รวมผลงานฮิต "นาดาว บางกอก" ก่อนปิดตำนาน 12 ปี
ส่องผลงานสุดฮิตทั้งซีรีส์ ละคร และ เพลง ตลอด 12 ปีที่ผ่านมาจาก “นาดาว บางกอก” ก่อนที่จะปิดตัวลงในวันที่ 1 มิ.ย. นี้
ทำเอาช็อกกันทั้งวงการ หลังจากที่วันนี้ (10 พ.ค.) “นาดาว บางกอก” บริษัทผลิตรายการละคร ซีรีส์ ดูแลและพัฒนาศิลปินในสังกัด ได้ประกาศผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการของบริษัทว่าจะยุติบทบาทเป็นบริษัทพัฒนาและดูแลศิลปิน รวมถึงการเป็นผู้ผลิตซีรีส์ ละคร หรือผลงานเพลงต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป พร้อมขอบคุณแฟน ๆ สื่อมวลชน และพาร์ทเนอร์ที่ให้การสนับสนุนด้วยดีมาตลอด 12 ปี
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้รวบรวม ผลงานที่โดดเด่นและได้รับความนิยมตลอด 12 ปีของนาดาว บางกอก ทั้งละคร ซีรีส์ และเพลงมาให้ได้ทบทวนกันอีกครั้ง
- ซีรีส์ - ละคร
1. Hormones วัยว้าวุ่น (2556)
“ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น” เป็นซีรีส์ที่ตีแผ่สังคมในโรงเรียนและชีวิตวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผลในโรงเรียน การใช้ความรุนแรง การพูดเรื่องเพศ ความหลากหลายทางเพศ การติดอยู่ในเฟรนด์โซน ความคาดหวังจากครอบครัว และอีกหลากหลายปัญหาที่วัยรุ่นต้องเผชิญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงในสื่ออื่น ๆ ของไทย จึงทำให้ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และสร้างปรากฏการณ์การตั้งคำถามในสังคมถึงสิ่งที่ซีรีส์นำเสนอ
ในขณะเดียวกัน ก็แจ้งเกิดนักแสดงนำในซีรีส์ได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น “พีช - พชร จิราธิวัฒน์” “แพตตี้ - อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา” “ไมเคิล - ศิรชัช เจียรถาวร” “กันต์ ชุณหวัตร” “ปันปัน - สุทัตตา อุดมศิลป์” “ต่อ - ธนภพ ลีรัตนขจร” “เก้า - สุภัสสรา ธนชาต” “มาร์ช - จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล” “ตั้ว - เสฎฐวุฒิ อนุสิทธิ์” “ฝน - ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล” และ “เบลล์ - เขมิศรา พลเดช”
ด้วยความสำเร็จมากขนาดนี้ ทำให้มีการสร้างซีซันต่อเนื่องมาถึง 3 ซีซัน และมีการเฟ้นหานักแสดงหน้าใหม่ที่จะมารับบทนำ แทนที่นักแสดงรุ่นก่อน ผ่านรายการ “Hormones The Next Gen” ประกอบไปด้วย “แบงค์ - ธิติ มหาโยธารักษ์” “แพรวา - ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์” “ต้าเหนิง - กัญญาวีร์ สองเมือง” “ฟรัง - นรีกุล เกตุประภากร” “เจมส์ - ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ” “พี - สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร” “ปีโป้ - ณัชพัณณ์ ปรมะเจริญโรจน์” และ “สกาย - วงศ์รวี นทีธร”
แม้ว่าฮอร์โมนส์ จะมีการสร้างถึง 3 ซีซัน แต่ความนิยมไม่ได้ลดน้อยลงเลย เนื่องจากยังคงมีการนำเสนอประเด็นทางสังคมและปัญหาใหม่ ๆ ของวัยรุ่น ไม่ซ้ำเดิม ซึ่งหากจะพูดถึงซีรีส์วัยรุ่นที่คนรู้จักจะต้องมีชื่อของ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น อย่างแน่นอน
2. I Hate You, I Love You (2559)
“I Hate You, I Love You” หรือ HateLove เป็นมินิซีรีส์ที่นาดาว บางกอกผลิตให้กับ บริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อออกฉายทางแอปพลิเคชัน “LINE TV” ในปี 2559 จำนวนทั้งสิ้น 5 ตอน โดยเป็นเรื่องราวความรักและการแตกหักของคน 5 คน ในเวลาเพียง 5 วัน คือ ตั้งแต่ตอนเย็นของวันพุธ จนถึง ตอนเช้าของวันจันทร์
ทันทีที่มินิซีรีส์เรื่องนี้ออกอากาศครั้งแรก ก็ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยทันที พร้อมกับคำถามว่า “ใครฆ่านานะ” ซึ่งระหว่างที่ออกอากาศนั้น ชาวเน็ตตั้งคำถามว่าใครกันแน่คือคนร้าย จนเกิดการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานา และมีทฤษฎีเกิดขึ้นมากมาย จนยอดเข้าชมในตอนแรกนั้นทะลุ 5 ล้าน หลังจากผ่านไปเพียงแค่ 1 วัน
นอกจากตัวซีรีส์ที่เป็นแนวสืบสวนสอบสวน ค้นหาความจริง (Suspense) เป็นแนวที่ไม่ค่อยใครในวงการบันเทิงไทยทำแล้ว การเล่าเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้ยังมีความโดดเด่น โดยในแต่ละตอนจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองและการกระทำของแต่ละตัวละคร ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่ใช้ในภาพยนตร์แอคชันเรื่อง “Vantage Point” ที่เล่าเหตุการณ์ของพยานแต่ละคนที่อยู่ในเหตุการณ์การก่อการร้าย และละครเวที “Sleep No More” ที่ผู้ชมสามารถเดินตามตัวละครในเรื่อง เพื่อดูว่าเกิดเหตุการณ์อะไรกับตัวละคร แต่ขณะเดียวกันก็จะไม่รู้เรื่องราวของคนอื่น ซึ่งแตกต่างจากการเล่าผ่านทัศนคติของตัวละครที่ทำให้เกิดความจริงแตกต่างกันออกไปอย่างใน “ราโชมอน” ภาพยนตร์คลาสิกของญี่ปุ่น
ไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จในด้านยอดเข้าชมเท่านั้น แต่ HateLove ยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงในเวที Asian Television Awards 2017 ในสาขา นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมถึง 2 คน คือ “โอบ - โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์” และ “เจเจ - กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม” รวมถึงสาขาบทยอดเยี่ยมสำหรับรายการหรือซีรีส์ที่ฉายทางออนไลน์อีกด้วย
3. โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์ (2560)
“โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์” โปรเจคใหญ่ของนาดาว บางกอกในปี 2560 ที่รวมนักแสดงเกือบยกค่ายรวมไว้ด้วยกัน โดยเป็นซีรีส์ 4 เรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างชีวิตกับกีฬา ด้วยมุมมองที่หลากหลาย ผ่าน 4 ชนิดกีฬา คือ วอลเลย์บอล ในตอน “Spike”, แบดมินตัน ในตอน “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่”, สเก็ตบอร์ด ในตอน “SOS Skate ซึม ซ่าส์” และยิงธนู ในตอน "Shoot! I Love You ปิ้ว! ยิงปิ๊งเธอ” ซึ่งในแต่ละตอนก็จะมีโทนเรื่องที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับเรื่องที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง และได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามคงจะหนีไม่พ้น “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ที่ “ต่อ - ธนภพ ลีรัตนขจร” รับบทเป็นเด็กออทิสติก พัฒนาการช้าทั้งร่างกายและสมองราวกับเด็ก 6 ขวบ ซึ่งต่อสามารถแสดงออกมาได้อย่างดีไร้ที่ติ จนคว้ารางวัล นักแสดงนำชาย รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 9 มาครองได้สำเร็จ และก้าวขึ้นเป็นนักแสดงสายฝีมือทันที
นอกจากรางวัลที่ต่อได้รับแล้ว Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ ยังได้รับรางวัล ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม และ ละครยอดเยี่ยม ในเวทีนาฏราชอีกด้วย จากการเข้าชิงทั้งสิ้น 9 รางวัล
ขณะที่ SOS Skate ซึม ซ่าส์ นอกจากเล่าเรื่องสเกตบอร์ดแล้ว ยังเป็นซีรีส์เรื่องแรก ๆ ที่พูดถึงโรคซึมเศร้า ซึ่งได้รับคำชมเช่นเดียวกัน ในด้านการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า และทำให้ผู้ชมตระหนัก เข้าใจและรับมือกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดียิ่งขึ้น
4. เลือดข้นคนจาง (2561)
โฟร์โนล็อค (4Nologue) บริษัทสื่อครบวงจรของไทย ต้องการที่จะรวบรวมนักแสดงรุ่นใหม่ 9 คนเพื่อตั้งเป็นกลุ่มไอดอลที่มีชื่อว่า “ไนน์บายนาย” (9by9) ซึ่งจะมีผลงานเพลง คอนเสิร์ต แสดงละครและซีรีส์ทางโทรทัศน์ จึงได้ร่วมมือกับ “นาดาว บางกอก” ผลิตละครแนวดรามา สืบสวน เรื่อง “เลือดข้นคนจาง” โดยออกอากาศทางช่อง One 31
นักแสดงรุ่นใหม่ไฟแรงที่น่าจับตามองทั้ง 9 คน ที่รับบทนำในเรื่องนี้ ประกอบไปด้วย “ต่อ - ธนภพ ลีรัตนขจร”, “เจเจ - กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม”, “เจมส์ - ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ”, “กัปตัน -ชลธร คงยิ่งยง”, “เติร์ด - ลภัส งามเชวง”, “ปอร์เช่ - ศิวกร อดุลสุทธิกุล”, “ไอซ์ - พาริส อินทรโกมาลย์สุต”, “แจ๊คกี้ - จักริน กังวานเกียรติชัย”, และ “ริว - วชิรวิชญ์ วัฒนภักดีไพศาล” รวมถึง “ต้าเหนิง - กัญญาวีร์ สองเมือง” และ “นาน่า - ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์” พร้อมทั้งทัพนักแสดงรุ่นใหญ่อีกมากมาย
แม้ว่าเรตติ้งทางโทรทัศน์ของเลือดข้นคนจางจะไม่ได้สูงมากนัก แต่ถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยตั้งแต่ตอนแรกที่ออกอากาศ พร้อมกับคำถามติดปากของผู้ชมว่า “ใครฆ่าประเสริฐ” และ บทพูดของภัสสร รับบท โดย “แหม่ม - คัทลียา แมคอินทอช” ที่พูดว่า “พูดออกมาได้เฮงซวย” ได้กลายเป็นมีม และถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังได้รับรางวัลจากเวทีประกาศรางวัลต่าง ๆ อีกจำนวนมาก
5. My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน (2562)
“My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” เป็นละครแนวโรแมนติก แฟนตาซี พูดถึงเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีพลังวิเศษในการเรียกคนรักให้มาหาผ่านตัวกลางต่าง ๆ ได้ จนกระทั่งวันครบรอบ 15 ปีที่คบกับคนรัก พลังนั้นกลับมีอยู่กับอีกคนหนึ่ง เรื่องวุ่นวายจึงเกิดขึ้นตามมามากมาย
นำแสดงโดย “ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์”, “ใหม่ - ดาวิกา โฮร์เน่”, “สกาย - วงศ์รวี นทีธร”, “ต้าเหนิง - กัญญาวีร์ สองเมือง” และ “แบงค์ - ธิติ มหาโยธารักษ์” โดยออกอากาศทาง ช่อง ONE 31 ในปี 2562 พร้อมกับสตรีมมิง Dimsum Asia สำหรับประเทศบรูไน มาเลเซีย และ สิงคโปร์ โดยฉบับตัดต่อ จะแตกต่างจากฉบับที่ฉายในประเทศไทย
แม้เรตติ้งเฉลี่ยของ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ทั้ง 16 ตอน จะทำไปได้เพียง 1.32 เท่านั้น แต่สวนทางกับยอดผู้ชมที่รับชมผ่านทาง LINE TV รวมทุกตอนนั้นสูงเกือบ 200 ล้านครั้ง หลังจากที่ละครออกอากาศจบ และเกิดกระแสในโซเชียลว่าสุดท้ายแล้วนางเอกของเรื่องจะเลือกใคร โดยมีการแบ่งทีมกันชัดเจนระหว่าง #ทีมหมอเป้ง แฟนที่คบกันมา 15 ปี ที่พยายามทำทุกอย่างให้ดีอย่างสุดความสามารถ แต่อาจจะไม่มีเวลาให้มาก หรือ #ทีมหมอฉลาม เด็กหนุ่มที่พึ่งเจอ แต่ใจดีมีเวลาให้ พร้อมทำตามทุกอย่างที่ต้องการ จนในตอนจบนั้นได้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของไทยและของโลก
นอกจากเรื่องราวรักโรแมนติกแล้ว My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ยังแฝงเรื่อง ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ PTSD และความรู้ทางการแพทย์เอาไว้ด้วย
6. แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2563)
จากความสำเร็จของ “My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” ได้ทำให้เกิดกระแสคู่จิ้น “บิวกิ้น - พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” และ “พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” ทำให้นาดาว บางกอก สานต่อความสำเร็จนี้ด้วยการต่อยอดเป็นโปรเจคพิเศษ BKPP Project ที่จะประกอบไปด้วยซีรีส์ เพลงประกอบซีรีส์ และงานพบปะสังสรรค์ (Fan Meeting)
สำหรับซีรีส์นั้นใช้ชื่อว่า “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กผู้ชาย 2 คนที่เป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่เด็ก แต่มีเหตุทำให้แตกหักกัน ไม่ได้เจอกันอีก จนกระทั่งได้กลับมาเจอกันอีกในช่วงเทอมสุดท้ายก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย การกลับมาเจอกันในคราวนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ
ซีรีส์เรื่องนี้ฉายผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE TV โดยแต่ละตอนนั้นมียอดเข้าชมสูงกว่า 2 ล้านครั้ง นอกจากนี้ #แปลรัก ในแต่ละตอนสามารถขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ทั้งในประเทศไทยและเทรนด์โลก สามารถแจ้งเกิด บิวกิ้นและพีพีได้อย่างสวยงาม อีกทั้งยังได้รับรางวัลจากเวทีการประกาศรางวัลมากมาย
อย่างไรก็ตาม นาดาว บางกอกไม่เคยโปรโมตซีรีส์เรื่องนี้ว่าเป็นซีรีส์วายแต่เลือกใช้ว่าเป็นซีรีส์โรแมนติก ก้าวข้ามวัย (Romantic Comic of Age) จึงทำให้คนดูส่วนหนึ่งถกเถียงกันว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์วาย หรือ ซีรีส์ LGBTQ+ กันแน่ แต่ไม่ว่าจะนิยามว่าอย่างไร แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้สะท้อนอัตลักษณ์และการพัฒนาอัตลักษณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทำให้ผู้ชมเข้าใจกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
“แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ถูกสร้างภาคต่อมาในชื่อ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2” ออกอากาศในปี 2564 ซึ่งเป็นเรื่องของเต๋และโอ้เอ๋ว ที่ตกลงเป็นแฟนกันแล้วย้ายมาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ โดยมีอุปสรรคคือระยะทาง เนื่องจากทั้งคู่เรียนอยู่ต่างมหาวิทยาลัยกัน อีกทั้งความหวั่นไหวเมื่อได้กับผู้คนใหม่ ๆ สังคมใหม่ ๆ
- เพลง
1. รักติดไซเรน (My Ambulance) (Ost. My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน) (2562)
“My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” ไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่เพียงแค่ละครเท่านั้น แต่เพลงประกอบละครอย่าง “รักติดไซเรน (My Ambulance)” ที่ร้องโดย “ไอซ์ - พาริส อินทรโกมาลย์สุต” และ “แพรวา - ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์” ก็ประสบความสำเร็จมากเช่นกัน และกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ฮิตที่สุดของปี 2562 ในปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.) มีผู้เข้าชมมิวสิควิดีโอเพลงนี้แล้วถึง 252 ล้านครั้ง
เนื่องด้วยเพลงที่มีกลิ่นอายของเพลงแนว “กามิกาเซ่” ค่ายเพลงวัยรุ่นที่ได้รับความนิยมในช่วงยุค 2010 ที่ติดหูง่ายและชวนให้ผู้ฟัง (รุ่นมิลเลนเนียลขึ้นมา) ระลึกถึงอดีต อีกทั้งเนื้อเพลงท่อน “บางที ถ้าเธอยอม ใจเย็น ๆ และฟังฉันสักหน่อย” ก็ถูกนำมาใช้เป็นมีมจนถึงปัจจุบัน
2. ดี๊ดี (Unexpected) (2563)
“ดี๊ดี (Unexpected)” เป็นการทำเพลงร่วมกันของ 2 ศิลปิน “เจเจ - กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม” และ “ไอซ์ - พาริส อินทรโกมาลย์สุต” ที่เป็นเพลงแนวป๊อป ฮิปฮอป และมีจุดเด่นอยู่ที่ท่าเต้นที่พลิ้วไหว ซึ่งทั้งคู่เต้นออกมาได้อย่างมีเสน่ห์
ในปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.) มีผู้เข้าชมมิวสิควิดีโอเพลงนี้แล้วถึง 24 ล้านครั้ง และยอดสตรีมมิงผ่าน Spotify กว่า 11 ล้านครั้ง
3. โลมาไม่ใช่ปลา (2563)
หลังจากที่ “นาน่า - ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์” ได้ประเดิมการแสดงครั้งแรกใน “เลือดข้นคนจาง” ก็ถึงเวลาที่เธอจะได้เดบิวต์ในฐานะศิลปินกันบ้าง โดยเปิดตัวด้วยเพลงสุดน่ารักอย่าง “โลมาไม่ใช่ปลา” ที่นำเรื่องของคนที่ติดอยู่ในสถานะเฟรนด์โซน คล้ายจะเป็นแฟนแต่ก็ไม่ใช่ เหมือนกับโลมาที่อยู่ในน้ำ รูปร่างเหมือนปลา แต่ก็ไม่ใช่ปลา “ถึงจะคล้ายแต่ก็ไม่ใช่อยู่ดี”
ในปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.) มีผู้เข้าชมมิวสิควิดีโอเพลงนี้แล้วถึง 20 ล้านครั้ง และติดชาร์ตเพลงฮิตในอีกหลายสถานีวิทยุ จนมีการออกเวอร์ชันอะคูสติกตามมาภายหลัง
4. กีดกัน (Ost. แปลรักฉันด้วยใจเธอ) (2563)
“กีดกัน” เป็นหนึ่งในเพลงประกอบซีรีส์ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ร้องโดย “บิวกิ้น - พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” โดยเนื้อเพลงนี้พูดถึงความรักที่ถูกกีดกันจากอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งหากเป็นแผ่นฟ้า ภูผา เวลา เขาพร้อมจะฝ่าฟันไป แต่โชคชะตามากีดกันเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งนอกจากทำนองที่จะใส่ความเป็นจีนที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องของซีรีส์แล้ว เนื้อร้องก็มีความสละสลวย มีสัมผัสคล้องจ้อง และเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับความเป็นจีนได้อย่างลงตัว
ในปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.) มีผู้เข้าชมมิวสิควิดีโอเพลงนี้แล้วถึง 54 ล้านครั้ง และติดชาร์ตเพลงฮิตในอีกหลายสถานีวิทยุ และเป็นอีกหนึ่งเพลงที่โด่งดังอย่างมากในปี 2563 นอกจากจะมีเพลงเวอร์ชันภาษาไทยแล้ว กีดกันยังมีเวอร์ชันภาษาจีนในชื่อว่า “หรูเหอ (Skyline)” ส่วนเพลงประกอบซีรีส์เพลงอื่น ๆ อย่าง “แปลไม่ออก” และ “โคตรพิเศษ” ก็ฮิตไม่แพ้กัน
5. รู้งี้เป็นแฟนกันตั้งนานแล้ว (Safe Zone) (2564)
“แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2” ยังคงมีเพลงฮิตติดชาร์ตเช่นเดียวกับภาคแรก นั่นคือเพลง “รู้งี้เป็นแฟนกันตั้งนานแล้ว (Safe Zone)” ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของเต๋และโอ้เอ๋ว ในช่วงที่เป็นแฟนกันนั้นดีมาก มีความสุขมาก จนรู้สึกว่าน่าจะเป็นแฟนกันมาตั้งนานแล้ว เป็นตัวแทนเพลงของคนคลั่งรัก ซึ่งเป็นการร้องเพลงคู่กันครั้งแรก (อย่างเป็นทางการ) ของ “บิวกิ้น - พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” และ “พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” ในปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.) มีผู้เข้าชมมิวสิควิดีโอเพลงนี้แล้วถึง 30 ล้านครั้ง
6. I'll Do It How You Like It (2565)
“I'll Do It How You Like It” ซิงเกิ้ลล่าสุดของ “พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” ที่สร้างความฮือฮาด้วยเทรนด์แฟชันแบบไม่ระบุเพศ (Gender Fluidity) จน #PPKritDoItOUTNOW สามารถติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยในเวลาไม่นาน และมียอดเข้าชมผ่าน 1 ล้านครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.) มีผู้เข้าชมมิวสิควิดีโอเพลงนี้แล้วถึง 10 ล้านครั้ง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานตลอดระยะเวลา 12 ปีของ “นาดาว บางกอก” เท่านั้น แม้ว่า นาดาว บางกอกจะปิดตัวลงไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่ผลงานที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ไอเดียใหม่ ๆ และความละเมียดละไมยังคงจะอยู่ในใจของผู้ชมตลอดไป และเฝ้าติดตามผลงานจากทีมผู้สร้าง ศิลปิน และนักแสดงที่มีต่อไปในอนาคต
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวม (ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค. 2565)
กราฟิก: วราภรณ์ คำสม