รู้ให้ลึก "ปวดหัวตำแหน่งไหน" บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?

รู้ให้ลึก "ปวดหัวตำแหน่งไหน" บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?

"อาการปวดหัว" หรือ "ปวดศีรษะ" เชื่อว่าทุกคนจะต้องประสบพบเจอ ไม่มากก็น้อย และอาการดังกล่าวมักจะสร้างความหงุดหงิดอยู่ไม่น้อย  แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนเมื่อมีอาการปวดหัวก็อาจมองข้ามอาการที่เกิดขึ้น เพียงเพราะคิดว่าเกิดจากความเครียด นอนไม่พอ

KEY

POINTS

  • ปวดศีรษะ หรือ ปวดหัว เป็นอาการป่วยที่เกิดได้บ่อยที่สุด และในขณะเดียวกันก็สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ที่เป็นได้มากด้วยเช่นกัน
  • อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในสมอง และปัจจัยภายนอก โดยแต่ละส่วนยังสามารถแยกออกเป็นโรคได้อีกหลายชนิด ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพ จึงควรรู้เกี่ยวกับลักษณะอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย 
  • ผู้ที่มีอาการปวดหัวอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ทานยาแก้ปวดทุกวันหรือเกือบทุกวันแต่ก็ยังไม่หายปวดหัว ผู้ที่มีอาการปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีท่าทีว่าอาการจะดีขึ้น ควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมประสาทเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

"อาการปวดหัว" หรือ "ปวดศีรษะ" เชื่อว่าทุกคนจะต้องประสบพบเจอ ไม่มากก็น้อย และอาการดังกล่าวมักจะสร้างความหงุดหงิดอยู่ไม่น้อย แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนเมื่อมีอาการปวดหัวก็อาจมองข้ามอาการที่เกิดขึ้น เพียงเพราะคิดว่าเกิดจากความเครียด นอนไม่พอ

ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นนั้น อาจกำลังส่งสัญญาณเตือนอยู่ก็เป็นได้ว่ามีความผิดปกติซ่อนอยู่ อาการปวดหัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งการปวดในตำแหน่งต่างๆ กัน จะบ่งบอกสาเหตุของโรคที่ต่างกันออกไป 

"ปวดหัว (Headache) หรือปวดศีรษะ" ลักษณะอาการปวดที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบริเวณศีรษะ อาการปวดหัวมีหลายรูปแบบทั้งปวดหัวแบบถูกกดบีบ ปวดหัวแปล๊บ ๆ ปวดหัวจี๊ด ๆ ปวดหัวตุบ ๆ หรือปวดหัวตื้อ ๆ อาจปวดหัวแบบค่อย ๆ ปวดหรือปวดหัวแบบฉับพลัน มีระยะเวลาในการปวดน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงไปจนถึงปวดนานหลายวัน ปวดหัวที่ข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะหรือปวดทั้งสองข้าง

ปวดหัวเพียงตำแหน่งเดียว หรือปวดจากตำแหน่งหนึ่งแล้วแพร่กระจายไปทั่วศีรษะ อาการปวดหัวบางชนิดอาจมีสาเหตุจากโรคร้ายแรงในสมองที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

ปวดหัวนาน เช็กอาการปวดหัวเรื้อรัง ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน อย่าชะล่าใจ

อาการปวดหัวแบ่งได้ 2 กลุ่ม

พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ ประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่าอาการปวดหัว หรือปวดศีรษะ สามารถแบ่งสาเหตุออกได้ 2 กลุ่ม คือ 

1.) อาการปวดหัวในกลุ่มที่ไม่ได้มีรอยโรคในสมอง เช่น ไมเกรน กล้ามเนื้อรอบ ๆ ศีรษะตึงตัวหรือจากความเครียด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการปวดหัว แม้ว่าจะรบกวนชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง

2.) อาการปวดหัวในกลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง โดยสามารถตรวจได้จากการตรวจร่างกายทางสมอง การซักประวัติผู้ป่วย รายละเอียดของการปวดศีรษะ ลักษณะการปวด ตำแหน่ง เวลาที่เกิดอาการ ระยะเวลาการปวด ความรุนแรง และเมื่อพบข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการใช้คลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging : MRI), การตรวจคอมพิวเตอร์สมอง (Computerized Tomography :CT Scan) หรือการเจาะน้ำไข้สันหลังเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป

รู้ให้ลึก \"ปวดหัวตำแหน่งไหน\" บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?

ปวดหัวตำแหน่งไหน บ่งบอกอะไร

  • ปวดทั่วศีรษะ ปวดหัวแบบตึ้บ ๆ คือ อาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว จากความเครียด มีอาการลงที่ท้ายทอย อาจร้าวไปขมับสองข้าง มักปวดเหมือนอะไรมาบีบมารัด อาจมีอาการปวดร้าวมาสะบักไหล่ทั้ง 2 ข้าง อาการค่อยๆ เป็น อาการปวดอาจเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเครียดและการพักผ่อน
  • ปวดหัวข้างเดียวคืออาการปวดหัวไมเกรน มักปวดหัวตุบๆ ปวดข้างเดียวของศีรษะ(Unilateral) แต่บางครั้งปวด 2 ข้าง หรือทั้งศีรษะก็ได้ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ
  • ปวดหัวแบบคลัสเตอร์คือ อาการปวดหัวรุนแรงแบบข้างเดียว มักจะปวดบริเวณรอบๆ ตาหรือที่ขมับปวดร้าว ตาแดง มีน้ำตาไหลข้างเดียว กับที่ปวดศีรษะได้ โดยอาการปวดแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาไม่นานประมาณ 5 นาที หรือนานสุดประมาณ 3 ชั่วโมง อาการปวดจะเกิดขึ้นบ่อยและเป็นช่วงเวลาที่แน่นอน
  • ปวดหัวจากไซนัสจะเหมือนอาการปวดหัวไมเกรน และอาการหวัดทั่วไปมากจนยากที่จะแยกออก แต่ไซนัสจะรู้สึกปวดหน่วงๆ บริเวณหน้าผาก โพรงจมูกลามไปถึงโหนกแก้ม
  • ปวดหัวจากการเส้นประสาทใบหน้าอักเสบสามารถปวดบริเวณหน้า ใบหู ลักษณะมักจะเป็นการปวดเสียวแปล๊บ เหมือนไฟช็อต อาการอาจถูกกระตุ้น เช่น มือสัมผัส ล้างหน้า เคี้ยวข้าว
  • ปวดหัวรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอกในสมอง ซึ่งจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัด มีอาการชา กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรง ทรงตัวลำบากหรือบางคนอาจมีอาการชัก ซึ่งถือเป็นอาการรุนแรง จำเป็นต้องพบแพทย์โดยด่วน

อย่างไรก็ตามแม้ส่วนใหญ่อาการปวดหัว ปวดศีรษะจะไม่เป็นอันตราย แต่การรักษาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ และหมั่นสังเกตความผิดปกติหรือสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที

รู้ให้ลึก \"ปวดหัวตำแหน่งไหน\" บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?

 “ปวดศีรษะ” ที่เป็นอยู่..เกิดจากโรคทางหรือไม่?

  • เนื้องอกในสมอง อาการเริ่มต้นโดยส่วนใหญ่คือ ปวดศีรษะมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอสายอาการจะดีขึ้น เวลาไอ จาม เบ่งถ่าย จะกระตุ้นให้ปวดเพิ่มขึ้น มีคลื่นไส้ อาเจียน ในบางครั้งมองไกลอาจเห็นภาพซ้อน ทั้งนี้ ถ้าเนื้องอกกดทับในตำแหน่งใดก็จะมีอาการตามตำแหน่งนั้น เช่น กดทับในตำแหน่งควบคุมแขน ขา จะทำเกิดแขน ขา อ่อนแรง ชา
  • เลือดออกในสมอง จะมีอาการแบบเฉียบพลันและปวดรุนแรงมาก เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะยังไม่ดีขึ้นถึงแม้รับประทานยาแก้ปวดศีรษะ
  • ความดันสมองเพิ่มผิดปกติ  เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น วัณโรค รับประทานยาวิตามินบำรุงผิวบางชนิด ยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยจะมีการปวดศีรษะเรื้อรัง ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน
  • หลอดเลือดดำอุดตันในสมอง เกิดได้จากการรับประทานยาคุมกำเนิด คนอ้วนที่มักมีไขมันในเลือดสูง ลักษณะของอาการ คือ ปวดศีรษะมากทันทีทันใด และอาจมีการชักร่วมด้วย

 การปวดศีรษะแบบไม่พบสาเหตุชัดเจน

  • ปวดศีรษะแบบตึงตัว (Tension type headache) เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดกับบุคคลซึ่งมีความเครียด เหนื่อย ทำงานหนัก ลักษณะการปวดมักเป็นแบบแน่นๆ หรือ รัดทั้งสองข้างของศีรษะและต้นคอ โดยอาการปวดมักมีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ซึ่งอาจมีการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ ไหล่ ร่วมด้วยได้ อาการปวดชนิดนี้ไม่แย่ลงจากกิจวัตรประจำวัน และมักไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  • ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache) เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อย และมักได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาด โดยโรคปวดศีรษะไมเกรนนี้มักพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน ลักษณะการปวดมักทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะแย่ลงได้จากสิ่งกระตุ้นภายนอก ทั้งแสง เสียง หรือกลิ่น ผู้ป่วยบางรายมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไมเกรนส่วนใหญ่มักจะปวดนานตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดนานถึง 3 วัน
  • ปวดศีรษะแบบกลุ่ม (Cluster headache)  เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานได้หากไม่ได้รักการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง อาการปวดศีรษะชนิดนี้มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอาการปวดศีรษะมักมีอาการปวดที่รุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย มักเกิดทันที ระยะเวลาที่ปวดประมาณ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง ตำแหน่งที่ปวดมักปวดรอบดวงตาหรือบริเวณขมับ มักเป็นข้างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาท parasympathetic ร่วมด้วย เช่น มีตาแดง มีน้ำตาไหล มีน้ำมูก มีเหงื่อออก บริเวณใบหน้าด้านที่มีอาการปวดศีรษะ
  • ปวดศีรษะแบบเรื้อรังทุกวัน (Chronic daily headache) ผู้ป่วยชนิดนี้มักมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังมากกว่า 15 วันต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะแบบ tension หรือแบบไมเกรนก็ได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรังมากกว่า ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาเกิน (medication overuse headache) ซึ่งเกิดจากการวินิจฉัยที่ผิดพลาด การซื้อยากินเอง การใช้ยาแก้ปวดบ่อยๆ ซึ่งทำให้มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยๆ
  • นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้อีก เช่น ภาวะไซนัสอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ทั้งนี้การวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำ MRI เป็นต้น เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายออกไป

รู้ให้ลึก \"ปวดหัวตำแหน่งไหน\" บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?

สัญญาณอันตรายของภาวะปวดศีรษะ

ถึงแม้อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยที่มีภาวะปวดศีรษะที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรมาพบแพทย์โดยเร่งด่วน เพราะอาจเกิดจากสาเหตุที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น อาจเกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง หรือมีอาการติดเชื้อในระบบประสาท เป็นต้น สัญญาณอันตรายของภาวะปวดศีรษะ มีดังต่อไปนี้

  1. อาการปวดศีรษะขึ้นรุนแรงทันทีทันใด
  2. อาการปวดศีรษะร่วมกับมีไข้และคอแข็ง
  3. อาการปวดศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทที่ผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง สับสน บุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
  4. อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV
  5. ภาวะปวดศีรษะที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษา

หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างเร็วที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วต่อไป

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว

  • การมองแสงจ้า หรือแสงกระพริบ
  • การใช้สายตา หรือการเกร็งต้นคอเป็นเวลานาน
  • การมีประจำเดือน
  • การสัมผัสกับอากาศร้อน หรืออากาศเย็น
  • ความเครียด
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • อาหารบางชนิด เช่น อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่มีไนเตรท (Nitrates)
  • การนอนไม่เป็นเวลา การอดนอน
  • การออกกำลังกายอย่างหนักจนเกินไป
  • การอดอาหาร

รู้ให้ลึก \"ปวดหัวตำแหน่งไหน\" บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?

กลุ่มที่ควรระวังเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลันโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งเต้านม เพราะอาจมีการกระจายไปที่สมองและกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อเอดส์

อาการปวดหัวแบบไหนที่ควรพบแพทย์

  • ปวดหัวรุนแรงแบบฉับพลัน ทันทีทันใด 
  • ปวดหัวรุนแรงที่สุดในชีวิต
  • ปวดหัวร่วมกับมีอาการอื่น เช่น มีไข้ ชักเกร็ง ซึม สับสน พฤติกรรมเปลี่ยน แขนขาอ่อนแรง มีอาการชา การพูดมีปัญหา ใบหน้าหรือปากเบี้ยว หรือการมองเห็นผิดปกติ
  • ปวดหัวเรื้อรัง ปวดหัวบ่อย ๆ จนต้องทานยาแก้ปวดเป็นประจำ
  • ปวดหัวเฉพาะเวลาไอ หรือจาม
  • อาการปวดหัวที่เริ่มเกิดขึ้นใหม่หลังอายุ 50 ปี
  • อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์

แนวทางการรักษา “อาการปวดหัว”

  • กรณีปวดหัว และตรวจพบพยาธิสภาพของโรคต่างๆ แพทย์ก็จะดำเนินการรักษาโรคนั้นๆ ขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบอะไร เช่น เนื้องอกในสมอง อาจจะต้องผ่าตัด เป็นต้น
  • กรณีปวดหัวที่ไม่ก่ออันตราย ตรวจไม่พบพยาธิสภาพ แพทย์จะรักษาตามลักษณะอาการ ซึ่งมีหลายวิธีได้แก่..
  • รักษาด้วยยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาคลายเครียด พร้อมทั้งแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
  • การฉีดยา รักษาอาการปวดศีรษะด้วยการ block เส้นประสาทใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ มีประสิทธิภาพ และสามารถลดอาการปวดศีรษะได้อย่างรวดเร็ว โดย สามารถรักษา บรรเทาอาการ โรคปวดศีรษะได้หลายชนิด เช่น โรคไมเกรน โรคปวดศีรษะแบบ cluster, โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวด (medication over used headache)
  • การฉีดยาลดการทำงานของเส้นประสาท และการฉีดยารักษาไมเกรนด้วย Botox ช่วยยับยั้งปลายประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มันเกิดอาการ สามารถช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดศีรษะได้
  • การทำกายภาพบำบัด การนวด การยืดกล้ามเนื้อ
  • การปรึกษาจิตแพทย์

เมื่อมีอาการปวดศีรษะควรดูแลตนเอง

  • เมื่อปวดศีรษะ รับประทานยาแก้ปวด ได้เท่าที่จำเป็น เช่น ในผู้ใหญ่รับประทาน Paracetamal (500 mg) 1 – 2 เม็ด ห่างกัน 4 – 6 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานติดต่อกัน นานเกิน 3 วัน หากไม่หายให้ไปพบแพทย์
  • อย่าไปรักษาในแนวทางที่เสี่ยงอันตราย เช่น การนวดที่รุนแรง
  • จัดสิ่งแวดล้อม สถานที่ทำงานให้เหมาะสม เช่น โต๊ะเก้าอี้ทำงาน ปรับระดับให้เหมาะสมกับสรีระร่างกายของเรา ดูว่าแสงสว่างที่โต๊ะทำงานสว่างพอไหม มีไฟกระพริบไหม
  • ตรวจสายตาบ้างหากมีอาการปวดศีรษะผิดปกติ เพื่อเลือกใส่แว่นที่พอเหมาะกับสายตา
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งกระตุ้น ที่ก่อให้เกิดความเครียดที่ทำให้ปวดหัว
  • รู้จักพักผ่อนคลายเครียด นอนหลับให้เพียงพอ
  • งดชากาแฟ บุหรี่ แอลกอฮอล์
  • ปรึกษาแพทย์

รู้ให้ลึก \"ปวดหัวตำแหน่งไหน\" บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?

วิธีการวินิจฉัยอาการปวดหัว 

แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการปวดหัวโดยการตรวจร่างกายเบื้องต้น และทำการซักประวัติโดยละเอียดซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดหัว เช่น ปวดหัวตรงไหน มีอาการปวดอย่างไร ปวดมากแค่ไหน ปวดบ่อยแค่ไหน ปวดมานานเท่าไหร่ อาการปวดคงที่หรือรุนแรงขึ้น ในขณะปวดสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้หรือไม่ มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ ทำอย่างไรเพื่อให้หายปวด ยาที่ทานเป็นประจำ โรคประจำตัว ประวัติการได้รับอุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ ประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันที่มีอาการปวดหัว และรวมถึงไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมด้วยวิธีการ ดังนี้

  • การทำ MRI (Magnetic resonance imaging) เป็นการตรวจศีรษะด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบ 3 มิติที่มีความละเอียดและความคมชัดสูง สามารถมองเห็นโครงสร้างภายในศีรษะเพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดหัวได้ เช่น เนื้องอก มะเร็ง เลือดออกในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม และอื่น ๆ เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรืออันตรายแต่อย่างใด และมีการประมวลผลด้วยระบบ AI ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ ช่วยให้ระบุสาเหตุแห่งโรคได้อย่างชัดเจน
  • การตรวจด้วยเครื่องเพทและซีที (PET/CT scan) เป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีร่วมระหว่างเครื่องเพท (PET: Positron emission tomography) และซีที หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติประสิทธิภาพสูงเพื่อหาความผิดปกติของโครงสร้างภายในศีรษะที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหัว เช่น เส้นเลือด เนื้องอก มะเร็ง และความผิดปกติอื่น ๆ รวมถึงช่วยประเมินผลการรักษาและการพยากรณ์โรค และช่วยให้การรักษาอาการปวดหัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหัว 

อาการปวดหัวโดยทั่วไปมักไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตามอาการปวดหัวสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการรักษา หรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลสืบเนื่องจากสาเหตุของอาการปวดหัวนั้น

  • ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหัว เช่น การใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือเอ็นเสด (NSAIDs) จนอาจทำให้มีอาการปวดท้อง และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร อาการปวดหัวจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดที่หากหยุดยาแล้วอาการปวดหัวจะกำเริบ อาการปวดหัวไมเกรนต่อเนื่องยาวนานกว่า 72 ชั่วโมงโดยอาการไม่ทุเลาลง อาการปวดหัวไมเกรนที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด (Migrainous infarction) หรืออาการชักที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหัวไมเกรน (Migraine-associated seizer)
  • นอกจากนั้น มักเกิดจากสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหัวนั้น เช่น เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งในสมอง   ซึ่งจำเป็นต้องรักษาสาเหตุเหล่านี้โดยการให้ยา การผ่าตัด หรือการให้เคมีบำบัดเพื่อรักษาอาการปวดหัว

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการปวดหัวเรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากอาการปวดหัวควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบเพื่อรักษาอาการปวดหัวและภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รู้ให้ลึก \"ปวดหัวตำแหน่งไหน\" บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?

ตรวจหาสาเหตุ ช่วยหายปวดหัว

ผู้ที่มีอาการปวดหัวอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ทานยาแก้ปวดทุกวันหรือเกือบทุกวันแต่ก็ยังไม่หายปวดหัว ผู้ที่มีอาการปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีท่าทีว่าอาการจะดีขึ้น ควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมประสาทเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

โดยรวมถึงการซักประวัติ การวินิจฉัยโรคระบบประสาท และการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหัวที่แท้จริงและช่วยให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ การตรวจอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้รักษาอาการได้ไว ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากอาการปวดหัว และช่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติสุข

อ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลนครธน ,โรงพยาบาลเมดพาร์ค