‘Self-care’รากฐานระบบสุขภาพ ตระหนักรู้-ดูแลตนเองแข็งแรงอายุยืนยาว

‘Self-care’รากฐานระบบสุขภาพ  ตระหนักรู้-ดูแลตนเองแข็งแรงอายุยืนยาว

ระหว่างวันที่ 13-15 พย.67 สมาพันธ์ผู้ผลิตและจำหน่ายเภสัชภัณฑ์แห่งเอเชียแปซิฟิก ได้จัดประชุมใหญ่ Global Self-care Federation World Congress 2024 ภายใต้แนวคิด ‘‘Self-care in Healthcare: A Shared Vision of Asia Pacific’’

KEY

POINTS

  • หากประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพของตนเอง จะสามารถปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การดูแลสุขภาพของตนเอง หรือ Self-care เป็นรากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบสุขภาพ ประกอบด้วย Health-consciousness หรือความรู้ตัว และHealth Literacy หรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ
  • แนวทางการพัฒนาด้านความเป็นผู้ที่ดีด้านสุขภาพให้กับประชาชน ต้องสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการกินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ผสมผสานการใช้ยาหรือสมุนไพรแผนโบราณร่วมกับผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสมัยใหม่ และเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ 

ระหว่างวันที่ 13-15 พย.67 สมาพันธ์ผู้ผลิตและจำหน่ายเภสัชภัณฑ์แห่งเอเชียแปซิฟิก ได้จัดประชุมใหญ่ Global Self-care Federation World Congress 2024 ภายใต้แนวคิด ‘‘Self-care in Healthcare: A Shared Vision of Asia Pacific’’ ต่อยอดการดำเนินงานตามหลักการที่ธรรมนูญองค์การอนามัยโลกและเป้าหมาย การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติได้กำหนดไว้ว่าสิทธิด้านสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานและ การกำกับดูแลงานด้านสุขภาพต้องสร้างการมีส่วนร่วม

โดยในปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในภูมิภาคละตินอเมริกาได้ลงนามในปฏิญญาเซาท์ เปาโล (São Paulo Declaration on Self-Care) ว่าด้วยเรื่องการดูแลตนเองไปแล้ว ซึ่งในประชุม ครั้งนี้มีผู้แทนจาก 9 ประเทศเข้าร่วม อาทิ ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ร่วมกันประกาศความร่วมมือที่เรียกว่า ‘Bangkok Joint Initiative on Self-Care Medical Products for Health and Well-Being’ หรือ ความร่วมมือด้านการส่งเสริม “เภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

NCDs คร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1  4แสนคนต่อปี 76% เสียชีวิต

ปรับพฤติกรรม พิชิต 'NCDs' โรคเรื้อรังที่ป้องกันได้

ดูแลตนเองให้ดีขึ้นลดภาระระบบดูแลสุขภาพ

“จูดี้ สเตนมาร์ก”  ผู้แทนจากสมาพันธ์การดูแลตนเองนานาชาติ หรือ GSCF กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ มีความท้าทายที่หลากหลาย อาทิ จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การระบาดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs อยู่ในระดับสูง

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนจำกัด ความท้าทายเหล่านี้มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งเครื่องผลักดันให้ผู้คนหันมาดูแลตนเองให้ดีขึ้นเพื่อลดภาระในระบบดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ 'ถ้อยแถลงความร่วมมือกรุงเทพฯ ด้านการดูแลตนเอง’ จะช่วยตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทส่งเสริมการดูแลตนเอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า

หากไปดูโครงสร้างด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศก็จะพบว่า ประเด็นเรื่อง Self-care ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐ ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ก็ได้ออกแนวทางดำเนินโครงการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองและมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยระบุว่าหากประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพของตนเอง จะสามารถปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราต้องการให้ประเด็นเรื่อง Self-care เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐ เพื่อปิดช่องว่างด้านการดูแลสุขภาพและลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกเอง จึงจำเป็นต้องเร่งเครื่องผลักดันให้ผู้คนหันมาดูแลตนเองให้ดีขึ้นเพื่อลดภาระในระบบดูแลสุขภาพ”

‘Self-care’รากฐานระบบสุขภาพ  ตระหนักรู้-ดูแลตนเองแข็งแรงอายุยืนยาว

self-care ก็คือ healthcare

 ผู้แทนจากสมาพันธ์การดูแลตนเองนานาชาติ หรือ GSCF กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่ได้จากการร่วมพูดคุยกันก็คือ Self-care จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากประชาชนยังขาดความรอบรู้หรือ health literacy ในด้านสุขภาพ และความเข้าใจว่า self-care ก็คือ healthcare อย่างหนึ่งเช่นกันในระยะยาวความสามารถในการดูแลตนเองเบื้องต้นอย่างมีประสิทธิภาพของประชาชนนั้น จะช่วยลดเวลา และค่าใช้จ่าย ทั้งของประชาชนเอง รวมไปถึงเวลาในการเข้าไปพบบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีจำนวนจำกัด และลดค่าใช้จ่ายด้ายสาธารณสุข

 ซึ่งหากดูตัวเลขจากทั่วโลกจะพบว่า Self-care จะเป็นกลยุทธ์หรือวิธีการที่ถูกใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายหรือควบคุมการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพเฉลี่ยได้ถึง 119 พันล้านเหรียญสหรัฐฯทำให้ประเด็นเรื่อง Self-care ไม่ใช่ประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขควรให้ความสนใจแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันน่าจะเป็นประโยชน์กับกระทระทรวงการคลังด้วย

Self-careรากฐานสำคัญระบบสุขภาพ

รายงานจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ระบุว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีการใช้งบประมาณในปี 2560 จำนวน งบประมาณจำนวน 127,651 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา โรค NCDs สูงถึงกว่า 62,138 ล้านบาท ซึ่งเมื่อลองมองลึกขึ้น เช่น โรคไต โรคไตเรื้อรัง จากรายงานกรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,062,756 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 85,064 คน หากดูงบ สปสช.ที่จัดสรรเฉพาะให้กับโรคไตย้อนหลัง 5 ปีนั้น พบว่า เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีงบละ 946 ล้านบาท จากปีงบประมาณ2564-2568 เพิ่มสูงขึ้นถึง 38.96%

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)มีนโยบายลดปัญหาของโรค NCDs เพราะก่อให้เกิดภาระในด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตระบบสขภาพของไทยก็ไม่อาจจะรองรับปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจาก NCDsได้ ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการดูแลตนเอง ฉะนั้น Self-care จะเป็นทางออก/ทางรอด ของประชาชนและระบบสุขภาพ

 “นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล”  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าววว่าการดูแลสุขภาพของตนเอง หรือ Self-care ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบสุขภาพ ประกอบด้วย Health-consciousness หรือความรู้ตัว คือรู้ตัวว่าสุขภาพที่เรามีหรือเป็นอยู่นั้นปกติหรือไม่ มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร มีความผิดปกติหรือมีความเสี่ยงหรือไม่ แล้วถ้าผิดปกติแล้วต้องไปทำอะไรต่อหรือเปล่า

ส่วนที่สองก็คือ Health Literacy หรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งก็ต้องเกิดจากการเรียนรู้และหาความรู้ และด้วยความเจริญด้านเทคโนโลยี ก็เป็นโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้เรื่องสุขภาพได้เยอะและง่ายขึ้นมาก ซึ่งความรู้ตัวและความรอบรู้ทางสุขภาพจะทำให้มีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมการเกิดโรค

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ตัวเราเองมีความเจ็บป่วยขึ้นมาเสียก่อน (preventive care) หรือถ้ามีการเจ็บป่วยแล้ว ก็ยังสามารถมีความรู้ในการ “เลือก” ที่จะดูแลตนเอง เช่นการข้าใจและเลือกที่จะพบแพทย์ในศาสตร์และวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ด้วยตนเอง”

รองเลขาธิการอย. กล่าววว่าการประชุมร่วมกันในครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อช่วยกันคิดหาทางออกในการทำให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งในส่วนของการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อใช้ในการดูแลตนเอง ไม่ว่าเป็น social media เทคโนโลยีดิจิทัล หรือการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ สามารถทำให้เราเข้าถึง self-care ได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีต้องรู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง cybersecurity การประชุมร่วมกันองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคมาแชร์ประสบการณ์ แผนเชิงกลยุทธ์ กรอบนโยบายต่างๆ ที่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้และร่วมมือกันและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งภูมิภาคของเราถือได้ว่าเป็นขนาดที่พอเหมาะในการที่จะพัฒนาร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่อง digital health

“อย.ในฐานะผู้กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศไทย ก็จะช่วยในเรื่องของการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพทั่วทั้งระบบของ self-care ให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงเร่งให้เกิดการขึ้นทะเบียนที่รวดเร็วขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพของประชาชน แต่ก็ยังสามารถคงไว้ซึ่งความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ อย.ยังมีแผนที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านการกำกับดูแลในระดับภูมิภาคให้สามารถขยายขอบข่ายของการเรียนรู้และการกำกับดูแลให้กว้างไกลขึ้น เช่นหากบางประเทศเด่นในเรื่องการกำหนด framework หรือมีนโยบายส่วนไหนที่ดี เราก็สามารถที่จะดูและนำมาปรับใช้ได้ คือเราสามารถเชื่อมโยงกันในภูมิภาคได้

องค์ความรู้เบื้องต้นช่วยวินิจฉัยถูกต้อง

ดร.เภสัชกร นพดล อัจจิมาธีระ ผู้อำนวยการแผนกฎหมายทะเบียนผลิตภัณฑ์และการแพทย์ ประจำภูมิภาคอาเซียน/ญี่ปุ่นและเกาหลี กล่าวว่างานประชุมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการร่วมมือเพื่อผลักดันด้าน self-care เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาด้านความเป็นผู้ที่ดีด้านสุขภาพให้กับประชาชน เช่นทำให้ประชาชนเกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับการกินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ สร้างองค์ความรู้ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถผสมผสานการใช้ยาหรือสมุนไพรแผนโบราณร่วมกับผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสมัยใหม่ และการเข้ารับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ 

“หากเรามีองค์ความรู้เบื้องต้นที่ถูกต้อง เราจะมีความมั่นใจในการดูแลตนเอง หรือเมื่อถึงยามเจ็บป่วย เราจะมีความรู้เบื้องต้นที่จะสามารถอธิบายให้บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหมอหรือเภสัชกร เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องด้วย”