Checklist!! ‘สุขภาพใจ’หลังพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด- ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

Checklist!! ‘สุขภาพใจ’หลังพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด- ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

จากกรณีที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั้งในจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็น จ.เชียงราย  หนองคาย  บึงกาฬ  และมีการประกาศแจ้งเตือนน้ำท่วมในอีกหลายจังหวด ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย

KEY

POINTS

  • จากการประเมินสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้วกว่า 21,000 คน พบว่ามีประชาชนที่ตกอยู่ในภาวะเครียดสูงถึง 521 คน เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า 73 คน และ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 13 คน 
  • เช็กสุขภาพจิตใจของตนเอง หากมีอาการ ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตื่นเต้น ตกใจง่าย เศร้า เสียใจ หวาดกลัว ตำหนิตัวเอง แยกตัว ขัดแย้งกับคนใกล้ชิด ถือเป็นการตอบสนองตามปกติที่เกิดขึ้นและจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป
  •  สำรวจจิตใจตนเองและเรียกขวัญคืนสติ ยอมรับและเผชิญความจริงเพื่อแก้ปัญหา เน้นใส่ใจ ดูแล คุยคนรอบข้าง คนไกลควรติดต่อสื่อสาร หยุดพักการรับรู้ข่าวสารที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุความเครียด 

จากกรณีที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั้งในจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็น จ.เชียงราย  หนองคาย  บึงกาฬ  และมีการประกาศแจ้งเตือนน้ำท่วมในอีกหลายจังหวด ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย อย่าง

กรุงเทพและปริมณฑล

  • มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ภาคเหนือ

  • มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดพะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตรพิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่นกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง

  • มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรีสระบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา

ภาคตะวันออก

  • มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้วฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

  • มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุงสงขลา และยะลา 

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

  • มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพกาย- ใจอย่างไร? ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม

น้ำท่วม ผู้ป่วย "โรคฉี่หนู-โรคไข้ดิน"พุ่ง

ผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายพุ่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม - 13 กันยายนที่ผ่านมา ทางกรมสุขภาพจิต ได้ประเมินสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้วกว่า 21,000 คน พบว่ามีประชาชนที่ตกอยู่ในภาวะเครียดสูงถึง 521 คน เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า 73 คน และ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 13 คน ซึ่งก็ได้ส่งทีมจิตแพทย์เข้าดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิดแล้ว

อีกทั้ง สถานการณ์ภาพรวมข้อมูลสะสมช่วงวันที่ 11 – 12 ก.ย.67 ในศูนย์พักพิงชั่วคราวของเชียงราย จำนวน 15 แห่ง มีผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 3,081 คน ทีม MCATT ได้ประเมินสุขภาพใจทั้งจาการสังเกต และประเมินด้วย Mental Health Check in พบกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 402 ราย เครียดปานกลาง – สูง จำนวน 217 ราย ยังไม่มีรายงานพบภาวะซึมเศร้าหรือเสี่ยงทำร้ายตัวเอง มีผู้ป่วยจิตเวชรับยา 2 ราย

ล่าสุด ทีมเยียวยาจิตใจ MCATT กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่อุทกภัยน้ำท่วม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นำโดยทีมปฏิบัติการ MCATT ของโรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 บูรณาการร่วมกับเขตสุขภาพที่ 1 ดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้ ทำให้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการสูญเสียทั้งชีวิต บ้านที่อยู่อาศัย และทรัพย์สิน มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถพักอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของตัวเองได้ ต้องอพยพย้ายมาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ท่ามกลางความหวาดผวา เครียดวิตกกังวล และความรู้สึกแย่ต่างๆ ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ

นอกจากนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงส่งผลต่อสุขภาพจิตใจของผู้ที่ประสบภัยเท่านั้น ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจของผู้ที่ติดตามข่าวสารอีกด้วย

Checklist!! ‘สุขภาพใจ’หลังพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด- ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

เร่งเยียวยาจิตใจ ครอบคลุมทุกมิติ

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าขณะที่หน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งช่วยเหลือฟื้นฟูอยู่ทางทีมแพทย์ก็ส่งทีมดูแลสุขภาพทั้งกายและเยียวยาจิตใจ เพื่อเข้าช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติตามความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ได้รับการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจในยามวิกฤต โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ ต้องได้รับการเยียวยาจิตใจทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว

ส่วนกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเดิมต้องได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดยา ป้องกันอาการทางจิตที่จะกำเริบได้ การจัดการด้านสุขภาพของประชาชน มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคตได้ สภาพจิตใจถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประสบภัยได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมในการกลับออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

กรมสุขภาพจิตจึงต้องถือเป็นภารกิจหลักยามนี้ ในฐานะที่ต้องดูแลสุขภาพใจของประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบต่างๆ ซึ่งมีความเครียด วิตกกังวล หวาดผวาระแวง ภาวะซึมเศร้าและอาจนำมาซึ่งการทำร้ายตัวเองในที่สุด ได้เน้นย้ำให้ทีม MCATT เร่งเข้าไปดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชนเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านจิตใจด้วย

เช็กปฏิกิริยาทางจิตใจของผู้ประสบภัยน้ำท่วม 

  • ช็อค โกรธ สิ้นหวัง
  • หวาดกลัว เศร้าโศก เสียใจ
  • หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ สับสน
  • ตำหนิตัวเอง วิตกกังวล
  • ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย
  • ใจสั่น นอนไม่หลับ
  • ตื่นเต้น ตกใจง่าย
  • แยกตัว ขัดแย้งกับคนใกล้ชิด 
  • หากมีอาการเหล่านี้ ถือเป็นการตอบสนองตามปกติที่เกิดขึ้นและจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวชในระยะยาว 

Checklist!! ‘สุขภาพใจ’หลังพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด- ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

การดูแลสุขภาพจิตที่สำคัญ คือ

  • สำรวจจิตใจตนเองและเรียกขวัญคืนสติ เช่น การนับลมหายใจ จะช่วยให้จิตใจ สงบและสามารถยอมรับเพื่อเผชิญกับปัญหาได้ดีขึ้น
  • ยอมรับและเผชิญความจริงเพื่อแก้ปัญหา คิดถึงการคลี่คลายปัญหาที่ละขั้นตอนตามลำดับความจำเป็น คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตเป็นสำคัญ
  • มีเครือข่ายร่วมแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่กัน
  • ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม รับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • คนที่เครียดมักจะมีอาการนอน ไม่หลับ หลับยาก หรือหลับแล้วตื่นกลางดึก ฝันร้าย จึงควรหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน ให้เข้านอนเป็นเวลา หากไม่ง่วง ให้หากิจกรรมบางอย่างทำไปก่อน เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เป็นต้น
  • หยุดพักการรับรู้ข่าวสารที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุความเครียด ให้ยืดเส้นยืดสาย สะบัดแขน สูดลมหายใจเข้าลึกๆ จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
  • พูดคุยกับคนที่ไว้วางใจ สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน เพื่อปรับทุกข์ ที่จะช่วยระบายความเครียดได้ ที่สำคัญ
  • หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด ฯลฯ

ทั้งนี้ หากอาการต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ให้ปรึกษาหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ อสม. หรือ โทร.สายด่วน 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

Checklist!! ‘สุขภาพใจ’หลังพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด- ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

10 ข้อ ดูแลสุขภาพจิตช่วงน้ำท่วม 

ในภาวะวิกฤติน้ำท่วมแบบนี้หลายคนเกิดภาวะเครียดมากมาย หากจะบอกให้คุณหยุดเครียด หยุดกังวลคงจะทำได้ยากดังนั้นเราจึงมา 10 ข้อคิดดีๆ ที่จะช่วยดูแลสุขภาพจิตของคุณช่วงน้ำท่วมจากกรมสุขภาพจิตมาฝาก

1. ตั้งสติให้มั่น มองทุกปัญหาว่ามีทางแก้ไข

2. หากรู้สึกท้อใจ ให้ค้นหาแหล่งสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ได้แก่ ความรักความผูกพันกับคนในครอบครัว ความศรัทธาทางศาสนา การมีเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่า ความเชื่อว่าปัญหาจะผ่านไปแล้วมันจะดีขึ้น การมองเห็นสิ่งดีๆ ในชีวิต

3. ฝึกหายใจคลายเครียด และทักษะผ่อนคลายอื่นๆ

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง

5. พูดคุยกับคนใกล้ชิด อย่าคิดคนเดียว ช่วยกันปรึกษาหารือแปลงปัญหาเป็นโอกาสในการสร้างความผูกพันใกล้ชิดต่อกัน

6. บริหารร่างกายเป็นประจำ เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวยอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที วันเว้นวัน

7. ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสน

8. มองหาโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน

9. คิดทบทวนสิ่งดีๆ ในชีวิตเป็นประจำทุกวัน

10. จัดการปัญหาทีละขั้นทีละตอน ทำในสิ่งที่ทำได้สร้างความรู้สึกสำเร็จเล็กๆ จากสิ่งที่ทำ ไม่จมไปกับปัญหาที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ หลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติดในการจัดการความเครียด ความทุกข์ใจ

ทั้งนี้ หากไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อการรักษา เพราะความเครียดรุนแรงนำไปสู่โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้

Checklist!! ‘สุขภาพใจ’หลังพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด- ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

อ้างอิง: สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต