ความสนใจพยาบาลของไทยมาก เพราะมีบุคลิกภาพและอัธยาศัยดี ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน โดยเฉพาะเยอรมัน ขาดแคลนพยาบาลประมาณ 10,000 คน โดยวันที่ 11 ก.ย. จะมีการหารือในรายละเอียดว่าจะร่วมมือกันได้อย่างไรในอนาคต  

“อาจจะมีการหารือกันว่าจะให้ทุนนักศึกษาขณะที่เรียนอยู่ที่รามคำแหง และไปทำงานที่เยอรมัน ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 250,000 บาท ถ้าสามารถสื่อสารภาษาเยอรมันได้ จะเพิ่มเป็น 350,000 บาท” 

เรียนพยาบาลช่วยชาติ  จบปริญญาตรีเรียน2ปีครึ่ง

เปิดหลักสูตรป.ตรีเรียน2ปีครึ่ง 

ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังการผลิตพยาบาลทุกสถาบันรวมกันอยู่ที่ประมาณ 8,000 คน/ต่อปี ขณะที่ความต้องการอยู่ 15,000 คน/ต่อปี การเปิดโอกาสให้ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีทุกสาขาสามารถเรียนต่อพยาบาลได้ภายใน 2 ปี 6 เดือน จึงเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาความขาดแคลนพยาบาลได้ โดยจะเปิดรับในปีการศึกษา 2568 ที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วยการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี และ หลักสูตรบริบาลผู้สูงอายุ 6 เดือน และมีแผนปรับปรุงอาคารเก่าที่อยู่ตรงข้ามศูนย์การเรียนรู้ฝึกทักษะทางการพยาบาล ที่วิทยาเขตบางนา ให้เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย  

ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหากล้ามเนื้อเส้นเอ็น กระดูกและข้อ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ และกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มพิการมากขึ้น ที่พบมาก คือ สายตาเลือนรางทั้งสองข้าง หูตึงสองข้าง และอัมพฤกษ์ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐจะต้องดำเนินการเตรียมรับมือในการบริหารจัดการ 

“โครงการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จะเป็นทั้งสถานที่เรียนและฝึกภาคปฏิบัติของผู้ที่มาเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและ หลักสูตรบริบาลผู้สูงอายุไปในตัวด้วย โดยมีอาจารย์ผู้สอนคณะพยาบาลศาสตร์ดูแล นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนบุคลากรได้แล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับคณะพยาบาลศาสตร์ทำให้เลี้ยงตัวเองได้สามารถคืนทุนได้ในปีที่ 3 และเป็นการเตรียมการรองรับการเปิดคณะแพทย์ในปี 2570 อีกด้วย” 

เรียนพยาบาลช่วยชาติ  จบปริญญาตรีเรียน2ปีครึ่ง

คณะพยาบาลศาสตร์ ม.รามคำแหง ได้รับการรับรองหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2567) จากสภาการพยาบาลโดยมีโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นสถาบันพี่เลี้ยง จัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์ (Outcome-Based Education)เป็นไปตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา2565 มาตรฐานระดับหลักสูตรตามเกณฑ์เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network Quality Assurance: AUN – QA)และ ข้อบังคับของสภาการพยาบาล ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับวิชาชีพ 2563 จัดการศึกษาจำนวน 120 หน่วยกิตผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า (เรียน 4 ปี) ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร จำนวน 560,000 บาท

“ดร.ณัทกวี" ยังเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นคณบดีคนแรกของคณะพยาบาลศาสตร์ อีกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น คณะพยาบาลศาสตร์ มรภ.อุตรดิตถ์ /คณะพยาบาลศาสตร์ มรภ.พิบูลสงคราม/คณะพยาบาลศาสตร์ มรภ.เพชรบุรี /คณะพยาบาลศาสตร์ มรภ. รำไพพรรณี  ผู้อำนวยการวิทยาลัย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ และ รองผู้อำนวยการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีศรีธัญญา และยังเป็นผู้จัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพเด็กเล็กและศูนย์ผู้สูงอายุ คลินิกการแพทย์แผนไทยและคลินิกแพทย์แผนปัจจุบัน คณะพยาบาลศาสตร์ มรภ. เพชรบุรี ที่สร้างรายได้มาจนทุกวันนี้

สธ.ให้ทุนผู้ช่วยพยาบาลจ.ละ60คน

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานแผนการผลิตผู้ช่วยพยาบาล โดยจะรับผู้เรียนในพื้นที่ 60 คน/จังหวัด ค่าเรียน 50,000 บาทต่อคน เป็นการให้ทุนเรียน

รวมถึงจะอัพเกรดผู้ช่วยเหลือคนไข้ ที่มีคุณสมบัติ เช่น วุฒิการศึกษา ม.6 ให้เป็นผู้ช่วยพยาบาล โดยให้เรียนต่ออีก 1 ปี ซึ่งจะเป็นการให้เจ้าหน้าที่เก่ามาอัพเกรดก่อน แต่ก็ขอให้ทุกหน่วยงาน คิดนอกกรอบด้วยการให้เอกชนเปิดสอนเพิ่ม จะได้ไม่ขาดแคลน แต่เรื่องนี้ ก็ต้องฟังความเห็นของสภาการพยาบาลด้วยว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

โดยแผนผลิตผู้ช่วยพยาบาล (PN) เขตสุขภาพที่ 1-12 ปีงบประมาณปี2568-2569 เป็นนโยบายเร่งผลิตผู้ช่วยพยาบาลเพิ่มในระยะเร่งด่วน 2 ปี ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์พยาบาลขาดแคลนให้รับผู้เรียนในพื้นที่ 60 คนต่อจังหวัด ค่าเรียน 50,000 บาทต่อคน โดยปี 2568 อบรม 3,309 คน ใช้งบ 165,450,000 บาทและ ปี 2569 อบรม 3,158 คน ใช้งบ 157,900,000 บาท โดยมีสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) 30 แห่ง, มหาวิทยาลัย 7 แห่ง, มหาวิทยาลัยราชภัฏ 9 แห่ง, ม.เอกชน 6 แห่งเป็นแหล่งผลิต

เรียนพยาบาลช่วยชาติ  จบปริญญาตรีเรียน2ปีครึ่ง

ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนคณะพยาบาลศาสตร์ในประเทศไทย ตามที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาการพยาบาลมีจำนวน 102 สถาบัน (ข้อมูล ณ 22 เม.ย.2567 ) โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว 93 สถาบัน และสถาบันที่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษา

 9 สถาบัน ได้แก่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ,มรภ.นครราชสีมา,มรภ.ศีรสะเกษ,มรภ.ลำปาง ,ม.แม่โจ้ และม.สุโขทัยธรรมาธิราช และสถาบันการศึกษาเอกชน 3 แห่ง คือ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.รัตนบัณฑิต,ม.นอร์ทกรุงเทพ และสถาบันสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์