"เด็กจบใหม่" เรียก "เงินเดือน" เท่าไรดี ?

"เด็กจบใหม่" เรียก "เงินเดือน" เท่าไรดี ?

4 ทริคเรียก “เงินเดือน” ใช้ได้ทั้ง “เด็กจบใหม่” และคนที่กำลังจะ “เปลี่ยนงาน” ที่ช่วยให้เสนอเงินเดือนได้เหมาะสมกับตำแหน่งงานและความสามารถได้ไม่ยากจนเกินไป

การเรียก “เงินเดือน” เป็นหนึ่งในปัญหาของ “เด็กจบใหม่” กับการสมัครงานครั้งแรก ที่ประเมินไม่ถูกว่าจะเรียกเงินเดือนเท่าไรถึงจะเหมาะสม จะเรียกน้อยขั้นพื้นฐานก็กลัวจะน้อยจนแบกรับค่าครองชีพไม่ไหว หรือต่ำกว่าศักยภาพของตัวเองที่ควรจะได้ แต่จะเรียกสูงอย่างที่ใจหวังก็เคอะเขิน กลัวจะถูกมองว่าเรียกเกินความสามารถจนถูกปัดตกไปอยู่ดี

ใครที่กำลังประสบปัญหานี้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูล พร้อมทางออกในการเรียกเงินเดือนของเด็กจบใหม่ ที่เหมาะสม และมีโอกาสคลิกเรื่องเงินเดือนกับ  องค์กรที่อยากร่วมงานแบบไม่ยากจนเกินไป

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด  หรือ  “JobDB”  ได้แนะนำการเรียกเงินเดือนของเด็กจบใหม่ยุคนี้ว่าควรเริ่มต้นได้จากหลักเกณฑ์พื้นฐาน 4 ข้อก่อนเข้ารับการสัมภาษณ์งานและเรียกเงินเดือน

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เหมาะกับเด็กจบใหม่เท่านั้น แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว และวางแผนจะสัมภาษณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ด้วยเช่นกัน

 1. เช็กฐานเงินเดือนของสายงานที่ตัวเองทำ 

เริ่มต้นที่การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับฐานเงินเดือนของสายงานที่เราตั้งใจจะไปสมัคร ว่ามีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยเท่าไร การขยับของเงินเดือนตามตำแหน่ง ตำแหน่งไหนได้เงินประมาณเท่าไรบ้าง

สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้เพราะแต่ละสายงาน แต่ละอาชีพ ล้วนมีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นหรือช่วงเงินเดือนที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมาตรฐานส่วนใหญ่ของเด็กจบใหม่เฉลี่ยประมาณ 15,000 บาท ไปถึงราว 40,000 บาท ซึ่งเมื่อเรารู้ฐานเงินเดือนในสายงานที่ทำในเบื้องต้นแล้ว จะช่วยให้มีกรอบของช่วงเงินเดือนในการเรียกเงินเดือนที่เหมาะสมได้ 

 2. ศึกษาโครงสร้างเงินเดือนขององค์กรนั้นๆ 

การเรียกเงินเดือนไม่ใช่แค่เรื่องสายงานเท่านั้น เพราะแต่ละองค์กรหรือบริษัทต่างก็กำหนดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในแต่ละตำแหน่งเอาไว้แล้ว ซึ่งก็จะเป็นไปตามโครงสร้างของแต่ละองค์กร สำหรับเด็กจบใหม่ก็จะมีระบุไว้ในแบบที่แตกต่างกัน เช่นบางบริษัทอาจเริ่มต้นที่ 15,000 บาท หรือบางบริษัทอาจเริ่มต้นให้มากกว่านั้น เช่น 20,000 หรือ 25,000 บาท

ฉะนั้น หากเราทำการศึกษาบริษัทที่เราไปสมัครงานก่อนที่จะเข้ารับสัมภาษณ์งานและเรียกเงินเดือน ก็จะช่วยให้เราระบุเงินเดือนที่ต้องการลงไปได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 3. เรียกเงินเดือนให้เหมาะความสามารถ 

การจะเรียกเงินเดือนในแต่ละครั้ง ผู้สมัครงานอาจต้องลองมองในมุมผู้ว่าจ้างดูบ้าง เช่นตั้งคำถามว่าถ้าเราเป็นผู้ว่าจ้างเราจะจ้างตัวเองในอัตราเงินเดือนต่มที่เสนอหรือไม่ ประเมินว่าความสามารถของเรานั้นมีมากพอที่ผู้ว่าจ้างอยากจะรับข้อเสนอแค่ไหน หรือทักษะของเราเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ มากน้อยเพียงใด เช่น ประสบการณ์ทำงาน ทักษะเฉพาะทาง ระดับการศึกษา ความสามารถพิเศษ ฯลฯ

ทั้งนี้ หากต้องการเรียกเงินเดือนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จะต้องนำ Job Description ของตำแหน่งนั้นมาพิจารณาว่าความสามารถของเราตรงกับเนื้องานได้ทุกข้อหรือไม่ หรืออาจจะต้องมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ หรือต้องมีความสามารถพิเศษอื่นๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ และสอดคล้องกำตำแหน่งงานที่จะทำ พร้อมนำเสนอให้ผู้ว่าจ้างมั่นใจให้ได้ว่า เราเหมาะกับเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าปกติ

 4. ระบุเงินเดือนที่ต้องการ แบบเป็นช่วงเงินเดือน 

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้การเรียกเงินเดือนดูสมเหตุสมผล ก็คือเราควรลองระบุเป็นช่วงเงินเดือนดู เช่น 18,000-20,000 บาท หรือ 20,000-25,000 บาท เพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้พิจารณาได้ง่ายขึ้น โดยระบุจำนวนขั้นต่ำที่เราพอรับได้ และระบุเงินเดือนที่สูงเอาไว้ด้วย เผื่อการสัมภาษณ์งานเป็นไปอย่างราบรื่น และผู้ว่าจ้างเห็นถึงศักยภาพของเราจริงๆ ก็อาจจะได้รับเงินเดือนมากกว่าที่หวังไว้ก็เป็นได้

------------------------------------

อ้างอิง: jobsdb