ทายาทผู้เขียนบทความ "Top Gun" ฟ้อง "Paramount" ฐานละเมิดลิขสิทธิ์
“Paramount Picture” ถูกทายาทผู้เขียนบทความที่เป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์ “Top Gun” ฟ้องร้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยอ้างว่า สตูดิโอกำลังหากำไรจาก “Top Gun: Maverick” ภาพยนตร์ดังที่กำลังเข้าฉายขณะนี้ ทั้งที่ค่ายไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทายาทของผู้เขียนบทความ “Top Guns” ที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารแคลิฟอร์เนีย (California Magazine) เมื่อปี 2526 อันเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์เรื่อง “Top Gun” ภาคแรกที่ออกฉายในปี 2529 ได้ยื่นฟ้อง “Paramount Pictures” ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในการสร้าง “Top Gun: Maverick” ที่นำแสดงโดย “ทอม ครูซ” และกำลังโกยรายได้จากทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
อีฮัด โยเนย์ ผู้เขียนบทความ Top Guns ที่ภาพยนตร์ Top Gun ภาคแรกใช้อ้างอิง เสียชีวิตในปี 2555 ต่อมาในปี 2561 ช็อช โยเนย์ ภรรยา และ ยูวาล โยเนย์ บุตรชายของเขา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเรียกค่าลิขสิทธิ์ของเรื่องราว ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา
ในเอกสารยื่นฟ้อง ทางครอบครัวโยเนย์ กล่าวว่า ค่าย Paramount จัดจำหน่ายภาพยนตร์ Top Gun: Maverick โดยไม่ได้รับอนุญาตและซื้อลิขสิทธิ์ใหม่เพื่อใช้เป็นโครงเรื่องในภาพยนตร์ ซึ่งทางครอบครัวเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าว และสั่งห้ามไม่ให้ Paramount จำหน่ายภาพยนตร์ Top Gun: Maverick
Top Gun: Maverick สามารถทำลายสถิติรายได้เปิดตัวสูงสุดในสุดสัปดาห์วันหยุดยาวซึ่งตรงกับวันรำลึกถึงผู้พลีชีพเพื่อชาติของสหรัฐ ด้วยรายได้ถึง 156 ล้านดอลลาร์ และปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 8 มิ.ย.) สามารถทำรายได้รวมทั่วโลกไปแล้วว่า 569 ล้านดอลลาร์
มาร์ค โทเบอรอฟฟ์ ทนายความของครอบครัวโยเนย์ ถือเป็นทนายที่ช่ำชองในคดีความด้านลิขสิทธิ์ที่คู่กรณีเป็นสตูดิโอยักษ์ใหญ่ ในปัจจุบันเขายังเป็นตัวแทนของนักเขียนการ์ตูนคอมมิค 5 ราย ในคดีที่ยื่นฟ้องต่อ Marvel ค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งนักเขียนอ้างสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในตัวละครที่พวกเขาสร้าง รวมถึงค่าตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้น และไม่อนุญาตให้ Marvel นำตัวละครเหล่านั้นไปใช้
อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรา 203 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐ ระบุไว้ว่า ผู้เขียนมีสิทธิยกเลิกการโอนลิขสิทธิ์หลังจากระยะเวลา 35 ปี
Top Gun: Maverick เริ่มถ่ายทำตั้งแต่ พ.ค. 2561 และมีกำหนดฉาย ก.ค. 2562 แต่แล้วก็ถูกเลื่อนฉายมาอีกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งจากการถ่ายทำที่ล่าช้ากว่ากำหนด โดยเฉพาะในฉากที่ต้องใช้เครื่องบินรบ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก
เอกสารที่ยื่นฟ้องต่อศาล ระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์จริง ๆ เมื่อ พ.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่การเรียกค่าลิขสิทธิ์ของครอบครัวโยเนย์มีผลบังคับใช้ไปแล้วกว่า 1 ปี ซึ่งทางครอบครัวโยเนย์กล่าวหาว่า Paramount จงใจเพิกเฉยต่อการที่พวกเขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ ครอบครัวโยเนย์เคยส่งจดหมาย (cease-and-desist letter) ให้ Paramount หยุดและยกเลิกการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ทางค่ายปฏิเสธและกล่าวว่า Top Gun: Maverick ไม่ได้สร้างขึ้นจากบทความ Top Guns ที่ครอบครัวถือลิขสิทธิ์ไว้
ขณะที่ตัวแทนของ Paramount Pictures กล่าวว่า “คำกล่าวอ้างเหล่านี้ไม่มีมูล และเราพร้อมปกป้องตนเองอย่างเต็มที่” ส่วนครอบครัวโยเนย์ รวมถึงทนายความปฏิเสธที่ให้ความเห็น
ที่มา: BusinessWorld, Reuters, The Week, Variety