เล่าเรื่อง ‘นิวไวเต็ก’ จากโรงพิมพ์ 60 ปี สู่ B2B มาร์เก็ตเพลส โดยทายาทรุ่น 3
ฟังประสบการณ์จากทายาทรุ่นที่ 3 บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด จากโรงพิมพ์ในตำนานอายุกว่า 60 ปี สู่ความพยายามเปลี่ยนแปลงองค์กร เป็น B2B มาร์เก็ตเพลส พวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง และอะไรคือความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจกงสีครอบครัวต้องการไปให้ถึง
“เครื่องพิมพ์พวกนี้ บางส่วนกำลังถูกส่งไปอินเดีย บังคลาเทศ” กร เธียรนุกุล ทายาทรุ่น 3 แห่งนิวไวเต็ก เล่าให้ฟังขณะเดินผ่านเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ ในสำนักงานเก่าแก่ย่านถนนสี่พระยา
“ผมโคตรดีใจที่ขายได้ และในแง่หนึ่งก็อธิบายได้ว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ของไทยล้ำหน้าไปกว่าประเทศเหล่านั้น และถ้าเครื่องพิมพ์ไหนถูกขายไป พนักงานการพิมพ์ประจำเครื่องก็จะถูกเสนอให้ทำงานด้านอื่นในองค์กร ขณะที่หากใครไม่อยากไปต่อ เราก็จะมีการดูแลต่อไป ตามอายุการทำงาน” เขา กล่าวในขณะพาผู้มาเยือนฝ่าบรรยากาศโรงพิมพ์เก่าแก่เพื่อขึ้นลิฟต์ตัวเก๋าที่ถูกยืนยันว่ายังใช้การได้ดีสู่สำนักงานชั้นบน
กร เธียรนุกุล ทายาทรุ่น 3 แห่งนิวไวเต็ก กับบรรยากาศโรงพิมพ์อายุกว่า 60 ปี
หลายสิบปีก่อน ธุรกิจการพิมพ์คือหนึ่งในธุรกิจแห่งยุค และบริษัท นิวไวเต็ก จำกัดก็เติบโตตามลำดับในยุคนั้น ยอดการพิมพ์ทั้งในรูปแบบ Commercial เช่น นามบัตร โบรัชวร์ แผ่นผับ โฆษณาสินค้า ฯลฯ อยู่ในช่วงเฟื่องฟู เช่นเดียวการพิมพ์แบบ Security Printing เช่น เช็คธนาคาร เอกสารสำคัญ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้
“ธุรกิจก็เติบโตเรื่อยมา และก็ดีเรื่อยๆ ตั้งแต่รุ่นปู่ (ไว เธียรนุกุล) รุ่นพ่อ (เกรียงไกร เธียรนุกุล) ตั้งแต่ผมจำความได้ ผมเดินเข้าไปในโรงพิมพ์ก็เห็นเครื่องพิมพ์ทำงานเสมอ วุ่นวายมาก กลับมาดึกแค่ไหนก็เห็นคนงานเดินไปมา รถจัดส่งวิ่งเข้าออกตลอด และเมื่อผมเรียนจบมา สิ่งที่ผมเลือกทำหลังจากเรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงไม่ใช่ธุรกิจโรงพิมพ์ แต่เป็นแบรนด์ร้านอาหารที่ธุรกิจที่บ้านลงทุนอยู่ เช่น ร้านนม Milk Plus ร้านอาหาร Café’ de Lao (ตอนนี้ปิดไปแล้ว) ซึ่งก็รับผิดชอบในทุกตำแหน่ง”
- โรงพิมพ์ในยุคกลับหัว
พล็อตเรื่องของธุรกิจโรงพิมพ์กงสีและทายาทหนุ่มก็น่าจะดำเนินไปเช่นนี้ ถ้าคุณน้าซึ่งเป็นกำลังหลักฝั่งทีมขายไม่เสียชีวิตแบบกระทันหัน
หากแอคเคาท์สำคัญหายไป นั่นหมายถึงหายนะ และในเวลาเช่นนี้นิวไวเต็กฯ จำเป็นต้องส่งคนในสายเลือด เครือญาติ ไปรับผิดชอบลูกค้ารายใหญ่ต่อ และในวันนั้นเอง กร ต้องเลิกทำธุรกิจอาหารเพื่อมาเป็นทีมขายรับผิดชอบลูกขายรายใหญ่ที่สุดของธุรกิจ
“ผมไปคุยกับลูกค้ารายใหญ่ เพื่อแนะนำตัวว่ามาทำแทนคุณน้า ลูกค้าคนนั้นเป็นอินเดีย ผมทักทายเขา เขาก็ยิ้มแย้มดี ก็เป็นไปตามธรรมเนียม พอพูดว่า Nice to meet you จบ สานสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อจบ เขาก็บอกว่า ผมมีข่าวร้ายนะ คืองบประมาณโฆษณาสื่อออฟไลน์สำหรับการทำการตลาด จะโดนหั่นออกไป 80 % คือจากเดิมเขาทำการตลาด ออฟไลน์ 80% ออนไลน์ 20% คราวนี้มันกลับหัวเลย กลายเป็นทำออนไลน์มากกว่า เป็น 80-20”
ช่วงนั้นประมาณปี 60-61 ซึ่งกร บอกว่า สัญญาณที่ว่านี้ไม่ได้เกิดกับลูกค้ารายเดียว แต่ลูกค้าอื่นๆก็เริ่มใช้เฟสบุ๊คและทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งทำให้เขารู้เลยว่า อยู่แบบนี้ต่อไปจึงไม่ได้แล้ว และบริษัทนิวไวเต็ก ก็ต้องหาช่องทางอื่นๆนอกจากธุรกิจโรงพิมพ์แบบดั้งเดิมที่มีอยู่
ป้ายนิวไวเต็กการพิมพ์ในยุคก่อตั้ง
- แสวงหาสิ่งใหม่ เจรจากับสิ่งเดิม
กร บอกว่า เขาพยายามดิ้นรนหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อทรานฟอร์มธุรกิจครอบครัวที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นของคนในครอบครัว
“เวลานั้นผมมี 3 ทางเลือก ทางเลือกแรกคือมุ่งไปทำงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ แต่ข้อจำกัดคืองานประเภทนี้ต้องใช้เครื่องพิมพ์อย่างน้อย 8 สี เพราะต้องใช้สีพิเศษมาก ขณะที่เครื่องพิมพ์ที่มีอยู่เป็นแบบพิมพ์ 4 สี นั่นหมายความว่าถ้าเลือกทางนี้ต้องลงทุนเครื่องพิมพ์ใหม่”
สอง เน้นงานพิมพ์ ประเภท security printing ให้มากขึ้นเช่นงานพิมพ์ passport หรืองานพิมพ์แสตมป์สะสมค่าอย่างแสตมป์ร้าน 7-11 แต่งานกลุ่มนี้ก็เริ่มเห็นแนวโน้มเปลี่ยนไปในรูปอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-passport หรือกรณีแสตมป์ของร้าน 7-11 ก็เปลี่ยนไปเป็นการสะสมในรูปอิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่น่าเป็นทางเลือกที่ดี ส่วนทางเลือกที่สามสุดคือ การหา new s-curve หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมโดยตรง
ทางที่สามคือทางที่เขาเลือก เพราะเขาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำสิ่งใหม่โดยไม่ยึดโยงกับอุตสาหกรรมเดิม จึงเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในชื่อ Wawa Pack ซึ่งต่อยอดจากความรู้ด้านบรรุภัณฑ์และเครือข่ายทางธุรกิจที่ครอบครัวมี ตั้งเป้าเป็นตลาดออนไลน์สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์และคู่ค้าหรือ B2B โดยเฉพาะ
แต่ถึงเช่นนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้จะเติบโตแค่ไหนก็ถูกมองว่ายังเด็ก และธุรกิจดั้งเดิมก็เป็นที่มั่นเดียวที่ยังจับต้องได้ กร เล่าว่า ในช่วงแรกเขาจึงต้องนำเอาผลงานบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ จากผู้ผลิตที่รู้จักมาถ่ายภาพด้วยตัวเอง แล้วอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์สำเร็จรูป เน้นทำแบบง่าย ๆ เพื่อทดลองไอเดีย เริ่มต้นจากทำงาน 2 คน โดยขอพนักงานจากโรงพิมพ์มาช่วยงาน 1 คน ตั้งเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ ในพื้นที่ของโรงพิมพ์
อีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้แนวทางใหม่ของเขาเดินหน้า นั่นคือเมื่อครอบครัวไม่เชื่อสิ่งที่เขาพูด เขาจึงต้องใช้บุคคลที่สาม มาช่วยอธิบาย เช่น การเอาโปรเจคไปเสนองานแข่งขันพิชชิ่ง ในงาน Pitching Day ขององค์กรต่างๆ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และผลปรากฎว่า เขาได้รางวัลที่ 2 และเมื่อเอารางวัลมาโชว์ให้คุณพ่อเห็นว่าคนอื่นยังยอมรับไอเดียนี้
Wawa pack จึงได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนเพิ่มพร้อมกับมีทีมงานเพิ่มให้อีก 1 คน รวมเป็น 3 คน เพื่อลุยธุรกิจใหม่ต่อไป ส่วนฝั่งซัพพลายเออร์ก็เช่นเดียวกัน เขาก็ใช้รางวัลที่ได้จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นใบเบิกทางสร้างความเชื่อมั่นกับบรรดาผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์
- พัฒนาเป็น MyWaWa
แม้ Wawa Pack ยังไปได้ แต่เขาก็มองว่าธุรกิจที่ทำอยู่ไม่ต่างอะไรกับการซื้อมาขายไปอยู่ดี Wawa pack จึงยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่เขาอยากจะทำ จึงคิดการณ์ใหญ่ว่าอยากจะเป็นธุรกิจของแพลตฟอร์ม B2B ยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา (Alibaba.com) แต่ที่ทำอยู่ยังขาด 2 องค์ประกอบหลัก คือระบบเพย์เมนต์ และระบบโลจิสติกส์
กร จึงเริ่มหา CTO (Chief Technology Officer) มาช่วยสร้างทีมพัฒนาระบบขึ้นเอง และหาพาร์ทเนอร์ด้านไฟแนนซ์กับโลจิสติกส์มาสนับสนุนระบบที่เหลือทั้งสอง โดยใช้เวลาหนึ่งปีพัฒนามาเป็น B2B e-marketplace ที่มีระบบบริการครบวงจร ทั้ง e-Commerce, e-Finance และ Logistic ให้ชื่อว่า MyWaWa (mywawa.me)
สำหรับโครงสร้างองค์กรนั้น นิวไวเต็กจะเปรียบเสมือนยานแม่ หรือบริษัทโฮลดิ้งของ Wawa Group ที่แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยกลุ่มแรกคือ Wawa Service and Marketing Group นั่นคือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ myWawa ที่เป็นทั้งตลาดและการบริการลูกค้า กลุ่มที่สองคือ Wawa Financial Group ธุรกิจด้านความปลอดภัยที่เข้ามาช่วยเสริมแพลตฟอร์มให้แข็งแรง เพื่อการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานและการชำระเงินที่ปลอดภัย และกลุ่มที่สามคือ Wawa Logistics Group ธุรกิจบริหารจัดการการขนส่งที่เกิดขึ้นบน myWawa
“MyWaWa มุ่งสู่การเป็นแพลตฟอร์ม B2B e-marketplace เป้าหมายของเราคือรวบรวมซัพพลายเออร์เข้ามาให้ครบทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายในเวลา 3 ปี เพื่อสร้างให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ผลิตและผู้ค้าส่ง มากที่สุดของประเทศไทย” กร กล่าวถึงเป้าหมาย
ไม่มีใครรู้ว่า บทสรุปของนิวไวเต็ก โดยทายาทเจนฯ 3 จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด หากทั้งหมดเป็นการบันทึกถึงการเดินทางของธุรกิจโรงพิมพ์อายุมากกว่า 60 ปี ที่ต้องการทรานฟอร์มตัวเองเพื่อสู่ธุรกิจแห่งโลกใหม่ โดยมีคนในสายเลือดเป็นแกนกลางขับเคลื่อนธุรกิจ