“นิติกร กรัยวิเชียร” งานศิลป์ "ผู้หญิง" ฝีมือไม่แพ้ผู้ชาย
“นิติกร กรัยวิเชียร” คัดสรรมาเฉพาะ “งานศิลปะ” จากฝีมือศิลปินผู้หญิงที่มีผลงานโดดเด่น เพื่อแสดงใน "การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก” (Global Summit of Women) 22-25 มิถุนายน 2565 พร้อมทั้งแสดงทัศนะว่า งานศิลป์ ฝีมือผู้หญิงไม่แพ้ผู้ชาย
ผ่านไปหมาดๆ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ( Global Summit of Women 2022) เมื่อวันที่ 22-25 มิถุนายน 2565
ถือว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพ งานนี้สตรีไทยในทุกสาขาอาชีพ ร่วมโชว์ศักยภาพทุกด้าน
รวมทั้งศิลปะ โดยงานนี้ นิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้คัดเลือกผลงาน หรือ งานศิลปะ รังสรรค์โดยผู้หญิงมาจัดแสดงในงาน
จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ในคอลัมน์ จุดประกายทอล์ค มีโอกาสพูดคุยถึงเรื่องหลักการคัดเลือกผลงานไปจนถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับ“สตรี” ในปัจจุบันที่มีความแตกต่างจากสตรีในอดีต
พอได้โจทย์ให้ร่วมจัดงานแสดงงานศิลปะ คุณคิดต่ออย่างไร
หลังจากที่ได้โจทย์จาก คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ว่าจะมีการประชุมกลุ่มผู้นำสตรีโลก อยากให้งานนี้มีมิติ มีสีสันเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนที่มาร่วมงานมีโอกาสชมงานศิลปะ
โจทย์หลักเลยก็คือเป็นงานศิลปะโดยศิลปินสตรี ซึ่งมีเวลาเตรียมการค่อนข้างน้อย ก็เลยพยายามรวบรวมผลงานทั้งในส่วนของ บริษัทโตชิบา ที่คุณน้อง กอบกาญจน์ เป็นผู้บริหารสูงสุด
รวมถึงงานศิลปะของไทยเบฟ (บริษัทไทย เบฟเวอเรจ จำกัด)อีกส่วนหนึ่ง และที่สำคัญมากๆก็คือ
ได้ขอพระราชทาน ภาพฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระกริษฐาธิราชเจ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นเกียรติในงานนี้ด้วยครับ
มีงานศิลปะด้านใดบ้างคะ
เป็นงานศิลปะที่ค่อนข้างหลากหลาย แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และมีเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ
ก็มีทุกมิติครับ ส่วนงานศิลปะที่นำมาแสดง มีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม งานปั้น แกะสลัก ภาพพิมพ์ และภาพถ่าย
งานชิ้นไหนที่คุณชื่นชอบเป็นพิเศษ
ทุกภาพที่นำมาแสดง ไม่รวมภาพที่พระราชทานมาซึ่งเป็นภาพพิเศษ ที่ถือว่าได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ในส่วนของโตชิบา และ ไทยเบฟ
ล้วนแต่เป็นภาพที่ได้รางวัลจากการประกวดทั้งสิ้น โตชิบาเองก็จัดงานประกวดศิลปกรรมมายาวนาน ผลงานที่ได้รับรางวัล ทางบริษัทก็จะเก็บเอาไว้ แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
มีงานสำคัญๆ ก็นำออกมาแสดง ส่วนของไทยเบฟก็เช่นกันครับ มาจากงานศิลปกรรมช้างเผือก ซึ่งเป็นงานประกวดศิลปกรรมระดับชาติ
ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ถือว่าทุกชิ้นก็ประทับใจหมด เพราะว่าเป็นงานที่ได้รับรางวัล อีกส่วนหนึ่งก็มาจากงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Bienale) ซึ่งไทยเบฟ ก็เป็นผู้จัด
ภาพโดย : วันชัย ไกรศรขจิต
ศิลปะทุกแขนงที่นำมาจัดในงานนี้ ล้วนเป็นผลงานของ“สตรี”ทั้งสิ้น?
