ห้ามกินอะไร? เมื่อเป็น 'เนื้องอกมดลูก' ความเสี่ยงทำให้อาการป่วยแย่ลง

ห้ามกินอะไร? เมื่อเป็น 'เนื้องอกมดลูก' ความเสี่ยงทำให้อาการป่วยแย่ลง

'เนื้องอกมดลูก' ถือว่าเป็นเนื้องอกที่พบได้เยอะที่สุดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ มีตัวเลขสถิติ ถ้าหญิงวัยเจริญพันธุ์คือเริ่มมีประจำเดือน

KEY

POINTS

  • เนื้

เนื้องอกมดลูก ถือว่าเป็นเนื้องอกที่พบได้เยอะที่สุดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ มีตัวเลขสถิติ ถ้าหญิงวัยเจริญพันธุ์คือเริ่มมีประจำเดือน หรือถ้าอายุ 25-30 ปีมาตรวจ จะเจอเนื้องอกในมดลูกประมาณ 30-50% ถ้าผู้หญิง 10 คนมาอัลตราซาวนด์ จะเจอ 3 คน 5 คน เป็นเรื่องปกติ

ขนาดของเนื้องอกก็มีหลากหลายในแต่ละราย ตั้งแต่เล็ก ๆ ระดับมิลลิเมตรคือไม่ถึงเซนติเมตร ไปจนถึงเป็นสิบ ๆ เซนติเมตร เท่ากับลูกมะพร้าว หรือลูกแตงโมก็แล้วแต่สรีระของแต่ละบุคคล

ส่วนใหญ่ประมาณ 99% ไม่ใช่เนื้อมะเร็ง ก็คือเป็นเนื้องอกที่เป็นเนื้อดี จะไม่ใช่โรคมะเร็ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนใหญ่เราจะอัลตราซาวนด์ตรวจเจอว่าเป็นเนื้องอกมดลูก แต่ว่ามันก็มีโอกาสที่จะกลายมาเป็นมะเร็ง แต่ว่าไม่เยอะ ประมาณสัก 1 ใน 10,000 หรือ 1 ใน 100,000

ส่วนใหญ่ที่เจอคืออายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป วัยเจริญพันธุ์พอดี คือ 25-30 ปี และประมาณสัก 30-40 ปี ก็พบเยอะ พอ 40 ปีขึ้นไป โดยแนวโน้มหลังหมดประจำเดือนหรือว่าวัยทองไปแล้ว ตัวก้อนมักจะเล็กลงเอง และโดยธรรมชาติอายุเยอะขึ้นก็จะเป็นน้อยลง

ทั้งนี้ 80% ของผู้หญิง มักจะเป็นเนื้องอกก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และมีโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูกได้ ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ไปรบกวนสุขภาพและชีวิตประจำวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คุณโสดแบบไหน? คนไทยวัยเจริญพันธุ์เป็นโสดพุ่ง 40.5% แต่บางส่วนยังรอความรัก

ส่องสภาพ "ครอบครัวไทย" ทำไม เด็กเกิดใหม่น้อย ?

เนื้องอกมดลูก คืออะไร?

พญ. อสมา วาณิชตันติกุล  สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชและมะเร็งวิทยานรีเวช โรงพยาบาลเมดพาร์ค  กล่าวว่า เนื้องอกมดลูก (Fibroids) คือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติในมดลูก เรียกอีกอย่างว่าเนื้องอกในมดลูก Myomas และ Leiomyomas

แม้โดยปกติ เนื้องอกมดลูก จะไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและปัญหาสุขภาพได้ และเมื่อมีเนื้องอกก่อตัวขึ้นภายในและรอบ ๆ ผนังมดลูก ซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่น ๆ เนื้องอกนั้นก็อาจมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดพืช หรือมีขนาดใหญ่กว่าลูกเทนนิสเลยทีเดียว

ในปัจจุบัน แพทย์ไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของเนื้องอก แต่การปล่อยให้มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น รวมไปถึงการที่ร่างกายมีสารบางชนิดต่ำเกินไปด้วย

ขณะที่ พญ.อรวิน วัลลิภากร สาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าสาเหตุที่ทำให้เกิด เนื้องอกในมดลูก

ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเรื่องกรรมพันธุ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคใด ๆ และเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิง อย่างที่ทราบกันคือ ตัวเนื้องอกนี้มักจะเจอในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์คือ มีประจำเดือนไปสัก 3 ปี 5 ปี 10 ปี แล้วเริ่มตรวจเจอว่ามีเนื้องอกมดลูก จริง ๆ มันก็คือเหมือนเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกของเรา เซลล์มดลูกเราปกติที่มีการตอบสนองต่อฮอร์โมน แล้วก็เจริญเติบโตผิดปกติกลายเป็นเนื้องอก

เช็กอาการ เนื้องอกในมดลูก

เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่จะมาด้วย 3 อาการหลัก ๆ

1. อาการแรกที่เจอเยอะที่สุดคือ คนไข้จะคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย

ซึ่งถ้าเกิดผู้หญิงเราคลำก้อนที่ท้องน้อยได้ ส่วนมากจะเป็นเนื้องอกมดลูก สังเกตดูจากคนท้อง กว่าจะเห็นว่าตั้งครรภ์ก็ประมาณ 4-5 เดือนไปแล้ว เช่นเดียวกัน เนื้องอกมดลูกนี้ก็ต้องทำให้มดลูกมีขนาดโตเท่ากับคนท้อง 4-5 เดือนแล้ว ซึ่งประมาณสัก 15 เซนติเมตรขึ้นไปถึงจะคลำเองได้จากหน้าท้อง

2. อาการที่พบบ่อยที่ทำให้คนไข้ต้องมาพบคุณหมอสูตินรีเวช คือมีประจำเดือนออกเยอะ

เพราะตัวเนื้องอกไปเบียดโพรงมดลูก ทำให้ประจำเดือนออกเยอะ แล้วบางทีออกเยอะมากเป็นลิ่มเลือดเป็นก้อนเลือด บางคนให้ประวัติว่า เป็นประจำเดือนแล้วเป็นลม แล้วก็ต้องไปรับเลือดที่โรงพยาบาลทุกครั้งที่เป็นประจำเดือน อันนี้จะมีบ้างประปราย

3. อาการที่สามมักจะเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยาก

จะตรวจพบเมื่อคนไข้ไปตรวจกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก พออัลตราซาวนด์ถึงจะเจอ อันนี้มักจะเป็นลักษณะก้อนเล็ก ๆ ไม่บ่งอาการอะไร บางทีอาจจะมีก้อนแค่ 1-2 เซนติเมตรอยู่ในโพรงมดลูก ไปขวางการฝังตัวของทารกทำให้มีบุตรยาก

อาการรุนแรงที่ต้องเฝ้าระวัง

บางคนมีเลือกออกเยอะ ก็มีอาการโลหิตจางได้ หรือบางคนที่ลักษณะก้อนมันยื่นออกไปข้างนอก หมายถึงไม่ได้ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก ก็จะทำให้ไม่มีประจำเดือนออกเยอะ แต่มันจะยื่นเข้าไปในอุ้งเชิงกรานหรือว่าในท้องน้อยของเรา อันนี้ก็จะไปกดเบียดลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ที่เจอบ่อยก็คือ มันเบียดมาข้างหน้า ก็จะกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คนไข้ปัสสาวะบ่อย คนไข้อาจจะเข้าห้องน้ำทุกชั่วโมง นอนหลับไปแล้วก็ต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำทุก 2-3 ชั่วโมง นอนไม่เต็มอิ่ม อันนี้ก็จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตคนไข้

เนื้องอกมดลูก ห้ามกินอะไร เพิ่มความเสี่ยงทำให้อาการแย่ลง

อาหารที่ลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกมดลูก

มีงานวิจัยบางชิ้น แสดงให้เห็นว่า อาหารบางชนิด สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกมดลูก หรือช่วยให้อาการต่าง ๆ เบาลง เช่น ความเจ็บปวด และการตกเลือด

แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการรับประทานอาหารชนิดใดเพียงชนิดหนึ่งแล้วจะช่วยป้องกันหรือรักษาเนื้องอกมดลูก เพียงแต่อาจช่วยลดความเสี่ยงหรือช่วยให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการกินอาหารบางชนิดอย่างเหมาะสม อาหารเหล่านั้นได้แก่

1. ผักผลไม้

  • การกินผักผลไม้เยอะ ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคและความเจ็บป่วยได้หลายประการ อาทิ โรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิด และยังพบว่าช่วยลดความเสี่ยงเนื้องอกมดลูกอีกด้วย และแม้ผักผลไม้ทุกชนิด จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมอยู่แล้ว แต่ก็มีบางชนิด ที่สามารถช่วยต้านเนื้องอกมดลูกได้ เช่น แอปเปิล บรอกโคลี ผักกาด ผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว เกรปฟรุ้ต มะเขือเทศ
  • ผักผลไม้นั้นมีใยอาหารสูง ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถขับเอสโตรเจนส่วนเกินผ่านอุจจาระ จึงลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดเนื้องอกมดลูกได้
  • ช่วยให้ BMI ต่ำ เพราะเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ หากกินผักผลไม้แทนการกินอาหารพลังงานสูง ๆ ก็จะช่วยลด BMI หรือดัชนีมวลกายให้ต่ำ เพราะหากปล่อยให้มีค่า BMI สูง ก็จะเพิ่มระดับเอสโตรเจนในร่างกาย ที่เพิ่มความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก
  • สารอาหารสูง เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ และแอนติออกซิแดนต์ที่จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้

2. ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ

  • บางงานวิจัยระบุว่า ในผลิตภัณฑ์จากนมที่อุดมไปด้วยแคลเซียม อาจลดความเสี่ยงต่อเนื้องอกมดลูก แต่ถึงอย่างไรก็แนะนำแบบไขมันต่ำ และมีโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต ที่มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี
  • การกินอาหารประเภทนี้ในปริมาณที่พอเหมาะ อาจไม่การันตีว่าจะช่วยให้ไม่มีเนื้องอกมดลูก แต่ก็มีประโยชน์และมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงได้บ้าง หากแพ้แลคโตส สามารถกินแคลเซียมจากโยเกิร์ต นมจากพืช ที่มีแคลเซียมและโพรไบโอติกส์อยู่ อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจสอบจากข้อมูลโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ได้

3. อาหารอุดมวิตามินดี

  • วิตามินดีมีความสำคัญต่อกระดูก ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท มีบางงานวิจัยแนะนำให้กินวิตามินดีให้เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก สำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาเทราต์ ปลาแซลมอน รวมไปถึงพืช เช่น อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต
  • การขาดวิตามินดีพบได้บ่อย เนื่องจากเป็นวิตามินที่พบในอาหารที่กินในชีวิตประจำวันค่อนข้างน้อย หากมีภาวะขาดวิตามินดี แพทย์อาจแนะนำให้กินในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

อาหารเพิ่มความเสี่ยง เนื้องอกมดลูก ทำให้อาการแย่ลง

ในขณะที่อาหารบางชนิดช่วยลดความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก แต่ในอาหารบางชนิดอาจให้ผลกลับกัน และควรลดหรือหลีกเลี่ยง ได้แก่

1. เนื้อแดง เนื้อแปรรูป

  • อย่างที่รู้กันว่าเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคและภาวะต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งก็รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงเนื้องอกมดลูกด้วย ซึ่งตรงนี้ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม และในบางการศึกษา พบว่า ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกมดลูก มีรายงานว่า บริโภคเนื้อแดง และเนื้อแปรรูปมากกว่าในคนที่ไม่ได้มีเนื้องอกมดลูก ซึ่งในตอนนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่ดี มลพิษ หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ของพวกเขาด้วยหรือไม่
  • อย่างไรก็ดี แม้จะไม่จำเป็นต้องตัดเนื้อแดงออกจากรายการอาหาร แต่การจำกัดปริมาณให้ลดลง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หากเป็นโรคหัวใจ หรือโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็ควรบริโภคไขมันอิ่มตัวให้น้อยลง

2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม และมีความเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มความเสี่ยงเนื้องอกมดลูกด้วย จากบางงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะไปทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจทำให้เกิดเนื้องอกมดลูกได้
  • ดังนั้น การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มในปริมาณที่เหมาะสม คือ 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย และ 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้

3. น้ำตาล

  • อาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว อาจทำให้อาการเนื้องอกมดลูกแย่ลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น ร่างกายสร้างอินซูลินมากเกินไป ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและมีผลต่อการเติบโตของเนื้องอก จึงควรรับประทานแต่น้อย

อย่างไรก็ดี เมื่อมีเนื้องอกมดลูก ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์เจ้าของไข้อย่างใกล้ชิด ทั้งการดูแลตัวเอง อาหารการรับประทานยา เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูก

  1. กรณีที่พบก้อนเนื้อขนาด 0.5-2 เซนติเมตร ไม่ได้มีอาการอะไร รักษาโดยการเฝ้าสังเกตอาการและนัดตรวจติดตาม อัลตราซาวนด์ทุก 6 เดือนหรือทุก 1 ปี
  2. การใช้ยาในการรักษา โดยเป็นยาคุมกำเนิดเพื่อลดอาการ ประจำเดือนที่เคยออกเยอะแต่ถ้าเนื้องอกเป็นไม่เยอะมาก การกินยาคุมกำเนิดจะทำให้ปริมาณประจำเดือนออกน้อยลงได้ และมียาฉีดบางตัวเป็นฮอร์โมนที่กดการทำงานของฮอร์โมนเพศ ทำให้ไม่มีฮอร์โมนเพศในตัวเลย ก็จะเป็นวัยทอง อันนี้ก็จะมีผลทำให้ก้อนยุบลงและไม่มีประจำเดือน
  3. การใช้ยาอีกประเภทที่เพิ่งออกมาใหม่คือ เป็นยาที่ผ่าน อย. และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ USFDA ให้การรับรองแล้วว่าสามารถกินเพื่อรักษาอาการของเนื้องอกในมดลูกได้
  4. ถ้ากินยาแล้วไม่ได้ผล หรือว่าอาการยังเป็นเยอะอยู่ เราก็ต้องไปผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมี 2 แบบ คือแบบเก็บมดลูกไว้ คือเอาเฉพาะเนื้องอกออก กับแบบผ่าตัดเอามดลูกออกไป ซึ่งวิธีการผ่าตัดก็แล้วแต่ ก็มีทั้งเปิดหน้าท้อง ส่องกล้อง หรืออาจจะผ่าตัดทางช่องคลอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอที่ให้การดูแลรักษา

การป้องกันไม่ให้เกิด เนื้องอกในมดลูก

ถ้าตรวจเจอแต่เนิ่น ๆ ถ้ามันเล็ก ๆ ก็จะรักษาง่ายกว่า อาจจะรักษาด้วยยาหรือสังเกตอาการ วิธีป้องกัน ยังไม่มีวิธีที่ชัดเจน แต่มีรายงานว่า คนไข้ที่มีลูกแล้วจะทำให้พบอุบัติการณ์การเกิดเนื้องอกในมดลูกน้อยกว่าผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีลูก

มีรายงานว่าการรับประทานเนื้อแดงสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกในมดลูก แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้ให้งดขนาดนั้น คือรายงานมาจากการไปสอบถามคนที่เป็น แล้วเจอว่าคนที่เป็นเนื้องอกมดลูกจะมีการรับประทานเนื้อแดงมากกว่า แต่ถามว่ามันเป็นสาเหตุหรือเปล่า ก็อาจจะยังไม่ใช่

คำแนะนำ

แนะนำให้หญิงไทยเข้ามาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หมอสูตินรีเวชจะมีการตรวจภายใน ก็คือ การคลำมดลูกรังไข่ด้วย ถ้ามดลูกโตเท่ากับคนท้องสัก 2 เดือน ก็จะเจอแล้ว สักประมาณ 4-5 เซนติเมตร เราก็จะคลำได้

เพราะฉะนั้น แนะนำให้เข้ามาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมกับการตรวจภายใน ถ้าคุณหมอสงสัยจริง ๆ ก็จะมีการอัลตราซาวนด์ร่วมด้วย

สำหรับคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เราก็หลีกเลี่ยงไม่ตรวจภายในได้ การตรวจอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้องก็เห็นเนื้องอก 2-3 เซนติเมตรได้

อ้างอิง: โรงพยาบาลเมดพาร์ค , พบหมอรามาฯ