ความเครียด เกิดจากลำไส้ ส่งผลต่อโรคกระเพาะอาหารจริงหรือ?
ความเครียดส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อคิดมาก คิดเยอะจนเกินรับไหว ยิ่งมีอารมณ์ด้านลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธ ความตื่นเต้น หรือความเศร้า
KEY
POINTS
- กินอาหารไม่เป็นเวลา แถมยังเครียดเพราะงานอยู่บ่อยๆ ส่งผลเกิดโรค “ลำไส้แปรปรวน” โรคยอดฮิตที่วัยทำงานควรระวังไว้
- ความเครียดกับลำไส้แปรปรวนมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก การติดต่อระหว่างลำไส้กับสมองใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง หากรักษาโรคลำไส้แปรปรวนได้ก็จะลดความเครียด อาการซึมเศร้าได้
- กิน-คิด-ขยับ-ถ่ายให้เป็น ก็จะสามารถช่วยลดอาการลำไส้แปรปรวนได้ และต่อให้โรคลำไส้แปรปรวนจะไม่รุนแรง แต่อาการปวดท้องก็สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยไม่น้อย
ความเครียดส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อคิดมาก คิดเยอะจนเกินรับไหว ยิ่งมีอารมณ์ด้านลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธ ความตื่นเต้น หรือความเศร้า อาจส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ และกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกว่าลำไส้แปรปรวน เครียดลงกระเพาะ
ต่อให้ไม่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงหากมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอาการอาจแย่ลงได้
สังเกตได้ว่าเมื่อเรามีอารมณ์รุนแรง เช่น เครียดรุนแรง โกรธรุนแรง เศร้ารุนแรง ตื่นเต้นรุนแรง จะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องแบบบิดๆ เพราะลำไส้ใหญ่เกิดการบีบตัวผิดปกติ เมื่อมีอาการเครียดจัดจึงมักจะรู้สึกปวดท้องขึ้นมาทันที ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับลำไส้แปรปรวน มีข้อสังเกตว่าผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมักถูกกระตุ้นได้ง่ายจากความเครียด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“Ice Bath”แช่น้ำเย็นจัด ลดอักเสบ-ความเครียด-เหนื่อยล้า แต่ไม่รักษามะเร็ง
ความเครียด กับลำไส้แปรปรวนสัมพันธ์กัน
ดร.ดักลาส เอ ดรอสแมน (Dr. Douglas A. Drossman) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช่องท้อง อดีตผู้อำนวยการร่วม UNC Center for Functional GI and Motility Disorders เปิดเผยว่าความเครียดกับลำไส้แปรปรวนมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก
สำหรับในระยะยาวความเครียดส่งผลให้เป็นโรคลำไส้แปรปรวน โดยนอกจากจะทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้แล้ว ยังมีงานวิจัยชี้ว่าความเครียดทำให้เกิดการระบาดของจุลินทรีย์ในลำไส้ผิดถิ่น เช่น จุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่หลุดเข้าไปอยู่ในลำไส้เล็ก และไประบาดในบริเวณที่ไม่ใช่ถิ่นอาศัย ซึ่งการระบาดของจุลินทรีย์ผิดถิ่นนี้ถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคลำไส้แปรปรวน เช่นกัน
สำหรับวิธีการรักษาลำไส้แปรปรวนโดยการควบคุมความเครียด เป็นปัจจัยหนึ่งที่แพทย์กำชับเสมอว่าให้ผู้ป่วยคอยระวัง พยายามอย่าเครียดจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ใช้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทานอาหาร และการเสริม Probiotic เพื่อฟื้นฟูสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ควบคู่ในการรักษา
รักษาโรคลำไส้แปรปรวน ลดความเครียด ซึมเศร้า
เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า มีผลกับลำไส้แปรปรวนร่วมด้วย ซึ่งการรักษาโรคลำไส้แปรปรวนมีส่วนช่วยลดอาการซึมเศร้าและอาการจิตเภทได้
การติดต่อระหว่างลำไส้กับสมองใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ภาษิตอเมริกันกล่าวว่า “Butterflies in my Stomach” หมายความว่า เวลาที่เครียดหรือตื่นเต้นจะรู้สึกเหมือนมีผีเสื้อบินว่อนอยู่ในท้อง เมื่อเราตื่นเต้น ประสาทซิมพาเทติกจะตื่นตัว ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง น้ำย่อยมีปริมาณลดลง และถ่ายอุจจาระไม่คล่อง
ถ้าอยู่ในภาวะตึงเครียดนานๆ โรคภัยเกี่ยวกับลำไส้จะปรากฏออกมา ที่เด่นชัดที่สุดคือ อาการลำไส้แปรปรวน เมื่อตื่นเต้นหรือเครียด เราจะปวดท้องและวิ่งหาห้องส้วม โรคลำไส้แปรปรวนไม่ใช่โรคติดต่อและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้ชีวิตยุ่งยากมาก ถ้าอาการหนักอาจถึงขั้นออกจากบ้านไม่ได้
แรงกดดันจากจิตใจในวัยเด็กมีผลอย่างชัดเจนต่อสมรรถภาพของลำไส้ และอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของลำไส้ ผู้ป่วยโรคลำไส้เรื้อรังกว่าร้อยละ 70 มักผ่านความเศร้าโศกจากการจากไปของผู้ใกล้ชิด
เซโรโทนินผลิตโดยลำไส้เป็นหลัก
เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้าเรามักนึกถึงสารเซโรโทนิน (serotonin) ที่ได้รับการขนานนามว่า “สารสร้างความสุข” เซโรโทนินเกี่ยวข้องกับการปรับอารมณ์ถ้าร่างกายหลั่งสารเซโรโทนินน้อยเกินไป หรือทำหน้าที่ไม่ดี ล้วนก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
“เซโรโทนินผลิตโดยลำไส้เป็นหลัก” เพราะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และมีผลต่อสมอง การปรับอารมณ์ การนอน ความอยากอาหาร การเรียนรู้ และการจดจำ ถ้าเซโรโทนินในกระแสเลือดต่ำเกินไปจะรู้สึกซึมเศร้า และปวดท้อง เมื่อคุณกินยาแก้ซึมเศร้า เช่น ยาโพรแซก (Prozac) จะทำให้อารมณ์ดีขึ้นและสบายท้อง ทั้งนี้ เพราะ โพรแซกทำให้เซโรโทนินในเลือดเข้มข้นขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า ยาแก้ซึมเศร้าไม่ได้มีผลต่อสมอง แต่มีผลต่อลำไส้
ลำไส้กับสมองสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ในทำนองเดียวกันลำไส้กับจิตใจก็มีผลต่อกันและกัน การรักษาโรคซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และโรคจิตเภทอื่นๆ จึงเริ่มจากการดูแลลำไส้ของผู้ป่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคลำไส้แปรปรวน
- พฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง เช่น กินอาหารไม่ตรงเวลา กินแต่เนื้อสัตว์..ไม่กินผัก ไม่กินอาหารเช้า หรือดื่มน้ำน้อย
- มีภาวะเครียดจัด ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้
- ไม่ออกกำลังกาย และพักผ่อนไม่เพียงพอ
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
ปวดท้องแบบนี้! อาจเป็นโรคลำไส้แปรปรวน
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยข้างซ้ายหรือข้างขวา ร่วมกับอาการท้องผูกหรือท้องเสีย โดยอาการท้องผูกจะมีอาการแน่นท้องร่วมด้วย..เมื่อถ่ายแล้วอาการแน่นท้องก็จะดีขึ้น และที่สำคัญ!! ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการที่อันตรายร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลด หรือคลื่นไส้อาเจียน
เปลี่ยนพฤติกรรม ลดเสี่ยงลำไส้แปรปรวน
- กิน..ให้เป็น! คือ กินอาหารเช้า กินให้ตรงเวลา กินอาหารที่มีกากใย และกินในปริมาณที่พอดี ควบคู่กับการดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
- คิด..ให้เป็น! คือ คิดบวก มองโลกในแง่ดี ตลอดจน “ไม่เครียด” หากตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคนี้ เพราะยิ่งเครียดยิ่งทำให้อาการเรื้อรัง
- ขยับ..ให้เป็น! คือ จัดสรรเวลาสำหรับออกกำลังกาย เพื่อลดความเครียดและสร้างภูมิคุ้มกัน
- ถ่าย..ให้เป็น! คือ ไม่อั้นถ่ายเมื่อรู้สึกปวด เพราะอาการปวดอุจจาระจะอยู่กับเราเพียงแค่ประมาณ 2 นาทีแล้วหายไปสักพัก หากอั้นถ่ายบ่อยๆ จะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้
แม้ว่าโรคลำไส้แปรปรวนจะไม่รุนแรง แต่อาการปวดท้องก็สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยไม่น้อย แถมยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น ควรมาเปลี่ยนตัวเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
อ้างอิง :โรงพยาบาลพญาไท , interpharma