'ปวดหลัง'อย่าปล่อยผ่าน! เสี่ยง 'มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา'

‘อาการปวดหลัง’ เป็นอีกหนึ่งอาการที่ใครๆ ก็เคยประสบพบเจอ ยิ่งกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องนั่งหน้าจอนานๆ หรือ กลุ่มที่ต้อง ใช้แรง ใช้หลังมากเกินไป ความเสื่อมของร่างกาย อุบัติเหตุ
KEY
POINTS
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมาหรือเอ็มเอ็ม เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในไขกระดูก และสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาในกระแสเลือด
- หากอาการปวดหลังหรือปวดกระดูกเรื้อรัง รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาการซีด อ่อนเพลีย ทำการตรวจเลือดพบ มีภาวะไตวาย ระดับแคลเซียมสูง อาจเสี่ยงโรคเอ็มเอ็ม
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมาถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด อัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยเอเชียอยู่ที่ประมาณ 4 ปี การรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งของตัวโรคและผู้ป่วย
‘ปวดหลัง’ เป็นอีกหนึ่งอาการที่ใครๆ ก็เคยประสบพบเจอ ยิ่งกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องนั่งหน้าจอนานๆ หรือ กลุ่มที่ต้อง ใช้แรง ใช้หลังมากเกินไป ความเสื่อมของร่างกาย อุบัติเหตุ ซึ่งหลายคนอาจปล่อยผ่านและมองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย แต่จริงๆ แล้วบางครั้ง‘อาการปวดหลัง’ก็ไม่ใช่เรื่องปกติเสมอไป เพราะนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติบางอย่าง และก่อให้เกิดโรคร้ายได้
"มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา หรือที่เรียกกันว่า โรคเอ็มเอ็ม (Multiple myeloma หรือ MM)" เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่หลายคนยังไม่คุ้นเคยนัก โดยโรคดังกล่าวเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายและส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้
“โรคเอ็มเอ็ม” เป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่เกิดจากการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า พลาสมาเซลล์ (plasma cell) ในไขกระดูก ทำให้มีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาในกระแสเลือด (Monoclonal protein หรือ เอ็ม-โปรตีน) ทำให้มีอาการได้แก่ ซีด ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ไตวาย ระดับแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
การที่เซลล์มะเร็งสร้างเอ็ม-โปรตีนออกมาในเลือดมากมายนี่เอง จึงใช้เป็นตัววินิจฉัยโรคได้ โดยเราสามารถตรวจพบเอ็ม-โปรตีนได้โดยวิธีการตรวจแยกโปรตีนทางห้องปฏิบัติการ (Electrophoresis)
ซึ่ง M-protein ที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น เป็นตัวที่ใช้ตรวจชี้วัดการเป็นโรคมะเร็ง และใช้ติดตามการรักษาโรคด้วย โดยเราสามารถตรวจพบเอ็ม-โปรตีนได้โดยวิธีการตรวจแยกโปรตีนทางห้องปฏิบัติการ (Electrophoresis)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
4 อาการโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา
ผศ.นพ.เอกรัฐ รัฐฤทธิ์ธำรง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา หรือเอ็มเอ็ม (multiple myeloma; MM) เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า พลาสมาเซลล์ (plasma cell) ในไขกระดูก และสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการสำคัญของโรค 4 ประการได้แก่
- ซีด
- ไตวาย
- ระดับแคลเซียมในเลือดสูง
- ปวดกระดูก ปวดหลัง
ส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่มีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป
การระบาดวิทยาของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา
พบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 0.5-1คนต่อประชากร 1แสนคน คิดเป็นร้อยละ 1 ของมะเร็งทั้งหมด โรคนี้พบในผู้ใหญ่ ในประเทศไทยพบว่าอายุเฉลี่ยเท่ากับ 59ปี (โดยพบได้ตั้งแต่อายุ 19-95ปี) และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย
มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) เป็นมะเร็งของเม็ดเลือดพลาสมาเซลล์ (Plasma Cell) มักพบในผู้สูงอายุ โดยอายุเฉลี่ยเมื่อวินิจฉัยประมาณ 60 – 70 ปี พบน้อยในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 40 ปี
สาเหตุโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคแต่มีสมมุติฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมบางอย่างได้เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช สารเคมีบางชนิด การสัมผัสสารกัมมันตรังสี จึงยังไม่มีแนวทางป้องกันโรคนี้อย่างชัดเจน
แม้ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้โรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาหายขาดได้ แต่ถือเป็นโรคที่รักษาได้ และมีความเจริญก้าวหน้าในการรักษาอย่างก้าวกระโดด และพบว่าผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
สาเหตุของโรค
- มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) ยังไม่พบสาเหตุแน่นอนในการเกิดโรค
