“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย” รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”

“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย”  รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”

“สุขภาพจิต” กลายเป็นปัญหาระดับต้นๆ ของคนไทย เพราะต่อให้ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ยังพบผู้มีปัญหามากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก 

KEY

POINTS

  • นับวันจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก โลกนี้ทำให้คนเกิดภาวะความเครียด มีความคิดในการฆ่าตัวตายมาก
  • ศิลปะช่วยบำบัดเยียวยาจิตใจได้อย่างดี และไม่มีผลข้างเคียง เพราะไม่มีการใช้สารเคมีที่อาจจะเข้าไปทำลายระบบร่างกาย แต่เป็นการสร้างความรู้สึกใหม่ ทำให้รู้จักตัวเอง รักตัวเองมากขึ้น
  • เป็นมากกว่าการร่างลายเส้น หรือเติมสีบนกระดาษ แต่เป็นการให้มือและหัวใจ อธิบายออกมาแทนสมอง สอดคล้องกับSDG 3 : Good Health and Well-being การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอีกด้วย

สุขภาพจิต” กลายเป็นปัญหาระดับต้นๆ ของคนไทย เพราะต่อให้ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ยังพบผู้มีปัญหามากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก 

ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกำหนดว่าสุขภาพจิตของคนไทยมีทิศทาง คงต้องมองจากเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องปัจจัย 4 หรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากมาย ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาวะว่างงาน ปัญหาการเมือง ไม่มีที่อยู่อาศัย ปัญหาอาชญากรรม สารเสพติด ความสัมพันธ์ การเรียน ฯลฯ ซึ่งคนแต่ละช่วงวัยมีต้นเหตุความเครียดแตกต่างกันไป

ในกลุ่มวัยเด็กจะเป็นความเครียดจากการเรียน ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และการคบเพื่อน ขณะที่วัยทำงานเป็นเรื่องสร้างฐานะ สร้างครอบครัว และดูแลคนในครอบครัว โดยพบปัญหาเสี่ยงหมดไฟ 57 % หมดไฟ 12 % และผู้สูงอายุ ความเครียดเกิดจากปัญหาสุขภาพ การเงิน และความโดดเดี่ยว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนดิ้นรน เปรียบเทียบ แก่งแย่ง ช่วงชิง และเบียดเบียนกันมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คนไทยเจ็บป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต 10 ล้านคน ทุกวัยเครียด ซึมเศร้าพุ่ง

เมื่อ 'ที่ทำงาน' อาจไม่ดีต่อใจ คนทำงาน 'เหนื่อย ล้า' มองหาพื้นที่ปลอดภัย

คนเครียดมากขึ้น สุขภาพจิตแย่ลง

ด้วยปัญหาสุขภาพจิตที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ในงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) งานเอ็กซ์โปเพื่อความยั่งยืนที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากการผนึกกำลังของ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำ ได้แก่ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้, ปตท., เอสซีจี, ไทยเบฟเวอเรจ และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ จัดตั้งแต่ 27 ก.ย.-6 ต.ค.2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ได้มีการจัดกิจกรรม เติมพลังให้ชีวิตด้วย “ศิลปะบำบัด สู่สุขภาวะที่ดี”

โดยมี “ศ.ดร. บุษกร บิณฑสันต์” ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต และประธานศูนย์วิจัยนวัตสหศิลป์เพื่อสุขภาวะ คณะศิลปกรรมศาสตร์ – อิมิลี่ ซากอย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการได้รับประสบการณ์เชิงลบ ความเครียดและการไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้คนในปัจจุบันมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษา วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะพวกเขาหาทางออกให้แก่ภาวะความเครียด และปัญหาที่กำลังเผชิญไม่ได้

“นับวันจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก โลกนี้ทำให้คนเกิดภาวะความเครียด มีความคิดในการฆ่าตัวตายมากเกิน โครงการ CU Mobile Arts 4U ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เพิ่มพลังบวก และเช็กสุขภาพใจด้วยการวาดรูปตนเองซึ่งมีการสำรวจนิสิตและบุคลากรตามคณะต่างๆ ของจุฬาฯ พบว่า นิสิตและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านการทำศิลปะบำบัด ประมาณ 80% มีภาวะความเครียด ซึมเศร้า และบางคนมีความต้องการฆ่าตัวตาย”ศ.ดร. บุษกร กล่าว

“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย”  รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”

วาดภาพสะท้อนตัวตน ความรู้สึก

ศ.ดร.บุษกร กล่าวต่อว่าการใช้ศิลปะบำบัดโดยการวาดภาพ จะเน้นที่อารมณ์ (Emotion) ที่ถูกสะสมไว้ได้รับการปลดปล่อยผ่านงานศิลปะ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นตัวตนและการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก การวาดภาพ เป็นหนึ่งในกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะสร้างความรุนแรงหรือผู้ที่ถูกกระทำ ผ่านออกมาเป็นภาพ ทำให้ทราบว่าใครอยู่ในเหตุการณ์ที่ค่อนข้างที่จะวิกฤต เพื่อส่งต่อตามกระบวนการต่างๆ ของหน่วยงาน องค์กร หรือโรงเรียนต่อไป

“หลายคนอาจจะมองว่านิสิต จุฬาฯ มีความพร้อม เก่ง และมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงพวกเขามีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันครอบครัวไทยจะเป็นครอบครัวเดี่ยว และบางครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน อีกทั้งพ่อแม่ส่วนหนึ่งเลี้ยงลูกด้วยเงิน รวมถึงสังคมในโซเซียลมีเดีย ทุกคนมักจะทำอะไรให้แก่คนอื่น ยุ่งเรื่องคนอื่นมากกว่าค้นหาจิตใจของตนเอง ทำให้หลายคนว้าเหว่เมื่ออยู่คนเดียว และยิ่งฐานะครอบครัวแตกต่างกัน บางคนเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อน และด้อยค่าตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านภาพที่พวกเขาวาด และทางโครงการก็จะเข้าไปช่วยบำบัดโดยใช้ศิลปะ” ศ.ดร.บุษกร กล่าว

หลักสูตรศิลปะบำบัดนั้น มีหลายวิธี ทั้งการเล่น ละครบำบัด การปั้น การวาดภาพ และดนตรี ซึ่งเมื่อเห็นถึงปัญหา เรื่องราวที่นิสิต บุคลากรมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ทางโครงการได้เข้าไปช่วยดูแลก็จะคัดเลือกกิจกรรมศิลปะบำบัดให้เหมาะสมในแต่ละคน เป็นรูปแบบ Creative Arts Therapy ใช้สื่อศิลปะต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้แสดงออกและเข้าใจอารมณ์และประสบการณ์ของตน

“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย”  รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”

เยียวยาจิตใจ ลดปัญหาสุขภาพจิต

“Creative Arts Therapy” ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ผู้เข้าร่วมการบำบัด การสร้างสรรค์ทางศิลปะ และนักบำบัด โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมแก้ไขปัญหาทางอารมณ์ รับรู้ความรู้สึกตนเอง ผ่านทางการสร้างสรรค์ ละคร ทัศนศิลป์ และดนตรี ซึ่งช่วยให้ผู้คนสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่ยากจะอธิบายออกมาเป็นคำพูด

Creative Arts Therapy สามารถช่วยฟื้นฟูการควบคุมอารมณ์และโดยเน้นกระบวนการบำบัดมากกว่าผลลัพธ์สุดท้าย ที่ผ่านมากลุ่ม Mobile Arts Therapy (MAT) ได้ใช้ Creative Arts Therapy ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ในประเทศไทยเช่น การยิงที่โคราช วิกฤตน้ำท่วมปี 2554-2555 และการยิงที่หนองบัวลำภู รวมถึงใช้เพื่อช่วยเหลือเด็กที่เคยประสบกับการล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย ดังนั้น นอกจากจะเปิดหลักสูตรปริญญาโท ศิลปะบำบัด นานาชาติ คณะศิลปศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมโดยใช้ศิลปะในการนำไปเยียวยาจิตใจให้แก่ผู้ที่มีภาวะเครียด ซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตาย หรือออฟฟิศซินโดรม

“ศิลปะช่วยในการบำบัดเยียวยาจิตใจได้อย่างดี และไม่มีผลข้างเคียง เพราะไม่มีการใช้สารเคมีที่อาจจะเข้าไปทำลายระบบร่างกาย แต่เป็นการสร้างความรู้สึกใหม่ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น รักตัวเองมากขึ้น ให้ความอบอุ่น ไว้เนื้อเชื่อใจ การให้กำลังใจ และการค้นหาตัวเองให้เจอ ดังนั้น ในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต ควรจะมีกิจกรรมผ่อนคลาย อย่าง drawing เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ เพื่อทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น และควรจะมีการรณรงค์ในสถานศึกษา สถานที่ทำงานมีพื้นที่ให้ทุกคนได้ทำศิลปะ ให้กรุณาต่อตัวเอง และรักตัวเองให้มากขึ้น” ศ.ดร.บุษกร กล่าวทิ้งท้าย

“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย”  รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”

ศิลปะบำบัด สอดคล้องSDG

ศูนย์วิจัยนวัตสหศิลป์เพื่อสุขภาวะ คณะศิลปกรรมศาสตร์ – อิมิลี่ ซากอย จุฬาฯ จัดกิจกรรมศิลปะบำบัด ให้แก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงส่งเสริมสมรรถภาพครู นักเรียน และนักศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งการใช้ศิลปะเพื่อบำบัดความเครียด โดยการถ่ายทอดผ่านจินตนาการออกมาในรูปธรรมเชิงประจักษ์ เป็นการใช้ศิลปะเพื่อเยียวยารักษา พัฒนาจิตใจ เสริมสร้างสมาธิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวัน ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอารมณ์ขั้นวิกฤต

ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาและมองว่าศิลปะบำบัดเป็นศาสตร์และศิลป์หนึ่งของการทำจิตบำบัด (psychotherapy) ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ โดยเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่เน้นกระบวนการและกิจกรรมทางศิลปะ ไม่ได้เน้นที่ผลงานหรือคุณค่าทางศิลปะ ตามงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์ของศิลปะบำบัด นอกจากจะช่วยส่งเสริมสภาวะจิตใจ อาทิ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียดแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสภาวะทางร่างกาย เพื่อการจัดการกับความเจ็บปวด การประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเสริมสร้างทักษะทางสังคม ความสัมพันธ์ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย

 “ศิลปะเป็นมากกว่าการร่างลายเส้น หรือเติมสีบนกระดาษ แต่เป็นการให้มือและหัวใจ อธิบายออกมาแทนสมอง เป็นการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวและตัวตนของผู้นั้นโดยไร้ตัวอักษร รวมไปถึงทำให้ผู้คนสังเกต สีสันและเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว ที่สำคัญยังสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สหประชาชาติกำหนดขึ้นในเป้าหมายที่ 3 (SDG 3 : Good Health and Well-being) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอีกด้วย” 

“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย”  รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”

“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย”  รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”

“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย”  รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”