“ปลากัด” Soft Power ไทย ไปไกลสู่ตลาดโลก
นอกจาก ชฎา ข้าวเหนียวมะม่วง ที่ตอนนี้กำลังโด่งดังในฐานะ “Soft Power” ของไทย แต่ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เป็น Soft Power ของไทยเรามาตั้งแต่ยุคแรก ๆ และทำรายได้อย่างมหาศาลอีกด้วย นั่นก็คือ “ปลากัด”
หากพูดถึง “ปลากัด” สำหรับต่างชาติแล้วแน่นอนว่าต้องนึกถึงประเทศไทย เนื่องจากการเพาะเลี้ยงอย่างพิถีพิถัน และการเพาะพันธุ์ให้ปลากัดแต่ละตัวมีลวดลายสีสันแตกต่างกันออกไป
แน่นอนว่ายิ่งมีลวดลายสวยสดงดงามและแปลกใหม่มากเท่าไร ย่อมมีราคาที่สูงขึ้นตามมาอย่างแน่นอน นอกจากการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งขายทั้งในไทยและต่างประเทศแล้ว ยังมีการประกวดปลากัดสวยงามอีกด้วย
และในครั้งนี้ทีมงานกรุงเทพธุรกิจได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายเอสรา หัตถกิจสกุล เจ้าของฟาร์ม Amazing Grace Betta ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในฟาร์มปลากัดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ทั้งในเรื่องของการส่งออกและการเดินสายประกวดซึ่งกวาดรางวัลมาแล้วมากมายจนปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางใน "วงการปลากัดไทย"
ซึ่งนายเอสรา เริ่มต้นเล่าว่าโดยปกติปลากัดพื้นบ้านของไทย หรือปลากัดป่าสามารถพบเจอได้ตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติในทุกภาคของประเทศ และปลากัดในแต่ละภูมิภาคจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป
ถือว่าเป็นเสน่ห์ของปลากัดไทยด้วยเครื่องความพริ้วไหวความดุดันในการว่ายน้ำและเครื่องที่สวยงาม สีที่สวยงามของปลากัดไทยทำให้เป็นจุดเด่นที่ทำให้ต่างชาติมองว่าปลากัดของไทยนั้นมีความสวยงาม
สำหรับในเรื่องเชิงธุรกิจนั้น นายเอสราระบุว่าส่วนตัวแล้วทำในส่วนของปลากัดสวยงาม เรื่องตลาดในตอนนี้ถือว่าดุเดือดมากพอสมควรเนื่องจากในอดีตประเทศไทยถือเป็นเจ้าแรกที่ผู้ซื้อปลากัดนึกถึงทำให้มีการส่งออกที่สูงมาก
แต่ในปัจจุบันมีคู่แข่งสูง เช่น อินโดนีเซีย ก็มีผู้เพาะเลี้ยงที่มีความสามารถสูง รวมถึง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ ทำให้ตอนนี้ในตลาดต้องแข่งทั้งเรื่องความสวยงามและราคา
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเลี้ยงปลากัดคือเรื่องการให้อาหาร ในส่วนข้อดีในการเลี้ยงปลากัดนั้นก็คือ สามารถเพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี และปลากัดก็สามารถอยู่ได้ทุกสภาพอากาศมีความทนทานและที่สำคัญไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงมากและไม่ต้องใช้ออกซิเจน
นายเอสรา หัตถกิจสกุล เจ้าของฟาร์ม Amazing Grace Betta
- จุดเริ่มต้นของการส่งออกปลากัดสู่ตลาดโลก
หลังจากกลับมาเลี้ยงปลากัดสวยงามนายเอสราเล่าว่า อยากนำปลากัดของเราไปให้คนอื่นดูบ้าง ก็เริ่มโพสต์ลงเฟซบุ๊ก และเริ่มมีคนสนใจมาสอบถามเพื่อสั่งซื้อ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งออกปลากัดสู่ต่างประเทศ
หลังจากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลว่าต้องส่งออกอย่างไร ทำเรื่องผ่านใคร หลังจากนั้นก็ได้รู้จักเพื่อนในวงการปลากัดมากขึ้น มีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของการประกวดนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการผลักดันให้แบรนด์ของตนเป็นที่รู้จักเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ
- การเตรียมตัวเพื่อประกวดปลากัดสวยงาม
นายเอสราระบุว่าอันดับแรกต้องเลือกปลาที่มีลักษณะตามมาตรฐานของการประกวด หลังจากนั้นตามด้วยการเลือกสีให้เหมาะกับงานประกวด เพราะในแต่ละงานจัดคลาสไม่เหมือนกัน
ในต่างประเทศก็จะเป็นอีกคราสหนึ่ง ส่วนในไทยก็จะเป็นอีกคลาสหนึ่ง ก็ต้องเตรียมความพร้อมว่าเรามีปลาอะไรบ้าง และนำปลาไปขุนให้ได้ไซส์ตามมาตรฐานนั่นคือ 1.5 นิ้ว
หลังจากนั้นต้องฝึกให้ปลาพองเป็นเวลาเช้า เย็น เปรียบเทียบได้ว่าปลาเป็นนักกีฬาต้องฝึกให้พองอยู่ตลอด เพราะเมื่อเวลาลงแข่งพอนำไปวางให้กรรมการดูแล้ว ปลากัดจะต้องพองสู้เพื่อโชว์ความสวยงามให้กรรมการตัดสิน
และจะต้องให้คุ้นชินกับสภาพอากาศที่ปลาจะต้องไปประกวดในสถานที่นั้น เช่น ห้างสรรพสินค้าที่ต้องเปิดแอร์ ก็ต้องฝึกโดยนำปลาไปอยู่ให้ห้องแอร์เพื่อให้ปลาคุ้นชิน
หมายเหตุ : การพองหมายถึง การที่ปลากัดกางหางออกมาจนเห็นสีทั้งหมดของหาง
- การตัดสินความสวยงามของปลากัด
- รูปทรงของปลา
- ตำหนิต่าง ๆ น้อยที่สุด
- การพองสู้เพื่อโชว์หาง
- สีสันสวยงาม
- การยืนน้ำของปลา
- การฝึกให้ปลากัดพอง
จะต้องเริ่มจากการเล่นกับปลาทุกวัน โดยการใช้ไม้จี้จากด้านนอกขวดโหลเพื่อให้ปลาคุ้นชินกับไม้ ซึ่งจะทำให้ปลาว่ายมาหาเรา
หลังจากนั้นปลาจะรู้เวลาว่าตอนเช้าจะต้องเจอไม้ที่ใช้จี้ เวลาเดินผ่านแล้วเอาไม้จี้ปลาก็จะรู้ได้ทันที ซึ่งการฝึกนี้สามารถใช้ได้กับปลากัดทุกตัว
- ปลากัดสายพันธุ์ที่นำไปประกวดมากที่สุด
สายพันธุ์ “บลูแบล็คเฮด” คือสายพันธุ์ที่นำไปประกวดบ่อยที่สุดในประเทศไทยและเป็นพันธุ์ที่มีผู้เพาะเพียงไม่กี่คนในไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศจะเป็นสายพันธุ์ "ไอริดเดสเซ้น" ซึ่งเป็นคลาสหลักของต่างประเทศ
ปลากัดสายพันธุ์ บลูแบล็คเฮด ของฟาร์ม Amazing Grace Betta
- อุปสรรคในการส่งออกปลากัด
นายเอสรามองว่าปัจจุบันนี้ผู้ค้าหลายคนกำลังประสบปัญหาจากการขายปลากัดในเฟซบุ๊ก ซึ่งเมื่อก่อนถือว่าเป็นช่องทางหลักในการซื้อขายปลากัด รวมถึงมีกลุ่มประมูลในเฟซบุ๊กที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดการซื้อขาย
แต่ในปัจจุบันทางเฟซบุ๊กปิดกั้นโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ทำให้ผู้ค้าหน้าใหม่ไม่สามารถหาลูกค้าได้ไม่มีกำลังใจในการทำต่อหรืออาจถึงขั้นล้มเลิอกความตั้งใจ ส่วนผู้ค้ารายเก่าที่ยังอยู่ได้ก็เพราะมีฐานลูกค้าเก่า
จึงอยากเรียกร้องว่าอยากให้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาจัดการดูแลในเรื่องนี้เพื่อให้ผู้ขายสามารถใช้สื่อออนไลน์ขายได้โดยไม่ถูกปิดกั้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลับไปสู่จุดที่ส่งออกได้มากขึ้นเนื่องจากในประเทศไทยมีผู้เพาะพันธุ์ที่เก่ง ๆ อยู่หลายคน
“สำหรับมุมมองผม ผมว่าปลากัดเหมาะที่จะเป็นเป็น Soft Power มาก ผมมองปลากัดเปรียบเสมือนมวยไทย เพราะถ้าคิดถึงปลากัด ต่างประเทศต้องคิดถึงประเทศไทยก่อนอันดับแรก เขาจะวิ่งเข้ามาประเทศไทยก่อน ปลากัดนี่คือจุดเด่นของปลากัดไทยที่ต่างประเทศยังมีความเชื่อถืออยู่แล้ว และตอนนี้ประเทศไทยก็จัดให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไปแล้วด้วย” นายเอสรา กล่าวทิ้งท้าย
จะเห็นได้ว่าแม้ “ปลากัด” จะเป็นสัตว์น้ำของไทยที่สวยงามและมีมูลค่าสูง ซึ่งปลากัดบางตัวสามารถขายได้ในราคาหลักแสน เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยได้อย่างไม่เสียหน้า
รวมถึงมีนักเพาะพันธุ์ปลากัดที่มีความสามารถในการสร้างสีสันและลวดลายใหม่ ๆ อยู่มากมาย และที่สำคัญถือว่าเป็นหนึ่งใน “Soft Power” ของประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว
แต่ก็ยังหนีไม่พันปัญหาของการที่ผู้ขายไม่มีพื้นที่ให้ขาย และผู้ซื้อไม่มีช่องทางให้ซื้อ บวกกับการที่มีคู่แข่งจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากมาย ก็ต้องรอดูท่าทีจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร หรือเปลี่ยนจากการขายออนไลน์มาสู่หน้าร้าน