ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

ถึงแม้ปีนี้จะไม่มีหนังไทยเข้าฉาย หรือเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แต่ประเทศไทยก็ยังถูกกล่าวอ้างถึงในหนังหลายชาติ ทั้งเกาหลีใต้ อิหร่าน อเมริกัน แถมยังมีคนไทยเป็นแขกรับเชิญในหนังฝรั่งเศสเรื่อง Return to Seoul อีกด้วย

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ คัดเลือกหนังจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมประกวดและจัดฉาย แต่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในแต่ละปีก็ดูจะมีเจตนาที่ให้ความสำคัญกับบางประเทศสลับกันไป ซึ่งแน่นอน เทศกาลที่ได้ชื่อว่ามีบทบาทในด้านการเมืองระหว่างประเทศอย่างเทศกาลคานส์ ย่อมไม่นิ่งเฉยต่อความขัดแย้งและการก่อสงครามในหรือระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งคานส์ได้แสดงท่าทีต่อต้านตลอดเวลา

ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายเดือนนี้ เทศกาลคานส์จึงประกาศตัวไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของฝ่ายรัสเซียที่ใช้กำลังทหารเข้าโจมตียูเครนอย่างชัดเจน และได้แบน ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวจากประเทศรัสเซียที่สังกัดสำนักสื่อที่มีท่าทีเข้าข้างรัฐบาลเดินทางเข้ามาทำข่าวที่เทศกาลในปีนี้อีกด้วย

 

หนึ่งในเซอร์ไพรส์สำคัญในพิธีเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 75 ประจำปี 2022 เมื่อค่ำคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็คือทางเทศกาลได้ต่อสัญญาณวีดิโอไลฟ์สดจากกรุงเคียฟ เชิญให้ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบัน Volodymyr Zelensky ซึ่งเคยมีอาชีพเป็นนักแสดงมาก่อน มาร่วมปาฐกถาสั้น ๆ ในการเปิดงานเทศกาลประจำปีนี้ด้วย สร้างความตื่นเต้นตกใจผสมดีใจต่อผู้เข้าร่วมงานที่แน่นขนัดโรงภาพยนตร์ Grand Theatre Lumiere

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022 CREDIT : CHRISTOPHE SIMON / AFP

โดยประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky ได้กล่าวกับผู้ชมที่คานส์ว่า ภาพยนตร์จะต้องไม่นิ่งเฉยต่อการก่อสงครามและความรุนแรงต่าง ๆ พร้อมได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์ตลกเรื่อง The Great Dictator (1940) ของ Charles Chaplin ที่เสียดสีและบริภาษการใช้อำนาจเผด็จการของผู้นำพรรคนาซีเยอรมัน Adolf Hitler

 

 

โดยแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่สามารถ ‘ล้ม’ Hitler ได้ แต่มันก็เป็นกระบอกเสียงสำคัญให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงภยันตรายในการปกครองรูปแบบนี้ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ต่อไป ภาพยนตร์ในฐานะสื่อสารมวลชนจึงยังเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นที่คนทำหนังจะนิ่งดูดายไม่ได้ และขอให้ช่วยกันลุกขึ้นมาใช้สื่อภาพยนตร์ในการประกาศให้โลกรู้ว่าเกิดความไม่เป็นธรรมใดในสังคมระดับสากลที่ทุกคนควรจะต้องหันมาสร้างความเปลี่ยนแปลง

 

ซึ่งผู้อำนวยการคัดเลือกภาพยนตร์ร่วมฉายในเทศกาลคานส์ คุณ Thierry Fremaux ก็ได้สนองตอบข้อเรียกร้องที่ว่านี้ ด้วยการเพิ่มรายชื่อหนังเรื่องสุดท้ายร่วมอยู่ในโปรแกรมสาย Special Screening ก่อนเทศกาลจะเริ่มต้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ นั่นคือสารคดีภาคต่อชื่อ Mariupolis 2 ของผู้กำกับลิทัวเนีย Mantas Kvedaravicius ผู้ล่วงลับขณะลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดีตีแผ่สภาพบ้านเมืองมาริอูโพลที่พังยับเยินของชาวยูเครนในระหว่างสงครามเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมานี้เอง

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

Mariupolis 2 เป็นสารคดีภาคต่อจาก Mariupolis ซึ่งเคยฉายเปิดตัวในสาย PANORAMA เทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินเมื่อปี 2016 โดยผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius ได้เดินทางไปยังเมืองมาริอูโพล ทางตะวันออกของประเทศยูเครน เพื่อบันทึกภาพชีวิตอันสงบง่ายของชาวเมืองท่ามกลางความหวาดกลัวต่อความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏโปรรัสเซียและรัฐบาลของยูเครนเองที่ก่อตัวขึ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ฝึกซ้อมทั้งดนตรีและการแสดงเพื่อเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 ด้วยความวิตกกังวลว่าจะถูกยกเลิกการแสดงจากทางการหรือไม่ ไปจนถึงการติดตามการทำงานของนักข่าวสาวมือใหม่ในการรายงานข่าวสถานการณ์ระเบิดรุนแรงในหลายพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่เขตน่านน้ำหาปลาของชาวเมืองอย่างใกล้ชิด

[สามารถชมสารคดีเรื่องนี้ในรูปแบบออนไลน์ได้ทาง https://takflix.com/en/films/mariupolis โดยชำระค่าตั๋วเพื่อสมทบทุนสนับสนุนกลุ่มคนทำหนังชาวยูเครน]

 

แต่หลังจากที่รัสเซียเริ่มบุกทำลายเมืองใหญ่หลายแห่งยูเครน จนเมืองมาริอูโพลโดนกระหน่ำโจมตีไปด้วย ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius จึงเดินทางไปยังเมืองนี้อีกครั้ง เพื่อถ่ายทำสารคดีภาคสองบันทึกภาพให้ผู้ชมได้เห็นกับตาว่าปัจจุบันเมืองมาริอูโพลที่เคยสงบสุขนั้น โดนอาวุธหนักของฝ่ายรัสเซียทำลายจนพังยับเยินขนาดไหน

 

แต่ยังถ่ายไม่ทันจะเสร็จดี ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius ก็โดนกองทัพรัสเซียสังหารจนจบชีวิตไปเสียก่อน คู่หมั้นสาว Hanna Bilobrova และมือตัดต่อ Dounia Sichov จึงได้ช่วยกันรวบรวม footage ต่าง ๆ ที่ Mantas Kvedaravicius ถ่ายไว้ มาเรียบเรียงเป็นสารคดีตามแผนเดิมที่ผู้กำกับได้วาดฝัน จนได้เป็นสารคดีความยาว 112 นาที เรื่อง Mariupolis 2 นี้ และได้รับเชิญให้ร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในนาทีสุดท้าย

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius ผู้ล่วงลับ

 

Mariupolis 2 น่าจะเป็นหนังที่ชวนให้รู้สึกหดหู่มากที่สุดแล้วในเทศกาลคานส์ประจำปีนี้ เนื่องจากตลอดความยาว 112 นาที ผู้ชมจะได้เห็นสภาพบ้านเมืองที่ ‘พังยับเยิน’ ไม่มีชิ้นดีของเมืองมาริอูโพล จนผู้คนที่รอดชีวิตไม่สามารถอยู่อาศัยได้ต่อไป พวกเขาต้องร่วมกลุ่มกันอพยพไปอยู่ในอาคารที่ยังพอจะมีสภาพดี หาเก็บข้าวของอุปกรณ์ที่ยังพอใช้งานได้จากแหล่งต่าง ๆ และหาเศษอาหารมาต้มซุปทานกันเพื่อประทังชีวิต

 

ชาวเมืองมาริอูโพลที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้ล้วนมีใบหน้าที่นิ่งเฉยเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร พวกเขาไม่รู้อีกแล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้สงครามยุติ และพวกเขาจะกลับมาฟื้นฟูบ้านเมืองให้อาศัยอยู่ได้ดังเดิมได้อย่างไร ในโลก dystopia แห่งความเป็นจริงที่ชวนให้สิ้นหวังในระดับที่ไม่รู้ว่าจะเสียแรงร้องไห้ฟูมฟายไปเพื่อการใด

 

 

สิ่งที่น่าตกใจที่สุดในสารคดีเรื่องนี้คือ ทุกช่วงที่มีการแช่ภาพยาว ๆ เราจะได้ยินเสียงระเบิดดังจากสารทิศต่าง ๆ ทุก ๆ 1 นาที คือมีการโจมตีกันอย่างต่อเนื่องจริง ๆ จนกลายเป็นประสบการณ์สุดหลอนของการชมภาพยนตร์สารคดีจากพื้นที่จริงที่เราจะได้ยิน motif เป็นเสียงระเบิดก้องดังอยู่ทุกนาทีตลอดความยาว 1 ชั่วโมง 52 นาทีของหนัง ซึ่งเสียงระเบิดครั้งต่อไป อาจจะเป็นเสียงระเบิดที่เกิดขึ้น ณ สถานที่ที่ผู้กำกับกำลังถ่ายบันทึกเหตุการณ์อยู่ได้ทุกเมื่อ!

