Sophie’s Choice บีบหัวใจ | วรากรณ์ สามโกเศศ
นี่คือสถานการณ์ที่เรียกว่า Sophie’s Choice ซึ่งเราได้พบกันอยู่เนืองๆ ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงการตัดสินใจที่จำเป็นเเละยากลำบากมากๆ เรื่องเล่าของคำนี้ในหลายบริบทอาจทำให้เข้าใจโลกได้ลึกซึ้งขึ้นกระมัง
“คราวนี้ตอบได้แล้วนะว่าจะเลือกลูกคนไหน” ผู้คุมค่ายกักกัน Auschwitz ของนาซีเยอรมันพูดขึ้นด้วยเสียงเข้ม Sophie สาวยิวชาวโปแลนด์ร้องไห้ออกมาอย่างเหลือทน “ได้โปรดเห็นใจฉันเถอะ ฉันทำไม่ได้” “ถ้าทำไม่ได้ก็จะเอาไปทั้งสองคน”
เธอร้องไห้อย่างหนัก ผู้คุมขยับตัวทำท่าจะเข้ามาแย่งลูกทั้งสองคนของเธอไปเข้าห้องรมควันพิษ ในที่สุด Sophie ก็ต้องเลือกลูกคนหนึ่งไว้เเละปล่อยให้อีกคนไปสู่ความตายอย่างสยดสยองด้วยหัวใจที่แตกสลาย
Sophie’s Choice (ทางเลือกของโซฟี) หมายถึงสถานการณ์ซึ่งคนหนึ่งต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากและบีบคั้นหัวใจ ระหว่างทางเลือกที่เลวร้ายและไม่พึงปรารถนาทั้งสิ้น มันไม่มีทางตอบได้อย่างสิ้นสงสัยเลยว่าทางที่เลือกนั้น “ถูกต้อง”
คำนี้มาจากนิยายชื่อ Sophie’s Choice (2522) ของ William Styron ซึ่งตัวละครเอกชื่อ Sophie (ชื่อเก่าแก่โดยมาจากภาษากรีกว่า Sophia ที่แปลว่า “wisdom” เขียนได้หลายแบบเช่น Sophie หรือ Sofie) โดยพล็อตเรื่องมาจากเรื่องจริง ที่เธอรอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวของนาซีที่เรียกว่า Holocaust
ในค่ายกักกัน Auschwitz ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นค่ายใหญ่ที่สุด โดยเป็นสถานที่ฆ่าประมาณ 1.1 ล้านคน ผู้คุมบังคับให้พ่อแม่ทั้งหลายที่ถูกจับมาและมีลูกหลายคนเลือกลูกไว้คนหนึ่ง
ส่วนคนที่ไม่ได้รับเลือกจะถูกนำไปฆ่าโดยรมควันพิษเเล้วเผา เธอก็เป็นคนหนึ่งในค่ายนั้นซึ่งต้องเลือก เธอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้เขียนฟังเพื่อนำมาบันทึกไว้
หากเราจินตนาการว่าเป็นเธอจะรู้สึกอย่างไร เพียงคิดก็เศร้าใจ ใครที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเช่นนี้จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์การตัดสินใจว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป มันเป็นเรื่องที่ยากสุดๆ
ผมขอประมวลหลายเรื่องเกี่ยวกับ Sophie's Choice ที่เคยได้ยินจากเรื่องจริงมาเล่าสู่กันฟัง
เรื่องแรก เกิดขึ้นตอนโควิด-19 ระบาดเมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่โควิดระบาดหนัก มีคนไข้อาการหนักจำนวนมากนอนเรียงกันเพื่อรอรับเครื่องช่วยหายใจที่เรียกว่า ventilator ซึ่งช่วยคนไข้หายใจโดยส่งออกซิเจนไปยังปอดและนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเมื่อปอดถูกทำลาย หรืออักเสบจนทำงานเองไม่ได้
เครื่องมือนี้ซึ่งสำคัญมากขาดแคลนอย่างหนักทั่วโลกในช่วงเวลาหนึ่ง จนแพทย์ต้องเป็น “พระเจ้า” โดยเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนคนที่ช่วยเหลือไม่ได้ก็มีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิต
เเพทย์เป็นผู้ต้องตัดสินใจไม่มีทางหลีกเลี่ยง หากไม่ให้ใครเลยก็ตายหมดทุกคน หากให้บางคน คนอื่นๆ ที่เหลือก็ตาย
สถานการณ์ Sophie’s Choice เช่นนี้อาจทำให้ผู้ตัดสินใจนอนไม่หลับ หากเป็นการตัดสินใจที่มิได้อยู่บนหลักคุณธรรมหรือประสิทธิภาพ หากอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัวหรือการช่วยเหลือพรรคพวก
เรื่องที่สอง ธุรกิจที่ประสบปัญหาใกล้ปิดกิจการจำเป็นต้องมีการแก้ไขครั้งใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นการลดจำนวนพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย Sophie’s Choice ก็เกิดขึ้นทันที
หากไม่ให้คนจำนวนหนึ่งออกก็เจ๊งหรือ “ตาย” กันทั้งบริษัท การพูดเช่นนี้มันง่าย แต่ปฏิบัติจริงมันยากเพราะคำถามก็คือใครควรออก ใครควรอยู่ การตัดสินใจมันปวดร้าวเพราะทุกคนทำงานผ่านร้อนผ่านหนาวกันมายาวนานจนรักใคร่คุ้นเคยกัน
Sophie’s Choice เกิดกับเจ้าของหรือผู้บริหาร ซึ่งการเลือกภายใต้สถานการณ์นี้ ส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจและต่อสภาพจิตใจของผู้คนจำนวนหนึ่งอย่างยิ่ง
เรื่องที่สาม ในภาพยนตร์เรื่อง Killing Fields (2527) ที่นำเรื่องจริงของความโหดร้ายของเขมรแดงมาตีแผ่ ตัวละครประกอบคือ Haing S. Ngor ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองของฮอลลีวูด (2528) ในชีวิตจริงเขาเป็นแพทย์ซึ่งรอดจากสงครามเขมรแดงมา
เขาได้บันทึกประสบการณ์ไว้ในหนังสือว่า เมื่อเขมรเเดงยึดประเทศ ภรรยากับเขาถูกบังคับให้เดินเท้าออกจากพนมเปญพร้อมคนเขมรเป็นร้อยเป็นพัน หากใครเดินช้าหรือพูดจาไม่ถูกหูก็ถูกยิงทิ้งทันที
โดยเฉพาะถ้าใครมีการศึกษาหรืออ่านหนังสือออกหรือใส่แว่นตา (เเว่นตาเป็นหลักฐานของคนรู้หนังสือในความเห็นของพวกเขมรเเดง) หรือเป็นพระ ฯลฯ เป็นเป้าเเรก
เขาปิดบังการเป็นแพทย์เต็มที่เเต่แอบเอาตำราแพทย์และอุปกรณ์ผ่าตัดง่ายๆ ติดตัวมาด้วย ภรรยาลำบากมากเพราะเธอท้องอยู่หลายเดือนผ่านไปก็ท้องแก่ใกล้คลอด เขาแอบตรวจดูก็รู้ว่าลูกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ หากคลอดจำเป็นต้องใช้เครื่องมือผ่าตัดช่วยลูกจึงจะรอด
เมื่อถึงวันคลอดเขาอยู่ในฐานะลำบากใจมาก ถ้าเขาช่วยเธอคลอด ผู้คุมต้องรู้ทันทีว่าเขาเป็นหมอ มันต้องฆ่าตายทั้งหมดเป็นแน่ แต่ถ้าปล่อยให้เธอคลอดตามปกติ ด้วยปาฏิหาริย์เธอก็อาจรอดแต่ลูกตาย หรือเธออาจตายพร้อมลูก
ภายใต้สถานการณ์ Sophie’s Choice เช่นนี้ เขาเลือกเสี่ยงอย่างหลังดีกว่าเพราะอย่างแรกทำให้ตายทั้งหมดแน่นอน สุดท้ายภรรยาและลูกเขาต้องตายไปต่อหน้าอย่างแสนเศร้า เขาฝังเธอและลูกไว้ ใต้ต้นไม้ ทำเครื่องหมายไว้ หากวันหนึ่งรอดไปจะกลับมาทำพิธีศาสนาให้
เด็กๆ หลายคนอาจประสบสถานการณ์ที่พ่อแม่เลิกรากัน และแต่ละฝ่ายต้องตัดสินใจว่าจะเลือกลูกคนไหนไว้กับตน เด็กบางคนอาจโกรธแค้นหรือน้อยใจพ่อหรือแม่ที่ไม่ได้เลือกตน โดยเฉพาะในเวลาต่อมาหากพ่อหรือแม่อีกฝ่ายนั้นประสบความสำเร็จ และน้องหรือพี่อยู่ในสถานะที่ดีกว่า
เด็กๆ ต้องไม่ลืมว่าทั้งคุณพ่อและคุณแม่ตกอยู่ในสถานการณ์ Sophie’s Choice อย่างน่าเห็นใจ ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าชีวิต แต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไร แต่ละคนก็มีเหตุผลในการเลือกที่แตกต่างกันด้วยหัวใจที่ปวดร้าวอย่างยิ่ง
Sophie’s Choice ให้ความอึดอัดลำบากใจ และความเจ็บปวดหัวใจ การไม่ต้องประสบกับมันเลยน่าจะเป็นพรอันประเสริฐสำหรับทุกคนในปีใหม่ที่กำลังใกล้เข้ามานะครับ.