บันทึกบทเรียนจาก"ป่าแหว่ง" ความผิดพลาดของภาครัฐที่ไม่กล้ายอมรับผิด

บันทึกบทเรียนจาก"ป่าแหว่ง" ความผิดพลาดของภาครัฐที่ไม่กล้ายอมรับผิด

"บัณรส บัวคลี่" คอลัมนิสต์จุดประกาย วิเคราะห์เรื่องราวบ้าน"ป่าแหว่ง"อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ให้เห็นภาพชัดๆ ตั้งแต่ยุคแรก ปี 2540 จนถึงยุคปัจจุบัน เพื่อสะท้อนความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ และคำถามอีกมากมาย

เมื่อ 27 เมษายน 2565 อธิบดีกรมธนารักษ์ได้แถลงข่าวรับมอบพื้นที่อาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ของโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชียงใหม่ หรือที่รู้จักกันในนาม บ้านป่าแหว่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

หลังจากยืดเยื้อมานาน 4 ปี พิธีการในวันนั้นมีตัวแทน เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพเข้าไปร่วมเป็นสักขีพยานด้วย กำหนดจากนี้ธนารักษ์จะเปิดพื้นที่ให้เข้าไปปลูกต้นไม้

ส่วนหลังจากนั้นไปฝ่ายประชาชนจะต่อรอง ขอรื้อถอนแท็งค์น้ำประปาลงมา พร้อมๆ กับครุภัณฑ์ที่กรมธนารักษ์รับจะนำออกจากบ้านพัก

  

ภาพที่สื่อออกมาเหมือนปัญหานี้จะจบลงด้วยดี โดยที่ทางสำนักงานศาลยุติธรรมยินยอมถอยจากโครงการปัญหาคืนบ้านคืนกุญแจไม่ประสงค์จะครอบครอง

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มันไม่ง่าย เพราะหากจะทุบทิ้งคืนพื้นที่ให้กลับเป็นป่าตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ระเบียบที่มีอยู่ไม่เปิดให้ต้องปล่อยทิ้งให้เก่าพังจนครบอายุปีของครุภัณฑ์ เฉพาะหน้าคือปล่อยทิ้งร้างไว้ ซึ่งก็ยังไม่มีหลักประกันว่า แนวนโยบายของผู้มีอำนาจต่อๆ ไปจะยอมตามนี้หรือไม่

บ้านป่าแหว่งเป็นที่รวมของทรัพยากรป่าไม้ดอยสูงวิวสวย และงบประมาณก่อสร้างหรูหราเหนือบ้านพักราชการทั่วไป หากเกิดมีคนอยากได้ไปครอบครองใช้ประโยชน์ และมีพลังอำนาจมากพอ หาข้ออ้างอะไรสักข้อก็เข้าไปอยู่ได้ไม่ยาก แค่ให้ธนารักษ์โอนหน้าที่ดูให้ก็มีข้ออ้างเข้าไปเฝ้าดูแลข้าวของแล้ว

บันทึกบทเรียนจาก\"ป่าแหว่ง\" ความผิดพลาดของภาครัฐที่ไม่กล้ายอมรับผิด

 

บ้านป่าแหว่งจะถูกทิ้งร้างผุพังจากเจตนาของฝ่ายเรียกร้อง หรือว่าจะมีเหตุแทรกซ้อน นั่นคือปัญหาในอนาคตค่อยว่ากัน... เอาขณะปัจจุบันก็ยังคงมีปมปัญหาเก่าให้ต้องสะสาง..ยังไม่สะเด็ด

โครงการบ้านป่าแหว่งเป็นความผิดพลาดของภาครัฐที่รัฐและหน่วยราชการทุกหน่วยไม่กล้ายอมรับว่าผิด !!

เพราะหากเกิดมีหน่วยไหนยอมรับว่า เกิดผิดพลาด มันก็จะถูกกลไกของระเบียบราชการเล่นงานทันที

ดังนั้นจึงไม่มีใครกล้าระบุแม้แต่ข้อเดียวว่า บ้านป่าแหว่งเป็นความผิดพลาดของระบบราชการ ประเดี๋ยวจะถูกสอบถูกเอาผิดตามมา

บ้านป่าแหว่งคือ บทเรียนรูปธรรมสะท้อนความผิดพลาดของระบบราชการ ใช้ความผิดพลาดที่เห็นตำตาเป็นบทเรียนให้กับสังคม ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ

แต่ในเมื่อไม่มีหน่วยงานใดกล้ายอมรับว่า ผิดพลาดด้วยเกรงระเบียบราชการจะเช็คบิลย้อนหลัง ดังนั้น สื่อและภาคประชาชนควรต้องรับบทบาทบันทึกบทเรียนสำคัญนี้เอาไว้แทน

บันทึกบทเรียนจาก\"ป่าแหว่ง\" ความผิดพลาดของภาครัฐที่ไม่กล้ายอมรับผิด

ความผิดพลาดยุคแรกเริ่ม (2540-2542)

จุดเริ่มต้นของโครงการบ้านป่าแหว่ง เกิดมานานกว่า 20 ปีแล้ว ที่ดินเชิงดอยสุเทพบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินราชพัสดุในความดูแลของทหาร

ที่แปลงใหญ่ขนาดนี้มีความเป็นมาตั้งแต่ยุคจอมพล ป. เขากันที่ให้ทหารมากกว่า 20,000 ไร่ กินอาณาเขตจากแถวๆ สี่แยกหนองฮ่อ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไปจนถึงอำเภอแม่ริม ซึ่งต่อมาหน่วยราชการก็ขอใช้กันออกๆ เรื่อยมา เช่น ทำเป็นศูนย์ราชการ โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สนามกีฬา ฯลฯ ตามแต่ละยุคสมัย

ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีหน่วยงานราชการขอใช้ที่ดินราชพัสดุเชิงดอยสุเทพแปลงใหญ่ ซึ่งครอบคลุมมาถึงโครงการบ้านป่าแหว่งด้วย

หน่วยงานที่ขอใช้หลักๆ คือ สำนักงานป่าไม้เขต ที่ประสงค์จะสร้างสำนักงานใหม่แทนบริเวณเดิมริมน้ำปิง โดยวางผังที่ดินและชักชวนหน่วยงานอื่นเข้าไปร่วมใช้ในผังด้วย ซึ่งศาลเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในหน่วยที่ร่วมขอใช้ที่ดินด้วย

โครงการสำนักงานใหม่ของป่าไม้ นี่อลังการงานสร้างใหญ่โตมากครับ เขาวางแผนจะตัดที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย 501 ไร่ และที่ราชพัสดุในความดูแลทหารอีก 701 ไร่ รวมประมาณ 1,200 ไร่ ซึ่งต่อมาทางศาล คือ สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ยื่นขอร่วมใช้ที่ดินแปลงใหญ่นั้นด้วย

โชคดีที่รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ลาออกไปก่อน โครงการที่สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ขอใช้ที่ราชพัสดุพับไป แต่หนังสือขอใช้ที่ราชพัสดุขนาด 106 ไร่ ที่ศาลฯ ยื่นไปยังมณฑลทหารบกที่ 33 ยังคาอยู่

ต่อมาเมื่อปี 2542  พล.ต.พิชาญเมธ ม่วงมณี ผบ.มทบ.33 ในขณะนั้น ทำหนังสือสอบถามยังศาล ว่าจะยังยืนยันขอใช้ที่ดินแปลงนั้นอยู่หรือไม่ ..ศาลตอบว่ายืนยันต้องการใช้.. ทหารไม่ตอบ เก็บเรื่องเข้าแฟ้ม

ประเด็นที่เป็นบทเรียนให้กับสังคมสำหรับเหตุการณ์ช่วงแรกก็คือ ใครก็ตามที่ริเริ่มจะใช้ที่ดินป่าเชิงดอยอันสวยงาม ขนาดเป็นพันไร่ โดยคิดตัดเอาอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย บวกกับที่ราชพัสดุทหาร ซึ่งก็มีสภาพป่าเช่นกัน มาก่อสร้างอาคารสถานที่ นับว่า ไม่มีวิสัยทัศน์ของการอนุรักษ์ป่าไม้ทรัพยากรเอาเสียเลย

ระบบราชการในยุคโน้นพยายามแสวงหาทรัพยากรส่วนกลางของชาติ ดอยสุเทพที่สวยงามมาเป็นที่ทำงานอาณาจักรตน เป็นการไม่สมควรยิ่ง

บันทึกบทเรียนจาก\"ป่าแหว่ง\" ความผิดพลาดของภาครัฐที่ไม่กล้ายอมรับผิด ความผิดพลาดยุคสอง (2546-2549)

ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องระหว่างทหารกับศาล สองฝ่าย

เมื่อเวลาผ่านไป แต่ทหารไม่ยอมตอบ เรื่องการขอใช้ที่ดินค้างคาอยู่ ทางสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 จึงทำหนังสือทวงถามไปยัง มทบ.33 เมื่อ 23 เมษายน 2546 จากนั้นทหารใช้เวลาหารือภายในระยะใหญ่ แล้วตอบกลับ 4 มีนาคม 2547

ตอบว่า ไม่ขัดข้อง !!

ยุคนั้นเป็นยุคทหารบกภายใต้ผู้บัญชาการทหารบกชื่อว่า พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร

อันเรื่องการพิจารณารายละเอียดในระหว่างปี 2546-2547 เป็นเช่นไรนั้น ไม่สามารถทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ที่ดินการขอใช้ได้งอกจาก 106 ไร่ เดิม มาเป็น 147 ไร่ 3 งาน 41 ตร.ว.

ประเด็นที่ควรจะเป็นบทเรียนให้กับสังคมในช่วงนี้ก็คือ  แปลงที่ดินซึ่งเป็นโครงการบ้านป่าแหว่งปัจจุบัน มีลักษณะเป็นใบพัดยาวแทงขึ้นไปจากด้านล่าง แปลงสี่เหลี่ยมอยู่บนสุด แล้วเรียวแคบลงมา ทำให้มีสภาพที่เลยแนวการใช้ประโยชน์เดิมขึ้นไปเดี่ยวๆ

ถามว่า..เหตุใด? ในขั้นตอนการรังวัด และขอใช้ที่ดินเดิม (106ไร่) จึงไม่เจรจาให้ถอยลงจากเขตป่าที่สูงชันด้านบน มาอยู่ในแนวใกล้ถนน ซึ่งสามารถจะทำได้เพราะทหารมีที่ดินราชพัสดุในความดูแลอีกนับหมื่นไร่ น่าจะหาพื้นที่เหมาะสม ไม่รุกล้ำแนวป่าขึ้นไปเดี่ยวๆ ได้   ไม่เพียงเท่านั้นเหตุใดในขั้นการอนุมัติได้เพิ่มที่ดินให้อีกเป็น 147 ไร่กว่าๆ

มีการเพิ่มที่ดินให้มากกว่าที่ยื่นขอรอบแรกราวๆ 40 ไร่ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับ พิกัดของที่ดินที่ยื่นเข้าไปบนดอยในเขตป่า  เลยแนวการใช้ประโยชน์ของหน่วยอื่นๆ ทั้งหมด โดยไม่มีการฉุกใจ ทักท้วงกันหรืออย่างไร ?

อนึ่ง มีข้อสังเกตเรื่องแปลงเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 147 ไร่กว่าๆ ดังกล่าว ธนารักษ์ออกมาเป็นแปลงเดียว เกิดมีข้อคำถามว่าสามารถออกเอกสารสิทธิ์คร่อมทางน้ำธรรมชาติได้หรือไม่ ? เพราะลักษณะที่ดินของบ้านป่าแหว่งแบ่งเป็นส่วนบน และส่วนล่าง มีสะพานเชื่อมระหว่างกัน ตรงบริเวณทางน้ำชะเยืองไหลผ่าน

บันทึกบทเรียนจาก\"ป่าแหว่ง\" ความผิดพลาดของภาครัฐที่ไม่กล้ายอมรับผิด ความผิดพลาดยุคสาม (2556-2561)

เป็นช่วงของขั้นตอนออกแบบก่อสร้าง ซึ่งได้บริษัทเอกชนจากส่วนกลางมาออกแบบ จึงเกิดข้อคำถามถึงความรอบรู้ในเรื่องภูมิประเทศแบบภูเขาในป่าเต็งรังของผู้ออกแบบมากน้อยขนาดไหน ที่ให้ไถพื้นที่นำต้นไม้ธรรมชาติออกแทบทั้งหมด เพื่อสร้างบ้านเดี่ยวเรียงเป็นแถวๆ เหมือนกับผังบ้านจัดสรร

นั่นเพราะหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรมในพื้นที่ธรรมชาติภูเขา จะไม่ไปปรับเปลี่ยนสันเขา แนวปันน้ำ หรือลักษณะทางกายภาพเดิมมากนัก รวมทั้งการอนุรักษ์ไม้ใหญ่ดั้งเดิม มีหลายหน่วยงานที่การออกแบบอาคารสถานที่โดยการเคารพต่อธรรมชาติและภูมิประเทศเดิมทำให้ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ต่างจากการออกแบบของโครงการบ้านป่าแหว่ง

จุดผิดพลาดใหญ่ในขั้นตอนนี้อีกประการคือ การประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับคนในท้องถิ่น

ป่าแหว่งหลังปี 2565 ???

โครงการบ้านป่าแหว่งเป็นบทเรียนสำคัญของระบบราชการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ถือว่าเป็นสมบัติร่วมมีความผูกพันกับเมืองมายาวนาน กว่าที่ความขัดแย้งและการแก้ปัญหาดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้ ใช้เวลาและสิ้นเปลืองกำลังแรงของผู้คนทั้งภาครัฐภาคประชาชนไปไม่น้อย

ปัญหาความขัดแย้งบ้านป่าแหว่ง ดูเหมือนจะจบในนาทีที่สำนักงานศาลยุติธรรม มอบกุญแจและกรรมสิทธิ์โครงการคืนให้กับกรมธนารักษ์  แต่ที่สุดแล้วเรื่องราวก็ยังไม่ได้จบโดยสมบูรณ์

อนาคตของโครงการบ้านป่าแหว่งและปัญหาพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพที่สะสมมายาวนานร่วม 20 ปี จะเดินต่อไปเช่นไรนั้นไม่ได้ขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องในอดีตอีกแล้ว หากขึ้นอยู่กับคนปัจจุบันที่จะตัดสินใจ.

บันทึกบทเรียนจาก\"ป่าแหว่ง\" ความผิดพลาดของภาครัฐที่ไม่กล้ายอมรับผิด

ภาพ : จากเฟซบุ๊คหมู่บ้านป่าแหว่ง