จริงหรือไม่! ทาน "ยาบำรุงเลือด" แล้วทำให้อ้วน

จริงหรือไม่! ทาน "ยาบำรุงเลือด" แล้วทำให้อ้วน

"ธาตุเหล็ก" มีความสำคัญต่อผู้หญิงอย่างมาก เพราะถ้าร่างกายมีภาวะขาดธาตุเหล็กอาจจะส่งผลต่อการเกิดโรคได้ โดยเฉพาะโรคโลหิตจาง และการขาดธาตุเหล็กส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิง รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วย

KEY

POINTS

  • "ยาบำรุงเลือด" เป็นยาที่ช่วยให้เม็ดเลือดแดงมีความสมบูรณ์ และช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี ซึ่งเรียกว่าเป็นยาที่ช่วยเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกาย
  • โดยทั่วไปแพทย์มักให้รับประทานยาบำรุงเลือดเพื่อรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
  • การรับประทานยาบำรุงเลือดให้มีประสิทธิภาพ ต้องรับประทานยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะพิจารณาว่า ให้หยุดยาได้

"ธาตุเหล็ก" มีความสำคัญต่อผู้หญิงอย่างมาก เพราะถ้าร่างกายมีภาวะขาดธาตุเหล็กอาจจะส่งผลต่อการเกิดโรคได้ โดยเฉพาะโรคโลหิตจาง และการขาดธาตุเหล็กส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิง รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วย

หากไม่อยากจะป่วยเป็นโรคโลหิตจาง หรือมีความผิดปกติทางสุขภาพอื่น ๆ ก็ควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี โดยเฉพาะควรหมั่นเติมธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการร่างกายร่วมด้วย

ดังนั้น หลายคนมักจะรับประทานยาบำรุงเลือด  ซึ่งเป็นยาที่ช่วยให้เม็ดเลือดแดงมีความสมบูรณ์ และช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี ซึ่งเรียกว่าเป็นยาที่ช่วยเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกาย โดยในการบำรุงเลือดจะเป็นการเสริมสารอาหารที่สำคัญที่ประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก และวิตามินบี12 เพราะทั้งหมดนี้เป็นวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง

ทว่ามักจะมาพร้อมกับความกังวลว่าทานยาบำรุงเลือด แล้วจะอ้วน เพราะการทานยาดังกล่าว อาจจะทำให้เจริญอาหารมากขึ้น แต่ก็ทำให้ผิวพรรณดีขึ้น เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ผักที่มีธาตุเหล็ก' แก้อ่อนเพลีย บำรุงเลือด 'สร้างภูมิต้านทาน'

อย่ามองข้ามโรคความดันโลหิต ป่วย14ล้านคนรักษาหายแค่10%

รู้จักธาตุเหล็ก (Iron) ดีต่อร่างกาย

ธาตุเหล็ก (Iron) คือแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และช่วยในการผลิตฮอร์โมนบางชนิด ประโยชน์ของธาตุเหล็กนั้นมีมากมาย เช่น ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยเรื่องการนอนหลับ และดีต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กสามารถพบได้ทั่วไปในอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ถั่ว และผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ เรายังสามารถเสริมธาตุเหล็กได้ในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก แต่ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการรับประทานธาตุเหล็กในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

ประโยชน์ของธาตุเหล็ก (Iron) ที่ต้องรู้

  • ช่วยสร้างฮีโมโกลบิน
  • เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • บำรุงผิวพรรณ
  • ลดรอยช้ำ
  • ช่วยทำให้นอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ช่วยให้จดจำได้ดีขึ้น
  • ลดอาการอ่อนเพลีย
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกีฬา
  • ช่วยบำรุงเส้นผม
  • ช่วยให้ทารกในครรภ์แข็งแรง

จริงหรือไม่! ทาน \"ยาบำรุงเลือด\" แล้วทำให้อ้วน

ทานธาตุเหล็กมากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

การรับประทานธาตุเหล็กในปริมาณที่มากเกินไป (Iron Overdose) อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนี้

  • คลื่นไส้
  • ปวดท้อง
  • ท้องผูก
  • ท้องเสีย
  • อาเจียน
  • เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ (inflammation of the stomach lining)
  • โรคแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcers)
  • การดูดซึมสังกะสีลดลง
  • ภาวะชัก (convulsions)

ปริมาณของธาตุเหล็กที่แนะนำต่อวัน 

ปริมาณของธาตุเหล็กที่แนะนำต่อวัน ขึ้นอยู่กับอายุและเพศของผู้รับประทานธาตุเหล็ก ดังนี้

  • เด็กอายุ 1-3 ปี: 9 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 4-8 ปี: 10 มิลลิกรัม
  • เด็กผู้ชายอายุ 9-13 ปี: 8 มิลลิกรัม
  • เด็กผู้ชายอายุ 14-18 ปี: 11 มิลลิกรัม
  • เด็กผู้หญิงอายุ 9-13 ปี: 8 มิลลิกรัม
  • เด็กผู้หญิงอายุ 14-18 ปี: 15 มิลลิกรัม
  • ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป: 8 มิลลิกรัม
  • ผู้หญิงอายุ 19-50 ปี: 18 มิลลิกรัม
  • ผู้หญิงอายุมากกว่า 51 ปี: 8 มิลลิกรัม
  • คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์: 27 มิลลิกรัม
  • คุณแม่ที่ให้ลูกน้อยทานนมแม่เพียงอย่างเดียว: 9-10 มิลลิกรัม

จริงหรือไม่! ทาน \"ยาบำรุงเลือด\" แล้วทำให้อ้วน

ยาบำรุงเลือด ทานแล้วดีอย่างไร?

ยาบำรุงเลือดตามที่เราเรียกกันจนชินปาก เป็นยาที่ช่วยเสริมธาตุเหล็กในร่างกาย โดยทั่วไปแพทย์มักให้รับประทานยาบำรุงเลือดเพื่อรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือภาวะที่ร่างกายเสียเลือดมาก เช่น หลังบริจาคโลหิต ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากผิดปกติ

นอกจากนี้ยาบำรุงเลือดยังใช้ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อให้คุณแม่ไม่หน้ามืดเป็นลมเนื่องจากภาวะโลหิตจาง ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของทารกอีกด้วย หากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะที่ควรต้องกินยาบำรุงเลือดหรือไม่ การตรวจสุขภาพกับแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยได้

ประเภทของยาบำรุงเลือด

  • ยากลุ่มที่เป็นสารประกอบของธาตุเหล็ก (Ferrous Compound) เช่น เฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous Sulfate) เฟอร์รัสกลูโคเนต (Ferrous Gluconate) เฟอร์รัสฟิวมาเรต (Ferrous Fumarate)
  • วิตามินบี 12 (Vitamin B12) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ไซยาโนโคบาลามีน (Cyanocobalamine) เช่น ไซยาโนโคบาลามีน (Cyanocobalamin) และไฮดรอกโซโคบาลามิน (Hydroxocobalamin)
  • กรดโฟลิก (Folic acid) หรือนิยมเรียกว่า “โฟเลต (Folate)”
  • ยากระตุ้นการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดง (Erythropoiesis-Stimulating Agent : ESAs) เช่น ยาอิโพอิติน (Epoetin) หรืออีพีโอ (EPO)
  • ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ (Granulocyte Colony-Stimulating Factor : G-CSF) เช่น ยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) เพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim) ลีโนกราสทิม (Lenograstim)
  • ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์และเซลล์มาโครฟาจ (Granulocyte-Macrophage Colony-Stimulating factor : GM-CSF) เช่น ยาซาร์กรามอสทิม (Sargramostim)
  • ยาในกลุ่ม 1-3 มีจำหน่ายทั้งชนิดเป็นยาเดี่ยวและในรูปแบบยาบำรุงเลือดหลายชนิดผสมเป็นวิตามินรวมในเม็ดเดียว เนื่องจากการสร้างเม็ดเลือดแดงต้องอาศัยสารอาหารหลายชนิดร่วมกัน ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และโฟเลต
  • ส่วนยาในกลุ่ม 4-6 เป็นยาเฉพาะ แพทย์จะสั่งจ่ายเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติของระบบเลือด กล่าวคือ ผู้ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง แต่ร่างกายยังสามารถสร้างเม็ดเลือดเองได้

จริงหรือไม่! ทาน \"ยาบำรุงเลือด\" แล้วทำให้อ้วน

วิธีรับประทานยาบำรุงเลือด

  • ควรรับประทานยาบำรุงเลือดเมื่อท้องว่างเพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นแพทย์ หรือเภสัชกรจึงมักแนะนำให้รับประทานหลังมื้ออาหารทันที หรือก่อนนอน เพราะจะช่วยลดอาการเหล่านั้นได้
  • ผู้ป่วยบางรายที่มีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาบำรุงเลือดก่อนนอน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมกับยาบางตัว จะได้ไม่เกิดปัญหายาตีกัน
  • ปริมาณยาบำรุงเลือดที่ต้องรับประทานอาจแตกต่างกันได้ตั้งแต่ 1-3 มื้อ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้ หรือตามความรุนแรงของโรคโลหิตจางที่เป็น
  • การรับประทานยาบำรุงเลือดให้มีประสิทธิภาพ ต้องรับประทานยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะพิจารณาว่า ให้หยุดยาได้

ควรซื้อยาบำรุงเลือดรับประทานเองหรือไม่?

ภาวะโลหิตจางสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุและยาบำรุงเลือดก็มีหลายชนิด แต่ละชนิดใช้รักษาภาวะที่แตกต่างกัน หากสงสัยว่า ตนเองมีภาวะโลหิตจาง หรือมีอาการผิดปกติดังนี้

  • หน้ามืดเป็นลมบ่อย
  • เหนื่อยง่าย
  • เมื่อยล้า
  • ตัวซีด มือเท้าซีด
  • หนาวเย็นง่าย
  • เล็บเปราะหักง่าย
  • ป่วยบ่อย

"ไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือด หรือวิตามินใดๆ มารับประทานเอง เพื่อที่จะได้ใช้ยารักษาโดยตรงกับสาเหตุของโรค และช่วยหลีกเลี่ยงภาวะเหล็กเกิน หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น"

จริงหรือไม่! ทาน \"ยาบำรุงเลือด\" แล้วทำให้อ้วน

หญิงตั้งครรภ์รับประทานยาบำรุงเลือดได้หรือไม่?

สูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ใช้ยาบำรุงเลือดร่วมด้วย เนื่องจากธาตุเหล็กจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือด สร้างอวัยวะต่างๆ รวมถึงสมองของทารก

นอกจากนี้ยาบำรุงเลือดยังจำเป็นสำหรับตัวคุณแม่เอง เนื่องจากเด็กทารกในครรภ์จะดูดซึมธาตุเหล็กจากแม่ไปใช้ หากร่างกายแม่ได้รับปริมาณธาตุเหล็กเท่าเดิมตามที่ร่างกายเคยได้รับ ร่างกายอาจเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก ทำให้มีอาการหน้ามืด เป็นลม และเกิดอันตรายได้

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์และฝากครรภ์เมื่อตั้งครรภ์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากชนิดและปริมาณยาที่ได้รับอาจมาก หรือน้อยเกินไป อาจทำให้มีผลกระทบต่อแม่และลูกในครรภ์ได้

ยาบํารุงเลือดที่ได้รับหลังบริจาคเลือด

ซองบรรจุยาเม็ดยาสีแดงที่จะได้รับหลังบริจาคเลือดกับสภากาชาดไทย คือ ยาเสริมธาตุเหล็กชนิดวิตามินรวม ประกอบด้วยเฟอร์รัสฟิวมาเรต (Ferrous Fumarate) 200 มิลลิกรัม วิตามิน B1 วิตามิน B12 วิตามิน C และเกลือแร่ รวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน

การนำวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดมารวมกันนั้นเพื่อช่วยในการดูดซึมและกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาบำรุงเลือดที่ได้จากการบริจาคเลือดบางแห่งอาจแตกต่างจากนี้ได้ แต่โดยรวมแล้วก็คือ ยาที่ให้สำหรับเสริมธาตุเหล็กเหมือนกัน

จากข้อมูลของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พบว่า การบริจาคเลือดแต่ละครั้ง ผู้บริจาคจะเสียธาตุเหล็กไปประมาณ 350-450 มิลลิลิตร แม้ปริมาณเท่านี้จะไม่ได้ทำให้ร่างกายเกิดอันตราย แต่ก็ควรจะได้รับธาตุเหล็กชดเชยส่วนที่สูญเสียไป

นอกจากนี้การบริจาคเลือดต้องไม่ทำบ่อยเกินกว่า 3 เดือน/ครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลหิตจาง โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซีด หรือโลหิตจางได้ง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากการมีประจำเดือนทุกเดือนด้วย

นอกจากกินยาบำรุงเลือดแล้ว ผู้บริจาคเลือดควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงร่วมด้วย เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง ผักใบเขียว ธัญพืช และอาหารทะเล เป็นต้น

ยาบํารุงเลือดเม็ดสีแดงกับเม็ดสีเหลืองแตกต่างกัน

  • ยาบำรุงเลือดเม็ดสีแดง

ประกอบไปด้วยเฟอร์รัสฟิวมาเรต (Ferrous Fumarate) 200 มิลลิกรัม วิตามิน B1 B12 วิตามิน C และเกลือแร่ รวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน

ในขณะที่ยาบำรุงเลือดเม็ดสีเหลืองกลม ผิวด้าน ขนาดเล็ก เป็นกรดโฟลิก หรือที่เรียกว่า “โฟเลต” เป็นตัวยาคนละตัวกัน

  • ยาเม็ดสีเหลืองมันวาวเคลือบน้ำตาล

ที่หลายคนเข้าใจว่า เป็นยาบำรุงเลือด แต่แท้จริงแล้วเป็นวิตามินบีรวม

วิตามินบีรวม 1 เม็ด จะมีปริมาณวิตามินใกล้เคียงกับที่ควรได้รับต่อวัน ประกอบด้วย วิตามินบี 1 บี 2  บี 3 บี 5 บี 6 บี 7 บี 9  และบี 12 โดยไม่ได้มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กตามที่เข้าใจกัน แต่ก็เป็นวิตามินรวมที่ร่างกายต้องการ และมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม วิตามินทุกตัวตามที่กล่าวมาล้วนมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดทั้งสิ้น แพทย์ หรือเภสัชกรส่วนใหญ่ อาจพิจารณาจ่ายตัวใดตัวหนึ่ง หรือจ่ายควบคู่กันทั้ง 2 ตัว ขึ้นอยู่กับภาวะโรคที่ผู้ป่วยเป็น

จริงหรือไม่! ทาน \"ยาบำรุงเลือด\" แล้วทำให้อ้วน

ข้อควรระวังในการรับประทานยาบำรุงเลือด

  • การใช้ยาบำรุงโลหิตในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจาการได้รับยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีโวไทโรซีน (Levothyroxine) ภายใน 4 ชั่วโมง ภายหลังการให้ยาบำรุงเลือด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบำรุงเลือดในผู้ป่วยโรคฮีมาโครมาโทซิส (Hemachromatosis) เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายเป็นพิษจากภาวะธาตุเหล็กเกิน
  • ควรแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรให้ทราบถึงยาอื่นๆ ที่กำลังใช้อยู่ เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลต่อการเพิ่ม หรือลดระดับของธาตุเหล็กในร่างกาย หรือเกิดการตีกันของยาได้
  • ไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือดรับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ยาบำรุงเลือดแม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรศึกษาวิธีใช้ให้ดีทุกครั้งก่อนรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ให้นมบุตร มีโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ทุครั้งก่อนการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย

อ้างอิง : hdmall ,โรงพยาบาลเมดพาร์ค