จับคู่ 'อาชีพ-ทุน-โอกาส' วัยเก๋าดิจิทัล เข้าถึงได้ทุกที่

กองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 13 เพื่อเป็นทุนใช้จ่าย เกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนผู้สูงอายุ
KEY
POINTS
- การพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุในระยะยาว ให้พึ่
กองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 13 เพื่อเป็นทุนใช้จ่าย เกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพ มีความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีรวมถึงการสนับสนุนกิจกรรม ของกลุ่มองค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริม และ พัฒนาให้ผู้สูงอายุมีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันกองทุนผู้สูงอายุให้บริการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ 2 รูปแบบทั้งรายบุคคล วงเงินไม่เกินคนละ 30,000 บาทรายกลุ่มจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทผ่อนชำระคืนภายใน 3 ปี ไม่มีดอกเบี้ยและสนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการการสำหรับชมรม องค์กรของผู้สูงอายุ องค์กรภาคเอกชนเพื่อการประกอบอาชีพ
ตั้งแต่ปี 2550 - ปัจจุบันให้บริการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพจำนวน 116,453 รายทั่วประเทศ รวมวงเงินกว่า 3,178 ล้านบาทสนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการ 2,800 โครงการทั่วประเทศ รวมวงเงินเกือบ 3,00 ล้านบาท และจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 5 ล้านคน วงเงินกว่า 4,478 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ระบบ Matching จ้างงานผู้สูงอายุ ทำงานตำแหน่งอะไรได้บ้าง
'ยังแฮปปี้'คอมมูนิตี้สูงวัย เสิร์ฟอาชีพ ความสุข สนุกแก่วัยเก๋า
ส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ เลี้ยงดูตัวเองได้
“เป้าหมายสำคัญของกองทุนคือการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุและการเลี้ยงตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีเป็นแหล่งทุนใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ ให้ผู้สูงอายุมีรายได้สำหรับการดำรงชีวิต มีความมั่นคงในอาชีพเพิ่มขึ้น รวมถึงลดภาวะพึ่งพิงครอบครัวและสามารถหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น” “จารุวรรณ ศรีภักดี” ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กล่าวกับ“กรุงเทพธุรกิจ”
“ตัวอย่างความสำเร็จของผู้กู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ ป้าสุนีย์ แซ่ตั้ง อายุ 81 ปี ภูมิลำเนาอยู่ กรุงเทพฯอาชีพค้าขายลูกชิ้นทอดวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ 30,000 บาท โดยกู้ 2 ครั้ง ป้าสุนีย์ ได้นำเงินไปซื้ออุปกรณ์ใหม่เพื่อใช้กับอาชีพที่ทำอยู่เดิม เช่น กระทะ อุปกรณ์การทำลูกชิ้น และยังได้ต่อยอดอาชีพในการเพิ่มสินค้ามาขายในร้าน”
ป้าสุนีย์ บอกว่า เงินจากกองทุนผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือทำให้ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบพึ่งพาตนเองได้เท่ากำลังที่มีและรู้สึกว่าตนเองสามารถประกอบอาชีพได้อีกนานจากแหล่งเงินทุน
ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนผู้สูงอายุ อธิบายว่าการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุในระยะยาว ให้พึ่งตนเอง พึ่งกันเองได้มากขึ้นนั้น สามารถบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างสัมมาชีพแก่ผู้สูงอายุ ลดความเหลื่อมล้ำปัจจัยสี่ ช่วยให้ผู้สูงอายุให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ทั่วทั้งประเทศ
ให้กำลังใจ ชี้ทางต่อยอด สร้างโอกาส
ผู้สูงอายุจะได้ประโยชน์ทั้งด้านกายที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ได้พบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันทำให้รู้สึกมีคุณค่าในตนเองผ่อนคลายไม่เครียดไม่เหงา มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมโดยการนำความรู้ความสามารถทักษะประสบการณ์มาถ่ายทอดภูมิปัญญาที่มีคุณค่าต่อสังคม สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพสร้างรายได้
“หลังได้รับทุนกองทุนฯ ไม่ปล่อยมือ เรามีระบบติดตามรายไตรมาส ทั้งด้านการเงิน และการเติบโตของอาชีพเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลงพื้นที่จริง เพื่อไม่ใช่แค่ประเมินผล แต่เพื่อ “ให้กำลังใจ” และ “ชี้ทางต่อยอด” สร้างโอกาสการตลาดและเครือข่าย Market Linkage :โครงการที่ดีจะถูกสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ มีแบรนด์ของตนเอง และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับจังหวัดและชาติอย่าง “กลุ่มดอกไม้จันทน์วังยาง” หรือ “กลุ่มสมุนไพรหาดทรายรี” เริ่มมีแผนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน”
เสริมความพร้อมก่อนให้ทุนผู้สูงอายุ
ทั้งนี้กองทุนมีกระบวนการติดตามและประเมินผลสำเร็จของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเพื่อให้มั่นใจว่าเกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุอย่างแท้จริงทั้งติดตามในเชิงลึก ลงพื้นที่จริง ประเมินผลเป็นรายโครงการแบบมีมาตรฐานระดับนโยบาย และถอดบทเรียน ขณะเดียวกันกองทุนมีการเสริมความพร้อม Pre-Funding ก่อนให้ทุนผู้สูงอายุให้คำปรึกษารายบุคคลในการเขียนแผนอาชีพ ประเมินความเสี่ยง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องมีทีมงานระดับพื้นที่ที่คอยให้คำแนะนำ ทั้งเรื่องบัญชี การค้ำประกัน การตั้งกลุ่ม และการเลือกอาชีพที่เหมาะกับศักยภาพ
นอกจากนี้ยังมีการเสริมทักษะเชิงรุกและทันสมัย Capacity Building จัดอบรมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่อง เช่นแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์การทำคอนเทนต์ขายของการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง Post-Funding ติดตามและช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องกองทุนยังเปลี่ยนวิธีคิดจากการรอให้ประชาชนมายื่นเรื่อง เป็นการเดินหน้าเข้าไปในพื้นที่ โดยใช้กลไก ชมรมผู้สูงอายุ, อสม., เจ้าหน้าที่จากกองทุนลงพื้นที่จริง คอยให้คำแนะนำถึงขั้นช่วยเขียนแผนการขอกู้ ยื่นโครงการ หรือแก้เอกสารในระดับชุมชน
ทูตผู้สูงวัยสื่อสาร“เขาก็ทำได้”
ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กล่าวด้วยว่าเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงในชีวิต มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ เราปรับบทบาทเป็น ‘ผู้เดินเข้าไปหา’ ผู้สูงอายุในชุมชน และดึง “ผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จจริง” มาทำหน้าที่เป็น ทูตผู้สูงวัยสื่อสารให้วัยเดียวกันเชื่อว่า “เขาก็ทำได้” พร้อมกับสร้าง ‘จุดเชื่อมโยงโอกาส’ ระหว่างรุ่นเราไม่ได้สื่อสารเฉพาะกับผู้สูงอายุ แต่ยังเจาะไปถึง ลูกหลาน ผู้ดูแลอาสาสมัครในชุมชน เป็น“ตัวเชื่อม” ให้กองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุ เพิ่มศักยภาพและมีงาน มีรายได้เสียงตัวเองได้
“เป้าหมายในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดกับภาคเอกชนและสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างระบบข้อมูลผู้สูงวัยที่อยากมีอาชีพ และพัฒนาแพลตฟอร์ม “จับคู่อาชีพ ทุน โอกาส” แบบดิจิทัลให้ผู้สูงวัย สามารถเข้าถึงงานได้ทุกที่โดยไม่จำกัด” จารุวรรณ
ขณะเดียวกันการ“พัฒนาศักยภาพเชิงลึก” ผู้สูงอายุ คือสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ กองทุนจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้กู้เงินประกอบอาชีพ โดยจัดมาแล้ว 3 รุ่น รวมผู้เข้าร่วม 200 ราย โดยหัวข้อเน้นจะทักษะที่ “ทันตลาด” เช่น แพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ การทำคอนเทนต์ขายสินค้าอย่างสร้างสรรค์ อาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีเวิร์กชอปแบบลงมือทำ พร้อมโค้ชคอยประกบ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงจากผู้สูงวัยรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ
รวมทั้งอบรมความรู้ดิจิทัลเบื้องต้น ป้องกันภัยไซเบอร์เช่นกรณีศึกษา เทศบาลวังยาง จ.สกลนคร ที่อบรมการใช้มือถือ การทำธุรกรรมออนไลน์ และการใช้งานโซเชียลมีเดียให้ปลอดภัย ผู้สูงอายุสามารถใช้แอปถ่ายภาพสินค้า ติดต่อซื้อขาย และรู้ทันภัยการเงิน และสนับสนุนการถ่ายทอดทักษะเฉพาะทาง และภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่น การทำยาดมสมุนไพร, การเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน, งานจักสาน, หมอลำกลอนไม่ใช่แค่พัฒนาอาชีพ แต่เป็นการ“คืนบทบาทครู”ให้ผู้สูงอายุถ่ายทอดทักษะข้ามรุ่นการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็นโค้ชผู้สูงวัยในพื้นที่ให้สามารถถ่ายทอดทักษะต่อได้ช่วยต่อสายระหว่างทุน ความรู้ และการติดตามผลในพื้นที่ได้แบบใกล้ชิด
ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนผู้สูงอายุ คาดหวังว่าในอนาคตผู้สูงอายุไทยจะสามารถยื่นเสนอโครงการที่ทันตลาดออนไลน์ หรืออาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปมากขึ้น ซึ่งกองทุนก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและเดินเคียงข้างผู้สูงอายุให้มีรายได้มีคุณภาพชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป