คนไทยซึมเศร้าพุ่ง! ห่วงผู้ป่วยไม่พบแพทย์ “ศูนย์โรคซึมเศร้า BMHH” ครบวงจร
สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในแต่ละปีประชากรไทยประมาณ1.5 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คิดเป็น 2-3% ของประชากรทั้งหมด
KEY
POINTS
- โรคซึมเศร้ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และ 2-3 ปีนี้ โรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 24% หรือ 1ใน 4 ของประชากรทั่วโลก โดยปัจจัยมาจากความเครียด และประชาชนมีความรู้มากขึ้น
- ศูนย์โรคซึมเศร้าแบบครบวงจร BMHH เปิดบริการ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เข้าถึงการบริการ และการรักษาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงรองรับการขาดแคลนจิตแพทย์
- การตรวจพบโรคให้ได้รวดเร็วมากที่สุด เพราะยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งป้องกันอันตรายได้ โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย มีกิจกรรมบำบัด และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษา
สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในแต่ละปีประชากรไทยประมาณ1.5 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คิดเป็น 2-3% ของประชากรทั้งหมด
ขณะที่สถิติเมื่อปี 2563-2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะสมจำนวนถึง 1.1 ล้านราย และมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงอายุ ซึ่งโรคซึมเศร้าไม่เพียงส่งต่อกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีการรับรู้ และให้ความสำคัญกับเรื่องของการเจ็บป่วยทางจิตใจมากขึ้น ทำให้เข้ามารับการรักษามากขึ้น ความยอมรับในด้านความเจ็บป่วยทางจิตในสังคมไทยดีขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ประเทศไทยมีการจัดระบบบริการที่ดีขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยเข้ามารักษาในระบบมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผลสำรวจเผย คนไทยป่วย ‘ซึมเศร้า’ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ‘โรคทางจิตเวช’
'ใจป่วย' เรื่องปกติที่รักษาได้ รู้เท่าทัน 'สุขภาพจิต' ในวันที่โลกเปลี่ยน
ศูนย์โรคซึมเศร้า BMHHครบวงจร
วานนี้(27 ส.ค.2567)โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital เปิดศูนย์โรคซึมเศร้าแบบครบวงจรแห่งใหม่ (Comprehensive Depression Center) มุ่งเน้นให้บริการที่ครอบคลุมทุกมิติของการรักษาโรคซึมเศร้า ตั้งแต่การประเมินอาการ การวินิจฉัย และการรักษาที่หลากหลาย
พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และ 2-3 ปีนี้ โรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 24% หรือ 1ใน 4 ของประชากรทั่วโลก มาจากความเครียด และประชาชนมีความรู้มากขึ้น ทำให้คนตระหนักเมื่อมีอาการก็มีการหาข้อมูล หรือประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ส่งผลให้มีการเข้ารับบริการมากขึ้น
“ในประเทศไทยมีสถานที่ที่ให้การปรึกษา บริการด้านสุขภาพจิตจำนวนจำกัด ขณะที่บุคลากรด้านสุขภาพจิตมีความขาดแคลน อย่าง จิตแพทย์มีประมาณ 800 คน อยู่ในพื้นที่กทม. 200 กว่าคน และกระจายอยู่ในต่างจังหวัด 400-500 กว่าคน การที่ประชาชนจะเข้าถึงการบริการจึงยาวนานมาก บางคนต้องรอถึง 1 ปี หรือ 5-6 เดือน ถึงจะเข้ารับการบริการได้ ทางโรงพยาบาล BMHH มองว่าต้องช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการบริการมากขึ้น จึงได้เปิดศูนย์โรคซึมเศร้าแบบครบวงจร”พญ.ณัฏฐพัชร์ กล่าว
การบริการศูนย์โรคซึมเศร้าแบบครบวงจร
สำหรับการบริการของ “ศูนย์โรคซึมเศร้าแบบครบวงจร BMHH” จะดำเนินการ 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1.การตรวจพบโรคให้ได้รวดเร็วมากที่สุด เพราะยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งป้องกันอันตรายได้ ผู้ป่วยจะได้ไม่เข้าถึงขั้นวิกฤตในการทำร้ายตนเอง หรือคนในครอบครัว โดยจะมีเว็บไซต์ที่จะให้บริการเครื่องมือคัดกรอง อย่าง แบบสอบถาม แบบประเมินสามารถเช็กตนเองได้ว่ามีภาวะโรคซึมเศร้าหรือไม่ อย่างไร ต้องพบแพทย์หรือไม่ เป็นต้น และเมื่อตรวจพบอาการสามารถเข้าตรวจพบแพทย์ได้รวดเร็ว และทราบผลการรักษาได้ทันที่
2. ทีมสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย ประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เภสัชกร และพยาบาล เป็นต้น ที่เข้ามาร่วมกันดูแลคนไข้ รวมถึงมีนักจิตบำบัด นักบำบัด กิจกรรม เครื่องมือต่างๆ และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น dTMS หรือ Deep Transcranial Magnetic Stimulation เป็นการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนลึก เพื่อช่วยลดอาการซึมเศร้า
3.การดูแลเฉพาะบุคคล เป็นการรักษา การบำบัด ที่เหมาะสมรายบุคคล ซึ่งการที่จะดูแลรักษาคนไข้ได้ดังกล่าว ต้องมีการประเมินเข้าใจคนไข้อย่างละเอียด
“โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้ป่วยได้อย่างมาก ซึ่งการตรวจหาโรคในระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยศูนย์โรคซึมเศร้าครบวงจรของ BMHH ให้ความสำคัญกับการประเมินอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ พร้อมเริ่มต้นการรักษาได้ทันท่วงที”พญ.ณัฏฐพัชร์ กล่าว
รู้-เข้าใจ พบแพทย์รักษาโรคซึมเศร้า
ทั้งนี้ จากสถิติขององค์การอนามัยโลกมีข้อมูลว่าปัญหาสุขภาพจิตทั่วโลกสูงขึ้น โดยอาจจะมาจาก 3 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ 1. สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 2. ภาวะตึงเครียดในการดำเนินชีวิตที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป 3. ความเป็นอยู่ในด้าน การกินและการอยู่อาศัย ที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเจ็บป่วย
พญ.ณัฏฐพัชร์ กล่าวต่อว่าโรคซึมเศร้า เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน, นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเศร้าหมอง เบื่อหน่าย หมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต รู้สึกสิ้นหวัง และอาจคิดฆ่าตัวตายได้ ซึ่งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและการตีตราทางสังคมยังคงเป็นอุปสรรคในการเข้ารับการรักษา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่กล้าไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม ดังนั้น การตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและการสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
“โรคซึมเศร้าเกิดในกลุ่มของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีภาวะความเครียด ฮอร์โมนล้วนส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ส่วนผู้ชายจะเป็นเรื่องของคาดหวังในชีวิตการทำงาน ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้าไม่ใช่เพียงแค่การใช้ยารักษาเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยการทำงานร่วมมือกันของทีมสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย จึงจะช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ยกระดับการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ BMHH เชื่อว่าการรักษาโรคซึมเศร้าที่ดีต้องเป็นการรักษาที่ปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพราะแต่ละคนมีปัจจัยที่ส่งผลต่อโรคแตกต่างกันไป” ”พญ.ณัฏฐพัชร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้อยู่ในกระบวนการรักษาสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการรับประทานยาที่ต่อให้ไม่มาพบแพทย์ก็ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และหากไม่รับประทานยาหรือรักษาแล้วไม่หายควรจะปรึกษาแพทย์ เพื่อใช้วิธีการที่เหมาะสม
ขณะที่คนรอบข้างเมื่อพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี โดยฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ อย่าไปคิดแทนว่าเรื่องนี้มันง่ายหรือมันยากทำไมเขาทำไม่ได้ และเมื่อฟังแล้วต้องบอกตัวเองว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ส่วนเรื่องของคำพูดนั้น จริงๆ ไม่มีคำพูดไหนที่พูดแล้วดีหรือไม่ดี แต่ควรอยู่ที่จังหวะและน้ำเสียงในการใช้
สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า 4 ช่วงวัย
พญ.ณัฏฐพัชร์ กล่าวต่อไปว่า โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกช่วงวัย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
โรคซึมเศร้าในวัยเด็ก พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าในเด็ก นอกจากเรื่องของพันธุกรรมและสารเคมีในสมองไม่สมดุลแล้ว ในวัยเด็กยังมีปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกเลี้ยงดูที่เข้มงวดจนเกินไป, การถูกเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้งหรือบูลลี่เป็นประจำ, ตัวเด็กเองขาดความมั่นใจในตัวเองจนรู้สึกกับตัวเองในแง่ลบ, และประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็ก หรือถูกทำร้ายร่างกายในวัยเด็ก
ขณะที่โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการปรับตัวในหลายด้านพร้อม ๆ กัน เช่น การเรียน การเข้ากันได้กับเพื่อน ความสัมพันธ์หนุ่มสาว หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงทำให้เกิดปัญหาได้ง่ายและมากกว่าวัยอื่น ๆ ฉะนั้นในคนที่มีความสามารถในการปรับตัวน้อย จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าในง่ายกว่าคนที่มีความสามารถในการปรับตัวที่ดี
“โรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน เป็นวัยที่พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด เนื่องจากวัยทำงานเป็นวัยสร้างครอบครัวและเป็นวัยที่มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย แบกรับความกดดันและความคาดหวังที่สูง อีกทั้งหลายคนอาจมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลสะสมโดยไม่รู้ตัว และอาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด”พญ.ณัฏฐพัชร์ กล่าว
ส่วนวัยผู้สูงอายุ จากงานวิจัยของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าผู้สูงอายุกว่า 70% มีภาวะซึมเศร้า และ 15% มีภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นวัยที่มีความเสื่อมถอยของสุขภาพ ผู้สูงอายุบางท่านเริ่มมีความคิดโทษตัวเองที่เป็นภาระของลูกหลาน และผู้สูงอายุหลายท่านเกิดความรู้สึกเหงาเพราะลูกหลานทำงานจนไม่มีเวลาให้ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้
อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าก็เหมือนโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีใครอยากเป็น ไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำ หรือ คิดไปเอง แต่เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของสมอง ที่ส่งผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เมื่อพบว่ามีอาการควรพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
ศูนย์โรคซึมเศร้า BMHH ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและปลอดภัย มุ่งเน้นการให้บริการแบบครบวงจรและทันสมัย โดยให้ความสำคัญกับการตรวจหาโรคซึมเศร้าในระยะเริ่มต้น เรามีทีมสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมมือกันวางแผนการรักษาและปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วย พร้อมรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า หรือครอบครัวที่ต้องการสนับสนุนผู้ป่วยให้ได้รับการรักษา
ศูนย์แห่งนี้จะเป็นที่พึ่งพิงให้กับผู้ป่วย และเชื่อมั่นว่าการเปิดศูนย์โรคซึมเศร้าครบวงจรแห่งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในสังคม