ชวนคุยเรื่องการสร้าง “เครื่องประดับไทย” สู่ “Soft Power” กับ "ศรัณญ อยู่คงดี"
เปิดมุมมองการพัฒนาวงการ “เครื่องประดับไทย” ให้กลายเป็น “Soft Power” นำเสนอออกสู่สายตาชาวต่างชาติทั่วโลก ในวันที่โลกเปลี่ยนผันเพราะสถานการณ์โควิด ทำอย่างไรให้ไปได้ไกลกว่าเดิม?
ขณะที่ “Soft Power” ของไทยกำลังเป็นกระแสมาแรงและถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ ยังมีความเป็นไทยอีกแขนงหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ "เครื่องประดับไทย" ซึ่งมีมูลค่า ความประณีต และความงดงามไม่แพ้ศิลปะแขนงอื่นๆ เลย และอาจกลายเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่สร้างชื่อให้ประเทศไทยได้อีกทาง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเปิดมุมมอง ส่องแนวความคิดการสร้าง “เครื่องประดับไทย” ให้กลายเป็น “Soft Power” ไปกับ “ศรัณญ อยู่คงดี" ผู้ก่อตั้งแบรนด์ SARRAN
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตีโจทย์การสร้างสรรค์ “เครื่องประดับไทย” ในยุคหลังโควิดอย่างไร?
ตั้งแต่สถานการณ์โควิดเกิดขึ้นมาเกือบ 2-3 ปี ผมและน้องๆ พนักงานทุกคนตั้งคำถามว่า “เครื่องประดับ” คืออะไร? ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังยากลำบาก ทั้งโรคระบาดที่ทำให้ไม่สามารถออกจากบ้านได้ และหลายคนมีสภาพการเงินที่ฝืดเคืองมากขึ้น
ผมเชื่อว่าทุกคนมีวิธีการบำบัดและฟื้นฟูหัวใจในลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งทางแบรนด์กำลังมองว่าก้าวต่อไป เครื่องประดับของเราต้องช่วยเยียวยาจิตใจคนได้ เพราะช่วงนี้คนกำลังเศร้าหมอง มีความทุกข์ ซึ่งแต่ละปัญหาไม่สามารถผ่านไปได้ง่ายๆ เลย
การให้กำลังใจกันและกันอาจจะช่วยปลอบประโลมจิตใจได้ระดับหนึ่ง แต่ “การบำบัดด้วยกลิ่น” (สุคนธบำบัด) จะช่วยทำให้เรารู้สึกคลายเครียดและฟื้นฟูจิตใจให้กลับไปใช้ชีวิตต่อได้ เราอยากเห็นเช้าวันใหม่ที่สดใสทุกๆ วัน จึงนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นองค์ประกอบในการออกแบบงานเครื่องประดับ
โดยใช้กลิ่นหอมของดอกไม้มาเป็นแกนหลัก เพราะดอกไม้ทุกชนิดมีคุณสมบัติเหมือนยา ช่วยบำบัด ปลอบประโลม และช่วยฟื้นฟูจิตใจได้ เครื่องประดับไทยก้าวต่อไป จึงต้องช่วยแก้ปัญหาของคนในยุคปัจจุบันได้ ไม่ได้มีไว้แค่สวยงามอย่างเดียว
- จากสายตา “คนต่างชาติ” มอง “เครื่องประดับไทย” ด้วยคุณค่าแบบใด?
จากที่ได้ร่วมงานกับชาวต่างชาติมามาก ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป บางคนเป็นคู่ค้าที่กลายมาเป็นเพื่อน หรือกลุ่มคนที่เราทำธุรกิจด้วยกันทั่วโลก แต่ละคนเขามองเครื่องประดับไทยแตกต่างกัน
ถ้าเป็นชาวอเมริกัน จะมองว่าเครื่องประดับคือสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข เน้นความสวยงามเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นสไตล์เอเชีย อย่างที่เคยร่วมงานกับญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะทำงานผ่านการเล่าเรื่องราว จะมีการสื่อสารทุกอย่างในชีวิตผ่านการออกแบบทุกประเภท ของทุกชิ้นมีเรื่องราวเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างแรบนันดาลใจ ขณะที่คนยุโรป จะให้ความสำคัญกับคราฟต์แมนชิพ (Craftsmanship) อย่างมาก
งานเครื่องประดับแถบเอเชียหรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ต่างชาติให้ความยอมรับและให้เกียรติในฐานะชิ้นงานที่มีความเรียบร้อยและมีการคำนวณอย่างถี่ถ้วนในการใช้งาน
อย่างทางแบรนด์ผมจะให้ความสำคัญเรื่องน้ำหนักวัตถุมาก เพราะปัจจุบันเครื่องประดับชิ้นใหญ่จะมีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ เพื่อไม่ทำให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคในการสวมใส่ จึงต้องลดทอนน้ำหนักเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย
นอกจากนี้ชาวต่างชาติยังติดตามและลุ้นที่จะดูผลงานเราว่า ในแต่ละปีเราจะมีกรอบหลักในการทำงานหรือเรื่องเล่าอะไรที่อยากสื่อสารออกไป ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างเช่น ถ้าเป็นเรื่องของสิทธิสตรี หรือการเลือกปฏิบัติระหว่างชายและหญิงในประเทศ เรามักจะส่งผ่านทางชิ้นงานเครื่องประดับเสมอ
- คอลเล็กชันที่เคยนำเสนอแล้วต่างชาติรู้สึกว่าน่าสนใจมาก?
มีคอลเล็กชันหนึ่งที่ได้พัฒนาและสื่อสารเรื่องความเป็นไทยออกไปด้วยลักษณะการตั้งคำถาม ในคอลเล็กชันที่ 3 ที่ชื่อ “รัตนโกสินทร์ชาโดว์” ตอนนั้นบ้านเมืองเรากำลังตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายกับหญิง
ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับการเข้าถึงพื้นที่ศิลปะหรือการเข้าถึงศิลปะไทย เช่น วัดสมัยก่อนจะมีพื้นที่บางส่วนที่ห้ามผู้หญิงเข้า ผู้ชายเข้าได้อย่างเดียว อาจเป็นเพราะเรื่องความสะอาดหรือเรื่องของสัดส่วนร่างกาย ผมรู้สึกว่าถ้าผู้หญิงอยากมีส่วนร่วม เราสามารถแชร์พื้นที่ที่สามารถมีประสบการณ์ร่วมกันได้
เลยจินตนาการว่า เวลาเช้าที่ไปศาสนสถานที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปได้ แต่ให้ผู้หญิงเดินผ่าน แล้วแสงเงาของสถาปัตยกรรมเหล่านั้นสะท้อนจากยอดหลังคา ลายประดับทุกอย่าง ลายจากแสงอาทิตย์ได้พาดผ่าน ร่างกายของผู้หญิงทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมกับความสวยงามของสถาปัตยกรรมแห่งนั้นได้
ผมก็เลยลองทำอะไรที่ออกมาเป็นแมสเสจที่เราอยากให้รู้ว่า ปัจจุบันอย่ากีดกั้นหรือพยายามแบ่งพื้นที่ มันไม่ได้มีแค่ผู้หญิงและผู้ชาย ความหลากหลายมีเยอะขึ้นมาก เพราะฉะนั้น แค่หญิงและชายอยากให้คนพ้นกรอบนี้ให้ได้ก่อน
แบรนด์เราเคยตั้งต้นไว้ว่า “Every woman deserves elegance” เพราะผมกำลังเล่าเรื่องของคุณแม่ของผมที่ให้เกียรติอย่างมาก แต่ตอนนี้โลกกว้างขึ้น จึงอยากพูดถึงผู้หญิงทุกคน ปัญหาของผู้หญิง และการให้เกียรติซึ่งเป็นเรื่องที่ดีหากผู้ชายที่คนให้ความเคารพกัน
- ทำอย่างไรให้เครื่องประดับไทยไปตลาดโลก?
เรื่องการผลักดันเครื่องประดับไทย จริงๆ แล้วทุกหน่วยงานที่เคยร่วมงานกัน ตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรม หรือแม้แต่การท่องเที่ยวประเทศไทยเอง มักจะมีกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว และปัจจุบันเราก็ยังร่วมงานด้วยกันอยู่
แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเราสามารถทำได้มากกว่านี้ คือ การพยายามทำให้ของพวกนี้กลายเป็น “Soft Power” ผ่านการตลาดหรือแฝงค่านิยมเข้าเข้าไปในภาพยนตร์ เพลง ซึ่งที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้รับความนิยมในระดับโลก มีแฟนคลับมากมาย นี่คือโอกาสที่จะทำให้พื้นที่ของเครื่องประดับไทยหรือนักออกแบบไทยได้มีส่วนร่วมในการผลักดันวัฒนธรรมสู่สายตาโลก
สามารถดูตัวอย่างกรณีศึกษาได้จาก Music Video LALISA ของลิซ่า - ลลิษา มโนบาล ซึ่งประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กัน ทั้งตลาดสเกลใหญ่และเล็ก
การที่เครื่องประดับไทยจะโตได้ ต้องโตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่แค่แบรนด์หรือสองแบรนด์ แต่ทุกแบรนด์ในตลาดเล็กๆ ก็ต้องโตไปด้วยกัน นอกจากนี้ การมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการบอกเล่าความเป็นไทยก็สำคัญ
"ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ยิ่งทำให้ผู้คนซื้อสินค้าประเภทเครื่องประดับยากมากขึ้น แต่ถ้าเราทำให้เครื่องประดับกลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของสิ้นเปลือง ทำให้เป็นชิ้นงานสร้างสรรค์เพื่อช่วยเยียวยาผู้คนในวันที่เหนื่อยล้า เมื่อเรากลายเพื่อนใกล้ตัวของผู้บริโภคได้ เราก็จะชนะใจผู้บริโภค" เจ้าของแบรนด์กล่าวทิ้งท้าย