รู้จัก! 'ไวรัส hMPV' ภัยเงียบก่อโรคระบบทางเดินหายใจ ติดต่อง่าย ไม่มียารักษา

รู้จัก! 'ไวรัส hMPV' ภัยเงียบก่อโรคระบบทางเดินหายใจ ติดต่อง่าย ไม่มียารักษา

เมื่ออากาศเย็นมากขึ้น หนาวขึ้น มีฝนตก หลายคนจะเอ็นจอยมีความสุขกับบรรยากาศ แต่หลายคนอีกเช่นกันที่มักจะมีอาการ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ตามมาด้วย

KEY

POINTS

  • ไวรัส hMPV เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม Metapneumovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจในมนุษย์ โดยมีลักษณะคล

เมื่ออากาศเย็นมากขึ้น หนาวขึ้น มีฝนตก หลายคนจะเอ็นจอยมีความสุขกับบรรยากาศ แต่หลายคนอีกเช่นกันที่มักจะมีอาการ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ตามมาด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก และผู้สูงอายุ ที่พ่อแม่ ลูกหลาน คนใกล้ชิดอาจจะมองว่าเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ฝุ่นPM2.5 หรือเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา

แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้  มีการค้นพบไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งกำลังเป็นภัยร้ายคุกคามระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ไวรัสตัวนี้มีชื่อว่า hMPV (human metapneumovirus :ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ มักจะระบาดในช่วงที่มีอากาศเย็น หรือฤดูหนาว

ตอนนี้แม้ยังไม่มีข่าวรายงานผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาดในประเทศไทย แต่ต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้ เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษา ติดต่อง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

HMPV กับโควิด-19 ไวรัสใดร้ายกว่ากัน ทำไมการติดเชื้อในจีนเพิ่มเร็ว

‘ไวรัส hMPV’ เปิดข้อมูลเดือนที่ไทยพบมากสุด

hMPV คืออะไร? และเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ไวรัส hMPV เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม Metapneumovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจในมนุษย์ โดยมีลักษณะคล้ายกับไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัส RSV (respiratory syncytial virus) ไวรัส hMPV ถูกค้นพบครั้งแรกใน ปี ค.ศ. 2000 โดยทีมนักไวรัสวิทยาจาก มหาวิทยาลัย Erasmus เนเธอร์แลนด์ จากการศึกษาตัวอย่างเด็กเล็กที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบอย่างรุนแรง

การเกิดของไวรัส hMPV นั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการของไวรัสในการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ โดยไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอยที่ออกมาจากการไอหรือจามของผู้ที่ติดเชื้อ และเมื่อผู้ที่ไม่มีเชื้อสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสอยู่ อย่างเช่น ของที่มีละอองของสารคัดหลังของผู้ที่มีเชื้อติดอยู่ ก็อาจจะทำให้ติดเชื้อได้

แต่สำหรับการเกิดไวรัสนี้ในธรรมชาติ ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าไวรัสนี้มีแหล่งกำเนิดมาจากไหน แต่ไวรัสเหล่านี้มีการวิวัฒนาการและแพร่กระจายในมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

ความต่างระหว่าง hMPV กับไวรัสชนิดอื่นๆ 

ทุกวันนี้มีการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น ไวรัสที่ติดต่อทางทางเดินหายใจ เช่น hMPV (Human Metapneumovirus), RSV (Respiratory Syncytial Virus), และไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ล้วนเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีลักษณะและอาการคล้ายคลึงกันในบางกรณี แต่ก็มีความแตกต่างที่สำคัญในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ระยะการฟักตัว รวมถึงวิธีรักษา

  • hMPV มักจะพบในผู้ป่วยเด็กเล็กอายุ 6-12 เดือน และมีอาการหนักกว่า
  • RSV จะพบในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนมากกว่า
  • แต่ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสจากทั้งสองชนิดนี้จะมีอาการคล้ายกัน และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เหมือนกัน 

นพ. ชยพล ชีถนอม อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่าหากร่างกายได้รับเชื้อไวรัส HMPV ผ่านทางระบบทางหายใจ เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในเซลล์ทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดการอักเสบทำลายเนื้อเยื่อ เกิดอาการผิดปกติและรุนแรงจนปอดอักเสบได้

ซึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส HMPV เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย ห้ามใช้มือแคะจมูกหรือนำมือเข้าปาก ล้างมือให้บ่อยเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัส

โดยโรคไวรัส HMPV ต่างจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ดังนี้ 

รู้จัก! \'ไวรัส hMPV\' ภัยเงียบก่อโรคระบบทางเดินหายใจ ติดต่อง่าย ไม่มียารักษา

กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังเป็นพิเศษ

นอกจากการระบาดที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กก็ยังมีกลุ่มเสี่ยงอื่นๆที่ควรระวังไวรัส hMPV เป็นพิเศษ อีกเช่นกัน มีดังนี้

  • เด็กเล็ก

โดยเฉพาะทารกและเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของพวกเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หลอดลมอักเสบหรือปอดบวม

  • ผู้สูงอายุ

ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มักมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอและมักมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจหรือโรคปอด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไวรัส hMPV ได้มากขึ้น

  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด, ผู้ติดเชื้อ HIV, หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวทางเดินหายใจ

เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด, โรคปอดเรื้อรัง (COPD) หรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะหายใจลำบากหรือปอดบวมจากไวรัส hMPV

อาการของการติดเชื้อ hMPV

หลังจากที่ได้รับเชื้อประมาณ 3-6 วัน ส่วนใหญ่อาการแรกเริ่มของผู้ที่ติดเชื้ออาจจะคล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ COVID-19 หรือ RSV

  • มีไข้ ในช่วง 1-2 วันแรก อาจจะมีไข้ต่ำถึงปานกลาง
  • ไอ อาจจะเริ่มจากการไอแห้ง และเปลี่ยนไปเป็นไอมีเสมหะ
  • น้ำมูกไหล น้ำมูกอาจเริ่มไหลออกมามากในช่วงแรกและสามารถทำให้มีอาการคัดจมูกได้
  • เจ็บคอ อาจมีอาการคอแห้งหรือเจ็บคอร่วมกับอาการไอ
  • ปวดเมื่อยตัว บางคนอาจรู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกายหรือเหนื่อยล้า
  • หายใจลำบาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจมีอาการหายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย
  • ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย แม้จะทำกิจกรรมเล็กน้อย

อย่างไรก็ตามไวรัส hMPV จะรุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาการมักคล้ายกับ RSV และไข้หวัดใหญ่ และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

สังเกตอาการในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

  • เด็กเล็ก

สังเกตไข้สูง(มากกว่า 38°C ขึ้นไป) ไอรุนแรง หายใจลำบาก น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร และซึมผิดปกติ หากมีอาการตัวเขียวหรือหายใจติดขัด ควรรีบพบแพทย์ทันที

  • ผู้สูงอายุ

ระวังอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก ไข้ต่ำหรือสูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และสับสน หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอกหรือหายใจติดขัด ควรรีบพบแพทย์เช่นกัน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค

เนื่องจากไวรัส hMPV เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่ม Pneumoviridae ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจามและการสัมผัส

อีกสาเหตุหลักที่สำคัญนั่นก็คือ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่กระจายเชื้อ hMPV คือสถานที่แออัด อากาศเย็น มลภาวะสูง และสุขอนามัยที่ไม่ดี การดูแลสุขอนามัยและหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดจึงสำคัญในการลดความเสี่ยง

ระวัง!ผลกระทบต่อสุขภาพ

ไวรัส hMPV เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อย่างพวกไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ และอ่อนเพลีย ในคนทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว

อาการอาจหนักขึ้นได้ถึงขั้นหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือหายใจลำบาก ยิ่งถ้ามีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษามะเร็ง ก็ยิ่งต้องระวัง เพราะเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนอย่างรุนแรงได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ตามที่ข้อมูลด้านบนเนื่องจากอาการคล้ายกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ดังนั้นการวินิจฉัยไวรัส hMPV จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเฉพาะ แพทย์อาจใช้วิธีการต่อไปนี้

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย: ประเมินอาการเบื้องต้น เช่น ไข้ ไอ หายใจลำบาก
  • ตรวจหาเชื้อจากสารคัดหลั่ง: เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกหรือลำคอเพื่อทดสอบเชื้อไวรัสด้วยวิธี RT-PCR (Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction) ซึ่งมีความแม่นยำสูง โดยการเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งในจมูกหรือคอ (เช่น สวอปจากจมูกหรือคอ)
  • การตรวจเลือด การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัส hMPV สามารถช่วยในการตรวจสอบการติดเชื้อในระยะยาว หรือการติดเชื้อในอดีต แต่ไม่ใช่วิธีที่ใช้ในการวินิจฉัยในระยะเฉียบพลันหรือระยะแรก
  • เอกซเรย์ปอด (ในบางกรณี): ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อตรวจสอบว่ามีภาวะปอดบวมหรือไม่

การรักษาตามอาการ

ส่วนใหญ่จะเน้นที่การบรรเทาอาการ โดยในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลที่บ้านได้ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และใช้ยาลดไข้

แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น หายใจลำบากหรือปอดบวม ควรไปพบแพทย์ทันที ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งอาจรวมถึงการให้ออกซิเจน การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และการรักษาภาวะแทรกซ้อน การรักษาในกรณีนี้จะเน้นการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

วิธีป้องกันการติดเชื้อในชีวิตประจำวัน

การป้องกันการติดเชื้อ hMPV ในชีวิตประจำวันสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น

  • ล้างมือบ่อย ๆ ใช้เจลล้างมือ
  • แยกของใช้ส่วนตัว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้าตา
  • การใส่หน้ากากอนามัย
  • การรักษาระยะห่างจากผู้ป่วยหรือคนที่มีอาการทางเดินหายใจ

จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ hMPV ในปัจจุบัน

เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์ของจีนได้มีการแชร์ภาพที่มีผู้คนจำนวนมากกลับมาสวมหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลและต่อแถวยาวเหยียด จึงทำให้คนในโซเชียลเชื่อกันว่ากำลังมีการระบาดของไวรัสชนิดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์การระบาดของ โควิด-19 เมื่อ 5 ปีก่อน

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของจีนรายงานโดยไม่เปิดเผยตัวเลขเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ถึงแนวโน้มของการระบาดโดยรวมเพิ่มขึ้นในช่วง 23-29 ธ.ค 67 สอดรับกับตัวเลขระหว่างวันที่ 16-23 ธ.ค. และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเผยกับซีเอ็นเอว่า การติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นในจีน “สอดคล้องกับรูปแบบทั่วโลก” ที่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นช่วงปลายฤดูหนาว (กรุงเทพธุรกิจ)

วันที่ 6 มกราคม 2568 สำนักข่าว Independent ได้รายงานว่าประเทศจีนกำลังรับมือกับการระบาดของไวรัส hMPV โดยมีข้อมูลจากโซเชียลระบุว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเด็ก เกิดความแออัดเนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากมาจากโรคปอดบวมและติดเชื้อในปอด นอกจากนี้ยังมีการกล่าวว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสหลายๆชนิดพร้อมกันอีกด้วย เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ COVID-19 อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีข่าวลือว่า จีนได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ (THAI PBS)

เฝ้าระวังและควบคุมโรคของหน่วยงานสาธารณสุขในไทย

แม้ว่าจะมีรายงานการระบาดของไวรัส hMPV ในหลายประเทศ โดยในประเทศไทยนั้น  ขณะนี้ยังไม่มีรายงานกลุ่มก้อนการระบาดของไวรัสเอชเอ็มพีวี(hMPV) จุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ หรือ IHR NFP ได้ประสานไปยังจีน และองค์การอนามัยโลก(WHO)เพื่อขอแบ่งปันข้อมูลแล้ว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังโรคระบบทางเดินหายใจที่มีความเข้มงวดในสามชั้น ได้แก่ ช่องทางเข้าประเทศ โรงพยาบาล และในชุมชน อีกทั้งยังมีการสุ่มตรวจได้มีมีการสุ่มตรวจเชื้อในโรงพยาบาลที่กำหนด โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการระบาดที่เกิดขึ้น และโรงพยาบาลทุกระดับมีศักยภาพและความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย แต่ยังคงต้องระมัดระวังและแจ้งเตือนเครือข่ายให้เฝ้าระวังเพื่อป้องกันการระบาดในอนาคต “ไวรัส hMPV ที่ระบาดในประเทศจีน เป็นไวรัสที่เกิดขึ้นตามปกติของฤดูกาลในแต่ละปี ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นไม่สามารถรักษาได้  

ในการป้องกันโรค ทำได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเจ็บป่วย ไอ และการหลีกเลี่ยงการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอหรือจาม

  อ้างอิง: medicallinelab ,โรงพยาบาลกรุงเทพ