เก่งเกินต้าน! คุยกับ 4 "เด็กศิลปากร" ที่ได้แสดงงานใน Big Event ของ “HUAWEI”
เมื่อเด็กไทยสี่คนได้รับโอกาสจาก “HUAWEI” แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลก ให้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อจัดแสดงในงานระดับภูมิภาคและได้ไปอยู่ในคลังภาพที่คนทั่วโลกจะมองเห็นและดาวน์โหลดไปใช้ได้ นี่จึงเป็นความภาคภูมิใจทั้งศิลปินเองและของคนไทย
ความสุขของศิลปินคือได้ทำงานศิลปะ และถ้าผลงานศิลปะได้การยอมรับในวงกว้างด้วยแล้ว ยิ่งเป็นความสำเร็จที่สร้างความสุขทวีคูณขึ้นไป
ในงาน HUAWEI APAC Smart Office Launch 2022 ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับเอเชียแปซิฟิกที่คนทั่วโลกจับตามอง เพราะงานนี้ HUAWEI ใช้เปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่และนวัตกรรมสร้างสรรค์ จึงมีทั้งสื่อมวลชน เซเลบริตี้ คนทั้งในแวดวงไอที รวมทั้งจากวงการต่างๆ เข้าร่วมทั้งในออฟไลน์และออนไลน์
ความพิเศษของปีนี้คืองาน “HUAWEI APAC Smart Office Launch 2022” มาจัดที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทคบางนา และเป็นครั้งแรกที่ หัวเว่ย ได้จับมือกับสถาบันการศึกษาไทยเพื่อเฟ้นหาศิลปินนักศึกษาฝีมือดีมาร่วมงานกับหัวเว่ย สร้างสรรค์ผลงานศิลปะสุดเจ๋งด้วย Gadget รุ่นใหม่สุดล้ำ จนได้ผลงานที่ทั้งจัดแสดงในงานใหญ่ครั้งนี้ และจะไปอยู่ใน HUAWEI Store ที่คนทั่วโลกดาวน์โหลดไปเป็น Background แท็บเล็ตได้ด้วย
แพร - กชพร อานันทนะ, เอญ่า - เอื้องอัญญากรณ์ หมั่นผลศรี, เปียโน - เกวลิน เวชกามา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ซัน - อาทิตย์ ผลทัต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือศิลปินทั้งสี่ชีวิตที่ได้ใช้ HUAWEI MatePad Pro 11-inch เนรมิตผลงานในโปรเจคนี้
สไตล์ของแต่ละคนเป็นอย่างไร?
เอญ่า : เป็นแนวแบบ 3 มิติ มีใช้ความเหมือนจริง มีแสงเงาเป็นโมเดล 3D และใช้ตัวละครของไทยเข้ามาในเรื่องราวที่เป็นลายเส้น Doodle ซึ่งเป็นงานที่ถนัดของเขาเอง
ซัน : เป็นแนวของการ์ตูนที่จะตัดทอนความจริง ทำให้เนื้อเรื่องมีความสนุกสนาน มีรอยยิ้ม แล้วเอาตัวละครไทยมา mix กับปัจจุบัน แล้วใส่เรื่องราวความเป็นปัจจุบันเข้าไป
เปียโน : เป็นแนวกราฟิกหน่อย เอาหัวโขนมาประยุกต์ เอาสถานที่เข้าไปบนหัวมีเสาชิงช้า มีวัดต่างๆ เข้าไป ผนวกกับตัวที่เป็นเศียรของรามเกียรติ์ของแต่ละตัว ซึ่งสามารถไปดูได้ว่ามีความน่าสนใจแบบไหน
แพร : ผนวกอาหารเข้าไปใน concept ซึ่งรวมของวรรณคดีไทยและเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในยุคปัจจุบันด้วยกัน ในส่วนพวกนี้เราได้ศึกษาตัวลายไทย มีการ study กัน กลับไปย้อนดูเรื่องราวเก่าๆ เพื่อมาใช้ในปัจจุบัน ฉากต่างๆ ในปัจจุบัน ก็แตกต่างกันคนละสไตล์ประมาณนี้
ทำงานคนละกี่ชิ้น และมีจุดเชื่อมกันไหมระหว่างของแต่ละคน?
แพร : คนละ 5 ชิ้น ทั้งหมด 20 ชิ้นค่ะ โจทย์หลักๆ หัวข้อใหญ่ คือเรื่องความเป็นไทยอยู่แล้ว ที่เอามาผนวกกับยุคสมัย กับเทคโนโลยีในปัจจุบันอยู่แล้ว นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนจะลิงค์กัน ก็จะแตกต่างสไตล์ แล้วเลือกตามความถนัดของแต่ละคน โดยเราใช้ตัวละครหลักจากรามเกียรติ์ เพราะว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทย ตัวละครที่ชาวต่างชาติเห็นก็รู้ว่ามาจากประเทศไทย
แพร - กชพร อานันทนะ
ใช้เวลานานกันแค่ไหน กว่าจะได้มาคนละ 5 ชิ้น?
แพร : 1 เดือนค่ะ ถ้าลงมือทำจริงๆ 1 เดือน 5 รูป แต่ก่อนหน้านั้นก็มีเสก็ตช์อะไรกันมา ช่วงนี้จะนานหน่อย แต่พอเสร็จแล้ว ทีนี้ได้เร็ว เพราะว่าต้องมีการคุยกัน และคงคอนเซปต์ ให้อยู่ในธีมที่นำเสนอไปในทิศทางเดียวกันแต่แตกต่างกัน อย่างที่เล่าไป เพราะแต่ละคนก็มีเป้าหมายในการสื่อสารแตกต่างกัน
ทำงานกันอย่างไรบ้าง?
แพร : ตอนแรกได้เครื่องทดลองมาก่อน เป็นเครื่อง HUAWEI MatePad 11 ได้มาลองเล่น ได้จับปากกาจริงๆ ก็รู้สึกว่ามีความถนัดมือและเบา ตัวแท็บเล็ตมีความบางและพกพาง่าย สะดวก เอาไปไหนก็ได้ เราสามารถเดินไปสถานที่จริง อย่างเสาชิงช้าเราก็เดินไปเสก็ตช์ภาพได้
เวลาสร้างงาน เราสามารถดูสี ดูดสี มาจดโน้ตได้ มันมีความลื่นไหลของลายเส้นของปากกาด้วย ตัวหัวน้ำหนักที่กดลงไป ความหนาบางของเส้นเรามันควบคุมได้ ปากกาตัวนี้ก็ตอบโจทย์ พอได้เครื่องใหม่มาคือ “HUAWEI MatePad Pro 11-inch” ก็สามารถทำงานต่อได้ทันที
เปียโน - เกวลิน เวชกามา
เครื่องใหม่กับเครื่องเก่าแตกต่างกันอย่างไร?
แพร : มีฟังก์ชันหลายอย่างที่แตกต่างกันอยู่ค่ะ เวลาที่เราสัมผัสปากกา มือด้านขวาไปอยู่บนกระดาษ ก็ลดตัวจุดที่เกิดขึ้น ที่จะมาอยู่บนภาพวาด และจะมีความลื่นไหลกว่า ตรงหัวเสถียรกว่าด้วย พอทำงานจริงก็เลยง่ายขึ้นด้วยค่ะ
เปียโน : ตอนแรกที่ได้มาอย่างแรก หนูเข้าหารูปก่อนเลย และเข้าตรงโน้ต คือตรงที่ประทับใจที่สุดคือ ถ้าเป็นปกติ ถ้าเราเปิดโน้ตจะเปิดอีกหน้าหนึ่งไม่ได้ ถ้าเปิดอีกหน้าจะเป็นแบ่งครึ่ง จะไม่อิสระ จะไม่คล้ายคอม แต่พอหนูใช้ google และโน้ตด้วย มันเหมือนมันดึง pop up ของมันขึ้นมา แล้ว freeform เหมือนคล้ายๆ คอม ปกติคือจะชิดซ้ายเลย ชิดขวาเลย แต่อันนี้คืออยู่ซ้ายได้ บนได้ กลางได้ ล่างได้ และดูดสีจากตัว reference ตรงนั้นมาใส่ในโน้ตได้ ทำให้เราเสก็ตช์งานได้เร็วมากขึ้น ไม่ต้องเซฟภาพมาให้มันเปลืองเมม ทำให้เราทำงานได้เร็วมากขึ้น
ซัน : โดยส่วนตัวในฐานะผู้บริโภคมือแรก เพราะผมไม่เคยใช้อุปกรณ์ที่พกพาได้สะดวกแบบนี้ ปกติเวลาทำงาน ทำการบ้านก็มุ่งกลับบ้านอย่างเดียวเลย คอมตัวใหญ่ๆ ตั้งโต๊ะ หรือไม่ก็แล็ปท็อป ซึ่งพอมาเปลี่ยนเป็น MatePad ก็มีความสะดวกสบายมากขึ้น ผมไม่ต้องพกกล้อง พกกระดาน พกกระดาษ เพื่อเอามาถ่ายรูป หรือทำงนเสก็ตในบริเวณนั้น ตอนนี้ผมมีแค่ MatePad ตัวเดียวก็ถ่ายรูปก็ได้ เปิดอีกหน้าจอหนึ่งเพื่อดู reference ก็ได้ จะเสก็ตช์เลยก็ได้ มันค่อนข้างสะดวกสบายมาก ทั้งในการทำงานและการใช้งานอื่นๆ โดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างโอเคมาก เพราะมันสร้างความสะดวกสบายให้ตัวเองมากขึ้น
เอญ่า : อย่างแรกเลยคือความสะดวกสบาย มันเบา มันบาง มีความแข็งแรง พกพาสะดวกมาก และในเรื่องของหน้าต่างที่เปิดได้หลายๆ หน้าจอ ปกติมันได้แค่ 2 อัน แต่อันนี้มันได้มากกว่า 2 มากสุดรู้สึกจะเป็น อันใหญ่อันหนึ่ง และ pop up 3 อัน ซึ่งเราเปิดทุกอย่างได้หมดเลย จะฟังเพลง ได้หมดทุกอย่าง ทำให้สะดวกมากๆ มันย่อ ขยายได้ และอีกอย่างคือ มันจะมีหน้าจอแบบถนอมสายตา ซึ่งฟังก์ชันนี้ดีมาก บางทีเราทำงานในที่แสงน้อย มันจ้าแต่ก็ไม่ทำให้ปวดตา มันจะไม่ทำให้เราสายตาเสีย การวาดสัมผัสถือว่าดีและเร็วมาก การเปลี่ยนแอปก็ทำได้รวดเร็วไม่มีสะดุด
เอญ่า - เอื้องอัญญากรณ์ หมั่นผลศรี
ก่อนหน้าจะมารู้จัก MatePad การทำงานศิลปะพวกนี้ นอกจากกระดาษ เคยได้ใช้เครื่องมืออะไรแบบนี้มาก่อนไหม?
แพร : ได้ใช้เป็น Notebook ค่ะ และถ้าเราจะเขียนด้วยมือจริงๆ ก็ต้องต่อเป็น เมาส์ปากกา ที่พ่วงเป็นอุปกรณ์เสริม แล้วพอเปลี่ยนเป็น MatePad เครื่องเดียวก็ใช้งานได้ทุกอย่าง
มันสะดวกขึ้นในแง่ของการพกพาไปด้วย เพราะ Notebook มันค่อนข้างมีน้ำหนักพอสมควรอยู่แล้ว การพก MatePad ก็เหมือนเบาขึ้นไปหลายเท่าเลย มันพกพาสะดวกด้วยความที่ไม่ต้องต่ออุปกรณ์เสริมอะไร มีปากกาแท่งหนึ่งก็ใช้แทนได้ทั้งพู่กัน ดินสอ และไฮไลท์ต่างๆ จดโน้ตก็ได้ วาดรูปก็ได้ คิดไอเดียได้ทันที ไม่ต้องมานั่งเสียบโน้ตบุ๊ค ต่อเมาส์ ปากกา ก็สะดวกสบายในแง่นั้น
พูดถึงตัวอย่างผลงานของตัวเอง?
ซัน : เป็นตุ๊กตุ๊กกับวัดพระแก้ว เป็นคาแรกเตอร์ของทศกัณฑ์ที่กำลังขับรถตุ๊กตุ๊กรอบเกาะกรุงอยู่ โดยพื้นหลังจะเป็นวัดพระแก้ว ก็จะมี element ของการท่องเที่ยว มีสถาปัตยกรรม มีศิลปะ ลวดลายตามวัด โบสถ์ เจดีย์ ผม inspire มาจาก ตอนไปศึกษาข้อมูลดูรู้สึกว่า ชาวต่างชาติพอเขาลงเครื่องมาแล้ว เขามักจะมาเที่ยววัดพระแก้วที่แรกๆ ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนจะต้องมา เพื่อมาชมความงานของสถาปัตยกรรมในบ้านเรา แล้วหลังจากนั้นเขาก็จะไปท่องเที่ยวในตามสถานที่ต่างๆ ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจ ผมจะเอาการท่องเที่ยว เอาแลนด์มาร์คสำคัญๆ จุดเด่นสำคัญๆ ต่างๆ ในบ้านเรา เป็นที่รู้จัก เป็นที่พูดถึงของชาวต่างชาติมาเล่า โดยผ่านคาแรกเตอร์ตัวละครในวรรณคดีครับ
หรืออย่างรูป Street Food เสร็จภายในคืนเดียวครับ อย่างที่พูดถึงเกี่ยวกับประเทศไทย คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงพวกอาหาร อาหารในบ้านเรามีชื่อเสียงอยู่แล้ว และได้รับสมญาว่าเป็นครัวโลก ก็เลยเอาเรื่องอาหารการกิน เอามาเล่าเรื่องโดยการเอาคาแรคเตอร์ของตัวในวรรณคดีรามเกียรติ์ คือ พระราม พระลักษณ์ กับนางสีดา ซึ่งเขาเป็นครอบครัวกัน คู่สามี ภรรยา ไปเที่ยวกัน เอาสถานที่เป็นเยาวราชที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Street Food มีอาหารข้างทางให้กินเยอะ จะได้เห็นบรรยากาศแสงสียามค่ำคืน ซึ่งผมเห็นว่ามันค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์และมีความสวยงาม เป็นองค์ประกอบของเมืองกับอาหารที่ลงตัวกัน
เอญ่า : ของหนูเป็นหนุมาน หนูจะทำตัวละครในรูปแบบ 3 มิติ คือจะมีแสงเงาทั้งหมดเลย ส่วนลายข้างหลังเป็นลาย Doodle Art คือ หนูจะเล่าเรื่องราวที่เป็นสมัยปัจจุบันใส่เข้าไปในลายเส้นพวกนี้ ซึ่งทั้ง 5 ภาพจะต่อกันได้หมดเลย ภาพนี้จะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวทางทะเลของไทย ฝั่งนี้จะเป็นพัทยา ลามไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเขาตะปู ทะเลของไทย
อีกรูปเป็นสดายุ คือทั้งหมดที่หนูวาดจะอยู่ในรามเกียรติ์ทั้งหมดเลย ต่อจากหนุมานเมื่อกี้ จะเป็นเรื่องราวในกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ lแลนด์มาร์คต่างๆ ต่อกันยาวๆ เป็นเรื่องราวเดียวกัน ก็คือจะเล่าความเป็นไทยในปัจจุบัน รูปแรกก็เป็นรถติดลามมาเรื่อยๆ เป็นการท่องเที่ยว 2 รูปหลังเป็นทหาร กับ Street Food ไทย และรูปที่ 5 และรูปที่ 1 ก็วนมาติดกันได้อีก
เปียโน : หนูเป็นคนชอบพวกสีสัน คือ 5 ภาพ หนูอยากให้รามเกียรติ์ทั้ง 5 ตัวปกครองแต่ละภาพ เป็นพระราชาของภาพที่ 1 คือหนุมาน ก็เป็นเมืองลิงหมดเลย หนูมองว่าหนุมานน่าจะเป็นวัยรุ่นซนๆ อยากให้เขาไปอยู่ภาคกลาง เราก็จะรวมพื้นที่ในกรุงเทพฯ บนหัวของหนุมาน และก็มีตัวเล็กๆ น้อยๆ วิ่งอยู่ข้างล่าง ให้ดูเหมือนว่า เขาซนจังเลย มีประชากรลิงเกาะโน่นนี่นั่น ให้ดูเป็นหนุมานหน่อย และก็หนูอยากใส่ความเป็น Street Art ไปด้วย แต่ก็ไม่อยากใส่เยอะ เพราะกลัวรกไป ก็ใส่ไปบางจุด ให้ดูแบบว่า ซนๆ น่ารักๆ ประมาณนี้ ดูไม่ค่อยเครียด
ภาพต่อไป ชอบมากเพราะสัมผัสได้ ทะเล ภาคใต้ เป็นมัจฉานุ คือเขาเป็นลูกหนุมาน มีความซนๆ อยู่ เป็นลิงที่เป็นครึ่งปลา ก็จะให้ประชากรเป็นปลาด้วย และใช้เลือกเป็นภาคใต้ เราก็ใส่ โลเคชันของทะเลบนหัวของมัจฉานุค่ะ ก็จะมีเป็นโลเคชัน ต่างๆ อยู่บนนี้ด้วย อยากให้สะท้อนถึงความน่าไปของทะเล ฟีลเหมือนนางเงือก คือ เราชอบทะเล หนูอยากทำให้เขารู้สึกว่า มันน่าไป มีที่เที่ยว มีชาวประมง มีเรือ มีปลา ปกครองอยู่ ให้ดูมีความน่ารักๆ ประมาณนี้
ซัน - อาทิตย์ ผลทัต
จุดเริ่มต้นความสนใจศิลปะของทุกคนเป็นอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร?
เปียโน : เกิดขึ้นตั้งแต่เกิดเลย อันนี้พูดจริงๆ จำความได้คือหยิบกระดาษ A4 มาแล้วก็วาด แต่แปลกมาก หนูวาดได้เปลืองมาก เพราะหนูวาดจุดเล็ก อีกแผ่นที่ 2 คือทำเป็น animation เป็นผีจูออน นั่นทำให้เราสนใจในเรื่องวาดภาพ ในหัวก็มีแต่เรื่องวาดรูป ทำการ์ตูนให้เพื่อนอ่าน ทำให้เรารู้สึกชอบวาดรูปมากขึ้น เราสนุกกับมัน เราทำให้คนที่ดูผลงานมีความสุข หนูอยากเห็นคนมาเสพงานพวกเรา เดินมาแบบ เฮ้ย ภาพนี้ ว้าวจัง ภาพนี้มีเรื่องราวแบบนี้ อะไรอย่างนี้ อยากให้เขาเข้ามาฮีลใจ จากภาพวาดที่เราวาดไว้
แพร : สำหรับส่วนตัวของหนู ตอนเด็กๆ ที่บ้านเปิดร้านขายของชำ ของที่เป็นเพื่อนเล่นคือสมุดเล่มละ 5 บาท กับดินสอ พ่อก็จะเอามาให้ เราก็วาดรูปไปเรื่อยๆ บางทีก็เขียนอะไรซื่อๆ ของเด็กบ้าง โตมาเราก็เริ่มรู้แล้วว่าทำได้ดีในเรื่องนี้ พออยู่กับเพื่อนเราก็เด่นในด้านนี้ แล้วก็เด่นไปเรื่อย พอทำได้ดีก็ยิ่งสนุกกับมัน อยากพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ จนมาได้เรียนทางด้านนี้ ก็สนใจศึกษาด้วยค่ะ
ซัน : ตั้งแต่แรก แม่ผมเป็นครูอนุบาล มันมีการบ้านวิชาเลข ถ้าเป็นเลข 1 ให้วาดลูกส้ม 1 ผล ถ้าเลข 2 เป็นกล้วย 2 หวี แต่ผมวาดส้มไม่ได้ วาดวงกลมไม่ได้เลยแหละ แม่เขาก็บอก ถ้าวาดส้มไม่ได้ วาดอะไรได้ล่ะ ให้วาดอะไรมาอย่างหนึ่ง ผมเลยวาดช้างมาตัวหนึ่ง แม่ก็เลยรู้ว่าเริ่มเห็นแววแล้ว คือวาดส้มไม่ได้แต่วาดช้างได้ ก็เลยเริ่มวาดรูปเรื่อยๆ พอโตแม่ก็หาโรงเรียนสอนศิลปะให้ ก็เลยไปจบที่ To be Number 1 เข้าไป ตอนนั้นได้เรียนกับพี่ขวดขายหัวเราะ เป็นไอดอลคนแรก ทำให้ชอบวาดการ์ตูน มีการใส่เรื่องราว ชอบวาดให้มีแก๊ก เล่าเรื่องสนุกสนาน หลังจากนั้นก็ทำวารสารของโรงเรียนบ้าง วาดการ์ตูนลงหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนในตอนช่วงมัธยม ทำให้เราเห็นแนวศิลปะมากขึ้นเรื่อยๆ เราวาดปกก็ได้นะ ไปทำเบื้องหลังก็ได้ ทุกอย่างรอบตัวของเราคือศิลปะหมดเลย ยิ่งไปเรียนที่ติวดีๆ ช่วยสอน ช่วยแนะนำเรา ทำให้ยิ่งสนใจในด้านศิลปะ การออกแบบ พอมาเรียนศิลปากรก็ทำให้เราเริ่มรู้เรื่อง มีทักษะที่ดีมากขึ้น เข้าใจในงานศิลปะมากขึ้น
เอญ่า : ของหนูตอนเด็กๆ คือ ตั้งแต่เล็กๆ พอจับดินสอได้ แม่จะซื้อสมุดบาร์บี้เล่นระบายสี แต่หนูไม่ชอบบาร์บี้ แม่เลยซื้อโดราเอม่อนมาให้ แม่พยายามซื้อมาให้และก็ซื้อมาขายด้วย แม่ขายทุกอย่าง หนูชอบมาก แม่เห็นแวว หนูเป็นคนระบายสีไม่ยอมให้มันเลยออกจากขอบสีดำ นั่งละเมียดละมัยอยู่นั่น พอลองให้วาดรูป หนูก็ไม่วาดบนกระดาษ ไปวาดบนกำแพง พอโตขึ้นมาหนูไปเรียนยิมนาสติกลีลา เป็นนักกีฬายิมนาสติกลีลา คราวนี้ทุกอย่างในชีวิตหนูคือไม่มีเวลาเลย อยู่กับอันนั้น สิ่งเดียวที่ทำให้หนูหายเครียดคือการวาดรูป หนูก็วาดไปเรื่อย ตามจินตนาการของหนู ตั้งแต่เด็กจนโต จนคราวนี้หนูก็รู้สึกว่าคงชอบศิลปะจริงๆ แล้วล่ะ แต่หนูไม่รู้ว่าที่หนูวาดมันคืออะไร แม่เลื่อนเจอในเฟซบุ๊กเห็น นิเทศศิลป์ ศิลปากร แม่ก็บอกว่า นี่หนูน่าจะชอบ หนูดูแล้ว เออ มันดูดีจัง น่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบนี่แหละ คราวนี้ถ้าหนูเล่นยิมต่อไป หนูต้องเข้าวิทย์กีฬาที่หนูไม่อยากเรียน แม่หนูไม่เรียนแล้ว แม่ก็บอกจะดีหรือลูก หนูก็เลยมาติว 3 เดือนเข้านิเทศศิลป์เลย
คิดว่าการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นโอกาสอะไรบ้าง?
แพร : อย่างแรกเลย เราได้สัมผัสเทคโนโลยีตัวใหม่ของ HUAWEI ที่ยังไม่เคยเปิดสู่ตลาด แต่เราก็ได้ทดลองใช้ เป็นผู้ใช้คนแรกๆ ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มาอยู่ในจุดนี้ และเป็นโอกาสได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เครื่องมือ เครื่องใช้ แล้วก็ปรับปรุงสกิลในการพูดสัมภาษณ์ พยายามแสดงแนวคิดที่ได้ ให้ออกไปตามโจทย์ที่ได้ ตามที่เราประชุมกันมา ว่า วรรณคดีไทยนะ อยู่ในยุคปัจจุบันนะ แล้วปรับปรุงมาเรื่อยๆ แล้วเราก็ได้พัฒนาไปด้วย
อีกอย่างหนึ่งคือ เราได้พื้นที่ในการแสดงผลงานศิลปะของนักศึกษาไทยไปสู่ตลาดโลก และก็ได้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ขายความประเทศไทยมีดีอะไร ต่างชาติจะได้รับรู้ บางทีเขาอาจจะไม่ได้รู้อะไรขนาดนั้น อย่างที่อาจารย์เคยบอกว่า Thailand คือที่ไหน รู้แต่เที่ยวพัทยา เราก็จะให้เขารู้ว่านี่แหละ Thailand นี่แหละคือรามเกียรติ์ นี่แหละคือวรรณคดีที่มาจากประเทศไทย
เอญ่า : หนูว่ามันเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราได้มาในชีวิต มันจะทำให้เรามีประสบการณ์การทำงานในหลายรูปแบบ บางทีจะมีปัญหา อุปสรรค เราต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ได้ และในเรื่องเทคโนโลยีก็อย่างที่เพื่อนพูดเลย เป็นกลุ่มแรก เป็นประสบการณ์ที่ดี ครั้งหนึ่งในชีวิต อาจจะเป็นครั้งเดียวก็ได้ เราต้องเก็บเกี่ยวให้ได้มากที่สุด ให้เราทุ่มเทแรงกาย 2 วันไม่ได้นอน
ซัน : อย่างที่พวกพี่ๆ บอก น้อยคนจะได้เอาผลงานออกสู่สายตาชาวโลกขนาดนี้ ซึ่งมันเป็นงานค่อนข้างใหญ่ แล้วมีการคอลแลบกัน ถ้าเกิดเป็นคนอื่น เป็นเพื่อน พี่ น้องๆ คนอื่นที่เขาไม่มีโอกาส เขาก็อาจจะมีแค่ account นี้ มีการลงผลงานใน twitter บ้าง FB บ้าง ใน Line@ ลงผลงานต่างๆ ของเขา ซึ่งก็เข้าทั่วถึงได้อยู่แล้ว แต่พอมาเป็นกิจกรรมนี้ ซึ่งโปรโมทสู่สายตาทั่วโลกได้มากกว่า มีชื่อมหาวิทยาลัยค้ำคอ ทำให้เรากระตือรือร้นมากขึ้น เอาตัวเองออกมา เพราะเราไม่ได้ทำผลงานเพื่อโชว์อย่างเดียว แต่เราทำผลงานด้วยชื่อของสถาบัน
พอใจกับผลงานของตัวเองแค่ไหน?
แพร : หนูภูมิใจที่ทำได้ขนาดนี้ เพราะจริงๆ ก็ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดของตัวเองที่แบบว่าวาดคาแรกเตอร์ตัวเล็กๆ ตัวน้อยๆ มา วาดในชีวิตประจำวัน ได้มาวาดในรูปภาพรวมใหญ่ วาดฉากที่ตัวเองจริงๆ ไม่ค่อยถนัดในเรื่องนี้ ก็ศึกษาฉาก สถานที่จริง ตอนโควิดเราก็ไปลงพื้นที่จริงไม่ได้ เราก็ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับมันมากขึ้น ได้ research ได้มาคลุกคลีว่า เออ เมืองไทยมันก็มีอันนี้ ตรงนี้บ้าง พอหยิบทุกอย่างมารวมกันประกอบในภาพ มันได้คิดไอเดียเรื่อยๆ
ซัน : ตอนแรกก็รู้สึกพอใจมากๆ ในระยะเวลาเท่านี้ ยิ่งมาได้ใช้อุปกรณ์ใหม่ด้วยที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน ทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าเกินลิมิตของตัวเองครับ คิดว่าถ้ามีความชำนาญมากขึ้น เราได้อยู่กับมันมากขึ้น มองงานจาก reference ดูงานตัวเอง แล้ววิเคราะห์ไปด้วย มันน่าจะทำให้เราพัฒนาตัวเองดีขึ้นไปอีกครับ
เปียโน : ครั้งแรกที่ได้โจทย์มา หนูก็ยอมรับว่าตกใจมาก มันเป็นอะไรที่เกี่ยวกับความไทยแล้วรู้สึกว่ามันยากมาก อย่างที่เห็นก็คือลายกนก หรือว่าลายวัดต่างๆ เขามาแบบสวยมากนะ แต่หนูเป็นคนวาด Street Srt ไม่ก็ วาดคล้ายๆ Doodle แต่ไม่ใช่สายทางเอญ่าเท่าไร หนูก็รู้สึกว่ามันเครียดมาก มันต้องเป๊ะมากไหม เราห้ามไปดัดแปลงอะไรอย่างอื่นด้วย ถ้าไปดัดแปลงมันก็อาจจะเกิดดราม่าได้ เราไม่ควรที่จะไปเปลี่ยนตัวอดีตของเขา เราควรที่จะแค่ดึงบางจุดของเขามาใช้ แล้วหนูต้องใส่พวกเมืองเข้าไปด้วย หนูก็รู้สึกว่างานนี้มันมีความยากนะ แต่ไม่เป็นไร มันท้าทาย มันต้องผ่านไปให้ได้ ถ้าทำอันนี้ได้ก็เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่เราได้ก้าวข้ามอีกขั้นหนึ่งแล้ว ถึงบางคนอาจจะมาดูว่ายังไม่ได้ว้าวขนาดนั้น ก็ไม่เป็นไร เรารู้สึกว่าชนะตัวเองมาได้แล้วก้าวหนึ่ง ซึ่งมันจะค่อยๆ ก้าวไปเรื่อย รู้สึกว่าเราภูมิใจกับงานครั้งนี้มากค่ะ
เอญ่า : ของหนูตอนได้โจทย์มาคิดอย่างแรกเลย คือ หนูอยากดึงอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาอยู่ในงานให้มากที่สุด ด้วยความที่มันเป็นเกี่ยวกับวรรณคดีไทย ลายไทย มันก็ยากเหมือนกันนะ หนูก็อยากลองท้าทายตัวเอง ทำเป็นแนวสามมิติ ตัวพวกนี้ พอทำมาจริงๆ หนูก็เออ เราทำได้นะ พอวาดไปเรื่อยๆ ได้ใช้อุปกรณ์ใหม่และ app ที่ใช้วาดก็ไม่เคยใช้มาก่อน พอลองใช้ปุ๊บก็ทำให้เหมือน มันทำให้เราพัฒนาขึ้นอีก เราเข้าใจมันมากขึ้น แล้วใส่ลาย Doodle เข้าไป ทำให้ความคิดสร้างสรรค์อะไรมันขึ้นมามากกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย มันทำให้เราพัฒนาขึ้นมามาก พองานเสร็จก็ภูมิใจกับมันค่ะ
ซัน : อย่างเรื่องดราม่าก็ค่อนข้างสำคัญ เราจะวาดเอาสะใจตัวเองก็ไม่ได้ เอาสวยตัวเองก็ไม่ได้ เพราะเราต้องคำนึงถึงคนที่ดูด้วย เราทำให้ทุกคนพอใจดีกว่า อยู่แบบทางสายกลาง คือเข้าใจว่า อะไรเอะอะเรื่องไทย เรื่องลายเดิมๆ ค่อนข้างน่าเบื่อแล้วจำเจ อย่างเช่น เวลามี animation อะไรใหม่ๆ ก็โอ้ว ไทยอีกแล้ว กลัวจะไปยัดเยียดความเป็นไทยมากไป แต่อีกนัยหนึ่งเราเอาเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของเราอยู่แล้ว มาประยุกต์ ดัดแปลงให้มันดีขึ้น ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน แต่ว่าก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัยว่าเราจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงขนาดไหนในเวลาต่อไป
...
ถึงงาน “HUAWEI APAC Smart Office Launch 2022” จะจบไปแล้ว นอกจากทั่วโลกได้เห็นนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของ “HUAWEI” นี่ยังเป็นก้าวสำคัญบนความภาคภูมิใจของเด็กทั้งสี่คนที่เป็นตัวแทนคนไทยบอกให้โลกรู้ว่า “ศิลปินไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”