ครั้งแรกผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ กรมสมเด็จพระเทพฯ Digital Arts NFT : RedCross x KX
เชิญชมและจองผลงานครั้งแรก NFT ภาพวาดฝีพระหัตถ์ “กรมสมเด็จพระเทพฯ” รายได้เพื่อสภากาชาดไทย พร้อมโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์งาน reproduction สุดเนี้ยบโดย นิติกร กรัยวิเชียร, จองแล้ว 14 ภาพ ก่อนเปิดตัวบน Coral Platform ของ KX มิ.ย.นี้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผลงาน ภาพวาดฝีพระหัตถ์ จำนวน 32 ภาพ ให้กับ สภากาชาดไทย จัดทำเป็น Digital Arts NFT เพื่อหารายได้สมทบทุนโครงการ “เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย”
สภากาชาดไทย ได้ร่วมกับ บริษัท กสิกร เอกซ์ จำกัด (KASIKORN X : KX) หรือ “เคเอกซ์” จัดทำผลงาน ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ทั้ง 32 ภาพ เป็นดิจิทัลอาร์ต NFT เสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมนำออกจัดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมภายใต้ชื่องาน “นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX” ณ บริเวณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM
นาย เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวถึงการจัดนิทรรศการผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ครั้งนี้ว่า นอกจากเป็นโครงการที่สภากาชาดไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก กรมสมเด็จพระเทพฯ อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเป็นปฐมศิลปินของสภากาชาดไทย พระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ให้สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ นำมาจัดแสดงและรับบริจาคบน Coral Platform ของ KX ในรูปแบบ สินทรัพย์ดิจิทัล Non Fungible Token หรือ NFT ยังเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะให้เป็นที่ประจักษ์ในรูปแบบศิลปะดิจิทัลอีกด้วย
“ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลที่ทรงมีพระเมตตา มีความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยในการ เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทั้งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล และภัยจากโรคอุบัติใหม่ที่คุกคามสุขอนามัยของประชาชน โดยเงินรายได้จากการร่วมบริจาคผ่าน Coral Platform ได้พระราชทานเป็นปฐมฤกษ์สมทบทุน โครงการเงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือป้องกันบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ครอบคลุม ทั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามฤดูกาล และโรคอุบัติใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่ไม่อาจคาดการณ์ได้”
ขณะที่คุณ พาสินี ลิ่มอติบูลย์ กรรมการสภากาชาดไทย และประธานกรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด เล่าถึงผลงาน ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ส่วนพระองค์ให้กับสภากาชาดไทย จำนวน 32 ภาพ เป็นภาพสีน้ำมัน สีน้ำ สีเทียน สีโปสเตอร์ และภาพพิมพ์หิน ซึ่งแต่ละภาพมีการบันทึกเรื่องราวที่พระองค์ท่านบันทึกไว้ในหนังสือ
ภาพต้นหางนกยูง ทรงวาดเมื่อปีพ.ศ.2506
“อาทิ ภาพต้นหางนกยูง และ ภาพแจกันสีม่วง เป็นภาพเก่าที่สุด ทรงวาดเมื่อปีพ.ศ.2506 ขณะที่พระชนมายุ 8 พรรษา ทรงพระอักษรชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ต้นหางนกยูงที่ทรงวาดนั้น ดูแบบจากต้นซึ่งอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา ส่วนภาพแจกันสีม่วง ทรงได้แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวาดภาพสีน้ำมัน ก็ทรงอยากวาดบ้าง และขอพระราชทานสีเหลือ ๆ มาวาด ได้ผลงานเป็นภาพแจกันสีม่วงปักดอกไม้สีเหลือง
ทรงเล่าพระราชทานว่า ระหว่างที่ทรงวาดภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงสอนเรื่องสีเรื่องแสงเงาบ้าง เช่น แสงเข้าทางนี้ เงาจะเป็นอย่างนี้”
ภาพวัดพระแก้ว พ.ศ.2527
นอกจากนั้น ยังมีภาพที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคน อาทิ ภาพชาวนา ภาพกรรมกรเหมืองแร่ รวมถึง ภาพที่ทรงได้แรงบันดาลใจจากบทกวีหรือในหนังสือต่างๆ และ ภาพวัดพระแก้ว ที่ทรงบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์เมื่อพ.ศ.2527 ทรงบันทึกไว้ว่า
“เดินไปวัดพระแก้ว (ตอนนั้นเสด็จประทับแรม ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง เพราะกำลังซ่อมพระตำหนักจิตรลดา) หาที่เหมาะ ๆ เขียนรูป ได้ที่ใกล้ ๆ วิหารยอดหอพระนาค วาดหอพระนาค พระอุโบสถ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป วาดอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง อาจารย์นิออน (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) กับพวกมาติดพลอย (บุษบกที่หอพระนาค) เลยช่วยเขาติดพลอย จนสิบเอ็ดโมง” ทรงเล่าขยายความว่า “เสด็จไปเขียนภาพแต่เช้า พอสายมีคนมาไหว้พระ ก็ทรงรู้สึกเกรงใจ เพราะอยู่ๆ มานั่งเกะกะ เขาไม่ได้มามุง เรานั่งอยู่ตรงระเบียง แทนที่เขาจะเดินมาดูรูปรามเกียรติ์ได้ เขาก็ต้องหลบเรา” จึงทรงเลิกวาด
ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ซึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่าทรงใช้ระยะเวลาอันสั้นในการสร้างสรรค์ผลงาน คือ ภาพช้าง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องในงานฉลองครบรอบ 100 ปี ทรงพระกรุณาเขียนภาพแม่พิมพ์หิน (Lithograph) จำนวน 2 ภาพ บนแม่พิมพ์หินปูนที่คณะจิตรกรรมฯ ทรงใช้หมึกไขเขียนภาพแม่พิมพ์ชิ้นแรกเป็น ภาพช้างด้านข้าง ทรงใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที แล้วจึงทรงวาดภาพสระบัวอีกภาพหนึ่ง เมื่อปีพ.ศ.2535
กรมสมเด็จพระเทพฯ อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเป็นปฐมศิลปินของสภากาชาดไทย
ผลงาน ศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ส่วนพระองค์ ทั้ง 32 ภาพ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะผนวกกับทรงเป็นนักเล่าเรื่องผ่านการจดบันทึก ได้รับการนำมาแปลงให้เป็น Digital File บน Coral Platform ของ KX เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้ชมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างและเชื่อมโยงโลกศิลปะเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างไร้ขอบเขต
พร้อมเปิดให้ผู้สนใจ ร่วมสมทบทุนโครงการ “เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสภากาชาดไทย” ผ่าน การจอง NFT ภาพวาดฝีพระหัตถ์ฯ ทั้ง 32 ภาพ ภาพละ 5 ล้านบาท ซึ่งจัดแสดง ณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM ได้ก่อนใครตั้งแต่ วันนี้-14 พฤษภาคม 2565 ก่อนที่จะเริ่มเปิดจองบน Coral Platform ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
ในวันจัดงานเปิดนิทรรศการฯ มีผู้แสดงความจำนงสมทบทุนโครงการ “เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย” ผ่าน การจอง NFT ภาพวาดฝีพระหัตถ์ฯ แล้ว จำนวน 14 ภาพ
ชื่อภาพ : ช้าง (ทรงเขียนภาพแม่พิมพ์หินเป็นครั้งแรก)
สำหรับผู้มีจิตศรัทธา จอง NFT ภาพวาดฝีพระหัตถ์ฯ จำนวน 32 ภาพ นอกจากได้ครอบครอง "กรรมสิทธิ์ NFT" ยังจะได้รับ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ (ภาพที่จองไว้) ซึ่งเป็นงาน Reproduction ฝีมือสุดเนี้ยบโดยคุณ นิติกร กรัยวิเชียร
ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้จอง “NFT ภาพวาดฝีพระหัตถ์” เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทาน “ภาพวาดฝีพระหัตถ์งาน reproduction” โดยจะทรงลงพระนามาภิไธยบนกรอบภาพในวันนั้นอีกด้วย
ชื่อภาพ : ตกปลาเดียวดาย (ทรงวาดตามบทกวีนิพนธ์จีนของหลิงชงหยวน ชื่อ "เจียงเสวี่ย" หรือ "แม่น้ำหิมะ" เมื่อพ.ศ.2526)
ชื่อภาพ : แจกันสีม่วง (พ.ศ.2506)
งานเปิดตัว “นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX” ได้รับเกียรติจากแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานทั้งจากแวดวงศิลปะ นักสะสมผลงานศิลปะ และหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
อาทิ คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), คุณเกตุวลี นภาทรัพย์ กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด
คุณจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย, คุณธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder, KASIKORN X (KX), คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
คุณพิรดา อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิเทค วัน จำกัด, คุณสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด, ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้ร่วมก่อตั้ง ภัณฑารักษ์ และครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ Thailand Digital Arts Festival
ทำความเข้าใจการซื้อ NFT บน Coral Platform
ในเรื่อง “ความเป็นเจ้าของ” เวลาเราซื้อ-ขายภาพ NFT บนแพลตฟอร์มคอรัล (Coral Platform) ปกติมี 3 เรื่องที่ต้องคิด คือ
- กรรมสิทธิ์
- ลิขสิทธิ์
- เครื่องหมายทางการค้า
“สิ่งที่ผู้ซื้อ NFT จะได้คือ กรรมสิทธิ์ ของไฟล์นั้นๆ แต่ลิขสิทธิ์กับเครื่องหมายทางการค้ายังเป็นของศิลปินอยู่ครับ” ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder, KASIKORN X (KX) กล่าวกับ “Art & Living กรุงเทพธุรกิจ”
ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์
ดังนั้น สิ่งที่ผู้ซื้อ NFT หรือผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์สามารถทำได้คือ การโชว์ NFT นั้นได้ แต่ไม่สามารถนำ NFT นั้นไปทำการค้า ในลักษณะพิมพ์บนข้าวของเครื่องใช้ เช่น เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด แก้วกาแฟ เพื่อการจำหน่าย สิ่งนี้ทำไม่ได้
“แต่ต่อไป KX จะเปิด Secondary Market หรือตลาดรอง หมายความว่าคนซื้อ NFT สามารถนำกลับมาขายได้บนตลาดรอง คือขายกรรมสิทธิ์ ถ้าเป็นราคาที่แตกต่าง คนยอมซื้อ NFT นั้นในราคาสูงขึ้น คนที่ขายก็มีส่วนต่างเป็นกำไร
ในมุมของศิลปินเองก็สามารถระบุไปได้ว่า ช่วงการเปลี่ยนมือในตลาดรองอาจมี royalty fee (ค่าสิทธิ) ได้ตั้งแต่ 0-20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นรายได้เสริมกลับไปที่ศิลปิน” คุณธนะเมศฐ์ อธิบาย
ในกรณี NFT ภาพวาดฝีพระหัตถ์ฯ ทั้ง 32 ภาพ หากเกิดการซื้อขายใน “ตลาดรอง” วันข้างหน้า ค่าสิทธิที่เกิดขึ้นจะกลับไปที่ “สภากาชาดไทย” ซึ่งเป็นชื่อผู้สร้างสรรค์ผลงาน NFT นี้บนแพลตฟอร์มคอรัล สภากาชาดไทยก็จะมีรายได้เข้ามาเสมอทุกครั้งที่ NFT เปลี่ยนมือ
แพลตฟอร์มคอรัลยังอำนวยความสะดวกสำหรับคนไทยมากๆ เพราะสามารถใช้ เงินบาท ในการซื้อ NFT ได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องใช้คริปโตเคอร์เรนซี
ทั้งยังสามารถทำคำสั่งซื้อผ่าน Mobile Banking และชำระเงินผ่าน บัตรเครดิต บัตรเดบิต หลังจากลงทะเบียนยืนยันตัวตนบน เว็บไซต์ coralworld.co
นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ กรมสมเด็จพระเทพฯ
ชื่อภาพ : ใบไม้เปลี่ยนสีที่ญี่ปุ่น (พ.ศ.2526), ชื่อภาพ : กรรมกรเหมืองแร่ (พ.ศ.2526)
ชื่อภาพ : ชายทะเลหน้าวังไกลกังวล (พ.ศ.2527)
ชื่อภาพ : พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ (พ.ศ.2528)
ชื่อภาพ : ทอสีเทียบฝัน (พ.ศ.2537) ทรงเขียนเมื่อครั้งเสด็จประทับแรมภูกระดึง จ.เลย ทรงเดินป่าและชมพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ผาหล่มสัก เมื่อทรงวาดเสร็จแล้วพอพระราชหฤทัยยิ่ง ทรงเห็นว่าภาพนี้มีสีสันสดใสเข้ากับชื่อ "ทอสีเทียบฝัน" ซึ่งเป็นชื่อหนังสือรวมภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่พระราชทานภาพนี้ให้เป็นภาพปกหนังสือ "ทอสีเทียบฝัน"
เตช บุนนาค และแขกผู้มีเกียรติ วันเปิดนิทรรศการฯ
ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์, จันทร์ประภา วิชิตชลชัย, นิติกร กรัยวิเชียร, พาสินี ลิ่มอติบูลย์