เสพติด ‘ชานมไข่มุก’ อาจก่อให้เกิด ‘โรคซึมเศร้า’
วิจัยเผย คนรุ่นใหม่ดื่ม “ชานมไข่มุก” เพื่อจัดการอารมณ์ของตนเอง จนกลายเป็น “เสพติดชานม” ผู้เชี่ยวชาญเติมดื่มบ่อย ๆ อาจจะทำให้เกิด “โรคซึมเศร้า” ได้
“ชานมไข่มุก” เครื่องดื่มสุดโปรดของคนทุกเพศทุกวัย มีขายอยู่ทั่วทุกหัวถนน ตั้งแต่ราคาแก้วไม่กี่บาท จนไปถึงเกือบร้อย หลายคนต้องดื่มทุกวัน มิฉะนั้นจะไม่เป็นอันทำงาน เพราะชีวิตขาดหวานไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่า ชานมจะไม่ได้แค่ช่วยให้กระปรี้กระเปร่าอย่างเดียว งานวิจัยล่าสุดพบว่า การดื่มชานมบ่อย ๆ มีความเชื่อมโยงกับ “โรคซึมเศร้า” และหลายคนดื่มชานมเพื่อบำบัดจนกลายเป็น “ติดชานม” ในที่สุด
- เสพติดชานม
งานวิจัยล่าสุดของที่พึ่งตีพิมพ์ในปี 2023 ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิงหวา และมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์กลางในประเทศจีน ทำการสำรวจนักศึกษาวิทยาลัยอายุระหว่าง 15-24 ปี ในปักกิ่ง 5,281 คน เป็นผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชานมจนถึงขั้น “เสพติด” วัดจากระดับความอยากดื่มชานมจนไม่สามารถหยุดดื่มได้ เพราะพึ่งพิงความสุขจากการดื่ม ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกผิดที่จะต้องดื่ม อยากจะเลิกดื่มและมีความตั้งใจที่จะหยุด ซึ่งเป็นมาตรวัดระดับอาการติดยาเสพติดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองเกือบครึ่งหนึ่งยอมรับว่าดื่มชานมอย่างน้อยหนึ่งแก้วต่อสัปดาห์
อีกส่วนดื่มชานมทุกวัน ทั้งกับเพื่อนหรือในงานสังสรรค์ เพราะการดื่มชานมเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสังคมและสร้างความผูกพันกับผู้อื่น ทำให้คนรุ่นใหม่
บางคนมีอาการ “ติดชานม” อย่างชัดเจน ทั้งการบริโภคชานมมากเกินไป และอยากดื่มชานมอยู่เรื่อย ๆ
ผศ.(พิเศษ) นพ.ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า การดื่มเครื่องดื่มหวาน ๆ เป็นประจำ ซึ่งรวมถึงชานมไข่มุก สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เพราะเป็นแหล่งของน้ำตาลส่วนเกิน (เกินความต้องการของร่างกาย) ซึ่งไม่ทำให้อิ่มท้อง ไม่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่งผลให้เสพติดรสหวาน และทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
แถมทำให้เป็นโรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง ภาวะไขมันพอกตับ ภาวะดื้อต่ออินซูลินและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ฟันผุและโรคทันตกรรม โรคเกาต์
- กาเฟอีนส่งผลต่อโรคซึมเศร้า
ชานมไม่ได้มีเพียงแต่ปริมาณน้ำตาลที่มากเกินจำเป็น ในชานมยังมีกาเฟอีน ซึ่งหากได้รับกาเฟอีนมากเกินไปจะส่งผลให้ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ เกิดอาการวิตกกังวล ใจสั่น ความดันโลหิตสูง และเครียดเพิ่มขึ้น
อาการเหล่านี้คล้ายกับการตอบสนองแบบ "สู้หรือหนี" ของร่างกาย ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายในสภาวะที่มีอะดรีนาลินสูง หรือสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตราย ซึ่งทำให้ระดับความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นได้
ส่งผลทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบ จนเกิดการแยกตัวจากสังคมในหมู่วัยรุ่นได้
จากงานวิจัยเมื่อปี 2019 ชี้ให้เห็นว่าชาและกาแฟอาจรบกวนการทำงานของสารสื่อประสาทที่สำคัญหลายชนิด รวมถึงโดปามีนและกรดแกมมา-อะมิโนบิวทีริก หรือ GABA ซึ่งส่งผลโดยตรงกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หากขาดสารสื่อประสาทโดปามีนจะทำให้ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตและไม่มีแรงกระตุ้นให้ทำสิ่งต่าง ๆ ส่วนการขาด GABA อาจเพิ่มความหงุดหงิด กระสับกระส่าย ความวิตกกังวล และการโทษตัวเอง (self-criticism)
นอกจากนี้ กาเฟอีนยังทำอาการซึมเศร้าแย่ลงไปอีก เนื่องจากกาเฟอีนสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิ์อาจทำให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ารู้สึกแย่มากกว่าเดิม ขณะเดียวกันหากพยายามหักดิบการใช้กาเฟอีนอย่างไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดอาการทับซ้อนกันอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลได้เช่นกัน
ในการศึกษาครั้งนี้ยังพบความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องระหว่างการบริโภคชานมกับความเหงา ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ตลอดจนความคิดฆ่าตัวตาย แม้ว่าจะยังระบุสาเหตุที่แน่นอนไม่ได้ว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร นักวิจัยคาดว่าคนหนุ่มสาวในจีนและทั่วโลก อาจหันมาดื่มชานมเพื่อจัดการอารมณ์และควบคุมสภาวะจิตใจของตนให้เป็นปรกติ ซึ่งทำให้คนเหล่านี้เกิดอาการเสพติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ดังนั้นนักวิจัยจึงเรียกร้องให้มีมาตรการควบคุมการโฆษณา พร้อมให้ความรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพกายและจิตจากการดื่มชานม ตั้งแต่โรคอ้วนและฟันผุ ไปจนถึงการเสพติดและภาวะซึมเศร้า
ที่มา: Medical News Today, Science Alert, Sport Skeeda, WION