'นอนไม่หลับเรื้อรัง' ภาวะเสี่ยงของวัยทำงาน สูงวัย เสี่ยง 'โรคซึมเศร้า'

'นอนไม่หลับเรื้อรัง' ภาวะเสี่ยงของวัยทำงาน สูงวัย เสี่ยง 'โรคซึมเศร้า'

หลายคนคงเคยมีอาการ นอนไม่หลับ กว่าจะหลับก็เกือบเช้า ทำให้ตื่นเช้ามารู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง และรู้สึกหงุดหงิดง่าย อาการเหล่านี้ คือสัญญาณเตือนของโรคนอนไม่หลับ ปล่อยไว้จนกลายเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ส่งผลโรคซึมเศร้าได้

KEY

POINTS

  • ภาวะนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะพบได้บ่อยในวัยทำงาน, ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ หากปล่อยไว้นานๆ เพิ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้าถึง 2 เท่า
  • ปัจจัยที่ทำให้นอนไม่หลับ เกิดได้จากปัญหาด้านจิตใจ ความเครียด สุขภาพทางกาย การเป็นโรคบางชนิด การทายาบางชนิด สภาพแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • หากเกิดจากอุปนิสัยการนอน แพทย์จะแนะนำให้ปรับอุปนิสัยการนอนที่ถูกต้อง แต่หากเกิดจากโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า แพทย์แนะนำให้ใช้ยาร่วมการรักษา

หลายคนคงเคยมีอาการนอนไม่หลับ กว่าจะหลับก็เกือบเช้า ทำให้ตื่นเช้ามารู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง และรู้สึกหงุดหงิดง่าย อาการเหล่านี้คือสัญญาณเตือนของโรคนอนไม่หลับ หากไม่รีบรักษาปล่อยไว้จนกลายเป็น"โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง" อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ในอนาคต

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า 3 ใน 4 ประชากรไทย หรือราว 19 ล้านคน กำลังเผชิญกับภาวะนอนไม่หลับโดยที่ ราวๆ ร้อยละ 30 หรือ กว่า 5,700,000 คน นอนหลับยาก ซึ่งกว่าร้อยละ 70 หรือ เกือบ 4,000,000 คน อยู่ในวัยทำงาน

โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานควรนอนให้ได้ถึงวันละ 8 ชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการ เช่น ตื่นเช้าหงุดหงิด อ่อนเพลีย ไม่อยากทำงาน ง่วงนอน ไม่สดชื่น ปวดหัว ช่วงเวลาหลังตื่นนอนและระหว่างวัน ก็จะมีผลประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่ดี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

‘ภาวะซึมเศร้า’ ไม่ใช่ความอ่อนแอ สามารถรักษาให้หายได้

ผลสำรวจเผย คนไทยป่วย ‘ซึมเศร้า’ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ‘โรคทางจิตเวช’

'นอนไม่หลับ'ปล่อยไว้เสี่ยงโรคซึมเศร้า 2 เท่า

นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท รวมไปถึงใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับ โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะพบได้บ่อยในวัยทำงาน, ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ  ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นานๆ จนมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตที่อาจเพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า

อาการนอนไม่หลับสามารถพบได้หลายรูปแบบ เช่น ต้องใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับได้, หลับแล้วตื่นบ่อยๆ  ตื่นแล้วไม่สามารถนอนหลับได้อีก ง่วงนอนในเวลากลางวัน แต่นอนไม่หลับในเวลากลางคืน และมีอาการดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนขึ้นไป

เช็กภาวะนอนไม่หลับมีประเภทใดบ้าง?

โดยภาวะนอนไม่หลับสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท มีดังนี้ 

1.หลับยาก (Initial insomnia) คือภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหานอนหลับยากใช้เวลานอนนานกว่าจะหลับ ภาวะดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล

2.หลับแล้วตื่นและไม่สามารถหลับตามที่ร่างกายต้องการได้อีก (Maintenance insomnia) คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ยาวมีการตื่นกลางดึกบ่อย ภาวะดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาทางกาย เช่นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

3.ตื่นเร็วและหลับต่อไม่ได้ (Terminal insomnia) คือภาวะที่ผู้ป่วยตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า

\'นอนไม่หลับเรื้อรัง\' ภาวะเสี่ยงของวัยทำงาน สูงวัย เสี่ยง \'โรคซึมเศร้า\'

อาการนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย 

ปัจจัยด้านจิตใจ

  • สภาวะความเครียดทำให้เกิดความกังวล หมดกำลังใจ อาการเหล่านี้มีผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ
  • อาจเกิดจากโรคที่มีผลโดยตรงกับความรู้สึก เช่น โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น

ปัจจัยด้านร่างกาย

  • มีอาการป่วยที่มีส่วนทำให้เกิดโรค เช่น โรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การหมดประจำเดือน
  • อาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

  • อุณหภูมิภายในห้องนอนสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป
  • แสงสว่างมากเกินไป
  • มีเสียงรบกวนจากภายนอก
  • การนอนต่างที่ทำให้นอนหลับยาก

ปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรม

  • การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้นอนหลับยาก
  • อุปนิสัยการนอนที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การเล่นเกมหรือโทรศัพท์มือถือก่อนนอน
  • การทำงานที่ต้องมีการเข้าเวร ทำให้ต้องเปลี่ยนเวลาการนอนบ่อย ๆ

"การนอนไม่หลับเรื้อรังยังส่งผลด้านลบต่อสุขภาพกายและปัญหาสุขภาพจิต เช่น เพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า, เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน, เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และการขับรถ"

\'นอนไม่หลับเรื้อรัง\' ภาวะเสี่ยงของวัยทำงาน สูงวัย เสี่ยง \'โรคซึมเศร้า\'

วิธีรักษาภาวะนอนไม่หลับ 

การรักษาภาวะนอนไม่หลับ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละบุคคล

  • หากเกิดจากอุปนิสัยการนอน แพทย์จะให้คำแนะนำในการปรับอุปนิสัยการนอนที่ถูกต้อง
  • หากเกิดจากโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคประสาทตื่นตัวผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาร่วมในการรักษา

ป้องกันและแก้ปัญหานอนไม่หลับ

การป้องกันและแก้ปัญหาการนอนไม่หลับเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้

  • จัดห้องให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการนอน
  • หลีกเลี่ยงการงีบในช่วงกลางวัน
  • เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกัน
  • นอนหลับเมื่อรู้สึกง่วง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือชา หลังอาหารเที่ยง
  • หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก หรืออาหารที่ย่อยยากก่อนนอน เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรือโรคกรดไหลย้อนได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรใช้ยานอนหลับหากไม่จำเป็น
  • ถ้าทำทุกอย่างแล้วยังปรับการนอนไม่ได้ ควรมาพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อประเมินปัญหาการนอนไม่หลับ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม