ออกไป 'วิ่ง' ช่วยลดอาการซึมเศร้า-วิตกกังวล ได้พอๆ กับการใช้ยา?!

ออกไป 'วิ่ง' ช่วยลดอาการซึมเศร้า-วิตกกังวล ได้พอๆ กับการใช้ยา?!

การค้นพบครั้งใหญ่! เมื่อการ “วิ่ง” ออกกำลังกาย สามารถลดอาการ “ซึมเศร้า” และวิตกกังวลได้เทียบเท่ากับการใช้ “ยาต้านเศร้า” แต่ได้ผลเฉพาะผู้ป่วยอาการน้อย

Key Points: 

  • วิจัยจากเนเธอร์แลนด์ เผย "การวิ่ง" สามารถบรรเทาอาการซึมเศร้า-วิตกกังวล ได้ผลดีเทียบเท่าการใช้ยาต้านเศร้า
  • ปัจจุบันการใช้ยาต้านเศร้าส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวของผู้ป่วย ทีมวิจัยจึงมองหาวิธีอื่นๆ ที่ช่วยรักษาอาการซึมเศร้าโดยไม่ต้องใช้ยา เพื่อลดผลข้างเคียงเหล่านั้น
  • แม้การวิ่งจะช่วยลดอาการ "ซึมเศร้า" ได้ตามผลวิจัย แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน เพราะอาการซึมเศร้ามีหลายระดับ ตั้งแต่อาการน้อยไปมาก สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงมาก ยังไงก็ต้องใช้ยารักษา

ไม่ได้จะบอกว่า แค่ออกไป “วิ่ง” แล้วจะหายจากโรคซึมเศร้าได้ เพียงแต่นักวิจัยจากสาขาการระบาดวิทยาทางจิตเวช แห่งมหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม (Vrije University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้องการหาคำตอบว่า จะมีทางอื่นในการรักษาอาการซึมเศร้า (Depressed) และวิตกกังวล (Anxiety) ที่นอกเหนือจากการใช้ยาหรือไม่? ซึ่งคำตอบก็คือ “การวิ่งออกกำลังกาย”

งานวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเวทีการประชุมใหญ่ประจำปีของ European College of NeuroPsychopharmacology (ECNP) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-10 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้ก็ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Affective Disorders เมื่อช่วงต้นปี 2023 อีกด้วย

 

  • ครั้งแรกของวงการจิตเวชที่ค้นพบว่า การวิ่ง ให้ผลดีพอๆ กับยาต้านเศร้า

ศาสตราจารย์เบรนดา เพนนินซ์ อาจารย์สาขาการระบาดวิทยาทางจิตเวชที่ Vrije University ผู้ร่วมทำวิจัยชิ้นนี้เปิดเผยว่า ความชุกของผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวลในยุคปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น และการใช้ยาต้านเศร้าก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวของผู้ป่วย ทีมวิจัยจึงมองหาวิธีที่ดีที่สุดในการบรรเทาผลกระทบเหล่านี้

การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในวงการจิตวิทยา ที่ศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างผลของการใช้ “ยาแก้ซึมเศร้า (Escitalopram)” กับ “การวิ่งออกกำลังกาย” ในการลดความวิตกกังวล ลดภาวะซึมเศร้า แถมยังส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยโดยรวม 

“อย่างที่รู้กันว่า หากป่วยซึมเศร้าแล้วไม่เข้ารับรักษาจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แย่ลง ดังนั้นยาแก้ซึมเศร้าจึงเป็นทางเลือกที่ดี ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องขยายองค์ความรู้ด้านวิธีการรักษาใหม่ๆ ให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยบางรายไม่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้า หรือไม่เต็มใจที่จะรับยาเหล่านั้น” ศาสตราจารย์เบรนดา กล่าว 

สำหรับขั้นตอนในการทดลอง ทีมวิจัยได้ทดลองกับกลุ่มผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยโรควิตกกังวล หรือป่วยทั้งสองอย่างรวม 141 ราย เป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ แบ่งเป็นกลุ่มแรกให้กินยาต้านเศร้า ส่วนกลุ่มที่สองไม่มีการจ่ายยาให้ แต่ให้วิ่ง 45 นาที เป็นเวลา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์โดยมีผู้ดูแลใกล้ชิด

ออกไป \'วิ่ง\' ช่วยลดอาการซึมเศร้า-วิตกกังวล ได้พอๆ กับการใช้ยา?!

 

  • การบำบัด "ผู้ป่วยซึมเศร้า" ด้วยวิธีออกกำลังกาย ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการมากขึ้น

ผลการทดลองพบว่า 44% ของผู้ร่วมทดลองทั้งสองกลุ่มมีอาการดีขึ้น ความซึมเศร้าหรือวิตกกังวลน้อยลง ทีมวิจัยสรุปผลได้ว่า การใช้ยา และการวิ่งมีประสิทธิผลในการรักษาเท่าเทียมกัน อีกทั้งในผู้ทดลองกลุ่มที่ให้วิ่งออกกำลังกาย ยังพบด้วยว่าพวกเขาน้ำหนักลดลง ขนาดเอวลดลง และมีความดันโลหิตและสุขภาพของหัวใจดีขึ้น ในขณะที่กลุ่มใช้ยาต้านเศร้าไม่มีข้อดีเหล่านี้ตามมา

ด้าน คาร์เมล ชอย นักจิตวิทยาคลินิกและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Harvard Medical School ในบอสตัน (ไม่มีส่วนร่วมในการวิจัย) แสดงความเห็นต่องานวิจัยชิ้นนี้ว่า เป็นที่รู้กันดีว่าการออกกำลังกายเป็นตัวช่วยในการรักษาอาการป่วยทางจิตใจได้จริง และถูกยอมรับในทางการแพทย์อย่างเป็นทางการมากขึ้น โดยแพทย์จะให้คนไข้ออกกำลังกายคู่กับการทำจิตบำบัดหรือการใช้ยา

“ในกรณีนี้ การออกกำลังกายถูกพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์พอๆ กับการใช้ยาแก้ซึมเศร้า โดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่า และมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมากกว่า” นักจิตวิทยาให้ความเห็น

ออกไป \'วิ่ง\' ช่วยลดอาการซึมเศร้า-วิตกกังวล ได้พอๆ กับการใช้ยา?!

 

  • การบำบัดด้วย "การวิ่ง" อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยซึมเศร้าทุกคน! 

ในขณะเดียวกัน การวิ่งออกกำลังกายเพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้า อาจไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน เนื่องจากอาการซึมเศร้ามีหลายระดับ ตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก และผู้ป่วยแต่ละคนก็มีระดับอาการป่วยแตกต่างกัน ดังนั้น ในกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง ก็ควรต้องใช้ยารักษา ห้ามขาดยา แต่สามารถออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยได้โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อการรักษา

เบน ซิงห์ นักวิจัยพันธมิตรด้านสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย (ไม่มีส่วนร่วมในการวิจัย) สะท้อนความเห็นในอีกมุมหนึ่งว่า งานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังมีช่องโหว่บางจุด กล่าวคือ ผลการทดลองยังไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนว่าการรักษาแบบใดเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด? เนื่องจากระดับอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่การศึกษาส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นไปที่ “ภาวะซึมเศร้าที่ไม่รุนแรง”  เนื่องจากมีความปลอดภัยในการศึกษามากกว่า 

“ในกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างรุนแรงมักจะแสดงอาการที่รุนแรงตามมาด้วย เช่น ความเศร้าใจขั้นลึกสุด ความสิ้นหวังอย่างต่อเนื่อง มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือการไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด” ซิงห์ กล่าว

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ปาร์โก ซู อาจารย์สาขากายภาพวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (ไม่มีส่วนร่วมในการวิจัย) แสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกันว่า ยังไม่ค่อยผลการศึกษาอื่นๆ ที่บ่งชี้ชัดเจนถึงการรักษาภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงด้วยการออกกำลังกาย สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรง การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ

ออกไป \'วิ่ง\' ช่วยลดอาการซึมเศร้า-วิตกกังวล ได้พอๆ กับการใช้ยา?!

 

  • การรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าแต่ละคน มีความเฉพาะเจาะจง ใช้วิธีรักษาเหมือนกันไม่ได้!

กล่าวโดยสรุปคือ แม้จะมีผลการวิจัยออกมาว่า การวิ่งช่วยลดอาการซึมเศร้าได้จริงตามผลการวิจัย แต่ทั้งนี้ มันอาจได้ผลดีเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงต้องใช้ยารักษาบวกการออกกำลังกาย และเข้ารับการบำบัดโดยแพทย์ 

ผศ.เฟลิเป บาร์เรโต ชูช อาจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต จากมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐซานตามาเรีย ประเทศบราซิล อธิบายว่า ไม่มีเหตุผลที่จะขอให้ผู้ป่วยเลือกเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้นในการรักษาอาการซึมเศร้า โดยทั่วไปการรับประทานยาต้านเศร้า และการออกกำลังกายไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงใดๆ ให้คนไข้ คนไข้สามารถรักษาได้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไปได้ 

อาจารย์เฟลิเป บอกอีกว่า สำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้าขั้นรุนแรง และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น นอกจากการใช้ยารักษาแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้รักษาร่วมได้ แต่ยังมีข้อจำกัดคือ ในการศึกษาเปรียบเทียบการออกกำลังกาย และการใช้ยาสำหรับรักษาภาวะซึมเศร้านั้น ยังไม่รู้แน่ชัดว่าต้องออกกำลังกายปริมาณมากแค่ไหน ถึงจะทดแทนการใช้ยาได้ 

อย่างไรก็ตาม จิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงเน้นย้ำจุดสำคัญว่า วิธีการรักษาโรคซึมเศร้าของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นทางเลือกในการรักษาซึมเศร้าแทนการใช้ยาได้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรทราบก็คือ “ไม่มีสิ่งใดใช้ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย” ดังนั้น ผู้ป่วยต้องพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดอย่างเปิดเผย เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการอย่างเฉพาะเจาะจงของคุณได้ และช่วยให้คุณมีข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยวิธีใดถึงจะเหมาะสมมากที่สุด

หากคุณกำลังพยายามบรรเทาภาวะซึมเศร้าด้วยการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ควรตระหนักไว้ด้วยว่า ผลลัพธ์นั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ไม่สามารถคอนเฟิร์มได้ว่าการวิ่งออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคซึมเศร้าได้ทุกคน

------------------------------------------
อ้างอิง: CNN 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์