เปิดโผ! ชื่อฝรั่งที่คนไทยโบราณเรียกให้เข้าปาก แต่ทำคนยุคนี้งง ว่าคืออะไร?
“นายหันแตร” ใน “บุพเพสันนิวาส 2” นั้น แท้จริงแล้วมีชื่อว่า “โรเบิร์ต ฮันเตอร์” แต่ “หันแตร” เป็นชื่อที่คนไทยสมัยโบราณตั้งขึ้นมาเองเพื่อจะได้เรียกให้ถนัดปากมากขึ้น คำเหล่านี้เรียกว่า “การลากเข้าความ” ซึ่งมีอีกหลายคำที่ถูกเรียกในลักษณะนี้
คงจะไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดที่เป็นกระแสได้มากไปกว่า “บุพเพสันนิวาส 2” อีกแล้ว จากการรายงานรายได้ภาพยนตร์ของ “GDH 599” ระบุว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวทำรายได้รวมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ส.ค. 2565) ไม่เพียงแต่จะได้ “โป๊ป - ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ” และ “เบลล่า - ราณี แคมเปน” กลับมารับบทนำคู่กันอีกครั้ง ยังมีนักแสดงสมทบอีกหลายคนมาร่วมสร้างสีสันมากมาย
ในบุพเพสันนิวาส 2 นี้เล่าเรื่องราวในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีตัวละครที่มีอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์อยู่หลายตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น สุนทรภู่ กวีเอกที่ผู้แต่งเรื่องพระอภัยมณีที่ทุกคนรู้จักดี นายหันแตร หรือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสกอตต์ ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในไทย หมอปลัดเล หรือ แดน บีช แบรดลีย์ ผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย และบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ หรือ ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว ผู้ที่นำวิทยาการภาพถ่ายเข้ามาในประเทศไทย ทั้งยังเป็นผู้จัดทำพจนานุกรม 4 ภาษาฉบับแรกของไทยอีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการเรียกชื่อชาวต่างชาติของคนไทยนั้น เพี้ยนเสียงไปจากต้นฉบับ ซึ่งเป็นการพยายามใช้คำภาษาต่างประเทศเพื่อสื่อสารในภาษาของตน โดยเลือกใช้คำที่ตนรู้จักในการแปลงเสียงให้เข้ากับระบบภาษาของตน หรือที่เรียกว่า “การลากเข้าความ”
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมคำศัพท์ที่เป็นการลากเข้าความ ทั้งที่เป็นชื่อคน ชื่อหน่วยงาน องค์กร และสิ่งของต่าง ๆ มาให้ได้ลองทายกันว่า แต่ละคำนั้นเพี้ยนมาจากคำว่าอะไรบ้าง ?
- กาศตัน
- ท้าวทองกีบม้า
- หมอปลัดเล
- นายหันแตร
- นายหันตรี
- นายการะฝัด
- อังรีดูนังต์
- กัดฟันมันสยาม
- สยามกัมมาจล
- ราชปะแตน
- ฝาศุภเรศ
- น้ำมะเน็ด
- ตะแล็บแก็บ
- มัคสิน
กาศตัน
พระยาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ผู้มีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ อย่างง่ายดาย เขาเรียนรู้และใช้ภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วในเวลาไม่กี่ปี จนเข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตำแหน่งล่ามเพื่อทำการค้าระหว่างอยุธยาและฝรั่งเศส ต่อมาได้รับการอวยยศให้เป็นสมุหนายก ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาในเวลาอันรวดเร็ว นับเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา
ในจดหมายของเจ้าพระญาศรีธรรมราช (ปาน) หรือ โกษาปาน ส่งถึงฝรั่งเศส เพื่อรายงานสถานการณ์ช่วงการผลัดแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาให้ฝรั่งเศสทราบ หลังจากที่ฟอลคอนถูกประหารชีวิตไปแล้ว 5 ปี ในจดหมายฉบับนี้เรียกฟอลคอนในชื่อภาษาไทยว่า “กาศตัน”
ท้าวทองกีบม้า
“ท้าวทองกีบม้า” มีชื่อตัวว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ เป็นภริยาของพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยที่ท้าวทองกีบม้าเข้ารับราชการในห้องเครื่องต้น กำกับเครื่องคาวหวานในพระราชวัง ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย ไม่ว่าจะเป็น ทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด ทองพลุ ทองโปร่ง ฝอยทอง กะหรี่ปั๊บ ขนมหม้อแกง สังขยา ขนมผิง สัมปันนี ขนมขิง ขนมไข่เต่า และลูกชุบ
หมอปลัดเล
แดน บีช แบรดลีย์ เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาถึงบางกอกในสมัย ร.3 เป็นผู้ริเริ่มการแพทย์แผนตะวันตกในไทย ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัด การผ่าตัดลอกต้อ การปลูกฝี ตลอดจนเขียนตำรา ครรภ์ทรักษา ซึ่งเป็นตำราแพทย์แผนปัจจุบันเล่มแรก มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาการของโรคในการคลอดและวิธีการแก้ไขรักษา กับพยายามสอนให้คนไทยเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มารดาหลังคลอดเสียชีวิต โดยคนไทยเรียกหมอบรัดเลย์ อย่างติดปากว่า “หมอปลัดเล”
นอกจากนี้ หมอบรัดเลย์ยังถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานพิมพ์ในประเทศไทย เขาได้ตีพิมพ์ บางกอกรีกอเดอ (The Bangkok Recorder) หรือชื่อไทยคือ “หนังสือจดหมายเหตุ” ถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเล่มแรก ปัจจุบันใช้เอกสารชั้นต้นที่บันทึกข่าวสารเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงได้ซื้อลิขสิทธิ์ นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย เพื่อนำมาตีพิมพ์ ถือเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย
นายหันแตร
โรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสกอตต์ ที่คนไทยนิยมเรียกว่า “นายหันแตร” นั้นเป็นเจ้าของโรงสินค้าอังกฤษ (The British Factory) หรือที่คนไทยเรียกว่า ห้างหันแตร นับได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในเมืองไทย โดยห้างของเขามักสินค้าที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อนและสินค้าแปลก ๆ เข้ามาในไทยเสมอ อีกทั้งฮันเตอร์ยังเป็นผู้นำตัวฝาแฝดอิน-จัน ไปโชว์ตัวที่สหรัฐ จนกลายเป็นผู้โด่งดังในเวลาต่อมา
นายหันตรี
เฮนรี เบอร์นี หรือที่รู้จักในนาม “หันตรี บารนี” เป็นพ่อค้าและทูตชาวอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เป็นผู้ทำสัญญาระหว่างไทยและอังกฤษในสนธิสัญญาเบอร์นี ซึ่งเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศตะวันตก และข้อตกลงทางพาณิชย์ซึ่งกระตุ้นการพัฒนาการค้าระหว่างสยามกับทวีปยุโรป
นายการะฝัด
จอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นแพทย์ นักการทูต และนักเขียนชาวสกอตติช โดยเป็นที่รู้จักจากการเป็นทูตเดินทางเข้ามายังสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตามคำสั่งของลอร์ดเฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการประจำอินเดียเพื่อให้สยามยกเลิกการจำกัดการค้าเสรี แต่การเจรจาล้มเหลว จนต้องเดินทางกลับไปมือเปล่า เนื่องจากครอว์เฟิร์ดแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม ด้วยการพูดจากเหยียดหยามและดูถูก ส่วนคนไทยเรียกครอว์เฟิร์ดว่า “ยอน การะฝัด”
อังรีดูนังต์
แม้ อ็องรี ดูว์น็อง จะไม่ได้เข้ามาในประเทศไทย แต่ดูว์น็องเป็นผู้ให้กำเนิดคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและสภากาชาดประจำชาติ ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งตรงกับวันกาชาดสากล ได้มีมติเปลี่ยนชื่อถนนสนามม้า เป็น “ถนนอังรีดูนังต์” ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ถนนสนามม้าตัดผ่านสถาน เสาวภา และโรงพยาบาลจุฬา สภากาชาดไทย อีกทั้งชื่อถนนสนามม้าไม่ได้มีความหมายพิเศษ หลังจากที่สภากาชาดสากลได้เสนอให้ประเทศสมาชิกจัดทำอนุสรณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีกาชาดสากล และระลึกถึงดูว์น็อง
สยามกัมมาจล
สถาบันการเงินแห่งแรกของคนไทยในชื่อ “บุคคลัภย์” (Book Club) มีเงินทุนเพียง 30,000 บาท ใช้ตึกแถวของพระคลังข้างที่ แถวบ้านหม้อเป็นสำนักงานแห่งแรก โดยเบื้องหน้าเปิดเป็นห้องสมุด เบื้องหลังดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงินโดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อบุคคลัภย์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงเปิดเป็นธนาคารอย่างเต็มตัว โดยกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ จัดตั้งเป็น “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ตราอาร์มแผ่นดิน มีข้อความว่า “ตั้งโดยพระบรมราชานุญาต” ติดหน้าธนาคารเป็นแห่งแรก โดยสยามกัมมาจลนี้ มาจากคำว่า The Siam Commercial Bank ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ นั่นเอง
คำศัพท์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ
จากเอกสาร บันทึก จดหมายเหตุ บทประพันธ์ และหนังสือพิมพ์ของหมอบลัดเลย์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 พบว่ามีคำศัพท์มากมายที่เกิดขึ้นจากการลากเข้าความ ไม่ว่าจะเป็น
- กัดฟันมันสยาม มาจาก Government of Siam (รัฐบาลแห่งสยาม)
- ราชปะแตน มาจาก Raj Pattern (ราชแพทเทิร์น)
- ฝาศุภเรศ มาจาก Phosphorus (ฟอสฟอรัส)
- น้ำมะเน็ด มาจาก Lemonade (น้ำมะนาว)
- ตะแล็บแก็บ มาจาก Telegraph (โทรเลข)
- มัคสิน มาจาก Magazine (นิตยสาร)
อย่างไรก็ตาม การลากเข้าความนั้นแตกต่างจาก “คำทับศัพท์” ที่สะกดหรือถอดรูปตัวอักษรให้ใกล้เคียงกับภาษาต้นฉบับ มีการออกเสียงให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด เช่น ออฟฟิศ (office) คอมพิวเตอร์ (computer) อินเทอร์เน็ต (internet) แอปพลิเคชัน (application) ซีรีส์ (series) เป็นต้น
ที่มา: คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ, มติชนออนไลน์, วารสารราชบัณฑิตยสถาน, วิพากษ์ประวัติศาสตร์, ศิลปวัฒนธรรม, หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, GQ Thailand, MGR Online, The Standard
กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา