ไขความลับอายุยืนยาว เพราะอายุร่างกาย กับอายุจริงไม่เท่ากัน

ไขความลับอายุยืนยาว เพราะอายุร่างกาย กับอายุจริงไม่เท่ากัน

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี (Centenarian) มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า จาก 180,000 คน ในปี 2544 เพิ่มเป็น 593,000 คน ในปี 2564

KEY

POINTS

  • นับอายุของมนุษย์มี 2 แบบ คือ 1.อายุตามปฏิทิน นับกันตามวันเดือนปีที่เกิด เพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป และ2.อายุของร่างกาย เป็นอายุของเซลล์ในร่างกาย เปลี่ยนแปลงขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ
  • การตรวจสุขภาพเชิงลึก สามารถทำได้โดย การตรวจความยาวของเทโลเมียร์ (Telomere) และการตรวจเอพิเจเนติกส์ (Epigenetics) เพื่อตรวจสอบว่าปัจจัยและพฤติกรรมใดมีผลต่อการแสดงออกของยีน

  • ความเครียดเป็นเหมือนเพชฌฆาตเงียบ ที่สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยากแต่เริ่มแสดงอาการออกมาเมื่อคน ๆ นั้นมีความเครียดเรื้อรัง

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี (Centenarian) มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า จาก 180,000 คน ในปี 2544 เพิ่มเป็น 593,000 คน ในปี 2564 อายุขัยเฉลี่ย (Life Expectancy) ของมนุษย์ทั่วโลก เพิ่มขึ้น 6.6 ปีจาก 66.8 ปี เมื่อปี. 2543 อยู่ที่ 73.4 ปี ในปี2562 ซึ่งหากแบ่งตามเพศ ผู้หญิงจะมีอายุขัยเฉลี่ย 75.9 ปี ส่วนผู้ชายอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.8 ปี ส่วนคนไทย อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 77.7 ปี โดยผู้หญิงอยู่ที่ 81.04 ปี และผู้ชายอยู่ที่ 74.36 ปี

อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ (Healthy Life Expectancy หรือ HALE) ก็เพิ่มขึ้นจาก 58.3 ปี ในปี 2543 มาอยู่ที่ 63.7 ปี ในปี 2562 แต่การเพิ่มขึ้นของ HALE (5.4 ปี) ไม่ได้ทันกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น (6.6 ปี) เป็นเพราะอัตราการตายที่ลดลง มากกว่าการที่ผู้คนมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพแข็งแรง

อายุขัย (Lifespan) หมายถึง ระยะเวลาที่คน สัตว์ หรือสิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่ หรือมีชีวิตอยู่ หรือพูดง่าย ๆ คือ อายุตามบัตรประชาชน และคำว่า Health span หมายถึง ช่วงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ โดยไม่พิการหรือป่วยเป็นโรค ซึ่งปัจจุบันมนุษย์มุ่งค้นหาวิธีเพิ่ม Health span เพื่อการมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพมากขึ้น (Quality of Life)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

5 เคล็ดลับต่อสู้โรคอ้วน กับ "หมอแอมป์ ตนุพล"

อยู่ได้ถึง 150 ปี! สำรวจ “อายุขัยมนุษย์” ยิ่งอยู่ยิ่งยาว

นับอายุของมนุษย์ ทำได้อย่างไรบ้าง?

การนับอายุของมนุษย์มี 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือ อายุตามปฏิทิน (Chronological age) นับกันตามวันเดือนปีที่เกิด เพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป และอีกแบบหนึ่งคือ อายุของร่างกาย (Biological age) เป็นอายุของเซลล์ในร่างกาย เปลี่ยนแปลงขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Scientific Wellness หรือ Medical Wellness) ซึ่งให้ข้อมูลที่แม่นยำและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ช่วยให้ผู้คนสามารถทราบถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ล่วงหน้า มีประโยชน์ในเชิงป้องกัน และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษา วางแผนโภชนาการและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคล 

ไขความลับอายุยืนยาว เพราะอายุร่างกาย กับอายุจริงไม่เท่ากัน

เช็กวิธีการตรวจสุขภาพเชิงลึก

การตรวจสุขภาพเชิงลึก 2 วิธี  วิธีแรกคือ การตรวจความยาวของเทโลเมียร์ (Telomere) ส่วนที่อยู่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม ทำหน้าที่คล้ายกับปลอกพลาสติกที่อยู่ปลายเชือกผูกรองเท้า ป้องกันไม่ให้เชือกรองเท้าหลุดรุ่ยหรือเสียหายก่อนเวลาอันควร เทโลเมียร์จะหดสั้นลงเรื่อย ๆ ทุกปี แต่เร็วหรือช้านั้นขึ้นกับการใช้ชีวิต ถ้าเทโลเมียร์ยาว จะแสดงให้เห็นว่าอายุร่างกายยังไม่มาก แต่ถ้าเทโลเมียร์สั้น แสดงว่า อายุร่างกายมาก ก็อาจจะเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น

วิธีที่สองคือ การตรวจเอพิเจเนติกส์ (Epigenetics) เพื่อตรวจสอบว่าปัจจัยและพฤติกรรมใดมีผลต่อการแสดงออกของยีน ทำให้ทราบความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เพราะสิ่งแวดล้อม อาหาร การออกกำลังกาย ระดับความเครียด การนอนหลับ สามารถกระตุ้นหรือยับยั้งการแสดงออกของยีนได้

ตัวอย่างเช่น อาหารไขมันสูง สามารถลดการทำงานของยีน PPARγ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไมโทคอนเดรียในเซลล์ ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายลดลง การเปลี่ยนแปลงเอพิเจเนติกส์สามารถย้อนกลับได้เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอ การตรวจดังกล่าวจึงช่วยให้เราสามารถเลือกวางแผนการดำเนินชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นได้

ฉะนั้น บางคนอายุจริง 60 ปี แต่ตรวจแล้ว อายุของร่างกายเท่ากับคนอายุ 50 ปี แสดงว่า คนนี้ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจมาดีมาก ผลตรวจสุขภาพจึงหนุ่มกว่าอายุจริงถึง 10 ปี

สุขภาพดีมากกว่าความสุขกาย แต่รวมถึงสุขใจด้วย

องค์การอนามัยโลกได้นิยามความหมายของคำว่า สุขภาพ (Health) เอาไว้ว่า ภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม จึงต้องดูแลให้ครบถ้วน ทั้ง 3 ด้าน เพื่อสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม จากรายงานความสุขโลกประจำปี 2024 (World Happiness Report 2024) พบว่า ประเทศฟินแลนด์ยังคงครองประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 7

โดยประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 58 ลดลงจากเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนที่อันดับ 34 ซึ่งงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) รายงานว่า ตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี จาก 1.3 ล้านคน ในปี . 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี . 2564

ความเครียดเป็นเหมือนเพชฌฆาตเงียบ ที่สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยากแต่เริ่มแสดงอาการออกมาเมื่อคน ๆ นั้นมีความเครียดเรื้อรัง เช่น ป่วยบ่อย เป็นหวัดง่าย เสี่ยงโรคอ้วน แม้กระทั่งเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เป็นต้น โดยความเครียดสามารถตรวจได้จากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนความเครียด และ ฮอร์โมนดีเอ็ชอีเอ (DHEA, Dehydroepiandrosterone) ที่เป็นฮอร์โมนต้านความเครียด หรือฮอร์โมนความสุข เพื่อดูความสมดุลระหว่างฮอร์โมนทั้งสองชนิด ทั้งนี้ความเครียดยังส่งผลถึงความยาวของเทโลเมียร์ได้เช่นกัน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความยาวของเทโลเมียร์ในผู้หญิงที่มีความเครียดเป็นประจำ จะสั้นกว่ากลุ่มที่ไม่เครียดมากถึง 10 ปี