คุยเรื่องนวัตกรรมกับ "James Dyson" สร้างโลกยุคใหม่ต้องจากมือคนรุ่นใหม่

คุยเรื่องนวัตกรรมกับ "James Dyson" สร้างโลกยุคใหม่ต้องจากมือคนรุ่นใหม่

เปิดบทสัมภาษณ์สุด Exclusive ของ “James Dyson” นักประดิษฐ์ผู้คิดค้นนวัตกรรมภายใต้เครื่องหมายการค้า "Dyson" และเป็นผู้ก่อตั้ง "มูลนิธิ James Dyson" ที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ใช้ความรู้วิศวกรรมสร้างสรรค์นวัตกรรม

คนรุ่นใหม่กับสิ่งใหม่ๆ เป็นของคู่กัน สิ่งประดิษฐ์มากมายถูกคิดค้นขึ้นจากมันสมองและสองมือของคนที่มีความคิดแปลกใหม่ ไร้กรอบ ผลิตภัณฑ์ของ Dyson ก็เช่นกัน ที่มีจุดเริ่มต้นจากองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ของ James Dyson ที่ต้องการสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และการดำเนินชีวิตของผู้คน

นอกจากสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว James Dyson ยังต่อยอดความรู้ไปสู่การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ด้วยการก่อตั้ง มูลนิธิ James Dyson Foundation ขึ้นเพื่อสนับสนุนการนำวิศวกรรมศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์มาก่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม

คุยเรื่องนวัตกรรมกับ \"James Dyson\" สร้างโลกยุคใหม่ต้องจากมือคนรุ่นใหม่

วิธีการหนึ่งในการสนับสนุน คือ การเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่ทั้งเก่งคิดและเก่งทำ ผ่านการประกวดแข่งขัน รางวัล James Dyson Award ซึ่งมอบโอกาสให้คนรุ่นใหม่ไปแล้วทั่วโลก และโอกาสนี้กำลังจะเกิดขึ้นที่ประเทศไทย

กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย ได้คุยกับนักประดิษฐ์ระดับโลกคนนี้ ถึงมุมมองต่อคนรุ่นใหม่ที่เขาเชื่อมั่นว่านี่คือความหวังของโลก แน่นอนว่าอนาคตโลกจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับมือของพวกเขานั่นเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่าคุณมีความเชื่อในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำไมคนรุ่นใหม่จึงมีความสำคัญกับคุณ?

คนรุ่นใหม่มีข้อดีอย่างหนึ่งที่คนรุ่นอื่นไม่มี นั่นคือพวกเขายังขาดประสบการณ์ ทำให้พวกเขาไม่กลัวที่จะจัดการกับปัญหาด้วยมุมมองใหม่ๆ พวกเขามีความกล้าหาญและอาจไร้เดียงสา ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถค้นพบการพัฒนาที่ลึกซึ้งและก้าวข้ามไปสู่ความสำเร็จได้ สืบเนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวไปข้างต้น "Dyson" จึงมีการจ้างงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่เป็นจำนวนมากเสมอ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้มีส่วนร่วมในการคิดค้นไอเดียต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่มและสามารถเติบโตขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำระดับสูงต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

เหตุใดคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันควรให้ความสนใจกับวิศวกรรมศาสตร์มากขึ้น?

เราควรส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ลงมือทำจริงมากกว่าการพูดที่สวยหรูอย่างการเป็น Virtue Signaller เพื่อช่วยแก้ปัญหาในยุคนี้และสร้างอนาคตที่ดีกว่า คนรุ่นใหม่มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและค้นหาวิธีรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บ และหากเราให้การสนับสนุนและการดูแลที่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้จึงสามารถแก้ไขได้ด้วยการนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้

เพราะอนาคตคือโลกของคนรุ่นใหม่ เราจึงอยากสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่แก้ไขปัญหาด้วยความช่างคิดช่างประดิษฐ์ผ่านมูลนิธิ James Dyson และรางวัล James Dyson Award แทนที่จะมานั่งวิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขาพบเจอ พวกเขาจะได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้เมื่อการมองโลกในแง่ดีและการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ถูกนำมาใช้อย่างเกิดประโยชน์เพื่อโลกของเรา

คิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้างให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิศวกรรมศาสตร์มากขึ้น?

ผมคิดว่าการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ถนัดและชื่นชอบโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่โชคร้ายที่สิ่งเหล่านี้กลับถูกผลักไสออกไปเรื่อยๆ เมื่อพวกเขาค่อยๆ เติบโตขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวิศวกรเป็นจำนวนมาก เหลือคนรุ่นใหม่เพียงไม่กี่คนที่เห็นภาพตัวเองเดินบนเส้นทางอาชีพวิศวกร ดังนั้นผมคิดว่าการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักแก้ปัญหารุ่นต่อไปของเราเริ่มต้นได้ในห้องเรียน เราต้องแสดงให้เห็นว่าอาชีพวิศวกรมันน่าตื่นเต้นแค่ไหน

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ให้คุณริเริ่ม James Dyson Award?

แน่นอนว่าเพื่อส่งเสริมให้คนหันมาทำงานด้านวิศวกรรมมากขึ้น! ในสหราชอาณาจักรเพียงประเทศเดียว เราขาดวิศวกร 60,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิธีการสอนในสถาบันการศึกษาที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าการเป็นวิศวกรมันไกลเกินเอื้อมและเป็นไปไม่ได้ หรือพวกเขาอาจจะยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นวิศวกร

มูลนิธิ James Dyson จึงถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการในการยกระดับความเข้าใจด้านวิศวกรรม บวกกับส่วนตัวผมเองมีความสนใจด้านการศึกษาอยู่แล้ว เราพบกับความก้าวหน้าครั้งสำคัญครั้งแรกเมื่อได้ตระหนักว่าคนรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นมากแค่ไหนเมื่อพวกเขาถูกร้องขอให้ช่วยแก้ปัญหา  การค้นพบนี้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ นี่คือความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างวิธีคิดของคนรุ่นใหม่กับวิศวกรรม

สำหรับผม หนึ่งในวิธีที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ทั่วโลกได้อย่างดีก็คือรางวัล James Dyson Award รางวัลนี้ท้าทายนักศึกษามหาวิทยาลัยและบัณฑิตจบใหม่ให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญมากสำหรับพวกเขาด้วยผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ความสำเร็จของผู้ชนะรุ่นก่อนๆ ของเราเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเฉลียวฉลาดของคนรุ่นใหม่ และลบภาพจำเดิมๆ ที่คนมักเข้าใจผิดว่าวิศวกรและนักออกแบบไม่สามารถริเริ่มหรือทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้

โดยการแข่งขันถูกจัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และยังคงขยายไปยังประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้เปิดตัว James Dyson Award เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นแนวคิดอันยอดเยี่ยมของนักศึกษาไทย

คุยเรื่องนวัตกรรมกับ \"James Dyson\" สร้างโลกยุคใหม่ต้องจากมือคนรุ่นใหม่

ผลงานการออกแบบจาก James Dyson Award ชิ้นไหนที่คุณชื่นชอบมากที่สุด?

ผลงานจากด้านความยั่งยืนของคุณ Carvey Ehren Maigue ผู้ชนะประจำปีพ.ศ. 2563 นักศึกษาจาก Mapua University ที่กรุงมะนิลา ที่นำแผ่นฟิล์มทำจากเศษพืชผักมาติดกระจายทั่วหน้าต่างเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเปรียบเสมือนแผงโซลาร์เซลล์บนกระจกหน้าต่างธรรมดาๆ  สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกระทับใจ Carvey เป็นพิเศษคือความมุ่งมั่นและตั้งใจของเขา หลังจากคว้าน้ำเหลวในการแข่งขันในปีพ.ศ. 2561 เขายังคงยึดมั่นและพัฒนาความคิดของเขาต่อไป นี่ถือเป็นคุณลักษณะนิสัยที่สำคัญอย่างยิ่งเมื่อเขาต่อยอดผลงานต่อไปสู่ระดับเชิงพาณิชย์

ผู้ชนะระดับสากลของปีที่แล้วเป็นกลุ่มนักศึกษาจาก National University of Singapore ที่ออกแบบอุปกรณ์ชีวการแพทย์สำหรับวัดความดันลูกตาที่สามารถทำได้เองที่บ้านในราคาประหยัดและไม่เจ็บ เพื่อช่วยจัดการปัญหาของโรคต้อหิน ผมมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการตรวจวัดต้อหิน ผมจึงเข้าใจดีว่ามันรู้สึกไม่สบายตัวแค่ไหน คุณ Kelu, Si Li และ David สามารถแก้ไขปัญหาที่แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง แต่ส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา ผลงานนี้สามารถช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการตรวจต้อหินได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ผมขอให้พวกเขาประสบความสำเร็จในทุกๆ อย่างขณะที่พวกเขาเดินทางเข้าสู่กระบวนการที่ท้าทายของการพัฒนาแนวคิดนี้ต่อไป รวมไปถึงการอนุมัติทางการแพทย์

โปรเจกต์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ กล่องสีน้ำเงินของคุณ Judit Giró Benet ซึ่งเป็นวิธีในการตรวจหามะเร็งเต้านมแบบใหม่ที่สามารถทำเองได้ที่บ้านโดยใช้ตัวอย่างปัสสาวะและอัลกอริธึม AI, EcoHelmet ของคุณ Isis Shiffer ผลงานหมวกกระดาษรูปทรงรังผึ้งที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานโดยบริษัทให้เช่าจักรยาน, ผลงาน mOm ของคุณ James Roberts ซึ่งเป็นตู้อบเด็กทารกแบบเป่าลมราคาถูกและควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สร้างขึ้นเพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดภายในค่ายผู้ลี้ภัย รวมถึงผลงาน MarinaTex ของคุณ Lucy Hughes ทางเลือกที่ย่อยสลายได้สำหรับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทำจากขยะอินทรีย์จากปลาและสาหร่ายสีแดงท้องถิ่น

จากรางวัล James Dyson Award ปัญหาประเภทใดที่ได้รับความสนใจในหมู่คนรุ่นใหม่?

ในช่วงแรกเริ่มของการแข่งขัน นักเรียนเน้นแก้ไขปัญหาที่ผู้พิการพบเจอ ผู้ที่ทุกข์ทรมานจากโรคร้าย และผู้สูงอายุ ในช่วงหลังไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาด้านความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เวลาเลือกผู้ชนะสำหรับ James Dyson Award มันเป็นการไม่ยุติธรรมถ้าจะเลือกโปรเจกต์ที่นำเสนอแค่ปัญหาจากสองประเภทนี้เท่านั้น เราจึงได้เสนอรางวัลระดับโลกเพิ่มเติมสำหรับความยั่งยืนโดยเฉพาะควบคู่ไปกับหมวดหมู่อื่นๆ ที่มีอยู่ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปีพ.ศ. 2563

คุณอยากแนะนำอะไรให้กับนักศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์หรือสาขาการออกแบบชาวไทยที่หวังจะคว้ารางวัล James Dyson Award บ้าง?

ผมขอทดแทนคำแนะนำด้วยการให้กำลังใจดีกว่าครับ ผมขอให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนมีความกล้า กล้าที่จะเสี่ยง และไม่กลัวที่จะลองแนวทางใหม่ๆ เพราะเรากำลังมองหาแนวคิดที่จะจัดการกับปัญหาในรูปแบบที่ลึกซึ้งและน่าสนใจ

70 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ชนะในระดับสากลที่ผ่านมามีการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ของพวกเขาไปสู่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นผมหวังว่ารางวัลนี้จะเป็นพื้นที่ให้กับสำหรับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่จากประเทศไทยได้มาแสดงออกและทำไอเดียของพวกเขาให้เป็นจริง เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นไอเดียจากนักศึกษาไทยเป็นครั้งแรก ขอให้ทุกคนโชคดีครับ!

นอกเหนือจากเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะแล้ว ยังมีการสนับสนุนอื่นๆ จาก James Dyson Award ในประเทศไทยอีกหรือไม่?

การสนับสนุนทางการเงินมีส่วนช่วยให้ไอเดียเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้จริง แต่ผู้ชนะรุ่นก่อนหลายคนบอกเราว่าการตระหนักรู้ที่เกิดจากรางวัลนี้ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม หรือนักลงทุนที่มีศักยภาพ กลับส่งผลเชิงบวกได้มากที่สุด

รางวัลนี้สร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมต่อและแบ่งปันประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มเข้าแข่งขันของผู้ชนะรุ่นก่อนๆ ที่มีความคิดคล้ายคลึงกันให้ได้มาร่วมพูดคุยและสนับสนุนซึ่งกันและกันบนเส้นทางของการทำงานในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ทางมูลนิธิยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปีเพื่อนำเครือข่ายมาร่วมพบปะกันอีกด้วย

คุณกล่าวถึงความล้มเหลวหลายครั้ง แต่ในโลกที่ผู้คนต่างฉลองให้กับความสำเร็จ ทำไมเราถึงไม่ควรมองข้ามความล้มเหลว?

การประดิษฐ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับความล้มเหลว ความอดทน และการสังเกต มากกว่าเรื่องของคลื่นสมอง และ Eureka Moment หรือการค้นพบชั่ววูบ เทคโนโลยีไซโคลนสำหรับเครื่องดูดฝุ่นเครื่องแรกที่เราสร้างขึ้นในโรงรถก็ผ่านการสร้างตัวต้นแบบมากว่า 5,127 ชิ้น ทุกชิ้นยกเว้นชิ้นสุดท้ายคือความล้มเหลว นอกจากจะแก้ปัญหาด้วยความอุตสาหะแล้ว ผมยังต้องผ่านกระบวนการศึกษาและเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย ความล้มเหลวแต่ละครั้งสอนอะไรบางอย่างผมเสมอและเป็นขั้นตอนไปสู่การแก้ปัญหา

สิ่งที่น่าตลกก็คือ วิศวกรไม่เคยพอใจกับการสร้างสรรค์ของพวกเขา พวกเขามักจะมองอย่างสงสัยและพูดว่า “ตอนนี้ฉันรู้วิธีทำให้มันดีขึ้นแล้ว” นี่คือจุดเริ่มต้นของการคิดค้นใหม่ ซึ่งถือเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดด้านประสิทธิภาพไปอีกขั้น ความล้มเหลวมาพร้อมกับโอกาส และโอกาสก็มาพร้อมกับการเป็นผู้บุกเบิกที่ทำสิ่งต่าง ๆ ในมุมมองที่แตกต่างออกไป คนรุ่นใหม่ควรได้รับการสนับสนุนให้ยอมรับความล้มเหลว การตั้งคำถามเกี่ยวกับการคิดค้นของพวกเขาถือเป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยม!

คุณเป็นที่รู้จักในการสร้างตัวต้นแบบมากกว่า 5,000 ชิ้นสำหรับเครื่องดูดฝุ่น Dyson เครื่องแรก ทำไมถึงมากขนาดนั้น นี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่?

ผมเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำ ผมเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อได้สัมผัสประสบการณ์นั้นจริงๆ นี่คือเหตุผลที่เราไม่มีช่างทดสอบที่ Dyson เนื่องจากฉันต้องการให้วิศวกรทดสอบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองและเรียนรู้จากความล้มเหลวแต่ละครั้งด้วยตัวเอง ทำการทดสอบและปรับปรุงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เปลี่ยนแปลงไปทีละจุดอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจใช้เวลานาน แต่นั่นคือพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนา

...

สำหรับ การประกวดแข่งขันออกแบบนวัตกรรมระดับนานาชาติ "James Dyson Award" ที่จัดโดย "James Dyson Foundation" ได้เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเปิดรับผลงานจากนักประดิษฐ์รุ่นใหม่แล้ววันนี้ หลังจากได้รับการตอบรับอย่างดีจากเยาวชนจากหลายประเทศทั่วโลก ที่ร่วมส่งผลงานในการแข่งขันในปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2565 นี้ก็ถึงเวลาของเยาวชนไทยที่จะได้รับโอกาสในการแสดงผลงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบสู่สายตาโลกผ่านการประกวดออกแบบนวัตกรรม James Dyson Award ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยผู้ชนะระดับชาติจะได้รับรางวัลจำนวน 222,000 บาทและมีสิทธิในการชิงรางวัลระดับนานาชาติที่มีรางวัลจำนวนถึง 1,330,000 บาท โดยเปิดรับผลงานแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ผ่านเว็บไซต์ jamesdysonaward.org