หญิงไทย 17 ล้านคนเผชิญโรค เช็ก! 'สุขภาพผู้หญิง' ก่อนเกิดโรคร้าย

หญิงไทย 17 ล้านคนเผชิญโรค เช็ก! 'สุขภาพผู้หญิง' ก่อนเกิดโรคร้าย

“สุขภาพผู้หญิง” คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีประชากรผู้หญิงมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด

KEY

POINTS

  • ผู้หญิงไทยมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าผู้ชาย โดยมีจำนวน 17 ล้านคน เทียบกับผู้ชายจำนวน 11 ล้านคน
  • ปัญหาสุขภาพผู้หญิงสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย การให้ความรู้และรณรงค์อย่างต่อเนื่องจะช่วยสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ จะป้องกันก่อนเกิดโรคร้าย
  • สุขภาพผู้หญิงในแต่ละช่วงวัยนั้นจะแตกต่างกันออกไป หากไม่เข้าใจหรือไ

สุขภาพผู้หญิง” คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีประชากรผู้หญิงมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด การส่งเสริมสุขภาพผู้หญิง จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจ “8 มีนาคมของทุกปี วันสตรีสากล (International Women’s Day)” เป็นวันที่ทั่วโลกตระหนักถึงบทบาทสำคัญของผู้หญิงในการขับเคลื่อนสังคม ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

ข้อมูลจากบริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าตลาดสุขภาพสตรีทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างมาก คาดว่าจะเติบโตประมาณ 66 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2033  โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุดของสุขภาพผู้หญิงจะเกี่ยวกับโรคทางนรีเวช ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต มาจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

สำหรับสุขภาพสตรีที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ อนามัยการเจริญพันธุ์  สุขภาพของมารดา  สุขภาพของเต้านม สุขภาพวัยหมดประจำเดือน  และสุขภาพทางเพศ ขณะที่ตลาดยาคุมกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า มูลค่าตลาดประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาด 50%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"dBreast" แอปพลิเคชั่นผู้ช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วย-ทำงานวิจัยมะเร็งเต้านม

อย่ามองข้าม! 'โรคใกล้ตัว' ผู้หญิงยุคใหม่ ตรวจสุขภาพก่อนสาย

หญิงไทยเจ็บป่วยสูงกว่าผู้ชาย

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2566  พบว่าผู้หญิงไทยมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าผู้ชาย โดยมีจำนวน 17 ล้านคน เทียบกับผู้ชายจำนวน 11 ล้านคน โดยภาวะโรคของสตรีที่พบในสัดส่วนสูง ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก และอาการป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทารกในครรภ์และถุงน้ำคร่ำ

“มร.โยชิฮิโร ทาคาดะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โอลิค มุ่งมั่นเป็นพันธมิตรด้านสุขภาพของผู้หญิง ด้วยประสบการณ์ 40 ปีในฐานะผู้นำการผลิตยาครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เข้าใจความท้าทายด้านสุขภาพที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ซึ่งการแก้ปัญหาสุขภาพผู้หญิงต้องเริ่มจากการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง จึงร่วมมือกับพันธมิตรสร้างเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพผู้หญิง โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงมีความรู้ในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม สามารถก้าวข้ามความท้าทายด้านสุขภาพได้อย่างมั่นใจ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

“จากรายงาน Global Women's Healthcare Market โดย Research and Market.com  ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงทั่วโลกมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสุขภาพเฉพาะด้านมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพการเจริญพันธุ์ สุขภาพมารดาและทารก สุขภาพเต้านม การจัดการภาวะวัยหมดประจำเดือน และสุขภาพทางเพศ  ปัญหาสุขภาพเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย การจัดกิจกรรมให้ความรู้และรณรงค์อย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันก่อนเกิดโรคร้าย”มร.โยชิฮิโร กล่าว

หญิงไทย 17 ล้านคนเผชิญโรค เช็ก! \'สุขภาพผู้หญิง\' ก่อนเกิดโรคร้าย

แก้ปัญหาความเชื่อสุขภาพผู้หญิงผิดๆ  

“ศ.เกียรติคุณ พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์” ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการมะเร็งในสตรีของสมาพันธ์สูตินรีเวชนานาชาติ กล่าวว่าปัญหาสุขภาพของผู้หญิงไทยเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพื่อร่วมกันหาแนวทางสร้างเสริมสุขภาพของผู้หญิงไทยให้ดีขึ้น

"ภาพรวมปัญหาสุขภาพของผู้หญิงไทยมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับแนวโน้มทั่วโลก แต่ก็มีปัจจัยเฉพาะที่ทำให้แตกต่างออกไป เช่น โรคที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยอย่างมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม รวมถึงภาวะอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับภาระหน้าที่ในครอบครัวและสังคม"

ทั้งนี้ ความเชื่อของหญิงไทยเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงนั้นมีจำนวนมาก  อาทิ เชื่อว่าเด็กผู้หญิงที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะไม่เป็นโรคเนื้องอก หรือ โรคทางรังไข่ มองว่าการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติทั้งที่หากปวดมากๆอาจจะเป็นโรคร้ายแรงได้ หรือ การที่ประจำเดือนมาปริมาณมาก มีสีแดงสดมองว่าสุขภาพดี แต่ในความเป็นจริงอาจจะแสดงโรคบางอย่างได้ หรือการรับประทานคุมกำเนิด กินนานๆ แล้วจะทำให้มีลูกยากซึ่งไม่จริง เป็นต้น

“สิ่งที่สำคัญที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อป้องกัน ดูแล เกี่ยวกับสุขภาพสตรี คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจ และการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมทั้งในพื้นที่ชนบทหรือในเมือง รวมถึงต้องมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขจัดความเข้าใจผิด และการกระตุ้นให้ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้”

หญิงไทย 17 ล้านคนเผชิญโรค เช็ก! \'สุขภาพผู้หญิง\' ก่อนเกิดโรคร้าย

ให้คำแนะนำที่เหมาะสมตามช่วงวัย

“เภสัชกรกฤติน บัณฑิตานุกูล” อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนคนที่ 2 สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)  และอาจารย์ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสุขภาพผู้หญิงในแต่ละช่วงวัยนั้นจะแตกต่างกันออกไป เช่น ผู้หญิงวัย 30-50 ปี มักเผชิญปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนหรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือปัญหาทางเดินปัสสาวะ แต่ส่วนใหญ่ยังเข้าปรึกษาเภสัชกรค่อนข้างน้อย การปรึกษามักเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาคุมกำเนิด การรักษาปัญหาประจำเดือน หรือการดูแลกระดูกและข้อในช่วงวัยหมดประจำเดือน

“เภสัชกรมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยในระยะยาว เช่น การเลือกยาคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนธรรมชาติ ซึ่งมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น   ที่สำคัญการให้คำแนะนำต้องเหมาะสมตามช่วงวัยและไลฟ์สไตล์ของผู้หญิง รวมถึงเภสัชกรควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและไว้วางใจได้ เพื่อให้ผู้หญิงกล้าเปิดเผยปัญหาสุขภาพและมั่นใจในการติดตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง” 

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์  กล่าวว่าในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลสุขภาพผู้หญิงถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย การเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือขาดงานวิจัย ซึ่งอาจกระทบการตัดสินใจในการรักษา การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องจึงสำคัญ โดยใช้ช่องทางหลายรูปแบบ เช่น สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย วิทยุ และโทรทัศน์ ข้อมูลควรนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย รวมถึงการร่วมมือกับ Influencers ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น

หญิงไทย 17 ล้านคนเผชิญโรค เช็ก! \'สุขภาพผู้หญิง\' ก่อนเกิดโรคร้าย

“Be with HER” เสริมพลังดูแลสุขภาพผู้หญิง

เภสัชกร ปัณณวิชญ์ จิตเมธีพงษ์ ผู้อำนวยการหน่วยธุรกิจยาและเวชภัณฑ์  บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากเทรนด์ความท้าทายด้านสุขภาพผู้หญิงที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ทำให้เห็นว่าการดูแลสุขภาพผู้หญิงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในโอกาสวันสตรีสากลนี้ โอลิคจึงร่วมมือกับพันธมิตรด้านสุขภาพ จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘การส่งเสริมสุขภาพผู้หญิง’ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จากผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้หญิงตัดสินใจใช้ยาได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับเดินหน้าโครงการ Be with HER ที่ทางโอลิค ได้ริเริ่มขึ้น เพื่อเสริมพลังการดูแลสุขภาพผู้หญิง

“Be with HER - Empowering Her Health Decisions เป็นโครงการที่สร้างสรรค์ขึ้น ภายใต้แนวคิดหลัก 4 ประการ ได้แก่ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพ การส่งเสริมการดูแลตนเองเชิงป้องกัน การสนับสนุนการตัดสินใจด้านสุขภาพอย่างมั่นใจ และการสร้างเครือข่ายสนับสนุน โดยครอบคลุมกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการให้ความรู้ผ่านสื่อดิจิทัล การจัดกิจกรรมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และการสร้างชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสุขภาพ โดยร่วมมือกับพันธมิตรด้านสุขภาพผู้หญิง เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกวัยสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ”เภสัชกร ปัณณวิชญ์ กล่าว

หญิงไทย 17 ล้านคนเผชิญโรค เช็ก! \'สุขภาพผู้หญิง\' ก่อนเกิดโรคร้าย