- ผู้ป่วยที่พบโปรตีนผิดปกติในเลือดมาก่อนโดยไม่มีอาการ (Monoclonal Gammopathy of Undetermined Significance – MGUS) มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) โดยเฉลี่ยประมาณ 1% ต่อปี
กลไกการเกิดโรคและอาการของโรค
ในภาวะปกติพลาสมาเซลล์มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แต่เมื่อพลาสมาเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งแล้ว จะไม่สามารถสร้างสารภูมิคุ้มกันปกติออกมาได้ แต่จะสร้างโปรตีนและหลั่งสารผิดปกติออกมาแทนทำให้เกิดอาการของโรคได้แก่
- ภาวะซีดจากการที่เซลล์มะเร็งไปแทนที่เซลล์เม็ดเลือดแดงปกติในไขกระดูก และหลั่งสารซึ่งลดการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ภาวะไตวาย จากโปรตีนผิดปกติที่เซลล์มะเร็งหลั่งออกมามีพิษต่อไต ทำให้ไตวาย มีอาการบวม ปัสสาวะออกน้อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน
- อาการปวดกระดูก กระดูกหักง่าย จากการที่เซลล์มะเร็งหลั่งสารเพิ่มสลายกระดูกและลดการสร้างกระดูก นอกจากนี้ทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง ทำให้มีอาการซึมได้
อาการปวดหลัง-ปวดกระดูก เป็นโรคเอ็มเอ็ม
แพทย์จะสงสัยโรคนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังหรือปวดกระดูกเรื้อรัง รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจมีอาการปวดในช่วงกลางคืน ร่วมกับอาการอื่นของโรคโดยเฉพาะอาการซีด อ่อนเพลีย ทำการตรวจเลือดแล้วพบว่า มีภาวะไตวาย ระดับแคลเซียมสูง หรือมีโปรตีนในเลือดสูงกว่าปกติ ทำการเอ็กซเรย์กระดูกพบความผิดปกติที่เข้าได้กับโรค นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วมของโรคมะเร็งทั่วไปเช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ในกรณีที่มีกระดูกหักในตำแหน่งซึ่งพบไม่บ่อยหรือไม่สัมพันธ์กับอุบัติเหตุก็จะทำให้สงสัยโรคนี้เช่นกัน
การตรวจวินิจฉัยโรค
- ตรวจนับเม็ดเลือด มักพบภาวะซีด หรือเกล็ดเลือดต่ำได้ ถ้าอาการรุนแรงสามารถพบมะเร็งพลาสมาเซลล์ในเลือดได้ เรียกว่า ลูคีเมียของพลาสมาเซลล์ (Plasma Cell Leukemia)
- ตรวจเลือดเพื่อดูชนิดและระดับของเอ็มโปรตีน (M Protein) และอิมมูโนโกลบูลินตัวอื่น ๆ รวมไปถึงระดับ Serum Free Light Chain
- ตรวจเลือดทางชีวเคมีเพื่อประเมินการทำงานของไต รวมถึงค่าระดับแคลเซียมและเกลือแร่อื่น ๆ
- ตรวจไขกระดูกเพื่อประเมินจำนวนมะเร็งพลาสมาเซลล์ รวมไปถึงการตรวจโครโมโซมจากไขกระดูกเพื่อวางแผนการรักษา
- เอกซเรย์กระดูกเพื่อประเมินสภาพกระดูกก่อนการรักษา (Skeleton Survey)
- ตรวจปัสสาวะที่เก็บรวมใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจหาเอ็มโปรตีน (M Protein) ในปัสสาวะ
การบำบัดรักษาโรค
- การรักษาหลักเป็นการให้ยาเคมีบำบัด โดยจะพิจารณาขึ้นกับอายุและสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก
- ยาชนิดใหม่ (Novel Therapy) ที่รักษาโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาในปัจจุบันให้การตอบสนองดีมากเมื่อเทียบกับยาเคมีแบบเก่า ยาชนิดใหม่ที่ใช้บ่อยได้แก่ ยากลุ่ม Proteasome Inhibitor และ Immunomodulator
- การใช้ยารักษาในปัจจุบันรวมไปถึงการใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค (Maintenance) หลังจากที่โรคเข้าสู่ภาวะโรคสงบแล้ว พบว่าทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเอง (Autologous Stem Cell Transplantation) หลังจากให้ยาเคมีบำบัด จะพิจารณาในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปีที่มีสภาพร่างกายพร้อมและไม่มีโรคประจำตัวอื่นร้ายแรง อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีที่สภาพร่างกายพร้อม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
- การฉายแสง ในกรณีที่ก้อนพลาสมาไซโตมา (Plasmacytoma) ใหญ่ไปเบียดกดอวัยวะอื่น ๆ หรือมีอาการปวดรุนแรงจากกระดูกหัก
- การให้ยาเพิ่มความแข็งแรงกระดูก ซึ่งเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสฟาเนท (Bisphosphanate) เพื่อป้องกันการทำลายเพิ่มเติมของกระดูกจากตัวมะเร็ง
- การฉีดซีเมนต์หรือใช้บอลลูนถ่างเพื่อค้ำยันกระดูกสันหลังที่หัก (Kyphoplasty or Vertebroplasty) เพื่อลดอาการปวดจากกระดูกสันหลังที่หัก
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมาถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด อัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยเอเชียอยู่ที่ประมาณ 4 ปี การรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งของตัวโรคและผู้ป่วยเช่น อายุ สุขภาพโดยรวม ภาวะโรคอื่นๆที่เป็นร่วมด้วย ผู้ป่วยอายุน้อยและมีสุขภาพแข็งแรงสามารถรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้ เพื่อทำให้โรคสงบนานที่สุด
ส่วนผู้ป่วยสูงอายุอาจให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดรับประทาน ร่วมกับการรักษาประคับประคองเช่น การให้เลือดในกรณีที่มีอาการซีด การให้ยาเพื่อลดการทำลายกระดูก การให้ยาแก้ปวดในกรณีที่มีอาการปวดกระดูกเป็นต้น การรักษาด้วยการฉายแสงหรือผ่าตัดอาจทำในบางกรณีเพื่อลดอาการจากโรคเฉพาะที่
อ้างอิง : สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ,โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถ