ผู้หญิงป่วย 'ซึมเศร้า' มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า โดยเฉพาะ PMDD ที่ทำให้เศร้าบ่อย
ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็น "โรคซึมเศร้า" มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า โดยเฉพาะ "PMDD" หรือภาวะซึมเศร้าก่อนมีรอบเดือน ที่ส่งผลกระทบการใช้ชีวิตของผู้หญิงบ่อยๆ แทบทุกเดือน
องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าผู้หญิงมีแนวโน้มเป็น “โรคซึมเศร้า” มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า เนื่องจากผู้หญิงเป็นเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมากกว่าเพศชาย ทั้งในช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ตลอดจนอาการซึมเศร้าหลังคลอด
ด้านแพทย์หญิงเพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพจิตใจแห่งโรงพยาบาลวิมุต เปิดเผยถึงข้อมูลทางสถิติว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” (ผู้ป่วยในระบบ) อย่างน้อย 1.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 70 ล้านคน นี่ยังไม่รวมถึงผู้ป่วยนอกระบบที่อาจมีอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้คนป่วยโรคซึมเศร้านั้น แพทย์หญิงเพ็ญชาญาบอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า เกิดจากปัจจัยหลายอย่างทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน
- เปิดสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงป่วย "ซึมเศร้า" ได้ง่าย
สำหรับสาเหตุปัจจัยภายนอกก็คือ “ความเครียด” และความกดดันในชีวิต และหน้าที่การงานต่างๆ เช่น หลายครอบครัวกำลังเผชิญกับภาวะสังคมแบบ sandwich generation มากขึ้น วัยกลางคนมีภาระต้องเลี้ยงดูทั้งลูกเล็ก และเลี้ยงดูพ่อแม่วัยชรา จึงยิ่งเพิ่มความเครียดในชีวิตประจำวัน จึงเสี่ยงป่วยซึมเศร้ามากขึ้น
นอกจากนี้ก็มีสาเหตุจากปัจจัยภายใน เช่น สารเคมีในสมองเสียสมดุล บางคนแม้จะคลายเครียดด้วยวิธีต่างๆ แล้ว (ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำกิจกรรมงานอดิเรก) แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ลักษณะนี้เป็นไปได้สูงว่าสาเหตุมาจากสารเคมีในสมองผิดปกติ มากกว่าจะป่วยจากปัจจัยภายนอก
โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” พบว่ามักมีภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชาย เพราะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงมากกว่า และสาเหตุอีกอย่างคือ ผู้หญิงยุคใหม่ถูกคาดหวังในบทบาทของ Working woman มากขึ้น และบางคนที่มีบทบาท “ความเป็นแม่” ที่ต้องดูแลทุกคนในครอบครัว ก็ยิ่งมีความเครียดในชีวิตประจำวันมากขึ้น นอกจากนี้ผู้หญิงบางคนยังอาจมีภาวะ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทุกเดือนอีกด้วย ซึ่งอาจซ้ำเติมให้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น
- PMDD ภาวะซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน อาการแบบไหนเข้าข่าย?
สำหรับ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) คือ กลุ่มอาการซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน มักทำให้เกิดอาการผิดปกติทางสภาพจิตใจ และอารมณ์ เช่น รู้สึกเศร้า วิตกกังวล สมาธิลดลง อารมณ์แปรปรวนรุนแรง ร้องไห้ง่าย รู้สึกสิ้นหวังท้อแท้ หงุดหงิด โมโหร้าย ฉุนเฉียว เบื่อหน่าย ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบ
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกายคือ ท้องอืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง คัดตึงเต้านม อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหารหรือรู้สึกหิวมากกว่าปกติ
ทั้งนี้ PMDD จัดเป็นอาการขั้นรุนแรงของ PMS (Premenstrual Syndrome) หรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน โดย PMDD ทำให้เกิดอาการทางร่างกายคล้ายกับอาการ PMS แต่อาการที่เด่นชัดของ PMDD คือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะจิตใจ และอารมณ์อย่างรุนแรง ซึ่งมักมีอาการช่วง 6-14 วันก่อนมีประจำเดือน ส่วนระยะเวลาการเกิดอาการ PMDD จะมีได้ตั้งแต่ไม่กี่วันจนไปถึงสัปดาห์แล้วอาการก็จะหายไป
- แม้จะขี้หงุดหงิดช่วงรอบเดือน แต่ไม่ได้แปลว่าผู้หญิงทุกคนจะเป็น PMDD
แม้ว่าตามปกติฮอร์โมนของผู้หญิงจะแปรปรวนในช่วงก่อนมีประจำเดือน แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะมีอาการ PMDD ซึ่งเรื่องนี้แพทย์หญิงเพ็ญชาญา อธิบายกับ “กรุงเทพธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า โรคทางจิตใจทุกโรคมีปัจจัยทางชีวภาพ และทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก บางคนมีพันธุกรรมเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้า บางคนไม่มีพันธุกรรมเสี่ยง ความแตกต่างตรงนี้เป็นข้อแรกๆ ที่ทำให้แยกได้ว่าบางคนเป็น PMDD แต่บางคนก็ไม่เป็น
“ถ้าเรามีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคด้านจิตใจอยู่ ความเสี่ยงที่เราจะเป็นโรคนั้นก็สูงขึ้นกว่าคนทั่วไป แต่ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นเหมือนคนในครอบครัว เพียงแต่มีโอกาสที่จะเป็นได้มากกว่า หากมีความเสี่ยงสูงแล้วบวกกับปัจจัยภายนอกอย่าง “ความเครียด” และปัจจัยภายในอย่าง “ฮอร์โมนเพศแปรปรวน” ก็ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนเกิดอาการ PMDD ได้” แพทย์ด้านจิตเวชกล่าว
ทั้งนี้ ในผู้หญิงที่มีอาการ PMDD บ่อยๆ ในทุกเดือน ก็อาจมีโอกาสพัฒนาไปเป็น “โรคซึมเศร้า” อย่างเต็มรูปแบบได้ หรือในบางเคสไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคซึมเศร้า เพราะไม่มีอาการมาก แต่จะมีอาการชัดเจนเฉพาะช่วงก่อนมีรอบเดือน แต่พอได้มาตรวจกับแพทย์จึงได้ทราบว่าจริงๆ ตนเองมีอาการในช่วงเวลาอื่นๆ ด้วย ตรงนี้ก็อธิบายได้ว่าคนไข้เป็นซึมเศร้ามาก่อนแล้ว ไม่ได้เป็น PMDD แล้วถึงพัฒนามาเป็นซึมเศร้า
แพทย์หญิงเพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช
- PMDD แตกต่างจากโรคซึมเศร้าอย่างไร อาการแค่ไหนต้องพบแพทย์?
อย่างไรก็ตาม หมอเพ็ญชาญา แนะนำว่า ถ้ามีอาการเข้าข่ายแต่ไม่แน่ใจว่าเราเป็น “โรคซึมเศร้า” จริงๆ หรือเป็นแค่เพียงภาวะ PMDD กันแน่? ก็ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้รู้อาการที่แน่ชัดเพื่อการรักษาได้ตรงจุดมากกว่า โดยจุดเด่นของ PMDD ที่แตกต่างจากโรคซึมเศร้าก็คือ ภาวะ PMDD จะเกิดขึ้นแค่ช่วงเดียว (ก่อนมีประจำเดือน) แล้วหายไปเองได้ในไม่กี่วัน แต่โรคซึมเศร้าจะมีอาการกระจายไปในหลายๆ ช่วงเวลาในชีวิตคือ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่า Distress-Disturb-Dsyfunction หากสำรวจอาการตัวเองแล้วพบว่าเข้าข่ายอย่างหลังก็ควรมาปรึกษาจิตแพทย์ โดยให้สำรวจอาการตนเองในช่วง 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนว่ามีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่? (หรือทำแบบทดสอบของกรมสุขภาพจิตก็ได้)
หากสำรวจอาการตัวเองแล้วพบว่า เป็นเพียงอาการ PMDD ก็สามารถแก้ไขได้ในเบื้องต้น เช่น พยายามลดความเครียด ด้วยการพาตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมที่เครียดสูง แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่ตรงนั้น ก็ให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยคลายเครียดให้ตนเอง เช่น พักเบรกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย เล่นกับสัตว์เลี้ยง ดูหนังฟังเพลง ออกไปหาเพื่อนหลังเลิกงาน ฯลฯ ในส่วนของการทำงานต่างๆ ก็ควรวางแผนงานเพิ่มเติม เพื่อลดความยุ่งเหยิงในการทำงาน ก็จะช่วยลดความเครียดได้อีกทางหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ก็ควรสังเกตอาการตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่าอาการ PMDD เหล่านั้นลดลงหรือเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่? หากทำกิจกรรมคลายเครียดเหล่านั้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลงก็ควรปรึกษาจิตแพทย์เช่นกัน
“คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาพบจิตแพทย์ มักจะมีอาการเศร้ามาสักระยะหนึ่งแล้ว และพยายามแก้ไขด้วยตัวเองมาแล้วด้วยวิธีต่างๆ แต่อาการเศร้าก็ยังไม่หายไป กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำแล้วผ่อนคลาย แต่คราวนี้มันไม่ได้ผล คือพวกเขาพยายามจัดการอารมณ์ตัวเองแล้วแต่มันไม่ดีขึ้น อย่างบางเคสพยายามจัดการอารมณ์ตัวเองมา 3 ปีแล้วก็ไม่ดีขึ้น ซึ่งมักเกิดจากสารสื่อประสาทที่แปรปรวนไปมาก แบบนี้ควรมาพบแพทย์ค่ะ” หมอเพ็ญชาญาย้ำในที่สุด
------------------------------------------
อ้างอิง : แพทย์หญิงเพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์, คณะแพทย์ฯ รามาธิบดี, Pobpad
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์