“กอบศิษฏ์ สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ"ซีเกมส์" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ"ซีเกมส์" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

เรียนรู้ชีวิตของเจ้าของฉายา “จ่าโดก” “กอบศิษฏ์ สิทธิชัย” เจ้าของเหรียญทองกระโดดสูงชาย ซีเกมส์ครั้งที่ 31 คนหนุ่มจากจังหวัดพัทลุงที่ชีวิตเรียนรู้ สมหวัง ผิดพลาด และเติบโตจากกีฬากระโดดสูง

ซีเกมส์ครั้งที่ 31 เพิ่งผ่านพ้นไป พร้อมกับความสำเร็จของสมาคมกรีฑาไทย และในจำนวนนั้นมีเหรียญทองประวัติศาสตร์จากการแข่งขันกระโดดสูงชาย

 “กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เป็นผู้สร้างเซอร์ไพรส์ หลังทำสถิติกระโดดได้ที่ความสูง 2.21 เมตร เฉือนชนะ นอราช ซิงห์ รันธวา อดีตแชมป์ 3 สมัยซ้อนจากมาเลเซีย

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

“เอาจริงๆ นะพี่ ก่อนไปแข่งผมก็ไม่มั่นใจหรอกนะว่าจะทำได้ เพราะค่าเฉลี่ยความสูงที่ดีที่สุดก่อนหน้านั้นก็จะราวๆ 2 เมตร 15 ตอนลงซ้อมก็ยังทำได้บ้างไม่ได้บ้าง คิดว่าเอาวะ! กระโดดให้ดีที่สุดเท่านั้น แต่พอกระโดดได้ เฮ้ย! โดดผ่านวะ สะใจ สะใจมากๆ ดีใจ ถอดเสื้อ จนกรรมการมาเตือน ก็บอกเขาไปว่าซอรี่ ซอรี่ (Sorry) เดี่ยวเขาจะปรับฟาล์ว”

หลังจากได้เหรียญทองซีเกมส์ สิ่งที่ กอบศิษฏ์  ทำ คือการวิ่งแก้บนในช่วงค่ำ รวมระยะทางจากสนามแข่งขันถึงโรงแรมที่พักกว่า 8 กม. นั่นเพราะก่อนแข่ง 1 วัน เขาดันไปพูดลอยๆ ระหว่างการนวดคลายกล้ามเนื้อว่า “หากโดดได้ 2เมตร 20 จะวิ่งกลับจากสนามแข่งไปยังโรงแรม” ซึ่งเมื่อคลิปวิ่งแก้บนกลายเป็นข่าว ความรู้สึกดีใจจากประเทศเวียดนามก็ส่งผ่านมายังประเทศไทยให้ใครหลายคนได้ทักทาย

โดยเฉพาะเพื่อนๆ จาก จ.พัทลุง ที่ต่างแซวผ่านคีย์บอร์ด ด้วยถ้อยคำว่าที่ว่า “โดดรั้วโรงเรียน เก่งกว่านี้” หรือไม่ก็เป็น“วันนี้ นายทำได้จ่าโดก”และอีกสารพัดถ้อยคำที่แสดงว่า นักกีฬาวัย 23 ปี คนนี้ไม่ธรรมดา ทั้งชีวิตนอกสนามซ้อม วงน้ำชา และวีรกรรมในรั้วโรงเรียน

เด็กหนุ่มจาก ต.บ้านนา อ. ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง คนนี้ และเหรียญทองในมหกรรมกีฬาแห่งอาเซียน เบื้องหลังความสำเร็จคืออะไร?

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

ภาพความสะใจของกอบสิทธิ์ ตอนได้เหรียญทองกีฬาซีเกมส์ ภาพจากเฟสบุ๊ค กอบศิษฏ์  สิทธิชัย

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

  • กรีดยาง ขี่มอเตอร์ไซค์ ผมนึกตัวเองไม่ออกถ้าไม่มี “กระโดดสูง”

กอบศิษฏ์  มีชื่อเล่นอย่างเป็นทางการว่า “อ๊อฟ” แต่ชื่อที่ถูกเรียกบ่อยครั้งกว่าคือชื่อที่ว่า “จ่าโดก

“โดก” เป็นคำเรียกแบบภาษาถิ่นภาคใต้ที่แปลว่า “กระดูก” นั่นเป็นเพราะ กอบศิษฏ์  ตัวสูงผอม การเรียกว่า “โดก” ก็เปรียบไม่ต่างจากคำว่า “สูงโย่ง” ในภาษาไทยภาคกลาง

“ส่วนคำว่า ‘จ่า’ ก็เหมือนกับคำเรียก ทำอะไรเชยๆ ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก็จะโผล่มาทุกที่ แบบว่า เฮ้ย! จ่าโดกมาอีกแล้ว เหมือนเป็นคำเรียกของคนวีรกรรมเยอะ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเรียกผมว่าจ่าโดกเพราะอะไร แต่ก็เหมือนสังคมไทยที่มักเรียกคนมีความรู้ คนเก่ง ว่าอาจารย์ ทั้งที่ไม่ได้เป็นครู แต่ผมไม่ใช่อาจารย์โดกที่เก่งไง เป็นจ่าโดก ที่ใครๆชอบแซว ทำอะไรบ้าๆ เพี้ยนๆ ไปอยู่ในทุกๆ วง คนเขาจึงเรียกผมว่าจ่าโดก จ่าโดก”

ชีวิตในวัยเด็ก ของ กอบศิษฏ์  ก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กใต้ทั่วๆไป ตื่นแต่เช้ามืดช่วยแม่กรีดยาง ขับรถมอเตอร์ไซค์ร่อนไปร่อนมา ล้อมรอบด้วยเพื่อนผู้ชาย ไม่เรียนหนังสือแต่ไม่ถึงขนาดเกเรติดยาเสพติด ถึงกระนั้นจุดเปลี่ยนชีวิตก็น่ามาจากครูพละท่านหนึ่งเห็นว่ารูปร่างสูง จึงชวนให้มาเล่นกีฬากระโดดสูง

 

“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระโดดสูงคืออะไร แต่ก็ดีใจที่มีคนชวน ก็เป็นวันนั้นที่ได้เล่นกีฬาเป็นเรื่องเป็นราว เริ่มตั้ง ป.4 แต่ก็ยังเด็กมากยังเล่นกับเพื่อน ใช้ชีวิตเหมือนเดิม แค่ต้องมีการซ้อมบ้าง แล้วก็แข่งมาเรื่อย ติดเหรียญบ้าง ไม่ติดบ้าง”

บ้าน โรงเรียน สวนยาง ชีวิตของ กอบศิษฏ์ มีเพียงเท่านั้น แต่เพราะเป็นกีฬากระโดดสูงนี่แหละ ที่ทำให้เด็กหนุ่ม ได้เผชิญโลกกว้าง ได้เข้ากรุงเทพฯ ได้เดินทางทั่วประเทศ เขากระโดดมาเรื่อยๆ แบบไม่คิดอะไรมาก จากประถมสู่มัธยม จากการแข่งขันระดับจังหวัด มาเป็นระดับภูมิภาค แล้วค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ระดับประเทศ ซึ่งกอบสิทธิ์ ยืนยันว่า เขาไม่เคยแน่ใจสักครั้งว่า การแข่งขันในแต่ละทัวร์นาเมนต์สำคัญอย่างไร เพราะสิ่งที่เขารู้มีเพียงกระโดดให้ดีที่สุด สูงที่สุด เพราะถ้าทำได้ ครูก็จะดีใจ พ่อแม่ก็จะได้หน้าได้ตา

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

“ผมแค่ออกไปกระโดด กระโดดให้ดีที่สุด เวลาทำได้ดี ก็รู้ว่าจะมีคนยินดี ทุกๆครั้งก็จะโทรบอกแม่ พ่อแม่ก็ดีใจ มีวันหนึ่งหลังแข่งเสร็จ ตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.6 มีคนในสมาคมกรีฑาเอาใบกรอกประวัติมาให้เขียน เพื่อไปแข่งที่มาเลเซีย ก็รู้เลยว่าวันนั้นติดทีมชาติแล้ว ได้ไปแข่งในนามตัวแทนประเทศไทย”

“รีบโทรบอกพ่อแม่ ทุกคนดีใจมาก กลับไปโรงเรียนนี่บอกกับเพื่อนทุกคน โม้กับทุกๆคนที่รู้จัก บอกเพื่อนว่ากูติดทีมชาติแล้วนะ คืออยากให้เข้าใจว่า ผมเป็นเด็กเกรเรนะ ไม่ได้ดีอะไรมากมาย อยู่ในวงเหล้ากับเพื่อน ไปตามร้านน้ำชา ไม่เรียนหนังสือเลยสักนิด แต่เราทำสิ่งนี้ได้ ก็เป็นความภูมิใจ ตื่นเช้ามาวิ่ง ซ้อม กินข้าว นอน ซ้อม ชีวิตมีอยู่แค่นั้น”

  • ซ้อมทั้งปี เพื่อเสี้ยวนาทีของการกระโดด

ถ้าคุณเล่นฟุตบอล เวลา 90 นาทีคือช่วงเวลาของการแสดงฝีมือ หรือถ้าคุณเป็นนักวิ่ง 100,200,400 เมตร คือระยะทางที่จะเป็นเครื่องพิสูจนว่าการซ้อมวิ่งหลายสิบหลายร้อยกิโลที่ซ้อมมา ผลลัพธ์มีหน้าตาเป็นอย่างไร

กระโดดสูง” ก็มีกติกาและการพิสูจน์ในแบบของตัวเอง ไม่มีใครสนใจหรอกว่าในตอนซ้อมคุณจะลอยตัวบนอากาศได้นานขนาดไหน ไม้พาดจะตกเพราะกระทบกับแผ่นหลังไปกี่ร้อยครั้ง หลักฐานความสำเร็จมีแค่ว่า กระโดดให้สูงที่สุด ในจำนวนครั้งที่น้อยที่สุด

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

“มันเป็นกีฬาที่ซ้อมทั้งปี แต่ระหว่างที่แข่งขัน ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละรอบมันไม่ได้ยาวนานครับ มันจึงมีความรู้สึกว่าทำไมวันนี้ โดดไม่ได้ ไม่ใช่วันของเรา หรือว่า เฮ้ย! วันนี้มาวะ วันของกู กูโดนได้นี่หว่า”

กอบศิษฏ์ บอกว่า เมื่อกระโดดสูงให้โอกาส เขาก็รักกีฬานี้สุดหัวใจ และความสุขของการกระโดดคือการลอยตัวแล้วลงสู่เบาะ โดยที่ยังพบว่า ไม้พาดยังอยู่ดี และเมื่อนั้นคือความสะใจ ที่ความคาดหวังของทั้งปีถูกสลัดทิ้งไป

“ความสุขมันคือ รู้สึกสะใจ เวลาดูคลิปคนได้แชมป์โลก เวลาโดดได้เขาจะฉลองมีความสุข ผมก็อยากทำบ้าง โดดผ่านก็สะใจ ตอนซีเกมส์มันหลุดไปหมดครับ กรรมการก็เข้ามาเตือนว่าทำแบบนี้ไม่ดีนะ มันไม่เคารพคนแข่งขัน เสียมารยาท ผมก็ขอโทษไป เพราะช่วงนั้นมันสะใจจริงๆ” จ่าโดกพูดถึงโมเมนต์การฉลองซีเกมส์ที่เวียดนาม ที่เขาถอดเสื้อกระโดดไปมาด้วยความดีใจ และเป็นภาพที่สื่อกีฬาทั่วอาเซียนเก็บเป็นโมเมนต์หนึ่งของการแข่งขัน

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง แข่งขันเก็บประสบการณ์ภายในประเทศ

  • ฟอร์มไม่คงที่ จิตใจว้าวุ่น จดหมายที่ท้อแท้

แน่นอนว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ เพราะย้อนกลับไปเมื่อซีเกมส์ครั้งก่อนหน้า ที่ประเทศฟิลิปปินส์ อ๊อฟ-กอบศิษฏ์  ทำได้แค่ที่ 4

“ครั้งนั้นเป็นซีเกมส์ครั้งแรกครับ ไม่เคยบอกใครเท่าไรว่าตัวเองผิดหวัง แต่พอรู้ว่าไม่ติดเหรียญ กลับเข้าห้อง เงียบ ไม่คุยกับใครเลย ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะวันนั้นมันกระโดดได้แค่นี้”

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

กอบศิษฏ์  ยอมรับว่า ปัญหาของเขาคือการเล่นที่ฟอร์มไม่คงที่ และแม้จะจริงอยู่ที่กระโดดสูงมีวันของใครของมัน แต่การเป็นนักกีฬาที่ยกระดับตัวเองได้ นั่นหมายความว่า เขาต้องรักษาฟอร์มให้คงที่ที่สุด เช่นเดียวกับนักกีฬาชั้นนำของเอเชีย ญี่ปุ่น จีน ที่ก้าวเข้าสู่ระดับสากล

“มันไม่มีสมาธิเลยครับ ก่อนไปแข่งมีปัญหา กระโดดไม่ได้ เครียด นอนไม่ค่อยพอ พอทำไม่ได้ กระโดดไม่ได้ ก็ยิ่งเครียดอีก ไม่มีกะจิตกะใจ ตอนไปแข่งก็พยายามไม่ได้คิดอะไร ทำสมองโล่ง ไม่มีกะจิตกะใจ ก็โดดไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำไม่ดีพอ”

ซีเกมส์ครั้งที่ 30 ที่ผลงานไม่เข้าตาแล้ว แต่ที่เป็นบทเรียนของ กอบสิทธิ์ มากที่สุดคือกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 เมื่อ 5-25 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขามองว่า ไม่ต่างอะไรจากการถูกตบหน้าฉาดใหญ่

ครั้งนั้นเป็นการแข่งกีฬาระดับประเทศ และแน่ว่าเมื่อเป็นถึงดีกรีทีมชาติ กอบสิทธิ์ ก็ทำตัวสบายเกินไป ประมาท เพราะคิดว่าเมื่อแข่งกับเด็กเขาไม่มีอะไรต้องกังวล

“ผมแอ๊คเลยตอนนั้น คิดว่าตัวเองเหนือกว่า โตกว่า ทำเป็นเท่ คนอื่นเริ่มโดดที่ 1.7-1.9 เมตร ผมไปนอนรอที่ 2 เมตรเลย กะว่าจะข่ม จะขู่เด็ก กูทีมชาตินะ พวกมึงนะเด็ก แต่พอโดดจริง มันไม่ง่ายอย่างที่คิด”

“วันนั้นเริ่มกระโดดที่ 2 เมตร 2 ผมโดดผ่าน เด็กก็โดดผ่าน พอเขยิบไปที่ 2 เมตร 6 คราวนี้ผมโดดไม่ผ่านครั้งแรก แต่เด็กมันโดดผ่าน ก็เอาแล้ว ข้างในมันรวนไปหมด พยายามจะฮึดแต่โดดเท่าไรก็ได้แค่นั้น ทำเท่าไรก็ไม่ได้ สุดท้ายก็สู้ไม่ได้ ได้แค่เหรียญทองแดงกลับมา พร้อมความอับอายว่าเราโดดแพ้เด็ก”

“มันก็เป็นความเครียดสะสม กลับมาที่ห้องนั่งคนเดียวจำได้ว่าร้องไห้ หยิบสมุดมาบันทึก บรรยายความรู้สึกตัวเอง เพราะความสูงที่เขากระโดดได้กัน ผมทำได้ตั้งแต่ ม.6 แต่วันนี้ความสูงแค่นั้นทำไมผมกระโดดไม่ได้สักที เมื่อรวมกับความล้มเหลวก่อนหน้าก็คิดว่าทำไมมันยากเย็น กลายเป็นว่าผมพัฒนาตัวเองได้แค่นี้”

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง จดหมายที่เขาเขียนไว้เตือนตัวเอง ภาพจากกอบศิษฏ์  สิทธิชัย

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

  • โปรเจคเตอร์จอใหญ่และการเกิดใหม่ที่เวียดนาม

เพราะด้วยผลงานเก่าๆ ที่เคยทำไว้ ท้ายที่สุด กอบศิษฏ์  ก็ได้ไปลงแข่งในซีเกมส์ครั้งล่าสุด

“ผมก็ไม่รู้ว่าสมาคมฯ คาดหวังกับผมไหม แต่รอบนี้ผมเตรียมตัวของผมมา หลายครั้งที่ผมรอให้คนอื่นกลับบ้าน แล้วซ้อมเอง เล่นกล้ามท้อง ซ้อมกระโดด ทำทุกอย่าง ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ และผมก็แอบหวังของผมคนเดียวว่าหนนี้น่าจะติดเหรียญ”

ถึงเช่นนั้น สำหรับกีฬากระโดดสูง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของนักกีฬาไทย กอบศิษฏ์  เล่าว่า สำหรับกลุ่มนักกีฬา ต่างคนก็จะตาม Instagram  ของกันและกันเพื่อดูว่าอีกฝ่ายเคลื่อนไหวไปถึงขนาดไหน เช่น เขาตาม IG นักกีฬาของสิงคโปร์ซึ่งเคยแข่งในรายการหนึ่งซึ่งกระโดดได้ 2.20 เมตร ขณะที่เจ้าภาพเวียดนามก็ฟอร์มกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แถมตัวเก็งจากมาเลเซียก็เพิ่งไปแข่งโอลิมปิกมาครั้งล่าสุด

“ฉิบหายแล้ว แต่ละคนดีๆทั้งนั้น ก็กลัวเหมือนกัน ลงเครื่องที่เวียดนาม ก็ซ้อมมาตลอด จนวันก่อนแข่งนี่แหละ ที่พูดลอยๆว่า ถ้าผมโดดได้ 2เมตร 20 ผมวิ่งกลับโรงแรมเลย”

“ถามว่ากดดันไหม ก็กดดันครับ ก็ไม่อยากพลาด แถมก่อนแข่งแม่ยังโทรมาบอกว่า วันนี้กูไม่ได้นั่งดูกับพ่อมึงแค่ 2 แล้วนะ ตอนนี้พวกผู้ใหญ่บ้าน นายกฯ (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เขารู้เรื่องแล้วว่า มีเด็กในจังหวัดได้ไปแข่งซีเกมส์ เขาจะเอาโปรเจคเตอร์มาฉายที่หน้าบ้านเรา พวกคนแถวนี้เขาจะมาดูกันที่หน้าบ้าน”

“ผมฟังแม่แล้วก็ได้แต่ซีดปาก แบบนี้ยิ่งกดดัน ถ้าแพ้แม่ผมต้องขายหน้า แต่อะไรจะเกิดก็เกิด พรุ่งนี้ต้องเป็นวันของผม”

จนในที่สุดก็อย่างที่เป็นข่าว จ่าโดก- กอบศิษฏ์  ทำได้ และเมื่อพื้นหลังแตะกับพื้นเบาะ โดยที่ไม้พาดไม่ได้ตกลงมา ความรู้สึกกดดันที่แบกมาตลอดปี ก็ถูกปลดเปลื้องไป จนเป็นที่มาของการดีใจ แบบบ้าคลั่ง ตามที่เป็นข่าว

“ผมลืมตัวไปชั่วขณะ” กอบศิษฏ์  บอกแบบนั้น และเขาก็สรุปบทเรียนในช่วง 1-2 ปีนี้ว่า ความผิดหวัง และความว้าวุ่นในใจนี่แหละ ที่สอนให้เขาเติบโตขึ้น

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง บรรยากาศการจัดงานฉลองเหรียญทองที่บ้านเกิด ภาพจากเฟสบุ๊คกอบศิษฏ์  สิทธิชัย

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

“ผมว่าผมเติบโตขึ้นเยอะมาก ความคิดเราโตขึ้น ได้อยู่กับตัวเอง เป้าหมายต่อไปก็อยากจะทำลายสถิติประเทศไทยของพี่โมทย์ (ปราโมทย์ พุ่มอุไร) ที่ 2.26 เมตร”

“ถ้าไม่มีกระโดดสูง ป่านนี้ผมก็ไม่รู้จะทำอะไรอยู่ คงเสเพลประมาณหนึ่ง ขี่มอเตอร์ไซค์ไปกรีดยาง นั่งร้านน้ำชา อยู่บ้านกับพ่อแม่ แต่วันนี้เมื่อประสบความสำเร็จระดับหนึ่งผมก็จะตั้งใจพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวต่อไป”

“ตอนที่พี่ทักมา เพื่อได้มาคุยวันนี้ ผมดีใจมากเลย ผมไม่เคยมีโมเมนต์แบบนี้เลยนะ โมเมนต์ที่มีคนมาสัมภาษณ์และทบทวนชีวิตในการเป็นนักกีฬา”

เป็นเพราะการกระโดดสูงแท้ๆ ที่ทำให้ผมได้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าและเติบโตขึ้น

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง

“กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง “กอบศิษฏ์  สิทธิชัย” เบื้องหลังเหรียญ\"ซีเกมส์\" การค้นพบชีวิตผ่านกระโดดสูง หลังวิ่งแก้บนจากสนามแข่งถึงโรงแรมในประเทศเวียดนาม