"ท่องอวกาศ"นอนโรงแรมหรูนอกโลก ทางเลือกใหม่ของเศรษฐี
มหาเศรษฐีที่อยากขึ้นยานอวกาศไป"ทัวร์นอกโลก" นอนโรงแรมหรูใน"อวกาศ" สัมผัสชีวิตแนวไซ-ไฟ เตรียมเงินไว้ได้แล้ว
ขณะนี้หลายคนคงกำลังวางแผนการเดินทางไว้บ้างแล้ว ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดูเหมือนจะคลี่คลาย และอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นในเร็ววันนี้
บริษัทท่องเที่ยวต่างๆ ก็พากันนำโปรแกรมทัวร์ออกมาปัดฝุ่นเพื่อเตรียมไว้รองรับลูกทัวร์ที่น่าจะพากันหลั่งไหลออกท่องเที่ยวกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากเจอปัญหาชะงักงัน เพราะโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
โรงแรมหรูนอกโลก เตรียมเปิดบริการ
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท Orbital Assembly ของสหรัฐอเมริกา ก็ออกมานำเสนอการบริการที่พักที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ลูกค้าที่เข้าพักจะได้สัมผัสทิวทัศน์ที่ไม่เหมือนแห่งใดในโลกนี้
ทั้งนี้ก็เพราะโรงแรมอันหรูหรานี้ตั้งอยู่บนสถานีอวกาศซึ่งโคจรอยู่นอกโลก ถ้าใครสนใจ ก็ยังพอมีเวลาวางแผนและแน่นอนต้องเก็บเงิน เพราะโรงแรมนอกโลกนี้คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
(เตรียมไปท่องเที่ยวอวกาศกัน)
ตอนแรก Gateway Foundation ซึ่งเป็นบริษัทในรัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา ริเริ่มโครงการนี้ซึ่งในขั้นแรกโรงแรมนี้จะอยู่บนสถานีอวกาศที่มีรูปลักษณะเหมือนล้อ ซึ่งจะหมุนขณะโคจรรอบโลก
ต่อมา Orbital Assembly ก็เข้ามาดำเนินการต่อและขยายโครงการออกไปจากการที่จะมีสถานีอวกาศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเพียง 1 สถานีก็ขยายเป็น 2 สถานี
(ริชาร์ด แบรนสัน อภิมหาเศรษฐีและเจ้าของบริษัท เวอร์จิน กาแลกติก ขณะกำลังท่องอวกาศ)
ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ
โดยสถานีแรกจะมีชื่อว่า “Pioneer” ซึ่งจะรองรับผู้เข้าพักได้ 28 คนและเปิดทำการได้ในอีกเพียง 3 ปีข้างหน้านี้ สถานีที่ 2 จะมีชื่อว่า “Voyager” ซึ่งจะเปิดได้ในปี 2027 และรองรับผู้เข้าพักได้ราว 400 คน
เป้าหมายของบริษัทคือ สถานีทั้ง 2 แห่งนี้ไม่ได้รองรับแต่เพียงนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่จะสามารถให้บริการเป็นออฟฟิศได้ด้วย
ทิม อลาทอร์เร่ ประธานฝ่ายปฏิบัติการของ Orbital Assembly กล่าวถึงค่าใช้จ่ายในการท่องอวกาศซึ่งแน่นอนว่า จะต้องแพงหูฉี่สำหรับคนธรรมดาๆ ที่มีความฝันอยากเดินทางไปท่องเที่ยวในอวกาศ
“ผมคิดว่าข้อจำกัดนี้จะหมดเมื่อการท่องเที่ยวอวกาศเริ่มต้นอย่างจริงจัง เป้าหมายของเราคือ การทำให้คนจำนวนมากสามารถขึ้นไปอยู่ ทำงานและเติบโตได้ในอวกาศ”
สำหรับแนวคิดของสถานี Pioneer คือ ขนาดที่เล็กกว่าจะทำให้สามารถเปิดบริการได้เร็วกว่า
(สถานีในอวกาศเกิดขึ้นแน่ในอนาคตอันใกล้)
"นี่จะเปิดโอกาสให้เรารองรับนักท่องเที่ยวและมอบประสบการณ์ในอวกาศให้นักท่องเที่ยวให้มากขึ้นและเร็วขึ้น” อลาทอร์เร่กล่าว ทั้ง 2 สถานีจะมีพื้นที่สำหรับออฟฟิศและการวิจัยให้เช่าอีกด้วย
อลาทอร์เร่กล่าวถึงการตกแต่งภายในสถานีทั้ง 2 สถานีว่า ไม่แตกต่างจากโรงแรมหรูหราบนโลก แต่ที่แปลกใหม่คือ มีทิวทัศน์ของบรรยากาศในอวกาศ
เขาเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ความงดงามของโรงแรมนั้นได้ไอเดียมาจากภาพยนตร์เกี่ยวกับอวกาศ เรื่อง 2001: A Space Odyssey ของ ผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก
ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า อะไรที่ไม่ควรทำหรือมี หากจะเปิดโรงแรมในอวกาศ
“ผมคิดว่า เป้าหมายของคูบริกคือ การไฮไลท์ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยี่กับมนุษยชาติ ดังนั้นในภาพยนตร์เขาถึงทำให้สถานีอวกาศและยานอวกาศปลอดเชื้อ สะอาดและดูแตกต่าง”
(วิลเลียม แชตเนอร์ นักแสดงชาวแคนาดา วัย 90 ปี นักท่องอวกาศที่มีอายุมากที่สุดในโลก (ที่สองจากซ้าย) ถ่ายรูปร่วมกับเพื่อนร่วมท่องอวกาศอีก 3 คน)
วิศวกรผู้พัฒนายานอวกาศ
ในตอนแรก สถานีที่โรงแรมตั้งอยู่จะมีชื่อว่า วอน เบราน์ เพราะแนวคิดของโรงแรมถูกนำมาจาก เวนเฮอร์ วอน เบราน์ วิศวกรยานอวกาศชาวเยอรมัน ผู้บุกเบิกเทคโนโลยียานอวกาศของโครงการพัฒนายานอวกาศของนาซีเยอรมัน ซึ่งต่อมาได้หนีจากเยอรมันมาพัฒนาโครงการเกี่ยวกับอวกาศให้กับสหรัฐอเมริกา
การที่ วอน เบราน์ เคยทำงานให้กับนาซีเยอรมัน ทำให้การตั้งชื่อสถานีอวกาศตามชื่อของเขาเจอการต่อต้านอย่างมาก แต่ จอห์น บลินคาว อดีตซีอีโอของ Orbital Assembly กล่าวว่า จริงๆ แล้วสถานีไม่เกี่ยวกับ วอน เบราน์ เพียงแค่นำดีไซน์ของเขามาใช้เท่านั้น เราชื่นชมการทำงานของเขาที่มีต่อวิทยาศาสตร์และอวกาศอย่างมาก
“แต่นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคต และเราต้องการชื่อที่ไม่เกี่ยวข้องกับมัน”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเดินทางในอวกาศสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นหลังจาก ริชาร์ด แบรนสัน อภิมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท เวอร์จิน กาแลกติก ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศในเครือเวอร์จิน
โดยมีเป้าหมายสร้างธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศได้เดินทางนอกโลกด้วยจรวดที่บริษัทพัฒนาขึ้นเองและเดินทางกลับสู่โลกโดยปลอดภัยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว
(เวนเฮอร์ วอน เบราน์)
นักท่องเที่ยวอวกาศที่อายุมากที่สุด
ต่อมา วิลเลียม แชตเนอร์ นักแสดงชาวแคนาดา วัย 90 ปี ผู้รับบทเป็น กัปตันเคิร์ก จาก ซีรีส์ดังเรื่อง สตาร์ เทร็ค กลายเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศที่อายุมากที่สุด
เมื่อเขาเป็น 1 ในผู้โดยสารที่ขึ้นท่องอวกาศกับจรวดขนส่ง นิว เชพาร์ด ของบลู ออริจิน ซึ่งบริษัทอวกาศเอกชนของเจฟฟ์ เบโซส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง Amazon เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
โดยมีข่าวว่า แชตเนอร์ ได้ขึ้นท่องอวกาศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะเบโซส์ เป็นเอฟซีของ สตาร์ เทร็ค
ส่วนผู้โดยสารอีก 3 คน คือ ออเดรย์ เพาเวอร์ ผู้บริหารของบลู ออริจิน, คริส โบซุยเซน ผู้ร่วมก่อตั้ง Planet Labs และ เกลน เดอ วารีส จากบริษัท Medidata Solutions
อลาทอร์เร่กล่าวว่า ในอดีต สถานีอวกาศนานาชาติเคยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวมาแล้ว รวมทั้ง เดนนิส ติโต นักท่องเที่ยวอวกาศคนแรกของโลกในปี 2001 แต่สถานีเป็นสถานที่สำหรับทำงานและวิจัย ในขณะที่โรงแรมของเขามีเป้าหมายอื่น
“ถ้าใครได้ไปพักที่โรงแรมของอวกาศของเรา ก็จะรู้สึกว่า อยู่ในความฝันแนวไซ-ไฟ ไม่ใช่อยู่ในโรงงานหรือตึกวิจัยทั่วไป คุณจะไม่เห็นสายไฟระโยงระยาง แต่คุณจะรู้สึกเหมือนว่า กำลังอยู่ในบ้านของคุณเอง”
(ใบปิดจากภาพยนตร์เรื่อง 2001:A Space Odyssey)
มหาเศรษฐีกับเรื่องท่องอวกาศ
การที่มหาเศรษฐีต่างพากันทุ่มเงินไปในการพัฒนาการเดินทางไปในอวกาศทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า พวกเขาน่าจะใช้เงินไปกับการช่วยโลกที่เขาอาศัยอยู่มากกว่า
อลาทอร์เร่กล่าวว่า การสำรวจอวกาศนำมาซึ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตมากมาย เช่น จีพีเอส นอกจากนั้น การอยู่อาศัยในอวกาศจะเป็นการสร้างสังคมที่ยั่งยืนอีกด้วย
“เรื่องนี้จะเปลี่ยนวัฒนธรรมของพวกเรา เปลี่ยนวิธีที่คนคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอีกด้วย โลกไม่ใช่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียวของเรา แต่ยังรวมถึงระบบสุริยจักรวาลของเราด้วย
นอกโลกมีทรัพยากรมากมาย เมื่อเราเริ่มใช้ทรัพยากรเหล่านั้น ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาตรฐานของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ด้วย
ตอนนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่าเดินทางไปในอวกาศนั้นแพงมหาศาล แต่อลาทอร์เร่กล่าวว่า การท่องเที่ยวในอวกาศนั้น จะไม่ใช่สำหรับอภิมหาเศรษฐีเท่านั้น
“เรากำลังทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงอวกาศได้”
ณ ตอนนี้ ยังไม่มีใครให้ตัวเลขค่าเดินทางไปท่องเที่ยวและพักในอวกาศ ดังนั้น ใครที่วาดฝันไว้ว่า อยากจะท่องอวกาศซักครั้งในชีวิตก็เริ่มเก็บเงินได้แล้ว ซักวัน ความฝันนั้นจะเป็นจริง
.............
รูปและเรื่อง : ซีเอ็นเอ็น, Orbital Assembly, Virgin Galactic