วัยทำงานต้องระวัง!! 'วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล' โรคทางจิตที่เกิดบ่อย

วัยทำงานต้องระวัง!! 'วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล' โรคทางจิตที่เกิดบ่อย

เคยหรือไม่? นอนอยู่ๆ ก็รู้สึก กังวลถึงเรื่องราวในอนาคต หรือคิดมากขึ้นมา จนทำให้นอนไม่หลับ ไม่สบายใจ แล้วยิ่งพยายามหาสาเหตุของความวิตกกังวลมากเท่าไหร่ กลับหาไม่เจอแถมยังทำให้หมกหมุ่นอยู่ในวังวนความวิตกกังวลต่อเนื่อง

KEY

POINTS

  • โรควิตกกังวลเป็นโรคทางจิตที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง สาเหตุเกิดได้ทั้งจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม  และสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู 

  • อาการ Free-Floating Anxiety เช่น วิตกกังวล ไม่สบายใจ กลัว กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนก สงสัย คับข้องใจหรือมีความเครียด โดยจะเป็นๆ หายๆ 

  • วิธีป้องกันโรควิตกกังวล ต้องทำให้ตนเองผ่อนคลาย  หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และจัดการความคิด คิดแง่บวก

เคยหรือไม่? นอนอยู่ๆ ก็รู้สึก กังวลถึงเรื่องราวในอนาคต หรือคิดมากขึ้นมา จนทำให้นอนไม่หลับ ไม่สบายใจ แล้วยิ่งพยายามหาสาเหตุของความวิตกกังวลมากเท่าไหร่ กลับหาไม่เจอแถมยังทำให้หมกหมุ่นอยู่ในวังวนความวิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิม

อาการดังกล่าว ทางการแพทย์ มีชื่อเรียกว่า Free-Floating Anxiety คือ อาการวิตกกังวลที่ไม่ได้ทราบสาเหตุ ไม่เจาะจงหรือผูกพันกับเหตุการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ

อาการนี้มักเกี่ยวข้องกับคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder หรือ GAD) ซึ่งเป็นการวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง กังวลมากเกินความจำเป็นจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งแม้ไม่มีอะไรให้กังวลก็ตามแต่คนที่มีอาการแบบนี้มักคาดเดาหรือจินตนาการถึงสิ่งที่แย่ที่สุดไว้ก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เงิน ครอบครัว สุขภาพ หรือความสัมพันธ์ก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วิธีชนะความวิตกกังวล

เสริมเกราะป้องกันมะเร็ง ด้วย 5 เคล็ดลับสุขภาพดี

รู้จักโรควิตกกังวล โรคทางจิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

โรควิตกกังวลเป็นโรคทางจิตที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง สาเหตุเกิดได้ทั้งจาก 2 ปัจจัยหลักดังนี้

  • พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม ถ้าพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน 
  • สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลแบ่งออกได้ 5 ประเภทหลัก 

1.โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder , CAD )

คือ การมีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วๆไปนานและมากเกินไป เช่น เรื่องงาน ครอบครัว หรือเรื่องเล็กๆน้อยๆ ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  

2.โรคแพนิก (Panic Disorder, PD )

คือ การที่อยู่ดีๆเกิดอาการกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาเป็นพักๆโดยไม่มีสาเหตุหรือมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก เจ็บหน้าอก รู้สึกสำลัก เวียนหัว คลื่นไส้หรือท้องปั่นป่วน หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ มือเท้าชา กลัวว่าตัวเองจะตาย อาการของแพนิกไม่ใช่เป็นโรคร้ายแรงแต่ทำให้รู้สึกไม่สบายมาก 

วัยทำงานต้องระวัง!! \'วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล\' โรคทางจิตที่เกิดบ่อย

3.โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)

คือ การกลัวมากเกินไปเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง สถานการณ์บางอย่างหรือกิจกรรมบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง เช่น กลัวเลือด กลัวสุนัข กลัวที่แคบ

4.โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD)

คือ ความคิดวิตกกังวลที่มีการคิดซ้ำๆและมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ

5.โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD)

คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย ภาวะภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ร้ายแรง ถูกทำร้ายหรือเห็นคนใกล้ตัวตาย เป็นต้น

วัยทำงานต้องระวัง!! \'วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล\' โรคทางจิตที่เกิดบ่อย

อาการโรควิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล

นะลิน แสงสุวรรณ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า ผู้ที่มีอาการ Free-Floating Anxiety อาจมีอาการหรือความรู้สึกเหล่านี้ เช่น วิตกกังวล ไม่สบายใจ กลัว กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนก สงสัย คับข้องใจ หรือมีความเครียด เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องสังเกตว่าอาการ หรือความรู้สึกเหล่านี้ เป็นๆ หายๆ และไม่มีที่มาชัดเจนได้ง่ายๆ

แต่ถ้าหากว่ามีอาการหรือความรู้สึกเหล่านี้มากขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ จนกระทบกับการดำรงชีวิตหรือการทำกิจวัตรประจำวัน อาจกลายเป็นความวิตกกังวลที่มักเกี่ยวข้องกับโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD) ได้ เช่น กระสับกระส่าย หวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย อ่อนเพลียง่าย ใจลอย หงุดหงิดง่าย ปวดตึงกล้ามเนื้อ รวมถึงนอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ

อาการที่อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรควิตกกังวลในภายหลังได้ ได้แก่

  • ไม่สามารถควบคุมความกังวลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้
  • กังวลโดยไม่มีสาเหตุ หรือ Free-Floating Anxiety
  • กังวลกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากจนเกินไป
  • ไม่สามารถผ่อนคลายได้
  • ยากที่จะมีสมาธิ
  • หน้ามืดบ่อยๆ หรือตกใจง่าย
  • นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับยากผิดปกติ
  • รู้สึกเหนื่อยล้า
  • มักจะมีความคิดเชิงลบ หรือข้ามไปยังข้อสรุปที่แย่ที่สุดเสมอ
  • ปวดหัว ปวดท้องและปวดจุดอื่นๆ ตามร่างกาย
  • เบื่ออาหาร หรือกลืนอาหารได้ลำบาก
  • มีอาการสั่นหรือกระตุก
  • หงุดหงิดง่าย เวียนหัวง่าย เหงื่อออกง่าย หรือหายใจไม่ค่อยออก

วัยทำงานต้องระวัง!! \'วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล\' โรคทางจิตที่เกิดบ่อย

สาเหตุของโรควิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล 

สาเหตุที่แท้จริงของ Free-Floating Anxiety ที่เกิดขึ้นในโรควิตกกังวลทั่วไป ยังไม่ทราบชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหลายอย่างที่เชื่อว่ามีส่วนทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น

  • สารเคมีในสมองไม่สมดุล ระบบสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า Serotonin และสมองส่วนที่เรียกว่า Amygdala เมื่อเกิดความไม่สมดุลก็มีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้มากกว่าปกติ
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีความวิตกกังวลมากกว่าปกติหรือถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล โดยทั่วไปมีแนวโน้มที่จะมีสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดเป็นโรควิตกกังวลด้วย
  • ประสบการณ์เชิงลบ หรือกระทบกระเทือนจิตใจมีบทบาทให้เกิดความรู้สึกเครียด หวาดกลัว รู้สึกวิตกกังวลจนนำไปสู่ความวิตกกังวลมากกว่าปกติได้เช่นกัน
  • การเลี้ยงดู เด็กที่ถูกเลี้ยงดูร่วมกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลที่มีพฤติกรรมตอบสนองกับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความวิตกกังวล มีส่วนทำให้เด็กเลียนแบบและจำลองพฤติกรรมตอบสนองเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความวิตกกังวล และอาจมีแนวโน้มที่จะมีความวิตกกังวลในระดับสูงขึ้นในภายหลัง

วัยทำงานต้องระวัง!! \'วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล\' โรคทางจิตที่เกิดบ่อย

เช็กระดับความวิตกกังวลของบุคคล

ความวิตกกังวลมี 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับต่ำ Mild anxiety

ระดับนี้พบได้ทั่วไป เช่น การตึงเครียดจากการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นระดับที่ทำให้บุคคลเกิดความตื่นตัว กระตือรือร้นที่จะเอาชนะปัญหา มีการรับรู้ที่ว่องไว ความจำดี สมาธิดี อารมณ์และการกระทำไม่เปลี่ยนจากปกติมากนัก รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้น

เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ม่านตาขยาย ฝ่ามือมีเหงื่อออก การเคลื่อนไหวเร็วขึ้น บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับต่ำนี้ยังสามารถควบคุมตนเองได้ โดยอาจต้องการความช่วยเหลือบ้าง เช่น ต้องการข้อมูลเพิ่ม ต้องกาความสะดวก ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจ

  • ระดับปานกลาง Moderate anxiety 

ระดับนี้มีผลทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้แคบลง ความสนใจน้อยลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง อาจมีอาการทางสรีระ

เช่น หายใจเข้าออกแรง รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร ปวดศีรษะ บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับปานกลางนี้ยังสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองได้

  • ระดับรุนแรง (Severe anxiety) 

ระดับนี้มีผลทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้แคบลง ทำให้หมกมุ่นในรายละเอียดมากจนเกินไป ไม่สามารถจับสาระสำคัญของเรื่องใดได้ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาลดลงและทำงานได้ไม่เต็มสมรรถภาพ เกิดความสับสน มีพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อปกป้องตนเองมากขึ้น และมักเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่สังเกตเห็นได้

เช่น กระวนกระวาย หงุดหงิด โมโหง่าย เรียกร้องเกินกว่าเหตุ ต่อต้าน ตื่นกลัว ตัวสั่น เกร็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ท้องเดิน หรือท้องผูก นอนไม่หลับ บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับรุนแรงนี้ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น

  • ระดับรุนแรงมาก (Panic anxiety) 

ระดับนี้มีผลทำให้บุคคลเกิดความกลัวอย่างรุนแรงมาก หรือเป็นความกลัวสุดขีด ทำให้บุคคลขาดการควบคุมตนเอง และแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่มีในสภาวะปกติ

เช่น กรีดร้อง วิ่งหนีไปอย่างไรจุดหมาย หรือตกตะลึงแน่นิ่งหมดสติทันทีทันใด บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับรุนแรงมากนี้จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและไม่สามารถทำภารกิจเหมือนปกติได้

วัยทำงานต้องระวัง!! \'วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล\' โรคทางจิตที่เกิดบ่อย

รับมืออย่างไร? เมื่อเกิดภาวะวิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล

การรักษาโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรค การรักษาหลักคือ การพูดคุยให้คำปรึกษาด้วยการรับฟัง แสดงความเห็นใจและให้คำอธิบาย การทำจิตบำบัด การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy หรือ CBT) และการรักษาด้วยยาซึ่งมียาหลายกลุ่มที่สามารถกินเพื่อลดอาการวิตกกังวล

1. การทำให้ตนเองผ่อนคลาย 

เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หายใจเข้า-ออกลึกๆ หรือนวดเพื่อผ่อนคลายแบบอโรม่าโดยเลือกกลิ่นที่ชอบ หากทำเป็นประจำจะช่วยลดความเครียดและความกังวลได้มากขึ้น

2. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

  • สุรา บุหรี่ แม้การดื่มสุราและสูบบุหรี่ช่วยลดความกังวลได้ แต่ไม่นานเท่าไหร่ก็กลับมากังวลเหมือนเดิม อีกทั้งเมื่อใช้ในระยะยาวยิ่งเสพติดแอลกอฮอล์และนิโคตินได้ง่าย เพิ่มความกังวลด้านสุขภาพเข้ามาอีกด้วย
  • ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมีส่วนกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว แต่หากร่างกายได้รับมากไปหรือกำลังตกอยู่ในภาวะที่เป็นกังวลอยู่อาจกระตุ้นให้สมองเกิดความกังวลมากยิ่งขึ้น

3. จัดการความคิด ควรคิดในแง่บวกและคิดเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่านั้น แต่หากความกังวลเกิดขึ้นแล้ว ควรไตร่ตรองทุกครั้งว่าสิ่งที่กำลังคิดกังวลอยู่เกิดประโยชน์หรือเกิดโทษกับตัวเอง เมื่อจัดการความคิดความกังวลได้ก็จะไม่เป็นทาสของความคิดช่วยลดความกังวลได้มาก

วัยทำงานต้องระวัง!! \'วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล\' โรคทางจิตที่เกิดบ่อย

วิธีแก้ไขภาวะ Free-Floating Anxiety

  • การยอมรับตัวเองว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร
  • รู้เท่าทันจิตใจว่าตอนนี้เรากำลังกังวลอยู่นะ
  • ให้เวลาและอนุญาตให้ตัวเองกังวลได้ภายในเวลาที่กำหนด
  • กังวลให้เต็มที่และต้องมูฟออนต่อไปให้ได้
  • อาจจะใช้วิธีพูดคุยกับคนรอบข้างเยอะ ๆ ปัญหาเหล่านี้สามารถพูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือคนใกล้ตัวให้คลายกังวลได้เหมือนกัน
  • อย่าคิดว่าคนอื่นจะไม่รับฟังหรือไม่เข้าใจ
  • ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจตัวเองให้ได้ปลดปล่อยออกไปบ้าง เช่น การออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ดูหนัง ฟังเพลง หรือทำกิจกรรมที่ชอบบ่อย ๆ ก็ช่วยให้คุณคลายกังวลได้เหมือนกัน

แต่หากลองสังเกตตัวเองดีๆ แล้ว อาการกังวลยังคงอยู่หรือมีมากขึ้นตามอาการและสัญญาณเตือนที่กล่าวในข้างต้นจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันก็อาจนำไปสู่โรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตบำบัด จะช่วยทำให้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ง่ายและรักษาได้รับการรวดเร็ว

อ้างอิง: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ,โรงพยาบาลมนารมย์ ,คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย