TSE รุกธุรกิจ Health Care จับตลาด 'รักษาภาวะมีบุตรยาก'

TSE รุกธุรกิจ Health Care  จับตลาด 'รักษาภาวะมีบุตรยาก'

จากสังคมในยุคปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคม Aging Society ของประเทศไทยเเละทั่วโลก ทำให้ความต้องการในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การชะลอวัย รวมถึงเทคโนโลยี ที่ช่วยการเจริญพันธุ์ ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน

KEY

POINTS

  • การลงทุนในธุรกิจ Health Care ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพอย่างมั่นคงยั่งยืน เพราะเป็นเทรนด์ของโลก โดยบีทีเอชจะช่วยทำตลาดภายในประเทศมากขึ้นคาดว่าจะเพิ่มจำนวนผู้มาใช้เป็น 600 รายให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่มียอดผู้มาใช้บริการมากที่สุดให้ได้
  • เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ การทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเป็นการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือที่เรียกกันติดปากว่า IVF (In vitro fertilization)
  • ปรับแก้เพดานอายุหญิงที่เป็นภรรยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น หรือการให้หญิงอื่นอุ้มท้องแทน จากเดิมหญิงอายุเกิน 55 ปี ไม่สามารถให้หญิงอื่นอุ้มบุญแทนได้ ตอนนี้มีการปลดล็อกให้อายุมากกว่า 55 ปี สามารถดำเนินการได้ 

จากสังคมในยุคปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคม Aging Society ของประเทศไทยเเละทั่วโลก ทำให้ความต้องการในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การชะลอวัย รวมถึงเทคโนโลยี ที่ช่วยการเจริญพันธุ์ ได้รับความสนใจมากขึ้น

บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ของธนาคารชั้นนำในประเทศไทยชี้ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ การเป็นศูนย์กลางสุขภาพ นานาชาติ หรือ Medical Hub จากศักยภาพทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย โดยชี้ 3 เทรนด์ทางการแพทย์ ที่จะสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรม

ทางการเเพทย์ไทย ได้แก่ 1. ด้าน Precision Medicine หรือการแพทย์ที่แม่นยำ 2. Regenerative Medicine เวชศาสตร์ฟื้นฟู ภาวะเสื่อม และ 3. Reproductive Medicine หรือเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

หลงลืม พูดติดขัด สัญญาณเตือน ! อาการ 'โรคสมองเสื่อม'

อัปเดต! เทรนด์ด้านสุขภาพและโภชนาการ ปี 2025

ภาวะมีบุตรยากพบมากขึ้นทั่วโลก

ขณะเดียวกัน "ภาวะมีบุตรยาก" เป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทั่วโลก เนื่องจากผู้คนมีแนวโน้มที่จะเเต่งงานกันช้าลง จากการใช้เวลา กับการเรียนและการทำงานที่มากขึ้น การมีทัศนคติการมีลูกเมื่อมีความพร้อมทางด้านการเงิน หรือหน้าที่การงาน แล้วเท่านั้น การดำเนินชีวิตที่มีความเคร่งเครียดมากขึ้น หรือพฤติกรรมทางด้านสุขภาพ ทั้งการดื่มเเอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ต่างๆ ล้วนส่งผลให้สมรรถนะการมีบุตรที่ลดลง

นอกจากนี้สถิติจากสำนักบริหารการทะเบียน ในส่วนของภาพรวมประชากรไทย จะเห็นได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็ก ที่เกิดใหม่ ลดลงเฉลี่ยปีละ 4% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention-CDC) ที่พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในผู้หญิง อายุ 35 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ทำให้ตลาด Reproductive Medicine หรือการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มีโอกาสเติบโตได้ ในอนาคต เพราะนอกจากจะช่วยให้โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงขึ้นแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงจากการแท้งบุตร และช่วยให้ มีโอกาสที่ได้บุตรที่แข็งแรง ไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรม รวมถึงสามารถกำหนดช่วงเวลาที่จะวางแผนจะตั้งครรภ์ได้

“แคทลีน มาลีนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (TSE) ให้สัมภาษณ์“กรุงเทพธุรกิจ”ว่า มองเห็นโอกาสทางธุรกิจสุขภาพที่มีความเติบโตและทำได้การศึกษามาปีกว่าๆ แล้ว จึงได้ร่วมทุนกับ นพ.วิวรรธน์ ชินพิลาศ ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์กว่า 30 ปี และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท บางกอก อินเฟอร์ทิลิตี้ เซ็นเตอร์ จำกัด (BIC) ที่ให้บริการคลินิก “Bangkok IVF Clinic” สำหรับคู่สมรสที่มีบุตรยาก ด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ IVF(In-vitro Fertilization)

TSE รุกธุรกิจ Health Care  จับตลาด \'รักษาภาวะมีบุตรยาก\'

คาดปี70ตลาดIVFไทย3.3พันล้านบาท

 

พร้อมทั้งจะขยายไปสู่ธุรกิจเสริมความงาม, Wellness และธุรกิจด้านเภสัชกรรม เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการมีสุขภาพดีแบบองค์รวม ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการขยายไปสู่ธุรกิจ Healthcare ซึ่งจัดอยู่ในเมกะเทรนด์และมีแนวโน้มการเติบโตสูงเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยบริษัท เวิลด์ โซล่าร์ จำกัด (World Solar) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TSE จะซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด (100%) ของบริษัท บางกอก อินเฟอร์ทิลิตี้ เซ็นเตอร์ จำกัด (BIC) ซึ่งประกอบกิจการสถานพยาบาล ทางด้านเวชกรรมสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, การรักษาผู้มีบุตรยาก (คลินิก บางกอก ไอวีเอฟ เซ็นเตอร์) คาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 4/2567 ซึ่งหลังเข้าทำธุรกรรม World Solar จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท บีทีเอช จำกัด” และบริษัทฯจะถือหุ้นในสัดส่วน 51%

“การลงทุนในธุรกิจ Health Care ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพอย่างมั่นคงยั่งยืน เพราะเป็นเทรนด์ของโลก โดยบีทีเอชจะช่วยทำตลาดภายในประเทศมากขึ้นให้เพิ่มเป็น 50% จากเดิมที่ BIC มีฐานลูกค้าต่างประเทศถึง 70% ส่วนใหญ่จะเป็นจีน อินเดีย เวียดนาม และ ญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะเพิ่มจำนวนผู้มาใช้บริการจาก 300-400 ราย เป็น 600 รายให้ใกล้เคียงกับจำนวนที่มีความสามารถในการรองรับได้ และใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่มียอดผู้มาใช้บริการมากที่สุดให้ได้" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารTSE กล่าว

สำหรับตลาด IVF ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยได้แรงหนุนสำคัญ จาก Fertility Tourism ที่ฟื้นตัวและโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ในไทยยังมีโอกาสเติบโตสอดคล้องกับเทรนด์ในต่างประเทศ ซึ่งแพทย์ คุณภาพและมาตรฐานการรักษา และการบริการที่ดีจากแพทย์และพยาบาล จากข้อมูลของ Medical Tourism Association พบว่า ค่าบริการการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ต่อครั้ง ของไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4,100 ดอลลาร์ (ประมาณ 135,000 บาท) ถูกกว่าสหรัฐถึง 67% และยังถูกกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ถึง 72% และ 41% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ข้อมูลของ Allied Market Research ระบุว่า ในปี 2563 การบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ของไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ จนส่งผลให้มูลค่าตลาดลดลงเหลือเพียง 66.1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.2 พันล้านบาท คาดว่ามูลค่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัวได้ และมีมูลค่าแตะระดับ 99.6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.3 พันล้านบาทในปี 2570 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (ปี 2563-2570) 6.0% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 กว่า 1.5 เท่า

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ 

สำหรับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ การทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเป็นการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือที่เรียกกันติดปากว่า IVF (In vitro fertilization) ซึ่งในปัจจุบันแบ่ง เป็น 2 แบบ คือ IVF without ICSI (เรียกสั้นๆ ว่า IVF) เป็นการทำเด็กหลอดแก้วแบบเดิม และ IVF with ICSI (เรียกสั้นๆ ว่าอิ๊กซี่, ICSI: Intracytoplasmic Sperm Injection) 

การรักษาแบบ ICSI นั้น จะมีขั้นตอนคล้ายการทำ IVF แต่แตกต่างตรงที่ IVF จะเป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกายที่ปล่อยให้มีการคัดเลือกตามธรรมชาติ โดยการนำไข่และอสุจิหลายตัว จะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง ซึ่งอสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุดจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ แต่ ICSI แพทย์จะทำการคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงที่สุดตัวเดียว แล้วใช้เข็มฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง 

ทั้งนี้ การรักษาแบบ ICSI กำลังได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีการรักษา ภาวะมีบุตรยากที่มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงที่สุด เมื่อเทียบกับวิธีการรักษาอื่นๆ โดยข้อมูลจาก Allied Market Research ได้คาดการณ์การเติบโตของการรักษาแบบ ICSI ของโลก ในปี 2024 จะเติบโตอีก 1.7 เท่า หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.3% อีกด้วย

คู่สมรสเพศเดียวกันมีลูกได้

หลังสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ... หรือ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม"ให้บุคคลสองคน (ทุกเพศ)สมรสกันได้ รวมทั้งได้รับสิทธิต่างๆทั้งนี้คู่สมรสเพศเดียวกันแล้วประสงค์จะมีบุตร แต่ไม่สามารถมีได้ตามธรรมชาติ จะต้องอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ” เพื่อให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยในการมีบุตรและอุ้มบุญได้เพราะในกฎหมายอุ้มบุญจะระบุว่าคู่สมรสตามกฎหมาย จะยึดที่การมีทะเบียนสมรสที่ถูกต้องกฎหมายเป็นหลัก แต่เมื่อประสงค์จะมีการอุ้มบุญก็จะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ก่อน

“อุ้มบุญ”หญิง55ปี-ต่างชาติทำได้

ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ... ฉบับใหม่ ได้แก่

 1. การปรับแก้ไขคุณสมบัติผู้รับบริจาคไข่ ให้ญาติสืบสายโลหิตของภริยา ที่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี และไม่จำเป็นจะต้องผ่านการสมรสสามารถเป็นผู้บริจาคไข่ได้ 

2.การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อนของภริยาที่มีอายุ 35 ปี สามารถตรวจวินิจฉัยได้ตามที่แพทย์หรือผู้ให้บริการเห็นว่ามีความจำเป็นและสมควร

3.การปรับแก้เพดานอายุหญิงที่เป็นภรรยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น หรือการให้หญิงอื่นอุ้มท้องแทน จากเดิมหญิงอายุเกิน 55 ปี ไม่สามารถให้หญิงอื่นอุ้มบุญแทนได้ ตอนนี้มีการปลดล็อกให้อายุมากกว่า 55 ปี สามารถดำเนินการได้ 

4. อนุญาตให้ชาวต่างชาติ ที่เป็นคนต่างชาติทั้งคู่ เข้ามารับบริการทำอุ้มบุญในประเทศไทย ซึ่งหญิงที่จะใช้อุ้มบุญนั้นคู่สมรสสามารถพามาเองได้ หรือสามารถใช้หญิงไทยในการตั้งครรภ์แทน แต่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกลไกกฎหมาย และตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด จากเดิมที่กำหนดว่าหญิงหรือชายจะต้องเป็นคนไทย

 5.การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ สำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน ดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมธรรม์ในการทำประกันสุขภาพสำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น และเป็นจุดดึงดูดในการตัดสินใจเข้ารับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยจากคู่สามีภริยาทั้งไทยและต่างชาติ