ย้อนตำนาน 66 ปี ศาลาว่าการ กทม. “เสาชิงช้า” ก่อนโบกมือลา สู่ “ดินแดง”

ย้อนตำนาน 66 ปี ศาลาว่าการ กทม. “เสาชิงช้า” ก่อนโบกมือลา สู่ “ดินแดง”

ย้อนประวัติ ศาลาว่าการ กทม.1 “เสาชิงช้า” ก่อนโบกมือลา ย้ายเต็มรูปแบบ สู่ “กทม.2 ดินแดง” หลัง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ยืนยันชัดเจนว่า ..ศาลาว่าการ กทม. ควรมีแห่งเดียว!

หลังจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ “ผู้ว่าฯ กทม.” คนใหม่ ประกาศเดินหน้าแผนการย้ายที่ทำการกทม. จาก “ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า” หรือที่เรียกกันว่า “กทม.1 เสาชิงช้า” ไปสู่ “กทม.2 ดินแดง” แบบเต็มรูปแบบ 100% จากที่ปัจจุบัน ผู้บริหารหลายคนของ กทม. มีห้องทำงานทั้ง 2 ที่ทำการ โดยว่าที่ ผู้ว่าฯชัชชาติ ยืนยันว่า “ศาลาว่าการ กทม. ควรมีแห่งเดียว

อย่างไรก็ตาม แผนการ “ย้ายศาลาว่าการ กทม.” ที่ชัชชาติประกาศย้ำวานนี้ (26 พ.ค.65) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่จริงถูกกำหนดไว้ในแผนหลายปีแล้ว เพียงแต่ถูกยืดเวลาออกไป ทั้งจากเหตุผลเรื่องการก่อสร้าง กทม.2 ดินแดง ที่ยืดเยื้อ ใช้เวลานานกว่าที่คิด บวกกับหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ส่งผลให้แผนการนี้ถูกพับลงไป 

แผนย้ายศาลาว่าการฯ จึงถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งหนนี้ชาว กทม. อาจต้องเตรียมโบกมือลา ศาลาว่าการฯ หลังเก่า ที่ “เสาชิงช้า” อย่างถาวร..

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนคุณผู้อ่านกลับไปย้อนวันวาน ตั้งแต่การริเริ่มก่อสร้าง ศาลาว่าการกรุงเทพฯ “เสาชิงช้า” ตั้งแต่เริ่ม “วางศิลาฤกษ์” อาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2499 นับจนถึงวันนี้ “ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า” ได้อยู่คู่กรุงเทพมหานครเกือบเต็ม 66 ปีแล้ว

จากบทความ "ก่อนจะมาเป็น ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร" ซึ่งตีพิมพ์วารสาร บางกอก economy เล่ม 11 เมื่อปี พ.ศ.2552 เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "กทม.1 เสาชิงช้า" ตึกสี่เหลี่ยมที่เชื่อมต่อกันด้วยอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนตึกใดในกรุงเทพฯ นั้น มีความเป็นมาอย่างไร เนื้อหาที่น่าสนใจ มีดังนี้ 

  • กำเนิดเทศบาลนครกรุงเทพ

เมื่อ พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกมณฑลโดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476 โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้เป็นจังหวัดและอำเภอ เป็นการยกเลิกมณฑลต่างๆ คงเหลือเพียงจังหวัดพระนคร และธนบุรีที่มีการปกครองต่างจากจังหวัดอื่นๆ ตามสภาพภูมิประเทศ และความสำคัญ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476

พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. 2479 และจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 แต่เทศบาลเริ่มเปิดดำเนินงานในวันที่ 27 พฤษภาคม 2480 โดยที่ทำการเดิมของ "กรุงเทพมหานคร" เป็นการเช่าบ้านของคุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัติ ที่ถนนกรุงเกษม เป็นสำนักงาน มีพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกเทศมนตรี คนแรก

 

ย้อนตำนาน 66 ปี ศาลาว่าการ กทม. “เสาชิงช้า” ก่อนโบกมือลา สู่ “ดินแดง”
พิธีโล้ชิงช้า ในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 222 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ที่เสาชิงช้า หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 

  • ที่มาของการย้ายเทศบาลมายังศาลาว่าการปัจจุบัน

ถัดมา พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในขณะนั้น ได้เสนอต่อรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ว่า เทศบาล ต้องการที่จะมีสถานที่ทำงานเป็นของตนเองและได้พิจารณาเห็นว่าตึกแถวรอบบริเวณตลาดเสาชิงช้า และตัวตลาดเสาชิงช้า เป็นสถานที่ที่เหมาะสมและอยู่ในย่านพระนคร จึงเหมาะในการตั้งเป็นที่ทำการของเทศบาล

ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 เทศบาลจึงได้ย้ายสำนักงานจากถนนกรุงเกษมมาตั้งที่ ตำบลเสาชิงช้า ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน

ในครั้งแรก เป็นการดัดแปลงตึกแถวเดิมเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ก่อน และได้นำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลให้ช่วยดำเนินการนำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงการคลังขายที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กับเทศบาล และในที่สุดก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้มีพระบรมราชานุมัติให้ขายแก่เทศบาลในราคา 300,000 บาท

ย้อนตำนาน 66 ปี ศาลาว่าการ กทม. “เสาชิงช้า” ก่อนโบกมือลา สู่ “ดินแดง”

  • การออกแบบศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ

ในสมัยพลเอกมังกร พรหมโยธี เป็นนายกเทศมนตรี บ้านเมืองกำลังสงบ กำลังปรับปรุงบ้านเมือง เห็นว่าที่ทำการของเทศบาลแออัดเกินไป จึงได้มอบหมายให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบศาลาว่าการเทศบาลนครกรุงเทพ ท่านเป็นสถาปนิกพิเศษที่มีผลงานมากมายในสมัยนั้น เช่น การซ่อมหมู่พระที่นั่งหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พ.ศ. 2496-2503 พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พ.ศ. 2505 พระราชอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 หน้าสวนลุมพินี ฯลฯ

การออกแบบศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ ใน พ.ศ. 2498 เป็นไปอย่างรีบด่วน เมื่อแบบเสร็จก็ประกอบหุ่นจำลองขออนุมัติสร้างจากรัฐบาล ก็ได้รับความเห็นชอบและมีการวางศิลาฤกษ์อาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ (ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ประธานในพิธี คือ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

แบบที่หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ออกแบบไว้มีลักษณะที่สำคัญคือ 

1. มีห้องประชุมสภาเทศบาลซึ่งเป็นแบบหลังคาสูงใหญ่

2. มีสัญลักษณ์ของเทศบาลนครกรุงเทพ พระอินทร์ ทรงช้างเอราวัณ

3. สถานที่ทำการของเทศบาลเป็นแบบ 4 ชั้นโยงเชื่อมเป็นรูปสี่เหลี่ยม รอบในมีลานกลางและสนามทางด้านหน้า

ชั้นล่างของอาคารเป็นที่จอดรถ เนื่องจากสถานที่ไม่พอที่จะปฏิบัติงานได้สะดวกจึงได้กั้นห้องเหล่านั้นเป็นที่ทำการและได้ต่อหลังคาดาดฟ้าเพิ่มขึ้นอีก

4. มีหอสูงตามสมัยนิยม อาคารที่อาณาบริเวณกว้างขวางมักให้มีหอสูงสำหรับสังเกตการณ์เพื่อดูแลรักษาและตรวจตราบริเวณโดยสะดวก เช่น กรมโยธาธิการก็มีหอสูงหลังคาโดม , บ้านนรสิงห์ (ทำเนียบรัฐบาล) หอสูงมียอดกลมป้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีโดม เทศบาลนครกรุงเทพมีหอสูงก็ด้วยเหตุผลดังกล่าว 

แต่ในระยะที่ได้เสนอแบบก่อสร้างเพื่อของบประมาณนั้น บ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน กำลังรัดเข็มขัด รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นควรดำเนินการเรื่องอื่นที่จำเป็นและด่วนก่อนจึงยับยั้งไว้ เสาเข็มที่ตอกไปมากมายเพื่อสร้างหอสูงนั้นก็ยังคงอยู่ใต้ดินข้างอาคารเทศบาลนครกรุงเทพ และหอนาฬิกาก็ยังไม่ได้สร้างจวบจนปัจจุบัน

ย้อนตำนาน 66 ปี ศาลาว่าการ กทม. “เสาชิงช้า” ก่อนโบกมือลา สู่ “ดินแดง”
ภาพมุมสูงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จาก google maps

อย่างไรก็ตาม ตึกรูปสี่เหลี่ยมที่ได้เปลี่ยนแปลงมาจากหุ่นจำลองเดิมด้วยความจำเป็นของบ้านเมืองที่เกิดจาก “ศิลาฤกษ์สำหรับศาลาว่าการเทศบาลนครกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2499” จนเทศบาลนครกรุงเทพได้รวมกับเทศบาลนครธนบุรีเป็น “เทศบาลนครหลวง” และประกาศคณะปฏิวัติ

ฉบับที่ 335 จัดรูปการบริหารนครหลวงเป็น “กรุงเทพมหานคร” ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2515 และกลายเป็น “ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร" ในปัจจุบัน ก็ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ตลอดมา 

ไม่ว่าจะชื่อไหนและแม้จะไม่มีหอสูงดังเจตนาที่ออกแบบไว้ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในวันนี้ก็มีความลงตัวในตัวเอง ที่มีลานกว้างด้านหน้าที่รู้จักกันดีในนาม "ลานคนเมือง" ถัดกับ "เสาชิงช้า" คู่เมืองประกอบกับทิวทัศน์โบสถ์วัดสุทัศน์ฯ ที่งดงาม เป็นมุมมองที่ดูสบายตา เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจยามเช้าเย็นและทำกิจกรรมตามอัธยาศัย อีกทั้งรายรอบด้วยย่านอาหาร

อร่อยที่มีชื่อมานาน ดึงดูดผู้คนให้แวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย และนี่คืออีกหนึ่งเล่าขานที่อยากนำมาเล่าก่อนที่ตำนานแห่งนี้ อาจจะถูกปิด หากกรุงเทพมหานครต้องย้ายที่ทำการอีกครั้งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า