'dTMS' นวัตกรรมทางเลือกใหม่ รักษาผู้ป่วย 'โรคซึมเศร้า'
"โรคซึมเศร้า" ได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย ตามข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า ในปี 2566 มีคนไทยกว่า 1.5 ล้านคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และมีจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี
KEY
POINTS
- 5 โรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย มีโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ภาวะเครียด โรคสมาธิสั้น และโรคไบโพล่าร์ ซึ่งช่วงอายุที่มารักษาจะเป็น อายุ 25-40 ปี โดยค่าเฉลี่ยจะเป็นอายุ 32-33 ปี หรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน
- ความเศร้า ไม่ได้เท่ากับโรคซึมเศร้า dTMS ถือเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่ต้องทานยา ผลข้างเคียงน้อย ลดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
- “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่รักษาหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้น หากมีคนใกล้ชิด คนในครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องเข้าใจผู้ป่วย ช่วยดูแล และเป็นผู้รับฟังที่ดี
ปัจจุบันโรคซึมเศร้าได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย ตามข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า ในปี 2566 มีคนไทยกว่า 1.5 ล้านคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และมีจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี
ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและการกระจายตัวของโรคดังกล่าว ซึ่งโรคซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าเราเศร้าแล้วถึงเป็นโรค แต่มีภาวะต่างๆ มากมายที่อาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า
“โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital” หนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้เปิด “ศูนย์โรคซึมเศร้าแบบครบวงจร (Comprehensive Depression Center)” ให้บริการที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การประเมินอาการ การวินิจฉัย และการรักษาที่หลากหลาย โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพที่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คนไทยซึมเศร้าพุ่ง! ห่วงผู้ป่วยไม่พบแพทย์ “ศูนย์โรคซึมเศร้า BMHH” ครบวงจร
ผลสำรวจเผย คนไทยป่วย ‘ซึมเศร้า’ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ‘โรคทางจิตเวช’
dTMS นวัตกรรมรักษาโรคซึมเศร้า
ล่าสุดได้นำนวัตกรรมการรักษาโรคซึมเศร้า “dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation)” ซึ่งเป็นการรักษาโรคซึมเศร้า ที่ไม่ต้องทานยาและผลข้างเคียงน้อยมาก รักษาเสร็จในแต่ละครั้งสามารถกลับบ้านได้ทันที และกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
“พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH กล่าวว่าขณะนี้มีผู้ป่วยมารักษาโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า เป็น 1ใน5ของผู้ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาล BMHH ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยนั้นๆ จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
“ความเศร้า ไม่ได้เท่ากับโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคซึมเศร้านั้นเกิดได้จากหลายอารมณ์ อาการของโรคซึมเศร้า วิธีคิดของการซึมเศร้าแต่ละคนแตกต่างกัน ทำให้มีวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยยา การทำจิตบำบัด และล่าสุด ทางโรงพยาบาล BMHH ได้นำเทคโนโลยี dTMS เป็นการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนลึก เพื่อข่วยลดอาการซึมเศร้าโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเหมือนยา ซึ่ง dTMS ในการรักษาแต่ละครั้งสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือต้องใช้ยา” พญ.ปวีณา กล่าว
5 ปัญหาสุขภาพจิตที่คนไทยเผชิญ
พญ.ปวีณา กล่าวต่อว่าสำหรับโรคที่ผู้ป่วยมารักษามากที่สุด 5 อันดับแรกที่โรงพยาบาล BMHH ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ภาวะเครียด โรคสมาธิสั้น และโรคไบโพล่าร์ ซึ่งช่วงอายุที่มารักษาจะเป็น อายุ 25-40 ปี โดยค่าเฉลี่ยจะเป็นอายุ 32-33 ปี หรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ที่มารักษาปัญหาทางสุขภาพจิตโดยมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย อัตราผู้ป่วยโรคทางจิตเวชของทั่วโลกก็มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาใหญ่และน่าห่วงโดยเฉพาะสถานการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้น
พญ.ปวีณา กล่าวต่อไปว่าโรคซึมเศร้า มีความน่าห่วงเพราะหลายๆ คนที่เข้ามารับการรักษาจะทานยาไม่ครบ หรือทานยาแล้วเห็นว่าตัวเองอาการดีขึ้นจะหยุดยาเอง ซึ่งจริงๆ แล้วการรักษาโรคซึมเศร้า ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องและได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาลอย่างใกล้ชิด เพราะโรคดังกล่าวเป็นแล้ว รักษาหายแต่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่อยากทานยา เนื่องจากยามีผลข้างเคียงอย่างมาก การนำนวัตกรรมการรักษาแนวใหม่ ๆ dTMS เข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยจะช่วยทำให้พวกเขาเข้าถึงการรักษาได้อย่างดียิ่งขึ้น อีกทั้งราคาในการรักษาแต่ละครั้งประมาณ 2,500 บาท ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่ได้รับจากการรักษาแบบอื่นๆ
การทำงาน dTMS ปรับสมดุลสมอง
พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่าโรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสานในสมองหลายชนิด ทั้ง ซีโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาหารเศร้าหมอง เบื่อหน่าย มีภาวะสิ้นยินดี หรือไม่รู้สึกอยากทำในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ประจำ รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า และร้ายแรงที่สุด คือ อยากฆ่าตัวตาย ซึ่งการพาผู้ป่วยมารักษาได้อย่างทันถ่วงทีจะช่วยลดภาวะการอยากฆ่าตัวตายได้
“การรักษาด้วย dTMS เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองในจุดที่มีผลต่อโรค เพื่อกระตุ้นทำให้เกิดกระเเสประสาท ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่จะช่วยปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เข้าสู่ภาวะปกติและลดการเกิดอาการซึมเศร้าลงได้ โดยการรักษาด้วย dTMS นี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่ามีความปลอดภัยเเละมีประโยชน์ช่วยในการรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีผลข้างเคียงจากยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรือรับประทานยาเกินหนึ่งปีแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ การทำงานของ dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นบริเวณสมองส่วนหน้า ในแต่ละครั้งจะกระตุ้นผ่านหมวกอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสวมใส่ที่ศีรษะโดยจะกระตุ้น 2 วินาที และเว้นพักเป็นระยะเวลา 20 วินาที จึงกระตุ้นซ้ำต่อเนื่องไป 20-30 นาที
ผลการตอบสนองต่อการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นกับจำนวนครั้งสะสมของการกระตุ้น แต่มีข้อจำกัดในการกระตุ้นแต่ละวัน จึงจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 10-15 วัน หรือเว้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ก่อนรับการรักษาด้วย dTMS จิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยทุกราย
ข้อดีรักษาโรคซึมเศร้าด้วย dTMS
สำหรับ จุดเด่นของ dTMS นั้น จะมีข้อดีประกอบด้วย 4 ข้อ ได้แก่ 1.การให้ผลการรักษาที่ดีกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงและดื้อต่อการรักษา 2.ลดอาการด้านลบ ทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้น และลดอาการวิตกกังวล 3.เป็นการรักษาที่มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงจากการรักษาค่อนข้างน้อยมาก เช่น มีอาการปวดหัวเล็กน้อย หรือมีอาการง่วงนอน เป็นต้น และ4.เป็นวิธีการรักษาที่สามารถใช่ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น การรักษาด้วยการกินยา หรือการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดได้
อย่างไรก็ตาม “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่รักษาหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้น หากมีคนใกล้ชิด คนในครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องเข้าใจผู้ป่วย ช่วยดูแล และเป็นผู้รับฟังที่ดี หากต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย อยากให้ถามผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปตรงๆ ว่าเขาต้องการอะไร อยากให้ช่วยอะไร อย่ายัดเหยียดความช่วยเหลือให้แก่ผู้ป่วย เพราะนั้นอาจจะเป็นการทำร้ายทางจิตใจของผู้ป่วยได้