นวัตกรรมเชื่อมใจคนต่างวัย 'ประสบการณ์' ลดช่องว่างและทัศนคติ

นวัตกรรมเชื่อมใจคนต่างวัย 'ประสบการณ์' ลดช่องว่างและทัศนคติ

จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ประเมินสุขภาพจิตคนไทย ทุกช่วงอายุ จาก Mental Health Check in ของกรมสุขภาพจิต พบผู้เสี่ยงซึมเศร้า 17.2% เสี่ยงฆ่าตัวตาย10.6% และมีความเครียดสูง 15.4% โดยประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี

KEY

POINTS

  • โครงการ “ประสบการณ์”นวัตกรรมช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยส่งเสริมสุขภาพจิตและสร้างพื้นที่ให้คนต่างวัยได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น
  • พฤติกรรมของนักเชื่อมสัมพันธ์ จะต้องชื่นชมความพยายามของผู้อื่น ,ตั้งใจฟังทุกความคิดเห็น ,กล้าเล่าความผิดพลาดของตนเอง และพร้อมที่จะสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการแลกเปลี่ยน
  • การเชื่อมโยงเยาวชนกับผู้ใหญ่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดกว้างสามารถช่วยเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมที่มีต่อคนต่างวัยได้อย่างแท้จริงช่วยลดอคติระหว่างวัย

จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ประเมินสุขภาพจิตคนไทย ทุกช่วงอายุ จาก Mental Health Check in ของกรมสุขภาพจิต พบผู้เสี่ยงซึมเศร้า 17.2% เสี่ยงฆ่าตัวตาย10.6% และมีความเครียดสูง 15.4% โดยประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี

อีกทั้งวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายสูงที่สุดคือ 116.81 รายต่อแสนประชากร ขณะที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด สาเหตุมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต เช่น ความเครียดจากเศรษฐกิจเครียดจากการทำงาน ความคาดหวังสูงจากคนรอบข้างการขาดปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้า ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวรวมทั้งผู้สูงวัยมีความเหงาและโดดเดี่ยว

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับ บริษัทไซด์คิก จำกัด (Sidekick) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและภาคีเครือข่ายเปิดเวทีนำเสนอนวัตกรรมสานความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ผ่านพฤติกรรมเชื่อมวัย ภายใต้โครงการ “ประสบการณ์”เพื่อลดช่องว่างและทัศนคติระหว่างวัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วัยรุ่นเครียด เสี่ยงซึมเศร้า ฆ่าตัวตายสูง แนะพ่อแม่ต้องเป็นเซฟโซนให้ลูก

หนุนครูปฐมวัย สร้างภูมิคุ้มกันเด็กเล็กห่างไกลปัจจัยเสี่ยง

มากถึง 1 ใน 3 เสี่ยงซึมเศร้า

"ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม" รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต คือ ปัญหาวยาคติ(ageism) หรืออคติระหว่างช่วงวัย ที่รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่าวยาคติแพร่หลายมากที่สุดในอาเซียน อย่างประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ หลายคนมักเข้าใจว่าแค่มีความคิดอคติระหว่างช่วงวัย ทำให้เสียความรู้สึก ขุ่นเคืองใจจากการโดนตัดสินหรือเลือกปฏิบัติ  แต่ความจริงแล้วส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจและความเป็นอยู่ที่ดี การใช้ชีวิตในสังคมทำให้ความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองลดน้อยลง และเกิดภาวะซึมเศร้าหรืออาจส่งผลให้มีอาการซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น และที่ร้ายแรงที่สุดอาจเกิดความสูญเสียถึงชีวิตได้

"สสส.ให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างระหว่างวัยจึงสนับสนุนการศึกษาแนวทางและพัฒนารูปแบบนวัตกรรมเพื่อก้าวข้ามวยาคติ โดยคิดค้นนวัตกรรมช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยส่งเสริมสุขภาพจิตและสร้างพื้นที่ให้คนต่างวัยได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมด้วยกันมากขึ้นเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสามารถนำไปขยายผลสู่ภาคการศึกษาต่อได้"

ด้าน“นายตุลย์ ปิ่นแก้ว” ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์ บริษัท ไซด์คิก จำกัดกล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไซด์คิก ร่วมมือกับ สสส.คิดค้นนวัตกรรมช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยโดยเริ่มจากการวิจัยกลุ่มตัวอย่าง 611 คน ทั่วประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มอายุ15-18 ปี, 19-30 ปี,31-50 ปี, และ 51-70 ปีเพื่อค้นหากลุ่มคนที่มีลักษณะเปิดกว้าง ไม่เหมารวมรับฟังความคิดเห็นของคนทุกวัย

นวัตกรรมเชื่อมใจคนต่างวัย \'ประสบการณ์\' ลดช่องว่างและทัศนคติ

4 พฤติกรรมหลักที่โดดเด่น นักเชื่อมสัมพันธ์

โดยพบว่ามีบุคคลที่มีลักษณะเปิดกว้างในระดับสูงอยู่ที่ 20% ระดับปานกลาง 37%และระดับต่ำ 41% จึงได้นำลักษณะพฤติกรรมของคนที่เปิดกว้างสูง 20%หรือที่เรียกว่า นักเชื่อมสัมพันธ์ (Connectors) มาถอดรหัส พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมี 4 พฤติกรรมหลักที่โดดเด่นคือ

1.ชื่นชมความพยายามของผู้อื่น

2.ตั้งใจฟังทุกความคิดเห็น

3.กล้าเล่าความผิดพลาดของตนเอง

4.พร้อมที่จะสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการแลกเปลี่ยน

 “จากผลลัพธ์ที่ได้นำมาสู่การออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เจอผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกตรงกับนักเชื่อมสัมพันธ์โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการได้เห็นลักษณะผู้ใหญ่ที่หลากหลายแตกต่างจากที่คุ้นเคยสู่การลดอคติระหว่างวัยและสร้างนักเชื่อมสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในอนาคตทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเยาวชนอย่างชัดเจนจากที่เคยกลัวการเข้าหาผู้ใหญ่หรือการแสดงความคิดเห็นกลับเต็มไปด้วยไอเดียและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมและบอกว่าผู้ใหญ่ที่เจอนั้นแตกต่างจากที่คุ้นเคยและไม่คิดว่าผู้ใหญ่ทุกคนเหมือนกันอีกต่อไป”

"รศ.ดร. มนสิการ กาญจนะจิตรา"  อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ผลการประเมินจากทีมวิจัย พบว่า การเข้าร่วมกิจกรรม 4 ครั้งในระยะเวลา 2 เดือน ผ่านรูปแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยมีการถ่ายภาพบอกเล่าเรื่องราวที่พบเจอร่วมกับกลุ่มนักเชื่อมสัมพันธ์ที่พร้อมรับฟังและสอดแทรกการเรียนรู้เชิงพฤติกรรมของคนต่างวัยเข้าไปด้วย

ส่งผลบวกต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเยาวชนที่มีต่อผู้ใหญ่ใน 3 ด้านได้แก่

1.กล้าพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใหญ่

2.เปิดใจสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่

3.อยากเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ใหญ่

ซึ่งหลังจากจบโครงการไป 4-5 เดือน ได้ติดตามชีวิตของเยาวชนเหล่านั้น พบว่าประสบการณ์จากกิจกรรมยังคงมีผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในเชิงบวก โดยพวกเขาเลือกที่จะฟังมากขึ้น แทนที่จะปะทะความคิดเห็นไม่เหมารวมทุกคน และพยายามทำความเข้าใจตัวตนของแต่ละคนมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ “ประสบการณ์”ได้แสดงให้เห็นว่าการเชื่อมโยงเยาวชนกับผู้ใหญ่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดกว้างสามารถช่วยเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมที่มีต่อคนต่างวัยได้อย่างแท้จริงการเสริมสร้างความเข้าใจและการเปิดใจต่อคนต่างวัยไม่เพียงแต่จะช่วยลดอคติระหว่างวัยแต่ยังเป็นการสนับสนุนการอยู่ร่วมกันในสังคมที่สมดุลและสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย