อวัยวะกลัวอะไร? รู้แล้วรีบดูแล ป้องกันเกิดโรค

อวัยวะกลัวอะไร? รู้แล้วรีบดูแล ป้องกันเกิดโรค

รู้หรือไม่? ว่าร่างกายของเราก็มีความกลัวเช่นเดียวกัน ซึ่งแต่ละอวัยวะของร่างกายจะมีความกลัวที่แตกต่างกันออกไปตามบทบทบาทหน้าที่ของร่างกาย อย่าง  สมอง ตับ  ไต หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร

KEY

POINTS

  • ร่างกายกับเครื่องจักรมีความใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ เครื่องจักรนั้นแม้เสีย สามารถซ่อมได้ แตjร่างกายไม่ใช่ อวัยวะบางชนิดนั้นหากเกิดอาการเสื่อมแล้วก็จะเสื่อมเลย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย มีความกลัวแตกต่างกัน มาเช็กว่าสมอง  ตา หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร ตับ ไต ลำไส้  กลัวอะไรบ้าง?
  • 5 พฤติกรรมที่ทำแล้วอาจจะทำให้ร่างกายพังได้ ทั้งทำงานหนักเกินไป นอนหลับไม่เป็นเวลา ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินอาหารเช้า และกินแต่ของไร้ประโยชน์

รู้หรือไม่? ว่าร่างกายของเราก็มีความกลัวเช่นเดียวกัน ซึ่งแต่ละอวัยวะของร่างกายจะมีความกลัวที่แตกต่างกันออกไปตามบทบทบาทหน้าที่ของร่างกาย อย่าง  สมอง ตับ  ไต หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร   ฯลฯ ยิ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไปจากเดิม การกิน การนอน การออกกำลังกาย ความเครียด ล้วนมีผลต่ออวัยวะต่างๆ ทั้งสิ้น

ยิ่งในขณะนี้ สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วัยทำงานต้องแบกภาระมากมาย ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ  วัยทำงาน หรือแม้แต่วัยเด็ก เรียกได้ว่าทุกเพศทุกวัยต่างกำลังเผชิญภาวะต่างๆ ทั้งด้านการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน และสิ่งแวดล้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เมื่อ 'บริจาคอวัยวะ'  ไม่ใช่แค่อวัยวะ ที่ถูกนำมาทำการปลูกถ่าย

'ชวนบริจาคอวัยวะ' ระบุผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรอปลูกถ่ายอวัยวะกว่า 6,000 คน

แต่ละอวัยวะในร่างกายกลัวอะไรบ้าง?

1. สมอง

เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาท ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นศูนย์กลางของความคิด ความจำ การเรียนรู้ และการแสดงออกของอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่สมองกลัวก็คือ กลัวการอดอาหารเช้า เพราะอาหารเช้ามีส่วนสำหรับในการช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งวัน

2.ตา

ตาเป็นอวัยวะสำคัญ ช่วยให้เรามองเห็น ใช้รับภาพ แสง สี และเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับชีวิตเรา ดวงตาจึงกลัวแสงจากคอมพิวเตอร์และแสงสีฟ้าจากมือถือ ดังนั้น เราควรถนอมสายตาและไม่ควรจ้องมองสิ่งเหล่านี้เป็นเวลานานๆ

3.หัวใจ

ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย โดยจะมีลิ้นหัวใจทำหน้าทีเปิด-ปิด ไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับขณะหัวใจสูบฉีดเลือด สิ่งที่หัวใจกลัวก็คือ การบริโภคโซเดียมสูง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ผักผลไม้ดองอาหารแปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูปทุกชนิด

4.ปอด

เป็นอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ จะทำหน้าที่รับแก๊สออกซิเจนเข้าไปโดยการหายใจเข้า และปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกนอกร่างกายโดยการหายใจออก เนื้อปอดมีลักษญะโป่งและหยุ่นคล้ายฟองน้ำ สิ่งที่ปอดกลัวก็คือ ควัน เพราะฉะนั้นคุณควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่น ควัน หรืองดการสูบบุหรี่

5.กระเพาะอาหาร

ทำหน้าที่ย่อยอาหาร ภายในกระเพาะอาหารประกอบด้วยผนังหลายชั้น ซึ่งชั้นในสุดจะมีต่อมสร้างน้ำย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กลง สิ่งที่กระเพาะอาหารกลัวคือ ความเย็นจัด เพราะความเย็นจะทำให้การย่อยอาหารได้ช้าลง เพราะไขมันในอาหารจับตัวเป็นไข กระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้น ดังนั้น ควรดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้องแทนการดื่มน้ำเย็นจัด

อวัยวะกลัวอะไร? รู้แล้วรีบดูแล ป้องกันเกิดโรค

หลีกเลี่ยงของทอด ความเค็ม ยา อาการท้องผูก

6.ตับ

จัดเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมากกับร่างกายของคนเรา ตับเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหาร ทำหน้าที่ ผลิตน้ำดี ซึ่งช่วยย่อยไขมัน สิ่งที่ตับกลัว ก็คืออาหารไขมันสูง ถ้าไม่อยากตับพังคุณควรหลีกเลี่ยงของทอดหรืออาหารต่างๆ ที่มีไขมันสูง เพราะเสี่ยงต่อการมีภาวะไขมันพอกตับนั้นเอง

7.ไต

มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่ว ภายในไตจะมีเส้นเลือดฝอยกระจายอยู่เต็มไปหมด ไตทำหน้าที่กรองขับถ่ายของเสียและสารต่างๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการออกไป โดยขับถ่ายออกมาเป็นปัสสาวะ โดยปกติไตเป็นอวัยวะที่ถูกทำลายด้วยสารเคมีได้ง่ายดายมาก

หลายคนคิดว่าสิ่งที่ไตกลัวคือ ความเค็ม แต่สิ่งที่ทำให้ไตพังได้มากที่สุดคือ ยา ยาที่เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็ตาม ถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ แล้วจึงขับออกจากร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางไต ด้วยเหตุนี้เอง ไตจึงเป็นอวัยวะที่มีโอกาสที่จะได้รับพิษจากยาได้มากเลยทีเดียว

8.ลำไส้

ประกอบด้วย ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้ลำไส้เล็กทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหาร ส่วนลำไส้ใหญ่อยู่ต่อจากลำไส้เล็กทำหน้าที่ดูดซึมน้ำ แร่ธาตุ กลูโคส และวิตามิน บางชนิดกลับคืนสู่กระแสเลือดส่วนปลายสุดคือทวารหนัก สิ่งที่ลำไส้กลัวก็คือ อาการท้องผูก ใช่แล้วเพราะถ้าเราไม่ขับถ่ายเป็นเวาลนานของเสียที่ค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่จะถูกดูดกลับไปใช้งานในร่างกาย อีกทั้งอาการท้องผูกบ่อยครั้งก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ด้วย ดังนั้นควรรับประทานที่มีกากใย ผัก ผลไม้ เพื่อการขับถ่ายที่เป็นปกติ

อวัยวะกลัวอะไร? รู้แล้วรีบดูแล ป้องกันเกิดโรค

5 พฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายพัง

ร่างกายของคนเราเหมือนเครื่องจักร ทุกคนมีเวลาใช้งาน และเวลาที่ต้องหยุดพักเครื่องเพื่อไม่ให้ทำงานหนักจนเกินไป เพราะหากใช้งานหนักจนเกินไป หรือดูแลไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ ซึ่งมักเกิดจาก 5 พฤติกรรมเหล่านี้ 

1. ทำงานหนักเกินไป บ่อยครั้งที่เรามักจะทำงานล่วงเวลา หรือทำงานเสริมเพื่อได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่การทำงานที่มากจนเกินไปนั้นส่งผลให้ร่างกายและสมองเกิดความเครียดสะสมโดยที่เราไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท นานวันเข้าก็อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะได้ในที่สุด

2. นอนหลับไม่เป็นเวลา ร่างกายมีช่วงเวลาในการนอนที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วง 00:00 – 01:30 น. ของแต่ละวัน จะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหลั่ง Growth Hormones ออกมา ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายขณะนอนหลับ หากร่างกายไม่ได้รับฮอร์โมนชนิดนี้อย่างเต็มที่ก็จะทำให้แก่เร็ว ผมหงอก ผิวเหี่ยว กระดูกพรุน ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายลดลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิต เบาหวาน ฯลฯ

3. ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นการช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันชั้นดี ไม่ว่าจะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบเผาผลาญและการย่อยอาหาร เสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและกระดูก หากเราไม่หมั่นขยับร่างกาย ระบบการทำงานส่วนต่างๆ จะช้าลง และเกิดผลเสียตามมา ทั้งในเรื่องอวัยวะเสื่อม รวมถึงโรคร้ายแรงอื่นๆ

อวัยวะกลัวอะไร? รู้แล้วรีบดูแล ป้องกันเกิดโรค

4. ไม่กินอาหารเช้า อาหารเช้าคือมื้อสำคัญที่สุดของวัน การไม่รับประทานอาหารเช้า หรือรับประทานแค่ของเบาๆ อย่างขนมปังหรือกาแฟ จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยในระยะยาวนั้นมักจะมาพร้อมกับโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน กรดไหลย้อน อัลไซเมอร์ ฯลฯ

5. กินแต่ของไร้ประโยชน์ อย่างอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารแปรรูป แม้จะทำให้ท้องอิ่ม แต่ก็ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เพราะโดยส่วนมากแล้วอาหารประเภทนี้มักเป็นอาหารที่ให้พลังงาน เช่นโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่ขาดในส่วนของวิตามินและเกลือแร่ ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ หากขาดในระยะยาวจะทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ไม่กระฉับกระเฉง รู้สึกตาพร่ามัว ปวดหัวง่าย ฯลฯ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้แล้ว เพราะวันหนึ่งที่ร่างกายรับไม่ไหวจนแสดงอาการออกมา นั่นอาจเป็นวันที่สายเกินไปแล้วก็เป็นได้

อ้างอิง : interpharmaบริษัท เวลเนส ไดแอกโนสติกส์ จำกัด