ไทยไปต่ออย่างไร เมื่อ "อาหาร" กำลังเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต

ไทยไปต่ออย่างไร เมื่อ "อาหาร" กำลังเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต

ถอดมุมมองจากหลายปัจจัย ประเทศไทยกับความท้าทายด้าน "อาหาร" เมื่อการกินไม่ใช่แค่ความอยู่รอด แต่เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันขบคิด เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ท่ามกลางความรุนแรงจากวิกฤติต่างๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

"เวลาพูดเรื่องการผลิตอาหาร ไม่ได้พูดถึงแค่ผลิตอย่างเดียว แต่ต้องนึกถึงห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตตั้งแต่ทรัพยากรต่างๆ ด้วย" สุภา ใยเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ภาคีกลุ่มงานความมั่นคงทางอาหาร กล่าวในวงอภิปรายการขับเคลื่อนงานแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ อีกหนึ่งประเด็นท้าทายที่ถูกหยิบยกขึ้นในการประชุมประจำปีแผนอาหาร 2565 ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.ร่วมกับเครือข่าย

ไทยไปต่ออย่างไร เมื่อ \"อาหาร\" กำลังเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต

แม้การขับเคลื่อนงานอาหารเพื่อคนไทยจะดำเนินการมาตลอด 15 ปี จนเกิดนวัตกรรมและโครงการหลายโครงการในหลายพื้นที่ แต่ปีนี้ กลับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะริเริ่มการจัดให้มี เวทีประชุมประจำปีแผนอาหาร 2565 ขึ้น ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการเป็นเวทีที่สร้างแรงบันดาลใจสู่การเป็นพลเมืองอาหาร ชุมชนอาหาร ที่นำไปสู่การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน

"เราคิดว่าการผลิตอาหารของประเทศไทยนั้นมีปริมาณการผลิตเยอะ ทำให้ทุกคนคิดว่าน่าจะเพียงพอ แต่ความเป็นจริงแล้วการเข้าถึงอาหารของคนไทยยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในช่วงโควิดจะพบเยอะมาก เพราะมีคนที่ต้องตกงาน ไม่มีรายได้ หรือวัยผู้สูงอายุ และคนยากไร้ หรือแม้แต่ช่วงโควิดเด็กสามในสี่ของประเทศไม่ได้ไปโรงเรียน ซึ่งในเด็กกลุ่มเปราะบางแล้ว อาหารที่มีโภชนาการในชีวิตที่สุดคืออาหารที่โรงเรียน" สุภา กล่าว

ตรงกันข้าม เด็กในกรุงฯ สั่งอาหารที่ไม่เหมาะกับโภชนาการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จนสุ่มเสี่ยงภาวะอ้วนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะยังขาดกิจกรรมทางกาย แต่สุภายอมรับว่าปัจจุบัน จากการที่โลกต้องเจอวิกฤติด้านต่างๆ เช่น วิกฤติสุขภาพ, โควิด-19, ภาวะโลกร้อน, หน้าแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล มีผลที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านการผลิตอาหาร แม้แต่อาหารหลักของคนไทยอย่างข้าว  

"ที่ผ่านมาเราพยายามส่งเสริมให้เกิดระบบการผลิตปลอดภัยมากขึ้น มีความสอดคล้องกับธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่จะให้มีทั้งพันธุ์พืชพันธ์สัตว์เป็นอาหารที่หลากหลาย เพื่อโภชนาการที่ดี เราคงจะเจอวิกฤติไปเรื่อยๆ แต่จะทำอย่างไรให้ต้นทุนที่เรามีอยู่ได้นำมายกระดับให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน" สุภา ให้ข้อคิด

ไทยไปต่ออย่างไร เมื่อ \"อาหาร\" กำลังเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต

ใครคือผู้ผลิตอาหารในอนาคต?

ขณะเดียวกัน เกษตรกรใช่ว่าผู้บริโภคจะเป็นฝ่ายเดียวที่ต้องรับผลกระทบในเรื่องอาหาร ฝั่งผู้ผลิตเองก็ต้องรับมือกับภาวะผลผลิตตกต่ำเช่นกันในช่วงโควิด หากให้วิเคราะห์เกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำที่มีทรัพยากรอาหารสมบูรณ์นั้น แท้จริงมีระบบผลิตอาหารเพียงพอไหม

สุภา เห็นด้วยในเรื่องนี้ว่า ควรถึงเวลาที่ประเทศไทยจะมีการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การพึ่งตนเองในเรื่องอาหารของประเทศไทยหรือไม่ว่า เราสามารถพึ่งตนเองมากน้อยแค่ไหน และสัดส่วนการนำเข้าสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะอย่างสิงคโปร์จากที่เคยเป็นประเทศนำเข้าอาหาร เมื่อต้องเผชิญวิกฤติวันนี้เขาก็ตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่าจะพึ่งพาตนเองได้อย่างไร ซึ่งการนำเข้าก็เกี่ยวกับความปลอดภัยด้วย

สุภา เผยต่อว่า เครือข่ายมีเป้าหมายในการสร้างคน สร้างเกษตรกรที่มีความรู้และศักยภาพ สามารถที่จะทำการเกษตรที่ปลอดภัยและคำนึงถึงเกษตรนิเวศน์ให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันเคนที่ผลิตอาหารส่วนใหญ่กลับอยู่ในกลุ่มคนรุ่นเก่า รุ่นพ่อแม่ตายายเป็นหลัก 

นอกจากนี้ งานวิจัยต้องมีความสำคัญมากขึ้นในเรื่องการปรับตัว กระบวนการผลิต อาทิ ต้องใช้นวัตกรรม ข้อมูลประเทศ เช่น การพยากรณ์อากาศ ต้องมีการจัดการน้ำหลายรูปแบบให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ในยุคโลกที่เปลี่ยนแปลงไปก็สำคัญ ซึ่งต้องอาศัยเรื่องพันธุกรรม องค์ความรู้ เป็นต้น

"ทุกวันนี้เกษตรกรอาวุโสที่ผลิตอาหารให้เรากิน เราจึงพยายามทำอย่างไรให้เขาเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ด้วย เพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่สำคัญ เราควรคำนึงถึงเรื่องความหลากหลายของอาหาร ต้องมีการสร้างระบบกระจายอาหารทำให้ท้องถิ่นสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้หลากหลาย จะช่วยให้มีความมั่นคงอาหารได้ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตหรือสถานการณ์อะไรขึ้น" สุภา กล่าว

ไทยไปต่ออย่างไร เมื่อ \"อาหาร\" กำลังเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต

ขับเคลื่อนแผนอาหารเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน

ศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาคีกลุ่มงานโภชนาการ กล่าวว่า ถ้าย้อนมองไปดูเรื่องอาหารกลางวัน จะพบว่าความต้องการที่แท้จริงนั้น การมีอาหารกลางวันฟรี และนมฟรีเป็นแค่ 1 ใน 3 ของความต้องการแต่ละวัน หรือจากการศึกษามันแค่การแก้ปัญหาด้านโภชนาการเพียง 30% สิ่งที่จะช่วยประเทศไทยลดภาวะเตี้ย ภาวะผอม (Nutrition Sensitive Intervention) เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ใช่โภชนาการโดยตรง อาหารของเยาวชนต้องเริ่มจากทำยังไงให้คนสร้างอาหารเข้ามาเชื่อมโยงกับผู้บริโภค

ขณะที่ สุภา ร่วมให้ความเห็นในเรื่องการส่งเสริมโภชนาการอาหารในกลุ่มเด็กและเยาวชนว่า เรื่องอาหารปลอดภัยในโรงเรียน อยากอธิบายว่า เวลาเราทำเรื่องอาหารปลอดภัยในโรงเรียน มันคือการดูแลลูกหลานของเราเอง เป็นการดูแลเด็กในสังคม เพราะฉะนั้นประเด็นจึงไม่ใช่แค่ดูแลอาหารปลอดภัย ปัจจุบันกระทั่งเกษตรกรในชุมชนเองยังเข้าไม่ถึงอาหารโรงเรียนเลย ดังนั้นต้องทลายโครงสร้างบางอย่าง

ไทยไปต่ออย่างไร เมื่อ \"อาหาร\" กำลังเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต

ประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 กล่าวว่า นับแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แผนอาหารเพื่อสุขภาวะได้ขับเคลื่อนประเด็นอาหารเพื่อความตระหนักและการรับรู้ของสังคมไทย และส่งผลต่อการสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขับเคลื่อนลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม เสริมสร้างความปลอดภัยและด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น 

นอกจากนั้น ยังดำเนินการพัฒนารูปธรรมและต้นแบบการจัดการด้านอาหารในระดับพื้นที่ ได้แก่ โรงเรียนอาหารสุขภาวะ โรงเรียนอ่อนหวาน โรงพยาบาลสีเขียว โรงพยาบาลลดหวานมันเค็ม ขับเคลื่อนให้เกิดการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การทำเกษตรกรรมในพื้นที่เขตเมือง สร้างช่องทางจำหน่ายผลผลิตที่ปลอดภัยในรูปแบบตลาดสีเขียว การพัฒนาและจัดการอาหารริมบาทวิถีให้มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นต้น รวมทั้งการผลักดันนโยบายและมาตรการที่ส่งผลต่อการสร้างสภาพแวดล้อมด้านอาหารและโภชนาการที่ดี การสื่อสารประเด็นอาหารต่อสังคมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ของสังคมในวงกว้างทั่วประเทศ

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ประธานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เผยถึงเป้าหมายการขับเคลื่อด้านโภชนาการอาหารในเด็กและเยาวชนว่า ภายในสิบปี เด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศไทยควรได้กินอาหารมีประโยชน์ เราทำสามเฟส ต่อเนื่องอีกสิบปี เพราะเด็กมีสิทธิได้รับอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ

3 ประเด็นสำคัญของแผนอาหารยั่งยืน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทิศทางของการทำงานด้านอาหาร ในแนวทางของ สสส. นั้น ประกอบด้วยสามประเด็นสำคัญ คือ 1. การส่งเสริมโภชนาการอาหาร โดยเฉพาะโภชนาการอาหารเพื่อสุขภาพ 2. การส่งเสริมและสร้างความตระหนักในเรื่องอาหารปลอดภัย และ 3. การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของระบบอาหาร

ที่ผ่านมาการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่ายอาหาร ทำให้คนเข้าถึงการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการที่เหมาะสม สร้างค่านิยมและพฤติกรรมของการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีการใช้ความรู้ ใช้พลังการสื่อสารสังคม และการผลักดันนโยบายที่สำคัญ ขณะเดียวกัน ยังได้มีส่วนร่วมกันรณรงค์ให้เกิดความตื่นตัวและมีความรู้ในการเลือกบริโภคอาหารและโภชนาการที่มีคุณค่าเหมาะสมตามวัย เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ล้นเกินทั้งลดหวาน มัน เค็ม และเพิ่มการผักผลไม้ให้มากขึ้น

"แต่ทุกวันนี้ เรายังพบว่าคนไทยร้อยละ 60 กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ ขณะที่การผลักดันอาหารปลอดภัย สสส.และเครือข่ายมีการทำตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ในเรื่องการส่งเสริมผลิตพืชผักที่ไร้สารเคมีตกค้างแต่ก็ยังเป็นภารกิจที่ต้องขับเคลื่อนอีกมาก ส่วนความมั่นคงของอาหาร จากแนวโน้มในอนาคต คาดว่าความรุนแรงของวิกฤตต่างๆจะสูงขึ้น อาจมีสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้น เช่น ภาวะโลกร้อน การเกิดสงคราม วิกฤติการเมือง วิกฤตโรคระบาด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเกิดผลกระทบในเรื่องความมั่นคงอาหาร รวมไปถึงพฤติกรรมการกินอาหารในกลุ่มคนยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์การกินอาหารเปลี่ยนไป มีแนวโน้มเข้าถึงอาหารแปรรูปต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นการจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย จึงนับเป็นโจทย์สำคัญที่มีความท้าทาย และจำเป็นต้องอาศัยการทำงานที่ขับเคลื่อนทั้งระบบอาหาร" ดร.สุปรีดา กล่าว

ไทยไปต่ออย่างไร เมื่อ \"อาหาร\" กำลังเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต

สังคมไทยกับความปลอดภัยทางอาหาร 

ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายไทยแพน หนึ่งในเครือข่ายที่ผลักดันงานการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยของอาหาร เผยถึงปัญหาสำคัญของระบบสร้างอาหารไทย คือปัญหาสารเคมีตกค้างในการผลิตอาหาร

"ย้อนกลับไปก่อนมีการรณรงค์ในปี 2555 เราพบว่ามีการตกค้างของสารเคมีในพืชผักผลไม้ใน 4 กลุ่ม มีปริมาณเกินครึ่ง และที่น่าแปลกใจคือแทบไม่มีความแตกต่างกันระหว่าง ห้างสรรพสินค้า ตลาดหรือรถเร่ จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2563 ที่เราตรวจอีกครั้ง สถานการณ์ในภาพรวมยังพบว่าเกินครึ่งยังเกินค่ามาตรฐาน แต่ในห้างดีขึ้นกว่าเล็กน้อย คือประมาณ 2% แต่การตกค้างในกลุ่มสารกำจัดแมลงที่เสี่ยงสูง ลดเหลือจากครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 10%" ปรกชล ให้ข้อมูล 

แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ยังมีสารตัวอื่นที่อยู่นอกขอบเขตชุดทดสอบเบื้องต้นที่มีเพียง 132 รายการที่หน่วยงานรัฐสุ่มตรวจ เพราะจริงๆ แล้ววัตถุอันตรายหรือสารเคมีในกระบวนการผลิตพืช ผัก ผลไม้มีถึงประมาณ 400 กว่าชนิด

"หลังมีการแบนพาราควอต และเพิ่มการตรวจสอบไกลโฟเซทด้วย มีการสุ่มตรวจที่ด่านนำเข้า ตรวจพบสารเคมีตกค้างในผลิตผลต่างประเทศ เช่น องุ่นจากออสเตรเลีย ผักชีจากจีน ไกลโฟเซทในพริกไทยบราซิล หรือแม้แต่ผักปวยเล้งจากญี่ปุ่น ทำให้มีการปฏิเสธออกไป อย่างน้อยการควบคุมมีแนวโน้มยกระดับขึ้น แต่คำถามคือ เราจะจัดการปัญหาเรื่องความปลอดภัย การเฝ้าระวังของอาหารเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบอย่างไร แทนที่จะมีการเสนอแบนแบบรายตัว ซึ่งในประเทศที่มีการคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคอย่างชัดเจน จะตั้งโจทย์ต่างจากเรา ผู้ผลิตต้องยื่นพิสูจน์ความปลอดภัยให้ได้ก่อนว่าสารหมดความอันตราย สิ้นข้อสงสัย ถึงจะขึ้นทะเบียนได้ แต่บ้านเราคือการปล่อยให้ใช้โดยอิสระ ยกเว้นถ้าถูกพบว่าอันตรายก็ถึงให้ยื่นหลักฐานมาชี้แจง ซึ่งในสหภาพยุโรป สารเคมีมากกว่า 700 ชนิด ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทำให้ไม่ได้รับการต่อทะเบียน ฉะนั้นการจัดการเรื่องโครงสร้างกฎหมายน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ ที่จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนต่อไป" ปรกชล ทิ้งท้าย