ส่อง 5 เบื้องลึก "Stray" เกม "แมวจร" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส

ส่อง 5 เบื้องลึก "Stray" เกม "แมวจร" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส

เผย 5 เบื้องลึกอันน่าทึ่งกว่าจะมาเป็นเกมขวัญใจทาสแมวซึ่งเปิดให้เล่นเมื่อไม่นานนี้อย่าง "Stray" ที่ถ่ายทอดมุมมองการผจญภัยของแมวจรในโลกที่ไร้มนุษย์เป็นทาสคอยรับใช้ แต่รู้หรือไม่ว่า ทีมงานเบื้องหลังมี "แมวจริง" หลายสิบชีวิต

Stray เกมสุดอินดี้ล่าสุดกลายเป็นที่พูดถึงในกลุ่มเกมเมอร์และถูกอกถูกใจเหล่า "ทาสแมว" อย่างรวดเร็ว หลังเปิดตัวเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นผลงานพัฒนาโดย BlueTwelve Studio ในฝรั่งเศส และจัดจำหน่ายโดย Annapurna Interactive ในสหรัฐ

สำหรับแนวเกมนั้น เป็นแนวผจญภัยที่ให้ผู้เล่นติดตามเจ้าแมวในมุมมองบุคคลที่สาม ที่เกิดขึ้นภายในตรอกอันสว่างไสวไปด้วยแสงไฟนีออนของเมืองยุคไซเบอร์และบรรยากาศสลัว ๆ ในมุมมืดของเมือง และให้ผู้เล่นมองโลกผ่านสายตาของแมวจรและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสนุกสนาน แต่จุดน่าสนใจคือ โลกที่แมวจรต้องผจญภัยนี้ไม่มีมนุษย์แม้แต่คนเดียว มีเพียงแมวและหุ่นยนต์เท่านั้น

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- เครดิตภาพ : Stray -

ความดีงามอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเกม Stray และทีมพัฒนาอย่าง BlueTwelve Studio คือสมาชิกในทีมล้วนเป็น “ทาสแมว” เมื่อลองได้เล่นแล้ว คนที่เลี้ยงแมวน่าจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกตามธรรมชาติของพฤติกรรม การเคลื่อนไหว และแม้กระทั่งเสียงร้องเหมียว ๆ ของน้อง

นอกจากนี้ เกมขวัญใจทาสแมวยังมี 5 เบื้องลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับเบื้องหลังของการพัฒนาเกมนี้ด้วย

1. ช่วยแมวจรเป็นแรงขับเคลื่อน

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- เครดิตภาพ : Dualshockers -

แมวจรจัดและแมวไร้บ้านถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญในหลายเมืองใหญ่ ไม่ใช่เพราะแมวเป็นเพื่อนที่ดีให้กับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้เร็วดั่งไฟป่า

ปัจจุบัน บริษัท Annapurna Interactive ผู้จำหน่ายเกม Stray ทำงานร่วมกับ Cats Protection องค์กรการกุศลด้านการช่วยเหลือแมวที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐ ในโครงการหาบ้านใหม่ให้กับแมวจรทั่วประเทศ และจัดกิจกรรมให้คนบริจาคเงิน 5 ดอลลาร์ (ราว 183 บาท) ให้แคมเปญการกุศลสำหรับแมวไร้บ้าน เพื่อลุ้นรับเกม Stray (ราคา 399 บาทใน Steam) ไปเล่นฟรี ๆ

ขณะที่เหล่าอาสาสมัครของ Cats Protection ช่วยเหลือลูกแมวและแมวโตเต็มวัยมากกว่า 166,000 ตัวต่อปี และหาบ้านให้น้อง ๆ ได้มากกว่า 2 ล้านตัวแล้วในช่วงกว่า 90 ปีที่ผ่านมา

แม้ขณะนี้ยังมีแมวจรอีกหลายล้านตัวในสหรัฐที่ต้องการบ้านถาวร แต่ Annapurna ก็ช่วยกระตุ้นการรับรู้ปัญหานี้ในสังคมได้ไม่น้อย

2. โลกในเกมอิงจาก “เกาลูน”

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- เครดิตภาพ : Dualshockers -

ในบทสัมภาษณ์ของโปรดิวเซอร์จากทีม BlueTwelve บอกว่า “ทีมพัฒนารู้สึกหลงใหลกับสถานที่ที่เรียกว่า เมืองกำแพงเกาลูน (Kowloon Walled City) ในฮ่องกง หรืออดีตชุมชนแออัดย่านเกาลูนที่ปัจจุบันกลายเป็นสวนสาธารณะ”

ทั้งนี้ เกาลูนเคยเป็นโครงการพัฒนาชุมชนเมืองในฮ่องกง ด้วยจำนวนประชากรแออัด 111,450 คนต่อตารางไมล์

อย่างไรก็ดี ทีมพัฒนาเกม Stray มองว่า ย่านเกาลูนแห่งนี้จะเป็นสนามเด็กเล่นสุดเพอร์เฟ็กต์สำหรับแมว เพราะเดินสำรวจได้ง่ายโดยไม่เจออุปสรรคมากนัก เช่น อพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ที่อยู่ติดกัน รวมถึงตรอกแคบ ๆ และชั้นดาดฟ้าเตี้ยที่กระโดดขึ้นไปเล่นได้ทั้งวัน

3. ทีมเบื้องหลังท่าทาง-เสียงเป็น “แมวจริง”

ทีมพัฒนาเกม Stray จ้างแมวจริงเป็นทีมงานเบื้องหลังกว่า 20 ตัว และแต่ละตัวรับบทบาทแตกต่างกันเล็กน้อย หนึ่งในนั้นคือ “ออสการ์” แมวพันธุ์สฟิงซ์ที่ถูกใช้เป็นแบบอ้างอิงการเคลื่อนไหวแอนิเมชันของแมวตัวละครเอกในเกม

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- ออสการ์ ทำหน้าที่แบบแอนิเมชันตัวละครเอกในเกม (เครดิตภาพ : Dualshockers) -

สตูดิโอ BlueTwelve เปิดเผยว่า การทำแอนิเมชันสัตว์สี่เท้าสักตัวก็ค่อนข้างท้าทายแล้ว แต่ความละเอียดการเคลื่อนไหวของแมวนั้นเป็นเรื่องยากมากในการถ่ายทอดออกมาอย่างเหมาะสม นั่นเป็นเหตุผลที่ทีมงานต้องการแบบอ้างอิง และเจ้าออสการ์ก็ทำหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ 

แมวพันธุ์สฟิงซ์มีพลังงานล้นเหลือโดยธรรมชาติ ดังนั้น ท่าวิ่งและกระโดดทั้งหมดที่เห็นในเกมล้วนอ้างอิงจากการเคลื่อนไหวของเจ้าออสการ์ และด้วยความที่ไร้ขนปกคลุม ทำให้ผู้สร้างแอนิเมชันมองเห็นการเคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจน

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- ลาลา ทำหน้าที่พากย์เสียงตัวละครเอกในเกม (เครดิตภาพ : Dualshockers) -

นอกจากนี้ แมวอีกตัวที่ได้รับเครดิตไม่น้อยในเกม Stray คือ “ลาลา” เจ้าเหมียวสีเทาที่ทำหน้าที่เป็น “นักพากย์” โดยส่วนใหญ่จะเป็นเสียงร้องเหมียวและเสียงครางในลำคอ

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- หน้าตาแมวตัวละครเอกในเกม (เครดิตภาพ : Stray) -

แต่สิ่งที่ทำให้เจ้าลาลาเป็นที่จดจำมากที่สุดคือ การเป็นแบบให้กับแมวตัวละครเอกในเกม เห็นได้ชัดจากขนปุยและหน้าตาดูภูมิฐานที่สะกดใจชาวเน็ตทาสแมวได้ไม่น้อย

4. ผู้กำกับก็เป็นแมว

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- จุน ทำหน้าที่ผู้กำกับและผู้ตรวจการ (เครดิตภาพ : Dualshockers) -

ดูเหมือนว่าแมวบางตัวในทีมเบื้องหลังจะไม่ได้ทำงานหนักเท่าไรนัก เช่น “จุน” แมวผู้ได้รับเครดิตในฐานะ “ผู้กำกับ”

เจ้าจุนมีตำแหน่งใหญ่โตในสตูดิโอ BlueTwelve และหน้าที่ของท่านผู้กำกับรวมไปถึง “ตรวจตราการทำงานของทีม” และ “ทำให้แน่ใจว่าทุกคนทำงานถูกหน้าที่” แต่พอถึงเวลาที่ทุกคนทำงานกัน เจ้าจุนก็มักถูกแอบถ่ายตอนงีบในสตูดิโอเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ เรื่องกำลังใจในการพัฒนาเกมก็เป็นสิ่งสำคัญ และเจ้าจุนก็ไม่บกพร่องเรื่องนี้โดยแวะมาเยี่ยมเยียนทีมงานที่สตูดิโอทุกวัน

5. ทีมสตูดิโอเริ่มต้นจาก 2 คน

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- เครดิตภาพ : Stray -

สตูดิโอ BlueTwelve พัฒนาเกม Stray มานานหลายปี และเคยมีข่าวว่าจะเปิดให้เล่นอย่างเร็วสุดในปี 2558 แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการในปีนี้

เดิมนั้น BlueTwelve เป็นสตูดิโอที่มีคนทำงานเพียง 2 คนเท่านั้น ทั้งคู่เป็นนักสร้างเกมที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการสร้างเกมแนวแมวผจญภัย

พวกเขาบอกว่า ทิศทางทั่วไปของเกมนี้ยังคงเหมือนเดิมตลอดทั้งโปรเจค ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจในแง่ของการดีไซน์ตัวเกม วิสัยทัศน์ที่หนักแน่นเป็นเรื่องสำคัญ และความชัดเจนนั้นก็เห็นได้ชัดในระบบควบคุม เรื่องราวชวนดึงดูดใจ และกราฟิกที่งดงามสมจริงของเกมนี้

ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส ส่อง 5 เบื้องลึก \"Stray\" เกม \"แมวจร\" ผจญภัยในโลกที่ไร้ทาส
- เครดิตภาพ : Stray -

-----------------------------

อ้างอิง: PlayStation, WinGGDualshockers