ภาวะ “เหนื่อยจากโรคซึมเศร้า” ต่างจากอาการเหนื่อยล้าทั่วไปอย่างไร?

ภาวะ “เหนื่อยจากโรคซึมเศร้า” ต่างจากอาการเหนื่อยล้าทั่วไปอย่างไร?

อาการเหนื่อยล้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ในกลุ่มผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” นั้น ไม่ได้มีเพียงอาการเหนื่อยใจเท่านั้น แต่ยังมีอาการเหนื่อยกายที่เกิดจาก “ภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า” อีกด้วย

Key Points: 

  • ภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า แตกต่างจากอาการเหนื่อยล้าทั่วไปเนื่องจากเป็นอาการเหนื่อยล้าทางสุขภาพจิต
  • ปัญหาหลักของภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า คือ ไม่สามารถทำเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันได้จนกระทบต่อการดำเนินชีวิต
  • การแก้ปัญหาความเหนื่อยล้าในเบื้องต้น อาจต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัวก่อน

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึงมีอาการเหนื่อยล้ามากกว่าคนปกติ คำตอบคือ อาการเหนื่อยเหล่านั้นส่วนหนึ่งเกิดจากอาการอ่อนเพลียที่เชื่อมโยงกับปัญหาการนอนไม่หลับ หรือการหลั่งสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้าทางร่างกาย ที่อาจส่งผลต่อความเหนื่อยล้าทางจิตตามมา ซึ่งเรียกว่า ภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า หรือ Depression Tiredness

เนื่องจากอาการซึมเศร้ามีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสารสื่อประสาทโดยตรง ส่งผลให้การควบคุมระดับพลังงาน ความอยากอาหาร การนอนหลับ และ แรงจูงใจต่างๆ ในชีวิตลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีนิสัยและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ไม่ร่าเริงเหมือนที่เคย เริ่มเก็บตัวเงียบ ตีตัวออกจากสังคม เหนื่อยง่าย เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

  • “ภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า” คืออะไร ?

สำหรับสาเหตุที่ทำให้หลายคนเข้าสู่ภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า เกิดจากความพยายามอย่างมากที่จะต่อสู้กับความคิดลบภายในจิตใจจนผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยตามมา โดยไม่ได้เกี่ยวกับความขี้เกียจ แต่เป็นความรู้สึกที่หมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตที่รุนแรง ซึ่งความรู้สึกเหนื่อยล้านี้จะทำให้ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกอยากหลีกหนีจากโรคซึมเศร้าแต่ไม่สามารถทำได้ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าทางจิตใจในระดับที่ลึกและรุนแรง จนเกิดเป็นภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้าสะสม และหากมีอาการหนักมากอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เช่น ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการทำงาน ผลงานมีคุณภาพลดลง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เป็นต้น

โดยอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มี “ภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า” สามารถสังเกตได้ดังนี้

- ไม่สามารถทำเรื่องเล็กๆ อย่างที่คนอื่นทำได้ เนื่องจากรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เช่น ลุกจากเตียง ล้างจาน เก็บห้อง หรือเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันอื่นๆ

- เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้ากับการมีชีวิตอยู่ต่อไป รวมถึงมีความรู้สึกว่าต้องฝืนใช้ชีวิตต่อไปอย่างว่างเปล่า เบื่อหน่าย ไม่มีจุดหมายในชีวิต

- รู้สึกว่าไม่มีความสุขไม่ว่าจะทำอะไร ความชอบหรือความสนใจที่เคยมีไม่ใช่ความสุขของชีวิตอีกต่อไป

- เหนื่อยกับการแกล้งทำว่าตัวเองมีความสุข ต้องยิ้มแย้มแจ่มใสในการพบปะผู้คนแม้ความจริงแล้วจะอยากอยู่คนเดียว ทำให้ท้ายที่สุดจะเริ่มแยกตัวออกจากสังคมไป

ความแตกต่างระหว่างอาการเหนื่อยล้าธรรมดาและภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า

เนื่องจากภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ขณะที่ความเหนื่อยล้าทั่วไปเกิดจากอาการทางกาย ทำให้เมื่อต้องทำสิ่งต่างๆ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจะไม่ใช่แค่ไม่มีพลังงานในการทำเท่านั้น แต่ยังขาดแรงจูงใจอีกด้วย รวมถึงมีระยะฟื้นฟูร่างกายและจิตใจที่แตกต่างกัน

สำหรับคนทั่วไปหากมีอาการเหนื่อยล้า แต่พอได้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็จะทำให้อาการดีขึ้น แต่สำหรับอาการเหนื่อยทางใจแม้ว่าจะพักผ่อนเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่หายจากความเหนื่อยล้าไปได้ ที่สำคัญสาเหตุของอาการเหนื่อยล้าทั้งสองประเภทก็มีความแตกต่างกัน ตามที่ได้กล่าวไปว่า ภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้ามาจากปัญหาสารสื่อประสาทในสมอง แต่อาการเหนื่อยทั่วไปเป็นภาวะที่ตอบสนองต่อความเครียด การออกแรง หรือเป็นสัญญาณเตือนของการพักผ่อนไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ใครที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายภาวะเหนื่อยจากโรคซึมเศร้า หรือเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว สามารถรับมือเบื้องต้นได้ด้วยการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังนี้ 

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 3 มื้อ
  • ปรับเวลานอนและเวลาตื่นให้เป็นเวลา โดยต้องนอนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อคืน

แต่ถ้าพยายามทำตามคำแนะนำแล้ว ยังไม่ทำให้อาการเหนื่อยล้าดีขึ้น อย่าปล่อยไว้นาน ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : Alljit และ HD co