รู้จัก'โนโรไวรัส'สัญญาณเตือนติดเชื้อ ท้องเสียต้องเฝ้าระวัง

รู้จัก'โนโรไวรัส'สัญญาณเตือนติดเชื้อ ท้องเสียต้องเฝ้าระวัง

วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี จะเป็น “วันเด็กแห่งชาติ” ของประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีจะมีคำขวัญวันเด็ก และแต่ละหน่วยงานมีการจัดกิจกรรมมากมายที่เด็กๆ จะได้เข้าร่วม

KEY

POINTS

  • โนโรไวรัส เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อปริมาณเล็กน้อย ทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี
  • มักเกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งตอนนี้มีเด็ก ๆ ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนแล้ว และกลุ่มผู้สูงอายุ  จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และปวดท้องอย่างเฉียบพลัน
  • ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโนโรไวรัสนี้ การป้องกันโดยทั่วไปคือ การดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อนี้ได้

วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี จะเป็น “วันเด็กแห่งชาติ” ของประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีจะมีคำขวัญวันเด็ก และแต่ละหน่วยงานมีการจัดกิจกรรมมากมายที่เด็กๆ จะได้เข้าร่วม การทำกิจกรรม พบเจอผู้คนมากมาย ร่วมถึงมีอาหารให้เลือกรับประทานหลากหลาย น้ำดื่มหลากสีสัน และการดื่มน้ำ หรืออาหารเหล่านี้ อาจจะนำมาสู่การปนเปื้อน ทำให้เกิดการติดเชื้อท้องเสียได้

อาการติดเชื้อท้องเสีย จริงๆ แล้วมีการระบาดอยู่เกือบจะตลอดทั้งปีสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เฝ้าระวังเฉพาะในวันเด็กเท่านั้น โดยเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า “โนโรไวรัส (Norovirus)” ซึ่งส่งผลให้เจ้าตัวเล็กมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนค่อนข้างรุนแรง ยิ่งถ้าภูมิต้านทานต่ำอาการอาจหนักและร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันไวรัสชนิดนี้ย่อมช่วยให้สามารถดูแลป้องกันเจ้าตัวเล็กและทำการรักษาได้ทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'วัคซีนไข้หวัดนก' พัฒนา-ผลิตในไทย คืบหน้า 2 แห่ง

เช็กลิสต์! 'ฉลองวันเด็ก2568' กับกิจกรรมสุด Exclusive มีที่ไหนจัดบ้าง?

“โนโรไวรัส” คือเชื้ออะไร ทำไมมักเกิดขึ้นในเด็ก

นพ. พรเทพ สวนดอก กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่าโนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี

ดังนั้นเมื่อเกิดการปนเปื้อนของโนโรไวรัสในอาหารและน้ำดื่ม จึงทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และสามารถติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากใช้เวลาเพียงไม่นานในการแพร่กระจายเชื้อ ไวรัสนี้พบระบาดได้มากในฤดูหนาว ติดต่อได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น และทำให้เกิดโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

“โนโรไวรัส” มักเกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งตอนนี้มีเด็ก ๆ ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนแล้ว โนโรไวรัสคือโรคระบบทางเดินอาหารในคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ไวรัสชนิดนี้มักทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และปวดท้องอย่างเฉียบพลัน และแพร่ระบาดได้ง่ายในชุมชนหรือสถานที่ที่คนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และบ้านพักคนชรา

อาการเบื้องต้นเมื่อติดเชื้อ "โนโรไวรัส"

อาการที่พบอาการที่พบบ่อยหากได้รับเชื้อโนโรไวรัสภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ได้แก่

  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดศีรษะ
  • ไข้ต่ำ
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • อ่อนเพลีย

 สาเหตุของการติดเชื้อโนโรไวรัส

  • การรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสนี้
  • การสัมผัสพื้นผิวหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนของเชื้อไวรัสนี้
  • การสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย เช่น การดูแลผู้ป่วย

ไวรัสชนิดนี้สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี แม้จะอยู่ในอุณหภูมิต่ำหรือสูง ทำให้สามารถแพร่เชื้อได้ง่าย

การตรวจและรักษาการติดเชื้อโนโรไวรัส

ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโนโรไวรัส ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อส่งตรวจพิเศษกับห้องปฏิบัติการ หากพบว่าติดเชื้อโนโรไวรัส แพทย์จะทำการดูแลรักษาตามอาการเป็นสำคัญ หากเด็กมีภูมิต้านทานที่ดีอาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน         

แต่หากเด็กเกิดการขาดน้ำอาจทดแทนด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด รับประทานอาหารอ่อน ๆ หรือให้ยาแก้อาเจียนและยาแก้ปวดท้อง แต่ถ้าเด็กภูมิต้านทานต่ำ มีอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลาต้องนำส่งโรงพยาบาลทันทีและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการช็อก ความดันต่ำ และเสียชีวิตได้

ฉะนั้น การรักษา ปัจจุบันไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับการติดเชื้อโนโรไวรัส การรักษาเน้นการประคับประคองอาการ เช่น:

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) หรือเครื่องดื่มที่ช่วยคืนสมดุลน้ำ
  • หลีกเลี่ยงน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูง
  • ยารักษาตามอาการ ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล
  • หลีกเลี่ยงยาแก้ท้องเสียในเด็กเล็ก เว้นแต่แพทย์สั่ง

ทั้งนี้ การติดต่อของโรคเชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัส พบบ่อยในน้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักผลไม้สด หอยนางรม เป็นต้น
  • เด็กจับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัสแล้วเอานิ้วเข้าปาก
  • สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง

ป้องกันโนโรไวรัสได้อย่างไร? หากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโนโรไวรัสนี้ การป้องกันโดยทั่วไปคือ การดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อนี้ได้ เพราะเป็นโรคที่ติดต่อง่ายมาก วิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ คือ

  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 15 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนทำอาหารหรือกินอาหาร (อาจใช้เจลล้างมือที่เรียกว่า Alcohol-based hand sanitizer ได้ แต่แนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่จะดีกว่า)
  • หลีกเลี่ยงน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในน้ำได้นาน
  • ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน
  • ทิ้งเศษอาเจียนและอุจจาระอย่างระมัดระวังโดยใช้ผ้าชุปน้ำหมาดๆซับไม่ให้มีการฟุ้งกระจาย และทิ้งลงในถุงพลาสติก
  • ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ แยกเสื้อผ้าคนป่วยซักต่างหากและต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็วหรือทิ้งให้เหมาะสม
  • เช็ดทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน
  • ผู้ป่วยต้องงดการประกอบอาหาร เพราะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้หลังจากมีอาการเป็นระยะเวลา 3 วัน
  • เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางจนกว่าจะหายเป็นปกติ

เพราะเชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายและปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ จึงควรดูแลเจ้าตัวเล็กอย่างใกล้ชิดในเรื่องของการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ที่สำคัญล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลจากเชื้อโนโรไวรัส

อ้างอิง:โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร