”ไวน์บาโรโล” "ไวน์แดง" แห่ง “บาโรโล” หมู่บ้านที่พูดภาษาไวน์
“ไวน์บาโรโล” "ไวน์แดง" แห่งบาโรโล เข้ามาเมืองไทยกว่า 30 ปีแล้ว แต่คนไทยเพิ่งนิยมกันประมาณไม่ถึง 20 ปี เมื่อเทียบกับ “ไวน์อิตาลี” ด้วยกันอย่าง “เคียนติ” (Chianti)
พูดถึง ไวน์บาโรโล (Barolo) คนไทยรู้จักน้อย ไม่เท่ากับไวน์เคียนติ ที่เราคุ้นเคยกันมากกว่า และประกอบกับคนไทยยังติดอยู่กับไวน์ฝรั่งเศส
ขณะที่ตูรินหรือโตริโน (Turin / Torino) เมืองหลวงของแคว้นเพียดมอนต์ หรือปิเอมอนเต้ (Piedmont / Piemonte) แหล่งกำเนิดของ ไวน์บาโรโล นั้น คนไทยวัยเลข 5 ขึ้นไปจะรู้จักกันดี
ปราสาทฟัลเลติ ที่เป็นพิพิธภัณฑ์ไวน์ในหมู่บ้านบาโรโล
ที่รู้จักเพราะเมื่อหลายปีก่อน หลายคนเคยใช้รถยี่ห้อดัง ๆ อย่าง เฟียต (Fiat) แลนชิอา (Lancia) และ อัลฟา โรเมโอ (Alfa Romeo) ทั้งหมดผลิตที่นี่ ซึ่งได้ชื่อว่า ดีทรอยต์แห่งอิตาลี
บาโรโล เป็นหมู่บ้านหรือคอมมูน (Comune / Municipality) เล็ก ๆ มีพื้นที่ประมาณ 5.6 ตร.กม. มีพลเมืองประมาณ 800 คน อยู่ในจังหวัดคูเอโน (Cuneo) ห่างจากตูริน 50 กม. เป็นเขตผลิตไวน์ที่สำคัญของอิตาลี กลางหมู่บ้านมี ปราสาทฟัลเลตติ (Castello Falletti) และเป็น พิพิธภัณฑ์ไวน์ ด้วย
เขตผลิตไวน์ในบาโรโล
บาโรโล ครอบคลุมพื้นที่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบลอัลบา (Alba) ประกอบด้วยตำบลและหมู่บ้านที่อยู่ตามแนวเนินเขาลังเก (Langhe) 11 เขต เป็นดีโอซี (DOC) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1966 ก่อนจะได้ดีโอซีจี (DOCG) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1980 พร้อมกับเขตบาร์บาเรสโก (Barbaresco)
ส่วนหนึ่งของไวน์บาโรโล
การผลิต ไวน์แดงบาโรโล (Barolo) อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ ดิ ตูเตลา บาโรโล บาร์บาเรสโก อัลบา ลังเก เอ โรเอโร (Consorzio di Tutela Barolo Barbaresco Alba Langhe e Roero) ที่บัญญัติขึ้นเมื่อปี 1980 มีข้อกำหนดประมาณ 5-6 ข้อ ที่สำคัญ เช่น ต้องใช้องุ่นแดงเนบบิโอโล (Nebbiolo) 100 %
เขตผลิตไวน์เพียดมอนต์
นอกจากนี้ ไวน์บาโรโล ต้องผลิตใน 11 ตำบล (Provincia) ในเขตเมืองคูเนโอ (Cuneo) คือลา มอร์รา (La Morra) บาโรโล (Barolo) คาสติโยเน ฟัลเลตโต (Castiglione Falletto) แซร์ราลุงกา ดัลบา (Serralunga d'Alba) มอนฟอร์เต ดัลบา (Monforte d'Alba) กรินซาเน คาวัวร์ (Grinzane Cavour) โนเวลโล (Novello) แวร์ดูโน (Verduno) ดิอานา ดัลบา (Diano d'Alba) เคราสโก (Cherasco) และร็อดดิ (Roddi) เป็นต้น
ผู้ผลิต ไวน์บาโรโล มีแนวคิดในการผลิตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมเรียกว่า เทรดิชันแนลลิสต์ (Traditionalists)
องุ่นเนบบิโอโลที่ใช้ผลิตไวน์บาโรโล
ส่วนอีกกลุ่มใช้วิธีการผลิตแบบใหม่เรียกว่า โมเดิร์นนิสต์ (Modernists) ทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีความแตกต่างกันมากพอสมควร นำมาสู่ สงครามบาโรโล (Barolo wars) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา ประเด็นหลักคือ...วิธีไหนจะดีกว่ากัน ? ท้ายที่สุดผู้ดื่มนั่นเองจะเป็นผู้ให้คำตอบ...
ไร่ไวน์ในแคว้นเพียดมอนต์
มา บาโรโล ถ้าไม่แวะเยือน มาร์เคซี ดี บาโรโล (Marchesi di Barolo) ของตระกูลแอ็บโบนา (Abbona) ถือว่าไม่ถึงบาโรโลอย่างแท้จริง เพราะเขาเป็นต้นกำเนิดของการผลิตไวน์บาโรโล และยึดแนวทางแบบดั้งเดิมหรือเทรดิชันแนลลิสต์ เจ้าของน่ารักมากชอบเมืองไทยและมาเมืองไทยหลายครั้ง ไวน์ของเขามีขายในบ้านเราหลายรุ่น
ตระกูล Abbona
มาร์เคซี ดี บาโรโล (Marchesi di Barolo) ก่อตั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันบริหารโดยตระกูล Abbona และยังคงดำเนินกิจการแบบครอบครัว ในเซลลาร์ยังมีไวน์วินเทจเก่า ๆ เก็บอยู่มากมาย วินเทจเก่าสุดคือ 1859 ผมไปยืนน้ำลายไหลข้าง ๆ ขวดมาแล้ว !
ไวน์เก่าแก่ในเซลลาร์ Marchesi di Barolo
ไวน์กับฟุตบอล เกี่ยวข้องกันอย่างไร เมื่อ ยูเวนตุส (Juventus) พลาดแชมป์ฟุตบอลโคปปา อิตาเลีย ฤดูกาล 2021-22 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งการแข่งรอบนี้เป็นการลุ้นแชมป์รายการสุดท้าย ของสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเมืองตูริน (Turin) เท่ากับพวกเขาไม่มีถ้วยแชมป์ใหม่เข้ามาประดับตู้เลย !
ขณะที่สโมสรโตริโน (Torino) ทีมร่วมเมือง ก็ดิ้นรนหนีการตกชั้น นับเป็นเรื่องเศร้าจริง ๆ สำหรับชาวตูริน
ไวน์บาโรโลรุ่นนี้มีขายในเมืองไทย
ขณะที่แฟน ยูเวนตุส ในเมืองไทยบอกว่า ไวน์ ที่เตรียมไว้ฉลองกร่อยไปนิด แน่นอนไวน์นั้นจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก ไวน์บาโรโล
ตอนนี้หลายประเทศเริ่มเปิดให้เที่ยวแล้ว ใครอยากไปชิม ไวน์แดง ของอิตาลี โดยเฉพาะที่ หมู่บ้านบาโรโล มีคำกล่าวว่าคนที่เดินทางไปถึง บาโรโล นั้นไม่พูดภาษาอื่น นอกจาก ภาษาไวน์ จริงหรือไม่
ไวน์เทสติ้งบนปราสาทฟัลเลตติ
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย ท่านที่มีโอกาส เชิญไปพิสูจน์กัน แต่ถ้าโอกาสยังมาไม่ถึง ก็หา ไวน์บาโรโล ในบ้านเราคุยกันไปพลาง ๆ...