แบบนี้ก็มีด้วยหรือ? "เครื่องชงกาแฟ" เป็นสปายล้วงข้อมูลนักดื่ม!
แม้ตอนนี้เรายังไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าบริษัทจีนกำลังเก็บข้อมูลของผู้ใช้ที่ไม่ใช่ชาวจีน แต่ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่า "เครื่องชงกาแฟ" ที่เชื่อมต่อไวไฟ สั่งการผ่านทางแอพเก็บข้อมูลของผู้ใช้นอกประเทศจีนได้ และเก็บข้อมูลไว้ในประเทศจีน
"สิ่งที่แย่สุดๆ หลังตื่นนอนมาตอนเช้าก็คือ อาจเจอเข้ากับสายลับจีนในถ้วยกาแฟของคุณเอง" เว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งในสหรัฐโปรยข่าวเอาไว้อย่างชนิดชวนสะกิดใจ เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ผู้เขียนสารภาพว่าตอนเปิดเช็คข่าวความเคลื่อนไหวของตลาดกาแฟระหว่างประะเทศ พอเห็นวิธีเขียนข่าวสไตล์ “หวือหวา” ของนักข่าวออนไลน์อเมริกันแบบข้างต้นก็ออกจะงงๆ ก็อยู่เหมือน สายลับจากประเทศจีนไปอยู่ในถ้วยกาแฟได้อย่างไรกัน ถ้วยกาแฟก็เล็กขนาดนั้น แต่พออ่านแบบลงรายละเอียด ก็พอจะเข้าใจนัยยะของข่าวได้อยู่บ้าง
เตือนคนอเมริกันให้ระวังจีนใช้เครื่องชงกาแฟสอดแนมข้อมูล / ภาพ : www.washingtontimes.com
...เป็นข่าวการออกมาเปิดเผยล่าสุดของบริษัทวิจัยด้านความมั่นคงในสหรัฐ ในท่วงทำนองว่า ประเทศจีนใช้ เครื่องชงกาแฟ เป็น สายลับ สอดแนมข้อมูลของผู้บริโภคอเมริกัน ไม่ใช่เครื่องชงแมนนวล แต่เป็นเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติที่มีระบบเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตหรือไวไฟได้ อย่างที่เรียกกันว่า Smart coffee machine หรือ Smart coffee maker แต่เนื่องจากยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย ผู้เขียนขอเรียกว่า เครื่องชงกาแฟอัจฉริยะ โดยยืมคำมาจากโทรศัพท์อัจฉริยะ หรือสมาร์ท โฟน ไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกันครับ
บริษัทวิจัยด้านความมั่นคงสหรัฐที่ออกมาเปิดประเด็นนี้ ก็คือ บริษัทนิว ไคต์ ดาต้า แล็บส์ (New Kite Data Labs) ภารกิจหลักๆ ของบริษัทนี้พุ่งเป้าไปในเรื่องติดตามความเคลื่อนย้ายของข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศในเชิงความมั่นคง โดยโฟกัสไปที่ประเทศจีนนั่นเอง
อยู่ตรงไหนในบ้าน ก็ใช้แอพสั่งงานเครื่องชงกาแฟอัจฉริยะได้ / ภาพ : cottonbro/pexels.com
ส่วนนักวิจัยที่ออกมาให้สัมภาษณ์เตือนคอกาแฟอเมริกันผ่านทางสื่อมวลชนอเมริกัน ชื่อว่า นาย คริสโตเฟอร์ บอลดิ้ง อ้างว่ามีหลักฐานยืนยันเรื่องที่จีนกำลังรวบรวมข้อมูลของคนอเมริกัน ผ่านทาง "เครื่องชงกาแฟ" ที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งผลิตในประเทศจีน และใช้แอปพลิเคชั่นจีนที่ดาวน์โหลดลงบนโทรศัพท์มือถือ เป็นระบบควบคุมสั่งการเครื่องชงกาแฟ แล้วข้อมูลที่เครื่องชงกาแฟสามารถเก็บรวมรวมได้ ก็เป็นต้นว่า ชื่อผู้ใช้แอพ, จุดตำแหน่งที่ใช้แอพ และข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ประเภทของการชำระเงินทางออนไลน์
แรกเริ่มนายบอลดิ้งให้สัมภาษณ์หนังสือพิม์รายวันแนวอนุรักษ์นิยม เดอะ วอชิงตัน ไทม์ส เป็นฉบับแรก ก่อนที่ข่าวชิ้นนี้จะกระจายออกไปทั่วเว็บไซต์ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงฟ็อกซ์นิวส์ด้วย ขณะที่ในนิว ไคต์ ดาต้า แล็บส์ เองก็ดาวน์โหลดรายงานวิจัยชิ้นนี้่ลงบนเว็บไซต์ของตนเองด้วย แม้ว่ารายงานไม่ได้ระบุว่าเป็นเครื่องชงกาแฟของบริษัทไหนในจีน แต่นายบอลดิ้งให้สัมภาษณ์ว่าคือบริษัทชื่อ "คาเลิร์ม" (Kalerm) มีสำนักงานใหญ่อยู่ในมณฑลเจียงซู
"แม้ตอนนี้เรายังไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าบริษัทจีนกำลังเก็บข้อมูลของผู้ใช้ที่ไม่ใช่ชาวจีน แต่ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่า "เครื่องชงกาแฟ" ที่เชื่อมต่อไวไฟ สั่งการผ่านทางแอพสามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้นอกประเทศจีนได้ และก็เก็บข้อมูลไว้ในประเทศจีน โดยข้อมูลจะถูกเก็บรวบรวมอยู่ในซอฟต์แวร์ที่ฝังอยู่ในเครื่องชงกาแฟ" รายงานของนิว ไคต์ ดาต้า แล็บส์ ระบุ
ไม่แต่เพียงเท่านั้น รายงานฉบับนี้ยังเตือนอีกว่า เครื่องใช้ภายในบ้านที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตหรือไวไฟ ตั้งแต่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นไปจนถึงอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน ก็อยู่ในข่ายที่สามารถใช้เก็บข้อมูลของบรรดาผู้ใช้ได้ด้วยเช่นกัน
หลังจากที่รายงานชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป ตลอดจนจากการให้สัมภาษณ์ของนักวิจัยด้านความมั่นคงชาวอเมริกัน สื่อออนไลน์ในสหรัฐต่างพร้อมใจกันพาดหัวข่าวกันครึกโครมทำนองว่าจีนแอบล้วงข้อมูลคนอเมริกันผ่านทางซอฟต์แวร์ที่ฝังอยู่ใน "เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ" แบบใช้สัญญาณไวไฟ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาข่าวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ระบุว่า จีนรวบรวมข้อมูลไปทำอะไร อันตรายต่อสหรัฐตรงไหนบ้าง แล้วก็แทบไม่ได้ไปสอบถามบริษัทจีนว่าคิดเห็นประการใดกับการถูกพาดพิงแบบนี้ เล่นเสนอข่าวข้างเดียวเลย
อย่างไรก็ดี กระแสข่าวชิ้นนี้ช่วยตอกย้ำในประเด็นที่ว่า ปัจจุบัน “ฐานข้อมูลลูกค้า” ถือเป็นอาวุธสำคัญที่บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกต้องการ และพยายามรวบรวมเอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขัน รวมไปถึงบริษัทในสหรัฐเองด้วย
เครื่องชงกาแฟสั่งงานด้วยเสียงของค่ายอิตาลี Lavazza / ภาพ : www.amazon.co.uk
อันที่จริง หากมีคนถามย้อนกลับไปว่า แล้วที่สหรัฐอเมริกาได้ข้อมูลของชาวทั่วโลกไปเป็นจำนวนมากผ่านทางโซเชียลมีเดียสัญชาติอเมริกันล่ะ...ถือเป็นเหตุการณ์ปกติหรือไม่ บางคนอาจยกสำนวนเก่าขึ้นมาพูด ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองหรือเปล่า? อยากรู้เหมือนกันว่าบริษัทวิจัยด้านความมั่นคงรายนี้จะตอบคำถามอย่างไร?
"เครื่องชงกาแฟอัจฉริยะ" ที่เชื่อมต่อสัญญาณไวไฟและควบคุมการชงผ่านทางแแอพบนโทรศัพท์มือถือ เป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาสัก 10 ปีมาแล้วเห็นจะได้ บริษัทในเซกเมนต์นี้ก็เป็นผู้ผลิตเครื่องชงกาแฟอยู่แล้วในสหรัฐและยุโรป ขณะที่ในจีนเองยังมีอยู่น้อยราย ตลาดของเครื่องชงสไตล์นี้จึงอยู่ในสหรัฐเป็นหลักๆ มีระดับ “บิ๊กเนม” ของวงการกระโดดเข้าสู่สนามแข่งขันกันมากขึ้น มูลค่าตลาดก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจทีเดียว
เว็บไซต์ www.comunicaffe.com เคยลงข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าตลาดของธุรกิจผลิต "เครื่องชงกาแฟอัจฉริยะ" ไว้ตั้งแต่เมื่อ 5 ปี อ้างอิงข้อมูลจาก เทคนาวิโอบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาฝ่ายเทคโนโลยีชั้นนำที่ว่า ตลาด "Smart coffee maker" มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 39 เปอร์เซ็นต์ พร้อมคาดการณ์ว่าเมื่อพิจารณาจากยอดขายเครื่องชงกาแฟประเภทนี้จากผู้ผลิตทั่วโลกแล้ว มูลค่าตลาดมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเป็น 333.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2021
สำหรับบริษัทจีนที่ถูกเอ่ยชื่อถึงนั้น ผู้เขียนลองเข้าไปตรวจเช็คในเว็บไซต์ของบริษัท พบว่าเป็นบริษัทผลิตและออกแบบเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติระดับเกรดพรีเมี่ยม เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ผลิตเครื่องชงกาแฟ 3 ประเภท แบบใช้ภายในบ้าน, แบบใช้ในออฟฟิศ และแบบคอมเมอร์เชียล ส่งออกไปยัง 61 ประเทศทั่วโลก ทั้งอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, ยุโรป, ตะวันออกกลาง, อเมริกาใต้ และแอฟริกา มียอดขายถึง 150,000 เครื่องในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา
ในเว็บไซต์ของบริษัทนี้ มี "เครื่องชงกาแฟ" ที่ผลิตขึ้นประมาณ 20 รุ่นด้วยกัน ไม่พบว่ามีการผลิต "เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ" ในรูปแบบเชื่อมต่อกับไวไฟหรืออินเทอร์เน็ตที่ใช้แอพบนสมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุมเครื่องชงแต่อย่างใด แต่จะมีผลิตที่อื่นหรือไม่อย่างไรนั้น ผู้เขียนยังไม่พบข้อมูล นอกจากนั้น บริษัทยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเซิร์ฟเวอร์หลังบ้านในระบบคลาวด์ของ Internet of Things (IoT) ที่เรียกกันสั้นๆ แบบสรุปความว่า เป็นระบบเชื่อมโยงอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายผ่านอินเทอร์เน็ต
"เครื่องชงกาแฟ" ของแบรนด์คาเลิร์ม มีการรีวิวถึงวิธีการใช้กันไม่น้อยในเว็บยูทูบ แสดงว่าได้รับความนิยมทีเดียว ในไทยก็จำหน่ายอยู่ด้วยตามเว็บค้าปลีกออนไลน์บางแห่ง
อย่างไรก็ตาม แบรนด์จีนหรือเมด อิน ไชน่า ที่ผลิตเครื่องชงกาแฟแบบใช้แอปพลิเคชั่นควบคุมในระดับที่รู้จักกันดีนั้น ก็คงไม่พ้นไปจากบริษัท เสียวหมี่ (Xiaomi) ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตอุปกรณ์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปล่อยเครื่องชงกาแฟแคปซูลรุ่นไวไฟออกมาภายใต้แบรนด์ในเครือ "ซีแชร์" (SCISHARE) ออกทำตลาดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยใช้แอปพลิเคชั่น Mi Home เป็นตัวควบคุมการทำงานของเครื่องชง เช่น เช่น ควบคุมอุณหภูมิน้ำ, เลือกโหมด, ปริมาณน้ำกาแฟ และปรับความเข้มของกาแฟ
ข้ามไปที่ฝั่งสหรัฐอเมริกากันบ้าง บริษัทผู้ผลิตเครื่องชงกาแฟอัจฉริยะมีอยู่ด้วยกันหลายเจ้า มาจากธุรกิจกาแฟทางตรงและทางอ้อม เช่น Behmor, Mr. Coffee, Spinn Coffee, Smarter Coffee, Atomi Coffee, Hamilton Beach, Keurig และฯลฯ ขณะที่แบรนด์นอกที่เข้าไปตีตลาดสหรัฐ มีอิตาลีเป็นแกนนำ ได้แก่ Saeco, Lavazza และ Illy
ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้ทำการตลาดโดยใช้คำโฆษณาแทบจะเหมือนกันหมด เน้นไปที่การใช้งานที่สุดแสนสะดวกสบายกับเทคโนโลยีสุดล้ำ เป็นต้นว่า...สำหรับผู้ที่หลงใหลในรสกาแฟ ไม่มีอะไรดีไปกว่าลุกขึ้นจากเตียงนอนในตอนเช้าแล้วได้กลิ่นกาแฟสดอันหอมกรุ่น เครื่องชงกาแฟแบบเชื่อมสัญญาณไวไฟช่วยให้คุณเริ่มต้นชงกาแฟได้จากเตียงนอนด้วยซ้ำไป
เครื่องชงกาแฟแบบเชื่อมสัญญาณไวไฟของค่าย Behmor / ภาพ : www.amazon.com
แทบทุกแบรนด์ออกแบบเครื่องชงให้ใช้ได้ 2 ระบบ คือ ระบบสั่งงานทางแอพและกดปุ่มชงกาแฟแบบออโต้ มีให้เลือกใช้ทั้งแอปพลิเคชั่นในระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ บางแบรนด์ควบคุมการชงผ่านทางแอพของบริษัทที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือผ่านทาง "แอมะซอน อเล็กซา" (Amazon Alexa) ซอฟแวร์ควบคุมการทำงานด้วยเสียง หรือ "กูเกิ้ล แอสซิสแทนท์" (Google Assistant) ระบบผู้ช่วยส่วนตัวบนสมาร์ทโฟนที่สามารถทำงานแทนได้หลายอย่างตามคำสั่งที่ตั้งไว้ บางแบรนด์ก็มีระบบสั่งบดเมล็ดกาแฟติดตั้งไว้ด้วย หรือมีโหมดสั่งชงกาแฟตอนเช้าตามเวลาที่ตั้งไว้
ตัวเครื่องชงมีตั้งแต่เครื่องขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่พร้อมพรั่งด้วยฟังค์ชั่นสารพัดประโยชน์ ทั้งแบบใช้ในบ้านและแบบเชิงพาณิชย์ สนนราคาตั้งแต่ 80 ดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ
แบรนด์ Hamilton กับเครื่องชงกาแฟอัจฉริยะ เชื่อมต่อแอมะซอน อเล็กซา / ภาพ : www.amazon.com
จะว่าไปแล้ว อานิสงส์ของข่าวเครื่องชงกาแฟของจีนอาจเป็นสายลับมาแกะรอยข้อมูลผู้ใช้นั้น ถือว่ายังประโยชน์ให้ผู้เขียนไม่น้อยทีเดียว นอกจากช่วยเปิดโลกทัศน์เรื่องนิยามความหมายของคำว่าสายลับจากสื่ออเมริกันแล้ว ยังได้ทำความรู้จักกับ "เครื่องชงกาแฟอัจฉริยะ" ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยล่าสุด เหนือกว่าคำว่าอัตโนมัติ ไม่ใช่แค่เดินไปกดปุ่มเครื่องชง แต่สามารถสั่งการจากแอพมือถือให้เครื่องชงทำงาน อยู่ตรงไหนในบ้าน ก็กดปุ่มชงกาแฟมาดื่มได้
บอกตามตรงครับ เทคโนโลยีช่างทำให้โลกกาแฟเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนตั้งตัวไม่ทันจริงๆ ครับ