ร้อนตับแตก! ส่องเมืองทั่วโลก "ร้อน" แค่ไหนในปี 2022 และผลร้ายจากฮีทเวฟ
รู้จักสำนวน "ร้อนตับแตก" มาจากไหน? พร้อมทำความเข้าใจคลื่นความร้อนหรือ "ฮีทเวฟ" (Heat Wave) ที่กำลังถล่มหลายเมืองในยุโรป ชวนสำรวจภาวะความร้อนจากทั่วโลก สรุปประเทศไหนร้อนที่สุด?
แม้ว่าเมืองไทยจะมี 3 ฤดูกาลตามที่กรมอุตุนิยมได้กำหนดเอาไว้ แต่สำหรับประชาชนคนไทยแล้ว เมืองไทยคือเมืองที่ร้อนตลอดทั้งปี! ดังนั้นเวลาเจอข่าว ปรากฏการณ์คลื่นความร้อน (Heat Wave) ในพื้นที่ต่างๆ จึงไม่ค่อยตื่นตัวมากนัก และคิดว่ามันคงไม่ต่างกับอากาศร้อนของคนไทยเท่าไร? แต่หารู้ไม่.. นี่คือสัญญาณที่โลกกำลังร้องบอกว่าหยุดทำลายชั้นบรรยากาศสักที ไม่งั้นภาวะโลกร้อนจะรุนแรงกว่านี้หลายเท่า
- Heat Wave คืออะไร?
คลื่นความร้อน หรือ ฮีทเวฟ (Heat Wave) เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงนี้อาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหรือกินเวลานานหลายสัปดาห์ก็ได้
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้กำหนดนิยามของ "คลื่นความร้อน" ไว้ว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน
สำหรับในไทยยังไม่เคยมีรายงานการเกิดคลื่นความร้อน แต่ภาวะนี้มักเกิดในยุโรปและเอเชีย เช่น จีน ปากีสถาน บังกลาเทศ และอินเดีย ที่มีความผิดปกติของอุณหภูมิอากาศค่อนข้างมาก
นอกจากคลื่นความร้อนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยผลพวงจากการที่อากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้สัตว์เจ็บป่วยหรือล้มตายเช่นเดียวกับมนุษย์ ส่วนพืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี
- ส่องเมืองทั่วโลกร้อนแค่ไหนในปี 2022
องค์กร The Climate Change Knowledge Portal (CCKP) สำรวจเมืองที่ร้อนที่สุด (เฉลี่ยทั้งปี) ในโลก พบว่า
อันดับ 1 มาลี ทวีปแอฟริกา 28.7 ℃
อันดับ 2 บูร์กินาฟาโซ ทวีปแอฟริกา 28.6 ℃
อันดับ 3 จิบูตี ทวีปแอฟริกา 28.3 ℃
อันดับ 4 บาห์เรน อ่าวเปอร์เซีย 28.2 ℃
อันดับ 5 เซเนกัล ทวีปแอฟริกา 28 ℃
โดยในปี 2021 เมืองนูไวซีบ คูเวต ถูกบันทึกอุณหภูมิที่สูงที่สุดในโลก 53.2 ℃ และปีนี้ 2022 เมืองโตเกียว ญี่ปุ่น ทำลายสถิติร้อนสุดในรอบเกือบ 150 ปี คือ 35 ℃ ในขณะที่ไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 27.5 ℃
- ถ้าทนร้อนที่ไทยได้ อยู่ไหนก็รอด จริงหรือ?
คำตอบของคำถามข้างต้น ไม่จริง! เนื่องจากส่วนสำคัญของอากาศร้อนคือความชื้นอากาศ ไทยมีอากาศแบบร้อนชื้น ทำให้บางพื้นที่แม้จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าไทย แต่ก็อาจจะรู้สึกร้อนได้มากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น ร้อนอบอ้าวที่ญี่ปุ่น ร้อนแห้งแถบแอฟริกา ดังนั้นแล้วบางคนที่ชินกับอากาศร้อนแบบไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทนอากาศร้อนของประเทศอื่น ๆ ได้
- ส่องภาวะ Heat Wave จากทั่วโลก
สำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า อุณหภูมิในใจกลางกรุงโตเกียวอยู่ที่ 35.3 ℃ ในช่วงบ่าย ซึ่งถือเป็นการทำลายสถิติอุณหภูมิที่อยู่ในระดับสูงเมื่อปี 2558 ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 7 ส.ค. 2558 ขณะที่จังหวัดโตชิกิในช่วงบ่าย อุณหภูมิอยู่ที่ 36.2 ℃ ส่วนที่เมืองฟูกุชิมะ และอิบารากิ อยู่ที่ 35.6 ℃
ในขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสเปน ออกประกาศเตือนว่า สเปนจะเผชิญคลื่นความร้อนที่มาเร็วขึ้น และบ่อยครั้งขึ้นด้วย และฤดูร้อนในช่วงไม่กี่ปีนี้ยังเริ่มขึ้นเร็วกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนประมาณ 20-40 วัน
เช่นเดียวกับที่อิตาลี หลายเมืองทางภาคเหนือมีการประกาศปันส่วนน้ำโดย "เขตลอมบาร์ดี" อาจประกาศภาวะฉุกเฉินจากภัยแล้งครั้งใหญ่ในประวัติการณ์ ส่อเค้าทำให้การเกษตรเสียหาย สมาคมเกษตรเผยว่า โคนมให้น้ำนมน้อยลง 10% เพราะอากาศร้อนจนเกิดความเครียด โดยปกติอุณหภูมิที่เหมาะคือ 22-24 ℃ ตอนนี้อากาศร้อนจนโคต้องกินน้ำมากถึงวันละ 140 ลิตร (สองเท่าจากปกติ)
- โลกกำลังร้องเตือน ภาวะที่ต้องช่วยกันแก้ไข
ในเวทีประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ "COP26" ได้พูดถึงรายงานสำคัญอย่าง IPCC ที่ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.1 - 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับฐานข้อมูลในปี 1850-1900 โดยอุณหภูมิแผ่นดินร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.59 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น 0.88 องศาเซลเซียส
เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น สิ่งที่จะตามมาแน่นอนก็คือสภาพอากาศที่แปรปรวน ยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไหร่ ความแปรปรวนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเฉพาะบนพื้นผิวโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับมหาสมุทรด้วย มีข้อมูลบ่งชี้ว่า อุณหภูมิน้ำทะเลในชั้นบน (0-700 เมตร) ร้อนขึ้นอย่างเห็นชัด และเกิดน้ำทะเลเป็นกรดบริเวณผิวหน้าน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์
การประชุม COP 26 มีจุดประสงค์หลักคือ การให้แต่ละประเทศเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุ Net Zero ทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2050
โดยเป้าหมาย Net Zero ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
Fun Fact ร้อนตับแตก มาจากไหน?
คือสำนวนที่หมายถึง อากาศร้อนมาก มีที่มาจากหลังคาบ้านในสมัยก่อนที่ทำใบจากเรียงติดกันเป็น “ตับ” เมื่อโดนความร้อนจัดจนเกิดเสียงเปรี๊ยะ ทำให้เรียกว่า ตับ(หลังคา)แตก
------------------------------------------
อ้างอิง :
25 Hottest Countries in the World , climateknowledgeportal , ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์, ดร.นันทวัน สมสุข