รู้จัก "Job Hopper" คนรุ่นใหม่ "ย้ายงานบ่อย" เพราะ "ไม่อดทน" จริงหรือ ?

รู้จัก "Job Hopper" คนรุ่นใหม่ "ย้ายงานบ่อย" เพราะ "ไม่อดทน" จริงหรือ ?

ทำความรู้จัก "Job Hopper" กลุ่มคนรุ่นใหม่ "ย้ายงานบ่อย" "เปลี่ยนงานบ่อย" เป็นเพราะ "ไม่อดทน" หรือมีอะไรที่มากกว่านั้น ?

ประเด็นการ “เปลี่ยนงาน” บ่อยๆ ของคนรุ่นใหม่ ถูกกลับมาพูดถึงในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง หลังมีคนแชร์เรื่องราวของแคนดิเดตคนหนึ่ง ในการสัมภาษณ์งานที่มีใจความสำคัญคือ แคนดิเดตคนนี้ส่ง CV เข้ามา แล้วมีประวัติเปลี่ยนบ่อย ย้ายไปหลายสายงาน ทำให้ถูกปฏิเสธ เพราะถูกมองว่าเป็น “Job Hopper

แล้วทำไมไม่ได้งานเพราะเป็น Job Hopper กันล่ะ ? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปทำความรู้จักกับ Job Hopper ในหลากหลายมิติมากขึ้น เพราะเบื้องหลังของการย้ายงานอาจมีอะไรมากกว่านั้น

  •  Job Hopper คืออะไร ? 

Job Hopper พูดง่ายๆ คือกลุ่มคนวัยทำงานที่ย้ายงานบ่อยๆ หรือทำงานที่เดิมไม่ได้นานก็เปลี่ยน โดยเฉลี่ยการทำงานแต่ละที่ไม่ถึงปี หรือไม่เกิน 2 ปี 

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y หรือ Millennials (คนที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1977-1994) ที่มักมีสไตล์การทำงานที่ต้องการความเร็ว ความชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ใช่ปัญหาถ้าจะเปลี่ยนงานที่ไม่ใช่ ดีกว่าการอดทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบในทุกวันๆ

แม้ในสายตาคนอื่นกลุ่ม Job Hopper มักเป็นคนที่เปลี่ยนงานบ่อยเพื่อหวังเป็นทางลัด “เพิ่มเงินเดือน” แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ซ่อนอยู่ เช่น เปลี่ยนเพราะความจำเป็น, ต้องการความท้าทาย, ยังหาตัวเองไม่เจอ, มีปัญหาที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งการย้ายงานบ่อยๆ ก็มีทั้งดีและจุดด้อยที่ต้องระวังในเวลาเดียวกัน

  •  ผลพลอยได้จากการย้ายงาน 

- ช่วยเพิ่มเงินเดือนได้เร็วโดยปกติแล้วเวลาที่มีการย้ายงาน คนส่วนใหญ่มักจะขอเงินเดือนเพิ่มราว 20-30% หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งหากทำงานที่เดิม ตำแหน่งเดิม ส่วนใหญ่จะปรับเงินเดือนราว 5-7% ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถด้วย

- ได้แสวงหาทักษะใหม่ๆ หรือโอกาสใหม่ๆ ที่บริษัทเดิมอาจจะให้ไม่ได้ หรือไม่ตรงกับเป้าหมายของตัวเอง ไม่นั่งรอโอกาส

  •  สิ่งที่คนย้ายงานบ่อยต้องระวัง 

- แม้จะมีความสามารถมาก แต่สะท้อนว่า Job Hopper อาจทำให้บริษัทลังเลที่จะรับ เพราะถ้าอยู่ไม่นาน บริษัทต้องเสียต้นทุนมากกว่า เช่น เสียเวลาไปหาคนใหม่มาแทน

- ได้ใช้เวลาเรียนรู้ในเนื้องานต่างๆ ได้น้อยเกินไป จนขาดความเชี่ยวชาญ อาจส่งผลเสียในระยะยาว

- ถูกคาดหวังสูงตามเงินเดือนและตำแหน่งสูงขึ้น จนแบกรับไม่ไหวเสียเอง

  •  บริษัทสนใจแคนดิเดตที่เป็น Job Hopper ทำอย่างไรดี ? 

จุดเด่นหนึ่งที่มักพบของ Job Hopper คือ เรียนรู้เร็ว มีทักษะหลากหลาย มักจะมีแนวคิดใหม่ๆ และค่อนข้างมี Connection กว้าง จึงเป็นความท้าทายของการคัดเลือก โดยหากรู้สึกว่าศักยภาพช่างตรงสเปคเหลือเกินลองใช้เกณฑ์คัดเลือกเหล่านี้ช่วยดู

- อย่าโฟกัสแค่จำนวนบริษัท หรือระยะเวลาอย่างเดียว : ควรดูเนื้องานและพัฒนาการประกอบด้วย เช่น ความรับผิดชอบและทักษะต่างๆ

- สัมภาษณ์ให้ละเอียด : อย่างที่บอกว่า Job Hopper แต่ละคน อาจมีเบื้องหลังการลาออกที่ต่างกัน ดังนั้นนอกจากคำถามสัมภาษณ์งานทั่วไป ควรถามถึงสาเหตุของการเปลี่ยนงานบ่อยๆ เพื่อดูทัศนคติด้วย

เช่น ถ้าเปลี่ยนงานเพราะต้องการความท้าทาย หรือหาสิ่งที่ใช่ ก็อาจถามต่อถึงเป้าหมาย และสิ่งที่เขามองหา ถ้าบริษัทสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ สุดท้ายอาจทำงานกับเราได้นานกว่าที่อื่นๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

- เลี่ยงคนที่ดูเข้ากับทีมไม่ได้ : ไม่ว่าจะเก่ง มีทักษะมากมายแค่ไหน ก็อย่าลืมว่าการหาคนเข้าทีมและองค์กรได้ เพราะไม่ใช่แค่เขาจะลาออกเร็ว แต่อาจทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ก่อนหน้านี้ลาออกไปด้วยเช่นกัน

-----------------------------------------

อ้างอิง: jobthaiskillsolvedlongtunman