มอง "เปิดเทอมใหญ่” ผ่าน “ชุดนักเรียนใหม่” และ "ของแถม" พ่วงรองเท้าที่หายไป
เล่าเรื่อง “เปิดเทอมใหญ่” ครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงผ่านบรรยากาศการซื้อชุด “นักเรียนใหม่” พร้อมย้อนวันวานถึงของแถม “รองเท้านักเรียน” และอีกสารพัดโปรโมชั่นที่มักทำการตลาดคู่กับอุปกรณ์การเรียนในวันใกล้เปิดเทอม
เปิดเทอมใหญ่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 จะเป็นการเปิดเรียนแบบ On-Site เต็มรูปแบบ 100% ทุกระดับชั้น ภายหลังโควิด-19 ทำให้โรงเรียนต้องสลับการเรียนแบบ On-Site และ Online ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่าการเปิดเรียนเต็มรูปแบบซึ่งทำให้นักเรียนสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้อีกครั้ง แถมยังส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง อาทิ ชุดนักเรียน รองเท้านักเรียน ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2565 นี้ อาจเพิ่มขึ้นประมาณ 2.0% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 26,900 ล้านบาท
ภาพความคึกคักในวันใกล้เปิดภาคเรียนที่เราคุ้นตาแต่ห่างหายไปในช่วงที่ต้องเรียน Online เป็นส่วนใหญ่
- ซื้อใหม่ ซื้อน้อย ซื้อที่จำเป็น
วรินท์น่า นิธิสำราญรัตน์ ผู้ปกครองซึ่งมีบุตรเตรียมจะเปิดเทอมในระดับประถมศึกษา 2 คน ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ว่า รู้สึกดีใจที่โรงเรียนจะกลับมาเปิด On-Site อีกครั้ง แต่ก็ต้องรอต่อไปว่าจะมีการปิดเรียนอีกหรือไม่ ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ส่งผลถึงการซื้อของใช้ เบื้องต้นก็จะซื้อเท่าที่จำเป็นไปก่อน เช่น จากเดิมที่ต้องซื้อชุดใหม่ 3 ชุดก็จะเหลือสัก 1-2 ชุด หรือสำหรับลูกสาวคนโตที่ต้องมีชุดเนตรนารีสมุทรก็จะใช้ของเก่าไปก่อนเพราะถึงจะค่อนข้างเล็ก แต่ก็ใส่แค่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
“สังเกตว่าเปิดเทอมครั้งนี้คึกคักขึ้น ในกลุ่มไลน์ผู้ปกครองก็มีการแชร์ร้านขายเสื้อผ้านักเรียน แตกต่างจากเปิดเทอมครั้งที่แล้วซึ่งเงียบมาก เพราะเรียนออนไลน์เป็นหลัก แต่ถึงแบบนั้นก็คงซื้อเท่าที่จำเป็น เพราะไม่รู้ว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากการเปิดเทอมเต็มรูปแบบแล้ว”
เช่นเดียวกับการสำรวจพื้นที่ย่านบางลำพู และห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า สิ่งของใหม่ๆ อย่างเสื้อผ้า รองเท้า เข็มขัด เป็นสิ่งที่เลี่ยงการซื้อใหม่ไม่ได้ เพราะเด็กมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็คงซื้อเท่าที่จำเป็น เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก และสถานการณ์โควิด-19 ในอนาคตก็ไม่รู้จะเป็นเช่นไร
บรรยากาศการซื้ออุปกรณ์การเรียนที่ย่านบางลำพู กรุงเทพฯ
บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยก่อนถึงวันเปิดภาคเรียน
- ผู้ประกอบการมองดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังแค่ครึ่งจากปกติ
วิษณุ วงศ์วีระนนท์ชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.ซี.เอส. สปอร์ตสแวร์ ผู้ผลิตรองเท้านักเรียนแบรนด์ Breaker, Popteen และ Catcha ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ยอดขาย ปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับสถานการณ์ปกติที่ยังไม่มีโควิด-19 ก็เทียบเท่าประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น
วิษณุ วงศ์วีระนนท์ชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.ซี.เอส. สปอร์ตสแวร์
ตลอดสถานการณ์โควิด-19 ที่การเรียนส่วนใหญ่ต้องอยู่ในรูปแบบออนไลน์นั้น บริษัทได้รับผลกระทบ แต่ถึงเช่นนั้น ก็ได้ ออกสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช้รองเท้านักเรียนมารองรับธุรกิจเอาไว้ เช่น รองเท้าฟุตซอล รองเท้าผ้าใบต่างๆ ซึ่งใช้ได้หลายโอกาสไม่ใช่เพียงแค่สำหรับนักเรียน
“ถ้าถามว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดตลอดการเปิดเทอมในช่วงโควิด-19 ก็ต้องบอกว่าเป็นรองเท้านักเรียนเด็กอนุบาลที่ก่อนหน้านี้ไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก และผู้ปกครองก็ไม่ได้ให้ไปโรงเรียน ดังนั้นจึงกระทบส่วนนี้มาก แต่ก็เป็นสัดส่วนจากการขายรวมที่น้อยอยู่”
สำหรับการตลาดในช่วงเปิดเทอมนั้น วิษณุ กล่าวว่า ได้ทำการตลาดแบบ 360 องศา ทั้งออฟไลน์ อย่างโฆษณาโทรทัศน์ หรือป้ายแบนเบอร์หน้าร้านค้าตัวแทนจำหน่ายโดยในเรื่องออนไลน์บริษัททำทั้งเรื่องการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำ ตลอดทุกช่องทาง ทั้ง Facebook IG Tiktok Youtube และร้านค้าบนแพลตฟอร์มที่ผู้ซื้อคุ้นเคย
“อย่างตอนนี้ใน TikTok มีกระแสของรองเท้า Popteen กับ Catcha ที่ลูกค้านักเรียนผู้หญิงแข่งกันอวดตัวล็อคว่าของฉันเป็นรองเท้าเจ้าหญิง บางคนเอาไปตกแต่งเพิ่มเอามาอวดกันใน ถือว่าเป็นการ ประชาสัมพันธ์แบบที่ลูกค้าบอกต่อๆกันเอง แบบใหม่ ที่เราต้องคอยอัพเดทกันอยู่ตลอด โปรโมชั่นอื่นก็เช่น เราก็มีจัดลดราคาสินค้าที่ร้านค้า และค่าจัดส่งฟรีสำหรับออนไลน์ เป็นช่วงๆ ไป”
- ของแถม “รองเท้านักเรียน” ที่หายไป
สำหรับผู้ปกครองบางรายที่เติบโตในยุค Gen-X ตอนปลาย และ Gen-Y การเปิดภาคเรียนครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่พวกเขารับหน้าที่เป็นผู้ปกครองของเด็กที่กำลังเข้าเรียนใหม่ และสิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มนี้นึกถึงคือบรรยากาศการซื้ออุปกรณ์การเรียนในอดีต ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มักมีโปรโมชั่นเป็นของแถมพ่วงเพื่อล่อใจเด็กและผู้ปกครอง
โดยเฉพาะรองเท้านักเรียนในหลากหลายแบรนด์ ซึ่งในช่วงยุค 90’ จนถึง 00’ ถือเป็นช่วงที่พีคที่สุด เกิดเป็นกระแสที่เกือบทุกแบรนด์ต้องแข่งขันกันให้มี “ของเล่นแถมรองเท้า” อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้กลับไม่มีอีกแล้ว
ตัวอย่างของเล่นที่ถูกแถมในอดีต ภาพจาก pantip
วิษณุ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.ซี.เอส. สปอร์ตสแวร์ ให้ข้อมูลว่า กระแสนิยมของการมีของแถมค่อยๆ เลิกไปเมื่อสิบปีก่อน เนื่องจากหลายแบรนด์มองว่าเป็นต้นทุนที่แฝงการขาย ขณะที่ของเล่นเหล่านั้นในปัจจุบันหาซื้อได้ในราคาไม่สูงนัก โดยเฉพาะการมีแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ที่สามารถสั่งของเล่นในแบบเดียวกันนี้จากต่างประเทศ
“ปัจจุบันการแข่งขันด้วยการขายของแถมพ่วงไม่มีอีกแล้ว เพราะคงไม่มีใครอยากซื้อของแพงขึ้นและพ่วงไปกับของเล่นที่หาซื้อได้ไม่ยาก ดังนั้นผู้ผลิตส่วนใหญ่เอาต้นทุนตรงนั้นมาวิจัยและพัฒนารองเท้าให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ตอบโจทย์โดนใจลูกค้ามากขึ้นดีกว่า เช่น ในแบรนด์ป๊อบทีนเราพยายามคิดทำตัวล็อคเป็นรูปหัวใจน่ารัก ดึงดูดให้นักเรียนผู้หญิงชอบ หรือ Breaker ก็ออกมาหลายรุ่น ที่สามารถใส่พื้นให้หนึบขึ้นเพื่อเลิกเรียนแล้วไปเตะบอล ได้ด้วยรองเท้าคู่เดิม”
ในยุคปัจจุบัน ที่กลุ่มคน Gen-Y และ Gen-X เปลี่ยนสถานะจาก "ลูก" เป็น "พ่อแม่" ของแถมพ่วงรองเท้าจึงกลายเป็นความทรงจำให้นึกถึง
เหลือเพียงแค่ เปิดเทอมใหญ่ และสีสันของการซื้ออุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้าใหม่ๆ ที่จะผ่านมากี่ปีก็ยังเหมือนเดิม
ภาพโดย ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์