 

การฉายหนังเรื่องนี้ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จึงเป็นไปอย่างโศกสลด โดยผู้ชมพร้อมใจกันลุกขึ้นยืนไว้อาลัยผู้กำกับที่ยอมเสี่ยงอันตรายจนตัวตายเพียงเพื่อฉายภาพความจริงอันแสนหดหู่นี้ให้โลกได้รับรู้

 

 

แต่ถึงแม้ว่าเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จะแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลรัสเซียอย่างชัดเจน งานเทศกาลในปีนี้ก็ไม่ได้แบนคนทำหนังจากประเทศรัสเซียทั้งหมด โดยยังได้คัดเลือกผลงานใหม่เรื่อง Tchaikovsky’s Wife ของผู้กำกับรัสเซีย Kirill Serebennikov ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเนื่องจากถูกกลั่นแกล้งในคดียักยอกฉ้อฉลเงินสนับสนุนการจัดแสดงละครจากรัฐบาลรัสเซียจนไม่สามารถเดินทางมาร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ได้เมื่อปี ค.ศ. 2018 และ 2021 แม้ว่าจะมีหนังเข้าประกวด ให้เข้าร่วมชิงรางวัลปาล์มทองคำอีกครั้ง

 

โดยในปีนี้ Kirill Serebrennikov ก็สามารถเดินทางมาร่วมเดินพรมแดงในงานกาล่าเปิดตัวหนังเรื่องนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เนื่องจากเขาได้ลี้ภัยจากรัสเซียไปอยู่ที่เยอรมนีแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ Kirill Serebrennikov ได้มาร่วมงานในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในฐานะผู้กำกับหนังสายประกวด

 

นอกจาก Tchaikovsky’s Wife จากรัสเซียในสายประกวดหลักแล้ว ทางเทศกาลยังได้คัดเลือกหนังจากประเทศยูเครนเรื่อง Butterfly Vision ของผู้กำกับ Maksim Nakonechnyi ร่วมประกวดในสาย Un Certain Regard อีกด้วย

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

โดยหนังเรื่องนี้ได้เล่าเหตุการณ์ร่วมสมัยของ Lilia ทหารหญิงหน่วยบินลาดตระเวนหญิงชาวยูเครนที่ถูกกองทัพรัสเซียจับขังคุกที่เมืองดอนบาส และเพิ่งจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านจากการแลกนักโทษจองจำกัน

 

หนังติดตามการเยียวยารักษาบาดแผลจากสงครามทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ที่แม้ว่าบาดแผลบนร่างกายของเธอจะดูน่าหวาดกลัวเพียงใด แต่สภาพจิตใจภายในของเธอดูจะบอบช้ำเสียมากกว่า

 

หนังแสดงให้เห็นเลยว่า ทหารหญิงอย่าง Lilia จะต้องมีความเข้มแข็งหนักแน่นมั่นคงเพียงใด จึงจะสามารถข้ามผ่านฝันร้ายทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเธอเป็นฝ่ายประสบความเจ็บปวดโดยตรง

 

 

นอกเหนือจาก ยูเครน แล้ว อีกประเทศที่ได้รับการต้อนรับจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ รวมถึงคนทำหนังชาติอื่น ๆ มากที่สุดในปีนี้ก็คงจะเป็น เกาหลีใต้ ที่ไม่เพียงแต่จะมีภาพยนตร์จากเกาหลีใต้แท้ ๆ ร่วมฉายในสาย Official Selection ถึงสองเรื่องด้วยกัน คือ Decision to Leave ของผู้กำกับ Park Chan-wook ในสายประกวดหลักและสุดท้ายก็คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองได้

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

และเรื่อง Hunt ในสาย Midnight Screening ของนักแสดงหนุ่ม Lee Jung-jae ที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับเป็นครั้งแรก เล่าเรื่องราวการตามหาตัวตนของสายลับจากเกาหลีเหนือที่แอบเนียนมาเข้าร่วมในทีมสายสืบจากเกาหลีใต้ โดยสมาชิกในทีมจะต้องสืบหาให้ได้ว่าหนอนบ่อนไส้นี้คือใคร จนแต่ละฝ่ายไม่สามารถไว้วางใจใครได้เลย ก่อนที่ความลับทั้งหมดจะถูกเปิดเผย

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

แต่ยังมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเมื่อผู้กำกับชาติอื่น ๆ สนใจไปทำหนังกันที่เกาหลีใต้ด้วยอีกสองราย คือ ผู้กำกับญี่ปุ่น Hirokazu Kore-eda ที่หันไปทำหนังเกี่ยวกับแก๊งลักพาเด็กทารกมาขายแก่พ่อแม่บุญธรรมที่ไม่สามารถรับอุปการะโดยวิธีปกติได้ ชื่อ Broker โดยใช้นักแสดงเกาหลีใต้และพูดภาษาเกาหลีทั้งหมด เข้าร่วมฉายในสายประกวดหลัก

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

และ ผู้กำกับฝรั่งเศสเชื้อสายกัมพูชา Davy Chou ที่ทำหนังเรื่อง Return to Seoul เกี่ยวกับ Freddie สาวสัญชาติเกาหลีใต้วัย 25 ปี แต่ไปเติบโตในครอบครัวอุปถัมภ์ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เดินทางกลับมายังกรุงโซลเพื่อตามหาบิดาและมารดาทางสายเลือดของตนเอง ได้ร่วมฉายในสาย Un Certain Regard ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า มีผู้กำกับหลาย ๆ ชาติที่เริ่มสนใจเดินทางไปทำหนังที่เกาหลีใต้ ซึ่งดูจะให้การสนับสนุนคนทำหนังที่สนใจเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศนี้กันเป็นอย่างดีเลยทีเดียว

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022 ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022 ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

ในส่วนของประเทศไทย น่าเสียดายยิ่งที่ในปี ค.ศ. 2022 ไม่มีภาพยนตร์ไทยร่วมฉายในสายใดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เลยแม้แต่เรื่องเดียว อย่างไรก็ดีประเทศไทยก็ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึงในหนังหลาย ๆ เรื่อง และยังมีนักแสดงชาวไทยร่วมรับเชิญในบทบาทเล็ก ๆ ของหนังที่ฉายที่เทศกาลคานส์ปีนี้ด้วย

 

โดยเรื่องที่กล่าวถึงประเทศไทยมากที่สุดก็คือหนังเกาหลีใต้เรื่อง Hunt ของผู้กำกับ Lee Jung-jae ซึ่งหลังจากที่ฝ่ายเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตีเนียนจัดประชุมเพื่อรวมชาติกัน ณ ประเทศที่สาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อแอบลอบสังหารประธานาธิบดีของอีกฝ่าย ทั้งสองประเทศก็ได้เลือก กรุงเทพฯ ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดประชุม!

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

เราจึงได้เห็นตึกอาคารที่ออกแบบในลักษณะไทยประยุกต์ ตกแต่งด้วยช่อฟ้าใบระกา มีอนุสาวรีย์ที่แลดูคล้ายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และรถโดยสารขนส่งสายเหนือสายใต้ ร่วมปรากฏอยู่ในฉากการต่อสู้ด้วยระเบิดและอาวุธปืนอย่างเมามัน แม้ว่าผู้กำกับจะจำเป็นต้องถ่ายทำฉากเหล่านั้นในเกาหลีใต้ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ตามที

 

ส่วนหนังฝรั่งเศสเรื่อง Return to Seoul ของผู้กำกับ Davy Chou ก็มีโปรแกรมเมอร์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระชาวไทย คุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา ซึ่งเคยเดินทางมาร่วมเทศกาลภาพยนตร์คานส์แล้วหลายครั้ง ร่วมรับบทเล็ก ๆ เป็นแขกในบาร์ที่นางเอกของเรื่องได้มาเที่ยวอีกด้วย

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

ด้านสารคดีเล่าประวัติชีวิตในเส้นทางสายดนตรีของ David Bowie เรื่อง Moonage Daydream ของผู้กำกับ Brett Morgen ในสาย Midnight Screening ก็มีช่วงที่ David Bowie เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2526 ด้วย

 

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใคร ๆ ก็อยากจะมีโอกาสได้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นหนังสายประกวดเรื่อง Leila’s Brothers ของผู้กำกับอิหร่าน Saeed Roustaee เกี่ยวกับสี่พี่น้องหนุ่ม ๆ ที่กำลังตกอับจากการตกงาน ก็ได้วาดฝันว่าอยากหาเงินให้ได้เยอะ ๆ จะได้เก็บเงินมาเที่ยวประเทศไทย

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

หรือในหนังประกวดเรื่อง Mother and Son ของผู้กำกับฝรั่งเศส Leonor Serraille ตัวละครคุณแม่ผิวสีที่อพยพจากไอโวรีโคสต์ ทวีปแอฟริกา มายังกรุงปารีส ก็ได้แสดงความห่วงกังวลบุตรชายที่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง ณ มหาวิทยาลัยรายได้ดี จะหนีไปเที่ยวที่ภูเก็ต ประเทศไทยจนโดนสึนามิซัดไปเสียแล้ว

 

ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022

 

แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างคอยรอให้โควิด-19 หายสนิทด้วยความคิดถึงประเทศไทย อยากจะใช้เวลาวันหยุดเดินทางมาพักผ่อน ณ ดินแดนแหลมทองนี้กันอย่างเต็มที่แล้ว หลังจากต้องเก็บกักตัวอยู่กับบ้านมายาวนานกว่าสองขวบปี!