ชู“สมุนไพร”ภูมิปัญญาแผ่นดิน พลังซอพท์พาวเวอร์อนาคตไกล

ชู“สมุนไพร”ภูมิปัญญาแผ่นดิน  พลังซอพท์พาวเวอร์อนาคตไกล

การแพทย์แผนไทยเป็นภารกิจของคนไทย ที่ต้องสืบสานฟื้นฟู เป็นพลังของซอฟท์พาวเวอร์ที่ช่วยชีวิตคนได้จริง เป็นรากเหง้าของภูมิปัญญา และสามารถพัฒนาให้ร่วมสมัย

KEY

POINTS

  • สมุนไพรไทยไม่เพียงแต่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
  • สร้างความแข็งแกร่งให้กับสมุนไพรไทยที่เป็นจุดเด่นของประเทศ และยังเป็นการรักษาและต่อยอด Soft Power ของไทย
  • ยกระดับ เพ ลา เพลิน สู่การเป็น HERBSTOPIA มหานครแห่งสมุนไพร ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

การแพทย์แผนไทยเป็นภารกิจของคนไทย ที่ต้องสืบสานฟื้นฟู เป็นพลังของซอฟท์พาวเวอร์ที่ช่วยชีวิตคนได้จริง เป็นรากเหง้าของภูมิปัญญา และสามารถพัฒนาให้ร่วมสมัย สภาอุตสาหกรรมและสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร ผลักดันสมุนไพรขึ้นแท่น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่กำลังเติบโต ดัน“เพ ลา เพลิน”มหานครสมุนไพรแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเรียนรู้

ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่าการแพทย์แผนไทยเป็นพลังของซอฟท์พาวเวอร์ที่ช่วยชีวิตคนได้จริง มีภาคปฏิบัติในชีวิตเป็นรากเหง้าของภูมิปัญญา และสามารถพัฒนาให้ร่วมสมัย เป็นเครื่องดื่ม เป็นอาหาร เช่น ชาตัวหอม ในอดีตใช้ดื่มก่อนการถวายตัว และ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็นำมาคิดทำเป็นสูตรเฉพาะถ้าชงดื่มเป็นประจำก็จะทำให้มีกลิ่นกายหอม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ตลาดสมุนไพรโต 6 หมื่นล้านบาท ดันสมุนไพรสู่ Soft power ส่งออก

ทำไม“ยาดมโป๊ยเซียน”ถึงครองใจผู้ใข้ได้ถึง 88 ปี

แพทย์แผนไทย สมุนไพรซอฟท์พาวเวอร์ที่แท้จริ

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จำพวกยาดมด้วยกลิ่นหอมของสมุนไพรความเครียดก็จะเบาลงยาหม่องที่ใช้ได้ทั้ง กันยุง แมงกัดต่อย แก้น้ำกัดเท้า และยังดมแก้หวัด ได้อีกด้วยเหมาะกับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้มากการแพทย์แผนไทยสามารถแก้โรคบางโรคได้เช่น โรคลม โรคสตรี การผดุงครรภ์ ที่ต้องใช้การรักษาแบบผสมผสานทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน

"การแพทย์แผนไทย เป็นวิชาชีพที่สามารถสั่งยาแผนไทยให้คนไข้ได้ สามารถเรียนต่อได้ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน และยังสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อเปิดร้านยาไทยได้เป็นอนาคตและทรัพย์ของแผ่นดินด้วยเป็นซอฟท์พาวเวอร์อย่างแท้จริงทั้งภาครัฐ และเอกชนรวมถึงการเป็นเจ้าของกิจการสถานพยาบาลของตนเอง ที่มีทั้งสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทย และสถานพยาบาลสหคลินิก ทั้งในไทยและต่างประเทศ"

ชู“สมุนไพร”ภูมิปัญญาแผ่นดิน  พลังซอพท์พาวเวอร์อนาคตไกล

มูลค่าตลาดสมุนไพรไทย5.2หมื่นล้าน

ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรในสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัวเช่นในปัจจุบันก็จะกระทบต่อยอดขาย ทำให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ไปจนถึงกลางน้ำ คือโรงงานผลิต และปลายน้ำคือผู้จัดจำหน่าย ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนลง

ขณะที่ตลาดส่งออกนั้นปัจจุบันมีเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขสัดส่วนการส่งออกยังไม่เติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากโรงงานสมุนไพรของไทยยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามที่นานาชาติกำหนด ซึ่งหากสามารถปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้ได้มาตรฐานสากลก็จะช่วยให้ส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตได้ถึง 2 เท่า

ต่อยอด Soft Powerสู่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

อย่างไรก็ตามการจะพึ่งพากำลังซื้อในประเทศอย่างเดียวนั้นถือว่ามีขีดจำกัด และทำให้ไทยเสียโอกาสให้กับประเทศอื่นๆ ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานส่งเสริมต่าง ๆ เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอย่างครอบคลุม

ทั้งสำหรับโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสมุนไพรไทยที่เป็นจุดเด่นของประเทศ และยังเป็นการรักษาและต่อยอด Soft Power ของไทย เช่น การต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่กำลังเติบโตในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสมุนไพรไทย แต่ยังเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ รวมถึงการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางที่มีสมุนไพรไทยเป็นส่วนประกอบ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการและซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมากยิ่งขึ้น

"สมุนไพรไทยไม่เพียงแต่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอีกด้วย แต่การส่งออกสมุนไพรไทยช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างชื่อเสียงให้กับผลิตภัณฑ์ของไทยในตลาดโลก รัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดที่กว้างขึ้น" ดร.สิทธิชัย กล่าว

“เพ ลา เพลิน”มหานครสมุนไพร

ประณัย สายชมภู กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด เปิดเผยว่า  เพ ลา เพลิน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ เกษตรและสุขภาพ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และ Wellness Destination ได้รับรางวัลคุณภาพจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่

(1) รางวัลชนะเลิศ “Green Health Hotel โรงแรมต้นแบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (Wellness Hotel)”

(2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “Green Health Attraction แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” เป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นการนำเสนอประสบการณ์ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ผ่านองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยทั้ง 2 รางวัล เป็นเครื่องยืนยันถึงการเป็น Wellness Destination ที่ส่งเสริมสุขภาพ และการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาท้องถิ่น และยกระดับ เพ ลา เพลิน สู่การเป็น HERBSTOPIA มหานครแห่งสมุนไพร ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มาเยือน และชุมชนอย่างยั่งยืน

มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการด้านสุขภาพ ที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการสร้าง เครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม และส่งเสริมประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก

ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

ทั้งนี้สถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute (GWI) ประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก มีแนวโน้มขยายตัวอย่างสูง 8.6% ต่อปีจนถึงปี 2027 โดยมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยถึง 306 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2020 และสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าอย่างน้อย 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านล้านบาท

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ตลาดสินค้า อาหาร และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจการดูแลสุขภาพของโลก เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการด้านสุขภาพที่มีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่องจากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขประเมินมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยอาจแตะระดับ 5 แสนล้านบาทในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 13.7%

ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินของประเทศไทย ในปัจจุบันก็ยังมีทิศทางการเติบโตที่สดใส โดยที่ผ่านมาจากข้อมูลของ Euro Monitor พบว่า ปี 2559 ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินของประเทศไทย มีมูลค่า 53,810 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 74,247 ล้านบาท ในปี 2564 และในช่วงต่อจากนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี และคาดว่าในปี 2567 ตลาดเสริมอาหารจะมีมูลค่า 83,330 ล้านบาท หรือเติบโตถึง 7.1%

คนไทยจ่ายอาหารสุขภาพมากขึ้น10-20%

สำหรับกระแสสุขภาพและสุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย จากผลสำรวจล่าสุด โดย Marketbuzzz (มาร์เก็ตบัซซ) โดยมีคนไทยร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 500 คน ในเดือนกรกฎาคม 2567 เน้นย้ำให้เห็นถึงความปรารถนาและความเป็นจริงของคนไทยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงการรับรู้เกี่ยวกับอาหารออร์แกนิคในประเทศไทย

จากผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการซื้ออาหารมากที่สุดคือ ราคา (56%),ข้อมูลโภชนาการ (53%),รสชาติ (40%),แบรนด์ (39%)และคำกล่าวอ้างด้านสุขภาพ (34%)ข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นว่าแม้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีจะมีความสำคัญ แต่ราคาและรสชาติยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจซื้อ

มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาว่คนไทยให้ความสำคัญกับ อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 57%, อาหารธรรมชาติ 42%, และอาหารที่ปราศจากสารปรุงแต่ง 39% ซึ่งได้นำมาพิจารณาและให้ความสำคัญมากกว่าอาหารออร์แกนิค ซึ่งมีเพียง 24% ของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับอาหารออร์แกนิค แสดงให้เห็นว่าแนวคิดในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของคนไทยนั้น ครอบคลุมมากกว่าการเลือกอาหารที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิคนั่นเอง

ความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเป็นไปในเชิงบวก โดยหลายคนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ปลอดสารพิษ และมาจากธรรมชาติ100%โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภค16%ซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคอย่างสม่ำเสมอ และ70%ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค โดยส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ10 - 20%