ใช่ครับ ธีมคือผลงานศิลปะที่มาจากสตรี แต่เนื้อหาในงานศิลปะของแต่ละคนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บางคนพูดถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรม บางคนพูดถึงเรื่องการเมือง
อย่างที่เราเห็นรูปของ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการ์ตูนล้อการเมือง มาจากศิลปินต่างชาติที่เป็นสตรี บางคนพูดถึงความยั่งยืน นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์งานศิลปะ พูดถึงความยั่งยืนทางทะเล ก็มีหลากหลายทุกมิติ
ผมว่าศิลปินสตรี เป็นผู้มีความสามารถไม่ด้อยกว่าศิลปินผู้ชาย ทั่วโลกมีศิลปินสตรีที่มีชื่อเสียงมากมาย มีศักยภาพ มีฝีมือ ไม่แพ้ผู้ชายเหมือนกัน
แสดงถึงความเท่าเทียมทางสังคม ในเรื่องบทบาทของสตรีในปัจจุบัน ไม่นับในด้านอื่นนะ ถ้าเป็นศิลปะก็คือว่าเคียงบ่าเคียงไหล่ เท่าเทียมกับผู้ชาย
คุณสนใจเรื่องการถ่ายภาพและงานศิลปะ ?
จริงๆ ผมเรียนด้านศิลปะ จบคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสนใจทั้งถ่ายรูป และเขียนรูป งานอดิเรกปัจจุบัน เขียนรูปมากกว่าถ่ายรูป
ดังนั้นงานที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ ในฐานะที่เป็น ผู้อำนวยการ สำนักงาน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ของไทยเบฟ และเป็นผู้ดูแลงานเหล่านี้ ของไทยเบฟเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยมีโอกาสได้มาร่วมงานนี้ครับ
คนส่วนใหญ่รู้จักคุณในด้านงานภาพถ่ายมากกว่าใช่ไหมคะ
ใช่ครับ ผมทำงานในวงการถ่ายภาพมาเป็นเวลานาน เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ปัจจุบันก็ยังทำงานทางด้านนี้อยู่ ช่วงหลังๆ ผมถ่ายภาพน้อยลง
มาทำงานด้านการสนับสนุนมากกว่า ก็คือมาอยู่ที่ไทยเบฟ ช่วยงานอย่างที่เรียนไปแล้ว มีทั้งช่วยงานสมาคมถ่ายภาพ ช่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม
อยากให้พูดถึงบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ สักนิด ?
งาน Bangkok Art Bienale เริ่มตั้งแต่ปี 2018 โดยคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี (กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด มหาชน)
ร่วมกับ อาจารย์ อภินันท์ โปษยานนท์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ริเริ่มเมื่อ 4 ปีก่อน โดยเชื้อเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาร่วมกับศิลปินไทย
จัดแสดงผลงานในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น วัดโพธิ์ วัดอรุณ วัดประยุรวงศาวาส หอศิลป์กทม. และห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง กระจายกันไป
จัดแสดงงานศิลปะในวัดถือว่าแปลกดีนะคะ ?
เป็นมิติใหม่ครับ และปีนี้ 2022 กำลังจะจัดเป็นครั้งที่ 3 เรื่องการจัดแสดงงานศิลปะในวัด เป็นความตั้งใจของทั้งอาจารย์อภินันท์ และ คุณฐาปน โดยมองเห็นว่า คนรุ่นใหม่ค่อนข้างจะห่างไกลวัด
ความจริงวัดมีบริบทของศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณ น่าเสียดายหากคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจ ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ดึงเอาเยาวชน คนรุ่นใหม่ เข้าไปในวัด โดยที่เขาอาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องศาสนา
แต่อย่างน้อยที่สุด ได้เข้าไปดูงานศิลปะ แล้วได้สัมผัสบรรยากาศที่เขาไม่เคยเห็น ก็อาจจะมีความรู้สึกว่า ได้เปิดหูเปิดตา ในอีกแง่มุมหนึ่ง
ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เป็นงานที่ค่อนข้างจะแปลก เพราะไม่ค่อยมีใครจัด ปีนี้จะจัดในช่วงเดือนตุลาคม 2022 ไปจนถึงต้นปี 2023
การจัดงานศิลปะในวัด วางเส้นทางยังไงคะ
ส่วนใหญ่จะจัดวางตรงทางเดินในวัดครับ ครั้งที่แล้วก็มีศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก จัดแสดงผลงานศิลปะชิ้นใหญ่โตในศาลาการเปรียญ ที่วัดโพธิ์ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และก็เป็นมิติใหม่
อาจจะมีคนที่มองต่างกันบ้างว่า ทำไมถึงเอางานแบบนี้เข้ามาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ศิลปะเป็นเรื่องดีงาม ไม่ใช่เรื่องเสียหาย สามารถเอามาผูกโยง กับบริบททางสังคมไทยได้ เพื่อเล่าเรื่องในมุมมองที่ต่างไปจากเดิมที่คนทั่วไปนึกถึง
ต้องพิจารณาไหมคะว่าศิลปะแบบไหนจัดแสดงในวัดได้หรือไม่ได้
แน่นอนครับ เวลาที่คุยกันกับเจ้าอาวาส เงื่อนไขหลัก ต้องไม่มีอะไรเป็นเรื่องเสื่อมเสีย หรือว่าไม่เหมาะสม ไม่ไปลบหลู่พุทธศาสนา
อันนั้นเป็นโจทย์หลัก งานศิลปะแบบอื่นที่อาจจะมีความล่อแหลมบ้าง ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ไปจัดในที่นั่น เราต้องดูงานที่เหมาะสมกับสถานที่ด้วย
พูดถึงงานครั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก (Global Summit of Women 2022 ) มีงานศิลปะจากสตรีกี่ชิ้นคะ
มีผลงานศิลปะสตรีจากไทยเบฟ 37 ชิ้น ผลงานภาพฝีพระหัตถ์ ภาพถ่าย 1 ชิ้น ภาพวาดฝีพระหัตถ์พระราชทานให้โตชิบา 8 ชิ้น งานศิลปะของโตชิบาเอง 9 ชิ้น
รวมทั้งหมดประมาณ 55 ชิ้น ศิลปะจากโตชิบามาจาก โครงการนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ส่วนของไทยเบฟก็มาจากศิลปกรรมช้างเผือก
และงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ รวมถึงงานที่เราสะสมไว้เองในส่วนอื่นๆ ด้วย
การเลือกภาพสะสมไม่ว่าจะประมูลหรือซื้อ คุณมีหลักการเลือกอย่างไร
หลักๆเลยก็ช่วยกันดูนะครับ คุณฐาปน ทั้งรักและสนใจในงานศิลปะ ส่วนผมก็เป็นทีมสนับสนุน ส่วนใหญ่สะสมจากงานที่ได้รับรางวัล ในการประกวด ครั้งหนึ่งมี 20 รางวัลเลือกจาก 200-300 ผลงาน
โดยกติกาคือ ผู้จัดจะเก็บผลงานเหล่านั้นไว้ ไทยเบฟเองก็ตระหนักว่า เราไม่ต้องการเอาเปรียบศิลปิน ฉะนั้นรางวัลที่เราตั้งค่อนข้างสูง
รางวัลช้างเผือก เราให้ 1 ล้านบาท รางวัลที่ต่ำสุดอยู่ที่ 1 แสนบาท ศิลปินไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เพราะนอกจากได้รางวัลแล้ว เขาก็จะได้เงินตอบแทนด้วย
ศิลปินที่ส่งงานเข้ามาประกวด เขาก็ไม่ได้มุ่งหวังเงินรางวัลเป็นหลัก เขามุ่งหวังรางวัลเพื่อพิสูจน์ฝีมือ เพื่อความก้าวหน้า เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงต่อไปในวงการศิลปะมากกว่า ในกาลนั้นเองมูลค่าของผลงานเขาก็จะมีคุณค่ามากขึ้น
บริษัทไทยเบฟจัดงานศิลปะบ่อยไหมคะ
ตอนนี้ก็กำลังจัดอยู่ที่หอศิลป์กทม. เป็นงานศิลปะช้างเผือกครั้งที่ 15 หากมีโอกาสก็สามารถไปชมกันได้นะครับ เราจัดทุกปี ปีละครั้ง ส่วนงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัด 2 ปีครั้ง ก็คือปีเว้นปีครับ
เห็นบอกว่า ช่วงนี้คุณวาดภาพมากกว่าถ่ายภาพ ?
ไม่ได้ชอบมากกว่าหรอกครับ เพียงแต่ช่วงหลังๆ ผมเองก็ทำงานถ่ายภาพมานานหลายสิบปีแล้ว ก็อาจจะเริ่มเบื่อบ้าง (หัวเราะเบาๆ) เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนมีไอโฟนอันเดียวก็ถ่ายได้แล้ว
นี่ก็เพิ่งกลับจากต่างประเทศ ก็ไม่ได้ติดกล้องไป ใช้ไอโฟนถ่าย ก็รู้สึกว่าพอแล้ว การที่จะถือกล้องหนักๆ ไปถ่ายอะไรก็ไม่ค่อยแล้ว
ใกล้จะเกษียณแล้ว ก็พอแล้ว (หัวเราะ) แต่อยู่บ้านเขียนรูปก็มีความสุขดี ส่วนใหญ่ผมจะเขียนรูป Portrait เขียนรูปคน เขียนไว้ประมาณ 20 ชิ้น ยังไม่เคยจัดนิทรรศการ
ภาพที่นำมาแสดงครั้งนี้ อยากให้ยกตัวอย่างภาพที่คุณประทับใจสักภาพ ?
ก็จะมีงานของศิลปินชื่อ นิลยา บรรดาศักดิ์ เป็นศิลปินผู้หญิงที่เก่งมาก เคยได้รับรางวัลช้างเผือก เป็นรางวัลสูงสุดที่ได้รางวัล 1 ล้านบาท
ผลงานภาพเขาเป็นงานถักด้วยเชือกและด้าย ถ้าเราดูใกล้ๆ ดูแทบไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร พอถอยห่างออกไปอีกหน่อยก็จะเห็น เป็นรายละเอียดต่างๆ น่าประทับใจมาก
ภาพแสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทย เป็นเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ในงานนี้ก็มีผลงานของเขาอยู่ 3 ชิ้น เป็นภาพที่เอาไปทำ Backdrop ด้วย
คือผมยังนึกไม่ออกว่าเขาทำได้ยังไง เวลาเราดูภาพใกล้ๆ การที่เอาเชือกแต่ละเส้นมาสอดประสานกัน พอมองห่างๆ ออกมาจะเห็นเป็นหน้า เป็นตา ซึ่งยากนะ
ผมเองเป็นคนเขียนรูป ก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากตัวเองก็เป็นกรรมการในการตัดสินงานศิลปกรรมช้างเผือก ทุกชิ้นงานผมต้องชอบ เพราะเป็นคนเลือกเอง
มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับงาน “การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก” Global Summit of Women 2022 ครั้งนี้คะ
ผมว่าดีนะครับคือ ภาพลักษณ์เก่าๆ ที่ฝังใจ ผมว่าคนทั้งโลกคิดว่าสตรีคือช้างเท้าหลัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างประเทศ
ผู้นำที่เป็นสตรีมีบทบาทมาก มีความสามารถสูงเยอะขึ้นทุกวัน ไม่ได้ด้อยกว่าบุรุษเลย ยกตัวอย่างพี่น้อง-กอบกาญจน์ เนื่องจากผมรู้จักเป็นการส่วนตัว
ทำงานร่วมกันมานาน ตอนนี้พี่น้องก็มาเป็นประธานกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วย
จริงๆพี่น้อง เป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริหารของโตชิบา ช่วงเวลาหนึ่งก็ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ซึ่งก็ทำผลงานได้ดีมาก และเป็นที่ประจักษ์ในวงการสังคมว่าเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต มือสะอาดแล้วก็มีแนวความคิดสมัยใหม่มาก และเป็นคนที่มุ่งมั่นจริงจัง
แต่ในขณะเดียวกัน ทางด้าน Soft Power พี่น้องก็สนใจ งานศิลปะ ถึงกับอุทิศเวลาส่วนตัวเต็มที่ มาเป็นประธานกรรมการหอศิลป์ กทม.
ซึ่งไม่ใช่งานที่ง่าย คนๆเดียวที่ทำได้ทั้งงานการเมือง บริหารระดับประเทศ บริหารบริษัทขนาดใหญ่ แล้วยังมีเวลาให้กับงานศิลปวัฒนธรรม แล้วยังเป็นประธานกรรมการของธนาคารกสิกรไทยด้วย
ภาพวาดฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ
มีตัวอย่างผู้นำสตรีคนอื่นๆ ที่ประทับใจอีกไหม
จริงๆ ถ้าหากพูดถึงผู้หญิงไทย ที่ผมเคารพนับถือที่สุด ก็คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระองค์ทำทุกอย่าง
และเป็นคนที่อุทิศพระองค์เพื่อประชาชนโดยแท้จริง โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ก็ถือว่าเป็นสุดยอดในดวงใจ ผมมีโอกาสถวายงานเป็นครั้งคราว
ส่วนมากเป็นเรื่องที่ผมถ่ายภาพ Portrait ถวาย ผมเคยจัดแสดงงานไปเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ5 รอบ 60 พรรษา
แล้วก็ทำเป็นหนังสือชื่อ ปิยราชกุมารี (BELOVED PRINCESS) รวบรวมภาพถ่ายตั้งแต่ปี 2532 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานชิ้นนั้น
ในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง บางทีใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง เพราะเปลี่ยนฉลองพระองค์หลายชุด พระองค์ก็ทรงพระเมตตา อดทน
และทรงอารมณ์ดี รูปก็ออกมาดี หลักๆเลยก็คือพระอารมณ์ที่แสดงออกมา
ภาพวาดฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